• สรุปข่าวเศรษฐกิจ (ภาคค่ำ) ประจำวันที่ 21 มิถุนายน 2559

    21 มิถุนายน 2559 | Economic News

จับตาประธานเฟดแถลงนโยบายการเงินต่อสภาคองเกรส วันนี้-พรุ่งนี้ ก่อนอังกฤษลงประชามติ

ตลาดการเงินทั่วโลกจับตานางเจเน็ต เยลเลน ประธานธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) แถลงนโยบายการเงินและภาวะเศรษฐกิจรอบครึ่งปีต่อคณะกรรมาธิการการธนาคารประจำวุฒิสภาสหรัฐในวันนี้ และแถลงต่อคณะกรรมาธิการบริการการเงินประจำสภาผู้แทนราษฎรในวันพรุ่งนี้

ทั้งนี้ ตลาดการเงินให้ความสำคัญต่อการแถลงของนางเยลเลน เพื่อหาสัญญาณบ่งชี้การปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยสหรัฐเป็นครั้งแรกในปีนี้ หลังจากเฟดปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเป็นครั้งแรกในรอบเกือบ 10 ปีเมื่อเดือนธ.ค.ปีที่แล้ว

นอกจากนี้ การแถลงของเยลเลนในวันนี้ ยังมีขึ้นก่อนที่อังกฤษจะจัดทำประชามติในวันพฤหัสบดีที่ 23 มิ.ย.นี้ เพื่อตัดสินใจว่าจะออกจากการเป็นสมาชิกสหภาพยุโรปหรือไม่


ประธานเฟดสาขามินนิอาโปลิส ระบุ Brexit น่าจะมีผลต่อเศรษฐกิจสหรัฐฯในระดับปานกลาง

นาย Neel Kashkari ประธานเฟดสาขามินนิอาโปลิส ระบุว่า Brexit นั้นจะมีผลกระทบต่อเศรษฐกิจสหรัฐฯทางตรงในระดับปานกลาง แต่น่าจะไม่สร้างความเสี่ยงทางการเงินมากนัก และภาพรวมเศรษฐกิจสหรัฐฯจะสามารถฟื้นตัวได้ปานกลาง ขณะที่อัตราเงินเฟ้อจะค่อยๆปรับสูงขึ้นสู่เป้าหมาย 2%

ทั้งนี้ นาย Neel Kashkari ไม่ได้ระบุว่าจะขึ้นดอกเบี้ยกี่ครั้งในปีนี้

แต่หากทุกอย่างไม่ได้เป็นไปอย่างที่คาด หาก Brexit นั้นได้กดดันเศรษฐกิจสหรัฐฯอย่างหนัก นาย Kashkari ระบุ เฟดจะพิจารณาใช้เครื่องมือที่มีอยู่ทุกอย่างเพื่อลดผลกระทบดังกล่าว


ผลโพลล์ Brexit ล่าสุด ฝ่าย “อยู่ต่อ” กลับมานำฝ่าย “ให้ออก”

ผลโพลล์ล่าสุดจาก ORB ลงในหนังสือพิมพ์ Daily Telegraph ระบุว่า ฝ่ายที่ต้องการให้อังกฤษ “อยู่” ในสหภาพยุโรปต่อไปอยู่ที่ 53%ขณะที่ฝ่ายที่ต้องการให้ “ออก” อยู่ที่ 46%

โดยผลโพลล์ดังกล่าวเปลี่ยนแปลงไปจากเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว ซึ่งฝ่ายที่ต้องการให้ออกเป็นฝ่ายขึ้นนำ ที่ระดับ 49% ต่อ 48%


ขุนคลังญี่ปุ่นส่งสัญญาณยังไม่รีบแทรกแซงตลาด FX แม้เงินเยนพุ่งแรง

นายทาโร อาโสะ รัฐมนตรีคลังญี่ปุ่นเปิดเผยในวันนี้ว่า ญี่ปุ่นยังไม่รีบร้อนที่จะเข้าแทรกแซงตลาดปริวรรตเงินตราในขณะนี้ แม้ว่าเงินเยนแข็งค่าขึ้นอย่างมากในระยะนี้และถือเป็นเรื่องที่น่ากังวลก็ตาม

"ในส่วนของการแทรกแซงตลาดปริวรรตเงินตรา เราจะยังไม่ดำเนินการในเร็วๆนี้" นายอาโสะกล่าวกับผู้สื่อข่าว และกล่าวเพิ่มเติมว่า รัฐบาลจะตอบสนองเรื่องนี้ตามกรอบที่ได้มีการตกลงกันในกลุ่ม G7 และกลุ่ม G20

ทั้งนี้ นักลงทุนแห่เข้าซื้อเงินเยนในระยะนี้ เนื่องจากความไม่แน่นอนเกี่ยวกับผลการลงประชามติในอังกฤษว่าจะเลือกอยู่ต่อในสหภาพยุโรป (EU) หรือไม่

รัฐมนตรีคลังญี่ปุ่นยังกล่าวด้วยว่า เงินเยนที่แข็งค่าขึ้นอย่างมากเมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐในช่วง 2-3 วันที่ผ่านมานั้น นั้นถือเป็นเรื่องที่น่ากังวล พร้อมกับกล่าวว่า "เสถียรภาพในตลาดปริวรรตเงินตราถือเป็นเรื่องที่สำคัญอย่างยิ่ง"



รายงานประชุมชี้กรรมการ BOJ กังวลผลกระทบนโยบายดอกเบี้ยติดลบ

ธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ) เปิดเผยรายงานการประชุมประจำวันที่ 27-28 เม.ย. โดยระบุว่า กรรมการหลายคนของ BOJ หลายคนได้แสดงความวิตกกังวลว่า นโยบายอัตราดอกเบี้ยติดลบจะบั่นทอนกลไกของตลาดการเงินและเสถียรภาพของตลาดพันธบัตรรัฐบาลญี่ปุ่น

อย่างไรก็ตาม กรรมการส่วนใหญ่ของ BOJ เชื่อว่าผลกระทบจากการมาตรการผ่อนคลายทางการเงินที่ใช้อัตราดอกเบี้ยติดลบนั้น จะซึมซับเข้าสู่กิจกรรมทางเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่อง และถือเป็นเรื่องที่เหมาะสมที่จะตรวจสอบการกระจายสู่เศรษฐกิจเพิ่มเติม เนื่องจากจะต้องใช้ระยะเวลานานกว่าจะเห็นผลที่ชัดเจน


น้ำมันดิบหดตัวลงเป็นครั้งแรกในรอบ 3 วันทำการ

ราคาน้ำมันดิบปรับตัวลงในตลาดเอเชีย หลังจากที่ปรับตัวขึ้นอย่างแข็งแกร่งในช่วง 2 วันทำการ จากการผ่อนคลายความกังวลว่าอังกฤษจะออกจากอียู ขณะที่ตลาดกลับมาให้ความสนใจต่อภาวะอุปทานน้ำมัน

สัญญาน้ำมันดิบส่งมอบเดือนกรกฎาคม CLN6 ปรับตัวลง 17 เซนต์ แตะระดับ 49.2 เหรียญ หลังจากที่ปรับตัวขึ้นเกือบ 3% เมื่อวานนี้แตะระดับ 49.96 ดอลลาร์/บาร์เรล

สัญญาน้ำมันดิบ Brent ส่งมอบเดือนสิงหาคม LCOc1 ปรับตัวลง 25 เซนต์ แตะระดับ 50.4 ดอลลาร์/บาร์เรล หลังจากที่เมื่อวานนี้ปรับตัวขึ้น 3% แตะระดับ 50.65 เหรียญ/บาร์เรล

ทั้งนี้ยังต้องจับตาเรื่องของอุปทานน้ำมันในตลาด โดยการส่งออกน้ำมันดิบของซาอุดิอาระเบียปรับตัวลงในเดือนเมษายน แม้ว่าปริมาณการผลิตจะอยู่ในระดับสูง จึงบ่งชึ้ถึงการแย่งชิงส่วนแบ่งตลาด

 

บริษัท เอ็มทีเอส โกลด์ จำกัด
40,42,44 ถนนทรัพย์สิน แขวงวังบูรพาภิรมย์เขตพระนคร กรุงเทพ 10200
โทรศัพท์ 0 2770 7777 โทรสาร 0 2623 9366 E-mail: support@mtsgoldgroup.com