• สรุปข่าวราคาทองคำ (ภาคเช้า) ประจำวันที่ 19 ตุลาคม 2563

    19 ตุลาคม 2563 | Gold News

ทองคำปิดลงสัปดาห์แรก - SPDR ขายต่อ

· ราคาทองคำตลาดโลกปิด -0.3% บริเวณ 1,901.87 เหรียญ และถือเป็นการปรับลงรายสัปดาห์เป็นครั้งแรกในรอบ 3 สัปดาห์ -1.4%

· สัญญาทองคำส่งมอบเดือนธ.ค. ปิด -0.1% ที่ 1,906.40 ตัน

· กองทุนทองคำ SPDR ขายทองต่อเนื่องเป็นวันที่ 2 โดยวันศุกร์ขายอีก 3.5 ตัน ปัจจุบันถือครองที่ 1,272.56 ตัน

· ราคาทองคำปิดปรับลงจาก

- โอกาสการเกิดข้อตกลงกระตุ้นเศรษฐกิจสหรัฐฯก่อนเลือกตั้งลดลง ท่ามกลางการระบาดของไวรัสที่เป็นอุปสรรคต่อการฟื้นตัวของตลาดแรงงาน

- ภาพรวมดอลลาร์ที่ยังอยู่ในทิศทางแข็งค่าในสัปดาห์ที่ผ่านมา

- ข้อมูลยอดค้าปลีกสหรัฐฯที่ออกมาดีกว่าคาด “หนุนสินทรัพย์เสี่ยง”

· หัวหน้าฝ่ายการซื้อขายจาก BMO กล่าวว่า มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจสหรัฐฯยังมีความไม่แน่นอนอย่างสูงภายในปีนี้ ขณะที่การปรับแข็งค่าของดอลลาร์ยัง “กดดันทองคำ” และถึงภาพรวมความเชื่อมั่นทองคำยังค่อนข้างแข็งแกร่งในทิศทางขาขึ้น แต่ระยะสั้นๆ ดูเหมือน Oscillators จะสะท้อนการเคลื่อนไหวบริเวณ 1,900 เหรียญ และยังไม่สามารถ Breakout จากกรอบกว้างในช่วง 1 เดือนนี้ ระหว่าง 1,850-1,950 เหรียญ

· นักวิเคราะห์การตลาดอาวุโสจาก OANDA มองว่า ปัจจัยเสี่ยงยังมีจำนวนมากควบคู่กับการเลือกตั้งสหรัฐฯ ดังนั้น เราจึงอาจเห็น “ราคาทองคำปรับตัวลดลงในเดือนหน้าได้” แต่น่าจะผันผวนในช่วงใกล้ทราบผลคะแนน โดยมีแนวโน้มเคลื่อนไหวในกรอบ 1,900-1,975 เหรียญ

· สัญญาซิลเวอร์ปิด -0.3% ที่ 24.25 เหรียญ และสัปดาห์ที่แล้วปิด -0.3%

· สัญญาแพลทินัมปิด -0.2% ที่ 862.05 เหรียญ และสัญญาพลาเดียมปิด -0.9% ที่ 2,332.20 เหรียญ


· วุฒิสภาสหรัฐฯจะทำการโหวตร่างกระตุ้นเศรษฐกิจสหรัฐฯ 5 แสนล้านเหรียญในวันพุธนี้

ในวันเสาร์ที่ผ่านมา นายมิทช์ แมคคอนเนล ผู้นำวุฒิสภาเสียงข้างมากของพรรครีพับลิกัน เผยว่า ทางวุฒิสภาจะทำการโหวตข้อเสนองบประมาณกระตุ้นเศรษฐกิจในช่วง Covid-19 มูลค่า 5 แสนล้านเหรียญในวันพุธนี้ ท่ามกลางทั้ง 2 พรรคที่ยังไม่สามารถตกลงกันได้และอยู่ระหว่างเจรจากันต่อของเจ้าหน้าที่ระดับสูงของเดโมแครตกับทีมบริหารของนายทรัมป์

ทั้งนี้ นายแมคคอนเนล มีการตำหนิฝ่ายตรงข้ามที่ยังคงขัดขวางและดึงเกมทางการเมือง ที่ทำให้ทางวุฒิสภาอาจไม่มีเวลาพอในการผ่านแพ็คเกจกระตุ้นเศรษฐกิจ และการยืนยันการเข้ารับตำแหน่งของผู้นำศาลสูงสุดคนใหม่ได้

นอกจากนี้ นายแมคคอนเนล กล่าวว่า ถึงจะไม่มีใครคิดว่าข้อเสนอ 5 แสนล้านเหรียญนี้จะช่วยแก้ปัญหาทุกอย่างได้ตลอดไป แต่ก็ถือเป็นเงินจำนวนมากที่จะสามารถเพิ่มการช่วยเหลือแรงงานและครอบครัวต่างๆได้ในเวลานี้ ในขณะที่ทั้งสองฝ่ายยังคงหารือกันต่อได้ในประเด็นที่เหลือ


· “เพโลซี” เผยมุมมอง ‘เชิงบวก’ ของข้อตกลงกระตุ้นเศรษฐกิจสหรัฐฯก่อนเลือกตั้ง

ล่าสุดนางแนนซี เพโลซี โฆษกสภาผู้แทนราษฎรสหรัฐฯ เผยว่าจะให้เวลาทีมบริหารของนายทรัมป์ 48 ชั่วโมงในการบรรลุข้อตกลงกระตุ้นเศรษฐกิจให้ได้ก่อนเลือกตั้ง 3 พ.ย. นี้ โดยที่นางเพโลซีและนายมนูชินเห็นพ้องกันจะทำการเจรจาต่อในวันนี้

ซึ่งถ้อยแถลงของเธอนำมาซึ่งความหวัง และบรรดาผู้เชี่ยวชาญในตลาดต่างๆคาดหวังอีกครั้งว่าจะเกิดข้อตกลงดังกล่าวได้ก่อนเลือกตั้ง จึงทำให้ดัชนีดาวโจนส์ฟิวเจอร์สเปิด +101จุด หรือ +0.4% ทางด้าน S&P500 ฟิวเจอร์สเปิด +0.5% และNasdaq 100 ฟิวเจอร์สเปิด +0.7%


· งบประมาณประจำปีของรัฐบาลสหรัฐฯ พบขาดดุลสูงกว่า 3 ล้านล้านเหรียญ

ความพยายามในการต่อสู้กับวิกฤตไวรัสโคโรนาดูจะส่งผลให้รัฐบาลสหรัฐฯมียอดค่าใช้จ่ายเพิ่มมากขึ้นสู่ระดับแดนลบในปีงบประมาณล่าสุดที่กำลังจะเข้าสู่ช่วงการปิดงบ โดยจะเห็นว่าปีนี้มียอดขาดดุลมากถึง 3.14 ล้านล้านเหรียญ หรือเพิ่มขึ้นกว่า “3 เท่า” จากปีที่แล้วที่อยู่ที่ 9.84 แสนล้านเหรียญ และมากกว่าที่เคยทำไว้เป็นประวัติการณ์ยุควิกฤตทางการเงินที่ 1.4 ล้านล้านเหรียญในปี 2009

ส่วนใหญ่แล้วงบประมาณปีนี้ได้รับผลกระทบมากสุดจากการใช้ CARES Act มูลค่า 2.2 ล้านล้านเหรียญ ที่ประกอบไปด้วยการเพิ่มสวัสดิการพิเศษแก่คนว่างงานที่ได้รับผลกระทบจากคน Covid-19 และการปล่อยกู้แบบยืดหยุ่นแก่ภาคธุรกิจเพื่อให้สามารถจ้างงานต่อได้

ขณะที่รายรับปีนี้อยู่ที่ 3.42 ล้านล้านเหรียญ เมื่อเทียบกับค่าใช้จ่ายที่มีมูลค่า 6.55 ล้านล้านเหรียญ เรียกว่าเป็นการใช้จ่ายมากที่สุดของภาครัฐบาลตั้งแต่เดือนมิ.ย. ที่มีการใช้จ่ายไปกว่า 1.1 ล้านล้านเหรียญ

อย่างไรก็ดี ภาพรวมปีนี้น่าจะจบลงด้วยหนี้ของรัฐบาลที่ยังอยู่ต่ำกว่า 27 ล้านล้านเหรียญได้ แต่หนี้สาธารณะทั้งหมดน่าจะอยู่ที่ราว 6 ล้านล้านเหรียญ


· สมาชิกเฟดเรียกร้องใช้มาตรการที่เข้มงวดป้องกันภาวะ “ฟองสบู่”

สมาชิกเฟด 2 รายให้สัมภาษณ์กับ Financial Times เรียกร้องให้มีการออกกกฎเข้มงวดทางการเงินเพื่อหลีกเลี่ยงความเสี่ยงที่จะเพิ่มขึ้น ได้แก่ แรงเทขาย และภาวะฟองสบู่ของสินทรัพย์ในตลาดต่างๆ ท่ามกลางเฟดที่ยังเลือกถือคงดอกเบี้ยในระดับต่ำ

ขณะที่นายอีริค โรเซ็นเกร็น ประธานเฟดสาขาบอกสตัน มองว่า เฟดขาดเครื่องมือที่จะช่วยปกป้องบริษัทต่างๆและภาคครัวเรือนจาก Leverage ที่มากเกินรับไหว จึงเรียกร้องให้เกิดการกลับมาพิจารณาใหม่ในประเด็นที่เกี่ยวข้องกับเสถียรภาพทางการเงินของสหรัฐฯ


· ชาวสหรัฐฯนับพันประท้วง “ทรัมป์” ปมแต่งตั้งผู้นำศาลสูงสุดใหม่

วันเสาร์ที่ผ่านมา ประชาชนชาวสหรัฐฯนับพันรายเดินขบวนมายังศาลสูงสุดแห่งสหรัฐฯ เพื่อประท้วงนายโดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐฯ ที่เร่งรีบจะแต่งตั้ง นางเอมี โคนีย์ บาร์เรต ซึ่งมีแนวคิดอนุรักษ์นิยมมาแทนที่ผู้พิพากษาสูงสุดคนเก่าที่เพิ่งเสียชีวิตได้ไม่นานมานี้

โดยวุฒิสภาสหรัฐฯ มีกำหนดการจะแต่งตั้งผู้พิพากษาคนดังกล่าวในวันที่ 22 ต.ค.นี้ ท่ามกลางเสียงคัดค้านจากเดโมแครตในการเร่งดำเนินการในช่วงใกล้เลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯมากเกินไป

ขณะที่กลุ่มผู้ประท้วงไม่พอใจต่อพรรครีพับลิกันที่เร่งแต่งตั้งในช่วงใกล้วันเลือกตั้ง อีกทั้งยังปฎิเสธการจะต้องเข้ารับตำแหน่งของนายเมอร์ริค การ์แลนด์ ผู้พิพากษาที่ถูกเลือกโดยนายบารัค โอบามา อดีตประธานาธิบดีสหรัฐฯ

ผู้อำนวยการฝ่ายจาก UltraViolet มีมุมมองว่า ข้อเท็จจริงของการประท้วงคือความกังวลในเรื่องการเสริมอำนาจให้แก่พรรครีพับลิกัน


· เรทติ้งส์สถานีโทรทัศน์ ชี้ “ไบเดน” นำ “ทรัมป์”

หลังจากที่มีการยกเลิกดีเบตประธานาธิบดีสหรัฐฯรอบ 2 แต่ละฝ่ายก็มีการจัดปราศรัยแบบ Town Hall คนละพื้นที่ แต่ในเวลาเดียวกันเมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมา พบว่า

- นายไบเดนมีคนดูเฉลี่ย 15.1 ล้านคน ผ่านทาง ABC broadcast network

- นายทรัมป์มียอดคนดูที่ 13.5 ล้านคน ผ่านทาง NBC, MSNBC และ CNBC

ทั้งนี้ ภายในระยะเวลา 1 ชั่วโมงแรกที่ออกอากาศ นายไบเดน ก็ยังมีคนรับชมมากว่า 14.3 ล้านคน เมื่อเทียบกับนายทรัมป์ที่ 13.5 ล้านคน


· ยอดติดเชื้อไวรัสโคโรนาทั่วโลกพุ่งทะลุ 40 ล้านราย ขณะที่ยอดเสียชีวิตทั่วโลกแตะ 1.11 ล้านราย

ทั้งนี้ ภาพรวมยอดติดเชื้อไวรัสโคโรนารายวันทั่วโลกเพิ่มขึ้นสูงกว่า 400,000 รายเป็นครั้งแรกในวันศุกร์ที่ผ่านมา โดยในระดับภูมิภาคส่วนใหญ่เป็นผลมาจากยุโรปมีรายงานการติดเชื้อรายวันที่สูงที่สุดของโลก ตามมาด้วยอินเดีย, บราซิล และสหรัฐฯ


· สหรัฐฯพบยอดติดเชื้อสะสมในประเทศสูงกว่า 8.3 ล้านราย - ยอดติดเชื้อรายวันสูงสุดตั้งแต่ช่วงปลายเดือนก.ค. โดยรายงานในวันศุกร์พบอัตราการติดเชื้อในวันศุกร์สูงกว่า 69,000 ราย ขณะที่ยอดเสียชีวิตสะสมภายในประเทศเพิ่มขึ้นสูงกว่า 224,000 ราย

ผู้เชี่ยวชาญด้านโรคติดต่อหลายรายในสหรัฐฯ เตือนว่า สหรัฐฯอาจเผชิญ “Third Wave” ได้ในช่วงหน้าหนาวนี้ ท่ามกลางการระบาดของไข้หวัดที่มักเกิดขึ้นควบคู่ไป และมีอาการใกล้เคียงกับไวรัสโคโรนา


· ยุโรปพบผู้ติดเชื้อรายวันเพิ่มขึ้นกว่า 150,000 รายวันในสัปดาห์ที่ผ่านมา สูงขึ้นกว่า 100,000 รายจากรายงานก่อนหน้า และส่งผลให้หลายๆประเทศเผชิญกับช่วงเวลาที่ยากลำบากท่ามกลางฤดูหนาวที่กำลังจะเกิดขึ้น จึงมีการประกาศใช้มาตรการที่เข้มงวด, การ Lockdown หรือแม้แต่การประกาศ Curfews ขณะที่อังกฤษปรับเพิ่มสัญญาณเตือนความเสี่ยงสู่ระดับ 2 จากระดับ 3


· “กลุ่มแอนตี้ Lockdown” ออกเดินประท้วงในกรุงลอนดอน หลังมีการปรับเพิ่มสัญญาณเตือนสู่ระดับ 2


· ไทยกลับมาพบรายงานผู้ติดเชื้ออีกครั้งในรอบกว่า 1 เดือน โดยวันที่ 18 ต.ค. พบผู้ติดเชื้อรายใหม่เพิ่ม 7 ราย แต่ยังไม่มีรายงานการเสียชีวิตเพิ่มเติม


· WHO ชี้ตัวยา Remdesivir มีผลกระทบเพียงเล็กน้อยหรือ “แทบจะไม่มี” เลยในการลดจำนวนผู้เสียชีวิต


· Pfizer อาจจะส่งข้อมูลการทดสอบวัคซีน Covid-19 ในช่วงปลายเดือนพ.ย.

บริษัทไฟเซอร์ (Pfizer Inc) เปิดเผยในวันศุกร์ที่ผ่านมาว่าจะมีการส่งข้อมูลการทดสอบวัคซีน Covid-19 ให้แก่หน่วยงานของสหรัฐฯ จึงบ่งชี้ว่า “อาจมีความเป็นไปได้ที่วัคซีนจะพร้อมใช้งานในสหรัฐฯประมาณช่วงสิ้นปีนี้”


· ศูนย์ควบคุมโรคระบาดของจีน (CDC) เผย อาหารแช่แข็งอาจมีเชื้อไวรัสโคโรนาปะปนและเป็นสาเหตุในการแพร่ระบาดได้เพิ่มเติม


· สมาชิกอีซีบี ระบุว่า ความเสี่ยงจากการระบาดของไวรัสโคโรนาจะส่งผลให้ “เศรษฐกิจอียูโตได้ช้าลง” และอาจก้าวสู่ภาวะถดถอยได้ ซึ่งอีซีบีจะมีการใช้มาตรการผ่อนคลายฉบับพิเศษทั้งหมดเพิ่มเติมตามความจำเป็น

ขณะที่อีซีบีคาดว่าเศรษฐกิจยูโรโซนน่าจะกลับมาได้เหมือนช่วงก่อนเกิดการระบาดประมาณ “สิ้นปี 2022” แต่ความเสี่ยงในเวลานี้อาจส่งผลให้อีซีบีต้องมีการขยายมาตรการผ่อนคลายเพิ่มเติมจนถึงเดือนธ.ค.


· CNBC ชี้ แม้จะมีการระบาดแต่การลงทุนในภาคอุตสาหกรรมในยุโรปยังมีเม็ดเงินลงทุนได้ดีในปีนี้

รายงานจาก Refinitiv Lipper ระบุว่า กองทุนภาคอุตสาหกรรมของยุโรปมีเม็ดเงินที่ไหลเข้ามาสุทธิ 2.871 แสนล้านยูโร (3.476 แสนล้านเหรียญ) ในช่วง 9 เดือนแรกของปีนี้ แม้ว่าจะมีการระบาดของไวรัสโคโรนาที่ส่งผลให้เกิดการตึงตัวในภาคอุตสาหกรรมก็ตาม


· สมาชิกบีโออีกังวล “ความเสี่ยงครั้งใหญ่” ที่จะฉุดให้เศรษฐกิจเข้าสู่ภาวะขาลง พร้อมย้ำถึงมุมมองที่อาจเห็นข้อมูลผลผลิตทางเศรษฐกิจในช่วงสิ้นก.ย.ปรับตัวมากถึง 10% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน


· นายกฯอังกฤษ ชี้ พร้อมสำหรับการปราศจากข้อตกลง Brexit พร้อมยกเลิกเจรจาการค้า

นายบอร์ส จอห์นสัน นายกรัฐมนตรีอังกฤษ ระบุว่า จะไม่ทำการเจรจาใดๆกับทางอียูต่อ เว้นแต่ว่า อียูจะมีการเปลี่ยนแปลงเงื่อนไขพื้นฐานบางประการ พร้อมระบุให้ “ภาคธุรกิจต่างๆ” เตรียมพร้อมสำหรับ No-Deal”

รัฐมนตรีช่วยอาวุโสของอังกฤษ กล่าวว่า อังกฤษและอียูยังไม่สามารถทำข้อตกลงการคา Post-Brexit ได้ แต่ภาพรวมทางอียูเองก็ต้องการที่จะเปลี่ยนแปลงให้เกิดความเหมาะสมและแสดงให้เห็นถึงความตั้งใจก่อนจะกลับมาเจรจากันต่อในสัปดาห์นี้

อย่างไรก็ดี บรรดาผู้นำอียูมีความต้องการที่จะเจรจาต่อกับนายมิเชล บาร์เนียร์ ตัวแทนเจรจาของอังกฤษ


· Financial Times รายงานว่า ภาคธุรกิจในอังกฤษเรียกร้องให้ “อังกฤษ-อียู” เร่งหาทางประนีประนอมเพื่อให้เกิดข้อตกลงการค้าร่วมกันได้


· อังกฤษและอียูจะพยายามฟื้นฟูการเจรจาการค้าหลัง Brexit ต่อในวันนี้


· จีนให้สิทธิ “เซี่ยงไฮ้” มากขึ้นสำหรับการปฏิรูปตลาด เพื่อให้ก้าวสู่การเป็นศูนย์กลางทางการเงินและเทคโนโลยีทางตอนใต้ของประเทศ เพื่อพัฒนาตลาดและเศรษฐกิจของประเทศให้มีความรุดหน้า


· คาดจีดีพีจีนไตรมาส 3 วันนี้จะสะท้อนถึงการฟื้นตัวโดยทั่ว จากกลุ่มผู้บริโภคที่ฟื้นตัว หลังจากมีการกลับมาเปิดทำการในห้างสรรพสินค้าและภาคธุรกิจที่หนุนการค้าระหว่างประเทศ โดยคาดว่าจีดีพีไตรมาสที่ 3 จะออกมาที่ 5.2% ขยายตัวได้รวดเร็วจากช่วงไตรมาสที่ 2 ที่อยู่ที่ 3.2%

อย่างไรก็ดี นอกจากวันนี้จะประกาศจีดีพีไตรมาสที่ 3 ยังมีข้อมูลผลผลิตภาคอุตสาหกรรมจีนเดือนก.ย., ยอดค้าปลีก และการลงทุนในสินทรัพย์ถาวรด้วย


· กระทรวงเศรษฐกิจสหรัฐฯจ่อคว่ำบาตรบุคคลหรือหน่วยงานใดๆที่ให้การสนับสนุนโครงการอาวุธนิวเคลียร์อิหร่าน “จึงมีแนวโน้มจะเห็ฯความตึงเครียดเพิ่มขึ้นระหว่างสหรัฐฯ-อิหร่าน”


· นักบริหารการเงิน ประเมินกรอบการเคลื่อนไหวของเงินบาท สำหรับสัปดาห์นี้ไว้ที่ระหว่าง 31.00-31.50 บาท/ดอลลาร์ฯ โดยปัจจัยสำคัญที่ต้องติดตาม ได้แก่ สถานการณ์ทางการเมืองในประเทศ ข้อมูลการส่งออกของไทยเดือนก.ย. การดีเบตรอบสุดท้ายของคู่ชิงตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐฯของนายโดนัลด์ ทรัมป์และนายโจ ไบเดน รวมถึงมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของสหรัฐฯ และประเด็นข้อตกลง BREXIT

ขณะที่ข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่สำคัญระหว่างสัปดาห์ ได้แก่ ดัชนีตลาดที่อยู่อาศัยเดือนต.ค. การเริ่มสร้างบ้าน ยอดขายบ้านมือสองเดือนก.ย. และรายงานสรุปภาวะเศรษฐกิจ (Beige Book) ของเฟด นอกจากนี้ตลาดยังรอติดตามดัชนี PMI ภาคการผลิตและบริการเบื้องต้นเดือนต.ค. ของสหรัฐฯ ยูโรโซน และญี่ปุ่น รวมถึงข้อมูลเศรษฐกิจจีน โดยเฉพาะตัวเลขจีดีพีไตรมาส 3/63 ยอดค้าปลีก การผลิตภาคอุตสาหกรรม และการลงทุนในสินทรัพย์ถาวรเดือนก.ย.


· อ้างอิงจากสำนักข่าวสยามรัฐออนไลน์

"สรท."กังวลม็อบฉุดภาพลักษณ์นักลงทุน แนะทางออกจับเข่าคุยหาข้อยุติ ชี้ยืดเยื้อเศรษฐกิจพังทั้งระบบ ขณะที่"เอกชน"ชี้รัฐเร่งเจรจาม็อบหาข้อยุติ วอนอย่าใช้ความรุนแรง

รองประธานสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย (สรท.) เปิดเผยว่า ผลกระทบจากสถานการณ์การชุมนุมต่อเศรษฐกิจไทยในระยะสั้นยังไม่มีผล กระทบต่อเศรษฐกิจในภาพรวม แต่เริ่มส่งผลต่อภาพลักษณ์ของประเทศจากสายตาชาวต่างชาติแล้ว เพราะชาวต่างชาติส่วนใหญ่อาจได้รับข้อมูลที่บิดเบือน หากยังไม่มีการพูดคุยที่ชัดเจน อาจผลกระทบต่อการดำเนินธุรกิจระหว่างประเทศ การเปิดประเทศรับนักเดินทาง รวมถึงกระทบต่อการเมืองระหว่างประเทศในทางอ้อมได้ ส่วนผลกระทบทางตรงตอนนี้ยังไม่เกิดขึ้น เนื่องจากไทยยังไม่มีการเปิดประเทศ

สำหรับผลกระทบที่เห็นได้อย่างชัดเจนที่สุดในช่วงนี้คือ ตลาดหุ้นที่มีความเปราะบางสูง เกิดความเคลื่อนไหวแต่ละครั้งกระทบต่อตลาดหุ้นทันที แต่ด้านอื่นโดยเฉพาะด้านการส่งออกยังไม่ได้รับผลจากเหตุการณ์ดังกล่าว แต่คู่ค้าในหลายประเทศเริ่มแสดงความกังวลว่าจากปัญหาการเมืองในประเทศส่งผลให้ไทยยังสามารถผลิตสินค้าเพื่อส่งออกได้ตามปกติ ทั้งนี้ได้ยืนยันและชี้แจงในเบื้องต้นแล้วว่าตอนนี้ทุกอย่างยังดำเนินการได้ตามปกติ


· อ้างอิงจากสำนักข่าวประชาไท

นักวิชาการชี้ การชุมนุมแบบแฟลชม็อบไม่ได้เกิดผลกระทบทางเศรษฐกิจ เพราะไม่ยืดเยื้อ ไม่มีการปิดถนน ไม่มีการปิดสถานที่ราชการหรือย่านทางธุรกิจ มาแสดงจุดยืนทางการเมืองแล้วก็แยกย้ายกลับบ้าน แต่การปิดถนน ปิดพื้นที่เกิดจากอำนาจของ พ.ร.ก. ฉุกเฉิน การประกาศสถานการณฺฉุกเฉินร้ายแรงทำให้เจ้าหน้าที่ของรัฐเกิดความลำบากในการปฏิบัติงานและเป็นการทำลายระบบนิติรัฐ


· อ้างอิงจากสำนักข่าว sanook.com

"อ็อกซฟอร์ด" ลงนามใช้ประเทศไทย เป็นฐานการผลิตวัคซีนโควิด-19

รองโฆษกประจําสํานักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า รัฐบาลภายใต้การนำของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ให้ความสำคัญกับสุขภาพของคนไทย โดยมีความพยายามผลัดดันให้ประชาชนชาวไทย เป็นประเทศแรกๆของโลกที่ได้รับวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 ล่าสุด นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.สาธารณสุข ลงนามในหนังสือแสดงเจตจำนง (Letter of Intent) การผลิตและจัดสรรวัคซีนวิจัยป้องกันโควิด-19 ร่วมกับมหาวิทยาลัยอ๊อกซฟอร์ดโดยวัคซีนที่พัฒนาโดยมหาวิทยาลัยอ๊อกซฟอร์ดจะใช้ไทยเป็นฐานการผลิต ซึ่งการผลิตวัคซีนนั้น มหาวิทยาลัยอ๊อกซฟอร์ดมีการพัฒนาอย่างต่อเนื่องและมีความก้าวหน้าอย่างมาก โดยเริ่มทดลองกับมนุษย์แล้ว


บริษัท เอ็มทีเอส โกลด์ จำกัด
40,42,44 ถนนทรัพย์สิน แขวงวังบูรพาภิรมย์เขตพระนคร กรุงเทพ 10200
โทรศัพท์ 0 2770 7777 โทรสาร 0 2623 9366 E-mail: support@mtsgoldgroup.com