• ความเป็นไปได้ของไวรัสโคโรนาและราคาทองคำ

    19 กุมภาพันธ์ 2563 | Gold News
 

เป็นเวลาเกือบ 2 เดือนแล้ว ที่การระบาดของโคโรนาไวรัสกลายเป็นกระแสที่ถูกกล่าวถึงแทบจะทุกวัน โดยเชื้อไวรัสโคโรนาหรือ COVID19 ได้รับรายงานเคสแรกในประเทศจีน คำถามที่เกิดขึ้นตามมาคือ “ราคาทองคำจะตอบสนองต่อการระบาดของเชื้อไวรัสตัวนี้อย่างไร?”



สิ่งที่เรียนรู้จากโรคซาร์ส (SARS)

โรคซาร์สถูกค้นพบเป็นครั้งแรกช่วงปลายปี 2002 ในพื้นที่ทางตอนใต้ของประเทศจีน ซึ่งการระบาดอย่างรุนแรงของโรคซาร์สเกิดขึ้นตั้งแต่ช่วงเดือน มี.ค. ปี 2003 และถูกควบคุมได้ในช่วงต้นเดือน ก.ค. ปี 2003 ขณะที่เชื้อไวรัส COVID19 ได้กลายพันธ์และมีความแตกต่างอย่างมากกับโรคซาร์ ถึงจะเป็นเช่นนั้น เราก็สามารถนำผลกระทบของการระบาดของโรคซาร์สที่มีต่อราคาทองคำเพื่อหาความเป็นไปได้ว่าการระบาดของเชื้อไวรัส COVID19 จะส่งผลต่อราคาทองคำในปัจจุบันเช่นไร แม้จะไม่สามารถเปรียบเทียบกันได้อย่างสมบูรณ์ เนื่องจากขนาดและบทบาทของเศรษฐกิจจีนที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างมากตั้งแต่ปี 2003



ปริมาณอุปสงค์ทองคำรูปพรรณในประเทศจีน


อุปสงค์ทองคำรูปพรรณในประเทศจีนมักจะเกิดขึ้นตามฤดูกาล (กราฟที่ 1) ซึ่งจะเห็นได้ว่าอุปสงค์จะแข็งแกร่งที่สุดในช่วงไตรมาสแรกและไตรมาสสุดท้าย และจะเริ่มอ่อนแอลงในไตรมาสที่ 2 ถึงจะเป็นเช่นนั้น ปริมาณอุปสงค์โดยรวมในปี 2003 ก็หดตัวมากกว่าที่คาดการณ์ คิดเป็นหดตัวประมาณ 10-15% แต่หลังจากนั้นปริมาณอุปสงค์ก็สามารถฟื้นตัวได้อย่างรวดเร็ว และในช่วงครึ่งหลังของปี ปริมาณอุปสงค์ก็กลับมาเคลื่อนไหวสอดคล้องกับค่าเฉลี่ยรายปีได้อีกครั้ง





การเคลื่อนไหวของราคาทองคำ

จากบทวิเคราะห์โดย Goldhub การระบาดของโรคซาร์สส่งผลกระทบต่อปริมาณอุปสงค์ทองคำในประเทศจีนอย่างชัดเจน แต่ราคาก็ไม่ได้ปรับขึ้นมากนัก โดยคิดเป็นปรับขึ้นได้ 3% ในช่วงไตรมาสที่ 2/2003 แม้ในช่วงระหว่างไตรมาสจะปรับขึ้นมากถึง 16% อย่างไรก็ตาม เป็นเรื่องยากที่จะสามารถสรุปผลกระทบของโรคซาร์สต่อราคาทองคำได้อย่างชัดเจน เนื่องจากในช่วงปีเดียวกันนั้น เกิดเหตุการณ์ที่สหรัฐฯยกพลบุกอิรัก รวมถึงค่าเงินดอลลาร์ที่ค่อนข้างอ่อนค่าอยู่แล้ว





พัฒนาการของเศรษฐกิจจีนหลังโรคซาร์ส

แม้การเปรียบเทียบโรคซาร์สและราคาทองคำในช่วงเวลาเดียวกันอาจเป็นแนวทางให้กับราคาทองคำในปัจจุบันได้บ้าง แต่ในอีกมุมหนึ่งก็จะเห็นได้ว่าเศรษฐกิจจีนมีการเปลี่ยนแปลงที่สำคัญนับตั้งแต่การระบาดของโรคซาร์ส

เศรษฐกิจจีนในปี 2003 มีดุลการค้าอยู่ที่ 1.7 ล้านล้านเหรียญ เทียบกับของปี 2019 ที่ 14.3 ล้านล้านเหรียญ หมายความว่าจีนมีบทบาทสำคัญกับเศรษฐกิจโลกมากขึ้น ปัจจุบันจีนมี GDP คิดเป็น 15% ของ GDP ทั้งโลก เทียบกับปี 2003 ที่ 3% นอกจากนี้ โครงสร้างทางเศรษฐกิจจีนก็มีการเปลี่ยนแปลงอย่างมาก โดยเดิมทีเศรษฐกิจจีนได้รับการขับเคลื่อนจากภาคการลงทุน พัฒนามาเป็นการถูกขับเคลื่อนโดยภาคการบริโภคเป็นหลัก (กราฟที่ 3)




ตลาดทองคำในประเทศจีนก็มีการเปลี่ยนแปลงไปอย่างมากเช่นกัน โดยในปี 2003 ปริมาณการบริโภคทองคำของชาวจีนคิดเป็น 8% ของการบริโภคทองคำทั่วโลก แต่ในปัจจุบัน จีนได้กลายมาเป็นตลาดทองคำที่ใหญ่ที่สุดในโลก โดยในปี 2019 จีนมีการบริโภคทองคำคิดเป็น 30% ของทั้งโลก ในอีกมุมหนึ่ง แหล่งที่มาของปริมาณอุปสงค์ก็เปลี่ยนแปลงไปเช่นกัน โดยก่อนที่ Shanghai Gold Exchange จะได้รับการก่อตั้งขึ้นในปี 2002 และการที่ภาครัฐอนุมัติให้ภาคเอกชนสามารถจดทะเบียนเป็นผู้ให้บริการด้านการลงทุนทองคำในปี 2004 ปริมาณการลงทุนในทองคำของจีนก่อนหน้านั้นเรียกได้ว่าแทบจะเป็น 0 (กราฟที่ 4)



การเปลี่ยนแปลงและพัฒนาการด้านบทบาทของจีนที่มีต่อเศรษฐกิจโลก เป็นแนวทางที่บ่งชี้ว่าการระบาดของเชื้อไวรัส COVID19 จะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจโลกและตลาดทองคำมากขึ้นขนาดไหน

ยกตัวอย่างเช่น การที่จีนมี GDP สูงขึ้นมาจากภาคการบริโภค บ่งชี้ว่าการเติบโตของ GDP จีนน่าจะได้รับผลกระทบที่หนักยิ่งกว่าในปี 2003 เห็นได้จากกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่ชะลอตัวนับตั้งแต่ต้นปีนี้ ในขณะเดียวกัน การชะลอตัวของเศรษฐกิจจีนจะส่งผลกระทบต่อการเติบโตของเศรษฐกิจโลกและกดดันความเชื่อมั่นของนักลงทุน จึงอาจหนุนให้เกิดแรงเข้าซื้อทองคำเพื่อถือครองเป็นสินทรัพย์ปลอดภัยทั้งในจีนและต่างประเทศ ผลกระทบจากปัจจัยดังกล่าวเริ่มที่จะสามารถเห็นได้แล้ว จากปริมาณการซื้อขายที่สูงขึ้นในตลาด Shanghai Gold Exchange หลังพ้นช่วงเทศกาลตรุษจีนมา รวมถึงกระแสเงินทุนที่ไหลเข้ากองทุน ETF ที่ลงทุนในทองคำด้วยเช่นกัน แต่ในขณะเดียวกัน ปริมาณการบริโภคทองคำในประเทศจีนที่มีแนวโน้มจะชะลอตัวลง ก็อาจส่งผลกระทบที่หนักหน่วงยิ่งกว่าในปี 2003



สรุป

การระบาดของไวรัสโคโรนาในประเทศจีนยังคงมีการกลายพันธุ์อย่างต่อเนื่อง แม้การตรวจคัดกรองโรคที่มีประสิทธิภาพมากขึ้นจะสามารถระบุผู้ติดเชื้อได้รวดเร็วยิ่งกว่าเดิม แต่ก็มีสัญญาณว่าการระบาดของเชื้อไวรัสเริ่มที่จะชะลอตัวบ้างแล้ว โดยเฉพาะพื้นที่นอกมณฑลหูเป่ย ซึ่งเป็นศูนย์กลางการระบาดของไวรัส แต่ก็ยังไม่สามารถคาดการณ์ได้ว่าทิศทางต่อไปจะเป็นเช่นไร สำหรับทาง Goldhub มองว่าปริมาณอุปสงค์ของผู้บริโภคในประเทศจีนน่าจะชะลอตัวลงในไตรมาสที่ 1/2020 โดยอาจชะลอตัวลงไป 10-15% เมื่อศึกษาจากปะวัติศาสตร์ แต่ยังต้องจับตาต่อไปว่าปริมาณอุปสงค์จะเริ่มกลับมาฟื้นตัวได้เมื่อไหร่ หรือจะอ่อนแอลงต่อ ทั้งหมดนี้ขึ้นอยู่กับระยะเวลาของการระบาดและผลกระทบที่มีต่อการเติบโตของเศรษฐกิจ



ทั้งนี้ ผลกระทบต่อราคาทองคำยังไม่ชัดเจนมากนัก

- ในกรณีที่การระบาดของไวรัสได้รับการควบคุมโดยเร็วและผลกระทบต่อเศรษฐกิจอยู่ในวงจำกัด ผลกระทบต่อปริมาณอุปสงค์ในประเทศจีนก็จะค่อนข้างเบาและอาจหนุนราคาทองคำได้ไม่มากนัก


- ในกรณีที่ไวรัสระบาดออกไปเป็นวงกว้างกว่าเดิมและส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นของนักลงทุน จะทำให้เกิดกระแสเข้าซื้อสินทรัพย์ปลอดภัย เนื่องจากกังวลว่าเศรษฐกิจโลกจะชะลอการเติบโต ซึ่งอาจหนุนให้ราคาทองคำปรับสูงขึ้นได้อย่างมาก


ที่มา: Goldhub

บริษัท เอ็มทีเอส โกลด์ จำกัด
40,42,44 ถนนทรัพย์สิน แขวงวังบูรพาภิรมย์เขตพระนคร กรุงเทพ 10200
โทรศัพท์ 0 2770 7777 โทรสาร 0 2623 9366 E-mail: support@mtsgoldgroup.com