• สรุปข่าวเศรษฐกิจ (ภาคเช้า) ประจำวันที่ 28 มิถุนายน 2562

    28 มิถุนายน 2562 | Economic News

· ค่าเงินดอลลาร์ทรงตัวเมื่อเทียบกับสกุลหลักส่วนใหญ่ โดยที่เทรดเดอร์ดูจะเล่นตามข่าวประชุม G20 ที่คาดหวังว่าสหรัฐฯและจีนจะสามารถบรรลุข้อตกลงเพื่อแก้ไขปัญหาของทางการค้าระหว่างกันได้ หลังสื่อใหญ่ของฮ่องกง (The South China Morning Post) เผยถึงข้อมูลจากแหล่งข่าวที่ระบุว่าสหรัฐฯและจีนพักรบชั่วคราวก่อนการประชุม G20 ที่นายโดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐฯ และนายสี จิ้นผิง ประธานาธิบดีจีนมีกำหนดการจะพบกันวันเสาร์นี้

รายงานดังกล่าวช่วยบรรเทาความกังวลที่นายทรัมป์จะขึ้นภาษีสินค้านำเข้าจากจีนมูลค่า 3 แสนล้านเหรียญ แต่ตลาดการเงินก็ยังรอดูผลลัพธ์ของการเจรจา

อย่างไรก็ดี ตลาดการเงินไม่ได้ตอบรับกับข้อมูลจีดีพีไตรมาสที่ 1 ของสหรัฐฯเท่าไหร่นักที่ออกมาตามคาด 3.1% จึงเห็นดัชนีดอลลาร์ทรงตัวแถว 96.206 จุด เหนือ Low เดิมรอบ 3 เดือนที่ทำไว้เมื่อวันอังคารบริเวณ 95.843 จุด

ทั้งนี้ การที่ดัชนีดอลลาร์ Break หลุดต่ำกว่าเส้นค่าเฉลี่ย MA ราย 200 วันลงมา ส่งผลให้บรรดานักวิเคราะห์มองว่าดอลลาร์จะเป็นขาลง หลังจากที่เฟดส่งสัญญาณเตรียมจะลดดอกเบี้ยเพื่อต่อสู้กับภาวะความเสี่ยงจากความตึงเครียดทางการค้าและการชะลอตัวของเงินเฟ้อภายในประเทศ

ในไตรมาส 1/2019 เรียกได้ว่าดัชนีดอลลาร์อยู่ในทิศทางอ่อนตัวเป็นครั้งแรกนับตั้งแต่ช่วง ไตรมาสที่ 1/2018 ทางด้านค่าเงินหยวนวานนี้แข็งค่าขึ้น 0.2% ที่ระดับ 6.8742 หยวน/ดอลลาร์ หลังจากสัปดาห์ที่แล้วทำระดับแข็งค่ามากสุดรอบ6 สัปดาห์ที่ 6.8370 หยวน/ดอลลาร์ ขณะที่ภาพรวมไตรมาสที่ 2/2019 หยวนอ่อนค่าไปแล้ว 2.26%

บรรดานักวิเคราะห์มองว่า ไม่ว่านายทรัมป์และนายสีจะจัดการกับข่อตดลงการค้าอย่างไรในสัปดาห์นี้ก็จะเป็นตัวกำหนดแนวทางการดำเนินการของเฟดในเดือนอื่นตามมา

เครื่องมือ FedWatch ของ CME สะท้อนความเป็นไปได้ที่จะเห็นเฟดลดดอกเบี้ยในเดือนก.ค. และในข่วงครึ่งปีหลังน่าจะเห็นเฟดทยอยปรับลดดอกเบี้ยอีกอย่างน้อย 3 ครั้ง

ค่าเงินเยนแข็งค่าขึ้น 0.03% ที่ 107.755 เยน/ดอลลาร์ โดยไตรมาสที่ 2 นี้เยนแข็งค่าแล้วประมาณ 2.7% จากกระแสเฟดปรับลดดอกเบี้ยและ Trade War รวมถึงความตึงเครียดทางการค้าระหว่างสหรัฐฯและอิหร่านที่กระตุ้นให้เกิดความต้องการสินทรัพย์ปลอดภัยมากขึ้น

· กระทรวงพาณิชย์สหรัฐฯ เผยตัวเลขประมาณการขั้นสุดท้ายสำหรับการขยายตัวของจีดีพีสหรัฐฯประจำไตรมาส 1 ที่ระดับ 3.1% สอดคล้องกับที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ไว้ และเท่ากับตัวเลขประมาณการณ์ครั้งที่ 2 แต่ต่ำกว่าระดับ 3.2% ซึ่งเป็นตัวเลขประมาณการครั้งที่ 1

ขณะที่ในไตรมาสที่ 4 เศรษฐกิจสหรัฐขยายตัว 2.2% โดยการขยายตัวของเศรษฐกิจในไตรมาสแรกได้รับปัจจัยหนุนจากการลงทุนในภาคธุรกิจ แม้ว่าการใช้จ่ายของผู้บริโภคชะลอตัวลง

ทั้งนี้ เศรษฐกิจสหรัฐฯจะมีการขยายตัวครบรอบ 10 ปีในเดือนก.ค. ซึ่งเป็นการขยายตัวที่ยาวนานเป็นประวัติการณ์ อย่างไรก็ดี แนวโน้มยังชะลอตัวลง ท่ามกลางยอดขาดดุลการค้าที่เพิ่มขึ้นอีกครั้งและภาคที่อยู่อาศัยยังคงอ่อนแอ

· อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯปรับตัวลงก่อนการประชุม G20 ที่จะมีการพบกันระหว่างผู้นำสหรัฐฯและจีน โดยที่อัตราผลตอบแทนพันธบัตรอายุ 10 ปี ปรับลงแตะ 2.011% และระยะยาว 30 ปี ปรับลงแตะ 2.526%

ความเชื่อมั่นของตลาดในขณะนี้ดูจะเชื่อว่าจีนและสหรัฐฯจะสามารถยับยั้งสงครามการค้าได้ โดยในวันพุธที่ผ่านมา นายโดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐฯกล่าวว่า อาจกลับสู่โต๊ะเจรจาทางการค้าอีกครั้ง แต่ก็เตรียมพร้อมจะขึ้นภาษีจีนหากการเจรจาล้มเหลวอีกครั้ง และเมื่อวานนี้มีรายงานล่าสุดสะท้อนว่าสหรัฐฯและจีนสามารถสงบศึกชั่วคราวเพื่อกลับมาเจรจาแก้ไขปัญหาทางการค้าร่วมกันอีกครั้ง

· รายงานจาก CNBC ระบุว่า การประชุม G20 อย่างน้อย 2 วันนี้จะเห็นถึงการพบกันของผู้นำสหรัฐฯและจีน โดยหนึ่งในประเด็นสำคัญที่จะถูกหยิบยกมาในครั้งนี้คือการทำข้อตกลงให้มีดุลยภาพ โดยจีนมีความเชื่อว่าข้อตกลงฉบับใหม่จะต้องเป็นไปอย่างยุติธรรมระหว่างกัน ขณะที่แหล่งข่าววงใน เผยว่า นายโรเบิร์ต ไลท์ไธเซอร์ ตัวแทนการค้าของสหรัฐฯ ปฏิเสธว่า ความสมดุลทางการค้าระหว่างทั้งสองประเทศไม่มีทางที่จะเกิดขึ้น และสหรัฐฯจะไม่ให้ความสำคัญกับความสมดุลเป็นอันดับแรกๆ เนื่องจากที่ผ่านมาจีนมีการละเมิดข้อตกลง โดยเฉพาะการที่จีนมีการขโมยเทคโนโลยีของสหรัฐฯมาโดยตลอด

· รายงานจากรอยเตอร์สล่าสุดเปิดเผยถ้อยแถลงของนายทรัมป์ โดยระบุถึงการที่เขาจะหารือกับนายชินโซ อาเบะ นายกรัฐมนตรีญี่ปุ่นในการประชุม G20 ในประเด็นทางการค้า โดยสหรัฐฯมีความมุ่งมั่นที่จะผลักดันให้เกิดการปรับลดของยอดขาดดุลทางการค้าจำนวนมาก และพูดคุยถึงการเข้าซื้ออุปกรณ์ทางการทหารจากสหรัฐฯ

· นายทาโร โคโนะ รัฐมนตรีกระทรวงการต่างประเทศของญี่ปุ่น เผยว่า ทางญี่ปุ่นไม่ต้องการให้อังกฤษเลือกวิธี No-Deal สำหรับ Brexit และนั่นจะทำให้บริษัทบางแห่งพร้อมที่จะย้ายออกและลดการลงทุนในอังกฤษตามมา อันจะส่งผลให้การลงทุนของญี่ปุ่นในอังกฤษตลอด 35 ปีสิ้นสุดลง

· ราคาน้ำมันดิบปิดปรับตัวขึ้น จากกลุ่มนักลงทุนที่รอผลประชุม G20 ที่อาจเกิดข้อตกลงทางการค้าและจะช่วยสนับสนุนอุปสงค์น้ำมันในภายภาคหน้าได้ โดยน้ำมันดิบ WTI ปิดปรับขึ้น 5 เซนต์ หรือ +0.1% ที่ระดับ 59.43 เหรียญ/บาร์เรล และน้ำมันดิบ Brent ปิดปรับลง 14 เซนต์ หรือ -0.2% ที่ 66.35 เหรียญ/บาร์เรล

คณะรัฐมนตรีกลุ่มโอเปกจะเข้าพบกันวันจันทร์ที่จะถึงนี้ แต่ตลาดก็เชื่อว่าสิ่งที่จะกระทบต่อตลาดน้ำมันมากที่สุดน่าจะเป็นการประชุม G20 ในสัปดาห์นี้ ขึ้นอยู่กับผลลัพธ์ที่ออกมาว่าจะดีหรือแย่ต่อภาพรวมเศรษฐกิจโลก ที่จะส่งผลกระทบต่ออุปสงค์น้ำมั

· ทางด้านกลุ่มโอเปก รัสเซีย และประเทศผู้ผลิตอื่นๆ ถูกคาดการณ์เป็นวงกว้างว่าจะยังคงเดินหน้าปรับลดกำลังการผลิตตามข้อตกลงที่ระดับ 1.2 ล้านบาร์เรล/วัน

· นักวิเคราะห์ส่วนใหญ่ คาดว่า ราคาน้ำมันดิบ Brent มีโอกาสยืนเหนือ 70 เหรียญ/บาร์เรล ขณะที่ WTI น่าจะปิดเหนือ 65 เหรียญ/บาร์เรลได้ตามสมดุลตลาดปีนี้ และแนวโน้มทางการค้าก็จะเป็นปัจจัยหลักที่ช่วยขับเคลื่อนราคาน้ำมันดิบในตลาด ท่ามกลางอิหร่านและประเทศสมาชิกอื่นๆที่มีการปรับลดกำลังการผลิตในเวลานี้ด้วย และเหตุการณ์ต่างๆบริเวณอ่าวผลิตน้ำมัน ไม่ว่าจะเป็นการโจมตีแหล่งผลิตน้ำมัน หรือแม้แต่กรณีที่สหรัฐฯตำหนิอิหร่านเรื่องการโจมตีโดรนก็ตาม

บริษัท เอ็มทีเอส โกลด์ จำกัด
40,42,44 ถนนทรัพย์สิน แขวงวังบูรพาภิรมย์เขตพระนคร กรุงเทพ 10200
โทรศัพท์ 0 2770 7777 โทรสาร 0 2623 9366 E-mail: support@mtsgoldgroup.com