• สรุปข่าวเศรษฐกิจ (ภาคเช้า) ประจำวันที่ 29 พฤษภาคม 2562

    29 พฤษภาคม 2562 | Economic News

· ค่าเงินดอลลาร์ปรับแข็งค่าขึ้น โดยดัชนีดอลลาร์ปิด +0.3% ที่ 97.93 จุด โดยได้รับอานิสงส์จากความกังวลด้านการเมืองและการค้า ประกอบกับข้อมูลความเชื่อมั่นผู้บริโภคสหรัฐฯที่ปรับขึ้นเกินคาด แม้ว่าอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯจะร่วงลงทำต่ำสุดรอบ 19 เดือน

ด้านค่าเงินยูโรก็รีบาวน์ได้หลังจากที่อ่อนตัวไปในช่วงต้นตลาด จากชัยชนะเสียงข้างมากของพรรคสนับสนุนยูโรในศึกเลือกตั้งรัฐสภายุโรปที่ผ่านมา



ค่าเงินยูโรรีบาวน์มาทรงตัวแถว 1.117 ดอลลาร์/ยูโร หลังจากที่ลงไปทำ Low รอบ 23 เดือนในสัปดาห์ที่แล้วบริเวณ 1.1055 ดอลลาร์/ยูโร




· อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลอายุ 10 ปีปรับตัวลงทำระดับต่ำสุดรอบ 19 เดือนที่ 2.264% ท่ามกลางความตึงเครียดทางการค้าระหว่างสหรัฐฯและจีนที่ยาวนานอาจส่งผลกระทบต่อการขยายตัวทางเศรษฐกิจหรือจีดีพีในช่วงไตรมาสแรกได้



ขณะที่อัตราผลตอบแทนพันธบัตรอายุ 30 ปี ปรับตัวลงทำต่ำสุดตั้งแต่ปี 2017 ที่ 2.705% ขณะที่อัตราผลตอบแทนพันธบัตรอายุ 3 เดือนเคลื่อนไหวแถว 2.356% สูงกว่าผลตอบแทนอายุ 10 ปี



นอกจากนี้ อัตราผลตอบแทนพันธบัตรเยอรมนีอายุ 10 ปีก็ปรับตัวลงทำต่ำสุดตั้งแต่ 30 ก.ย. ปี 2016 ที่ระดับ -0.163%



· รายงานจาก CCTV News ระบุว่า การที่สหรัฐฯคุกคามบริษัทเทคโนโลยีของจีนอาจส่งผลให้จีนอาจใช้แร่หายากหรือ แรร์เอิร์ธมาเป็นอาวุธสำคัญสำหรับสงครามการค้าครั้งนี้ หลังจากที่ทางการจีนได้กล่าวเตือนว่าอย่านำสินค้าที่ต้องใช้แร่หายากดังกล่าวมาใช้กดดันกับทางจีน

กระแสคาดการณ์ดังกล่าวมีขึ้น หลังจากที่นายสี จิ้นผิง ประธานาธิบดีจีนมีการเยี่ยมชมโรงงานแร่หายากดังกล่าว และทำให้เกิดคาดการณ์ที่ว่าจีนอาจจะนำแร่แรร์เอิร์ธมาใช้กดดันด้านราคาที่สูงขึ้น หรือระงับการส่งออกให้หาก Trade War ยังคงขยายขอบเขตออกไป



แร่หากยากอาจเป็นเพียงเสี้ยวเล็กๆของยอดขาดดุลการค้าของสหรัฐฯกับจีนมูลค่า 4.2 แสนล้านเหรียญ แต่ก็ถือว่าแร่ดังกล่าวมีมูลค่ามหาศาลมากกว่าค่าเงินดอลลาร์ เนื่องจากเป็นส่วนประกอบสำคัญในการผลิต iPhone, รถยนต์ไฟฟ้า และอาวุธสำคัญต่างๆ



· นักกลยุทธ์ของ Bank of America Merrill Lynch หรือ BoAML กล่าวว่า กระทรวงความมั่นคงสหรัฐฯอาจได้รับความเดือดร้อนจากความเป็นไปได้ที่จีนจะนำแร่แรร์เอิรธ์มาใช้กับสงครามการค้าครั้งนี้ รวมทั้งจะส่งผลต่อฐานการผลิตภายนอกประเทศ ทำให้การผลิตและอุตสาหกรรมของสหรัฐฯเกิดความผันผวนได้



ทั้งนี้ จีนมีการส่งออกแร่หายกดังกล่าวคิดเป็น 78% ในปี 2018 หรือประมาณ 40% จากแหล่งแร่หายากทั่วโลก



· Morgan Stanley หนึ่งในธนาคารเพื่อการลงทุนรายใหญ่ในสหรัฐฯ ระบุว่า ตลาดหุ้นและเศรษฐกิจของสหรัฐฯมีแนวโน้มจะดิ่งลงจากภาวะตึงเครียดทางการค้าที่ฉุดให้ข้อมูลเศรษฐกิจอ่อนแอ อันจะเห็นได้จากการร่วงลงของข้อมูลคำสั่งซื้อสินค้าคงทน, ค่าใช้จ่ายหลักๆภายในประเทศ รวมทั้งภาคบริการ และทั้งหมดนี้จะสร้างความเสี่ยงให้แก่ผลกำไรภาคบริษัทและการเติบโตทางเศรษฐกิจ ที่ได้รับผลกระทบมากกว่าที่นักวิเคราะห์หลายๆคนคิดไว้



· นายเจมี ไดมอน ประธาน CEO จาก J.P. Morgan Chase กล่าวว่า ความตึงเครียดของสงครามการค้าของสหรัฐฯ-จีนอาจเป็นตัวทำลายความเชื่อมั่นในภาคบริษัทได้ และนี่คือผลสะท้อนของจริงที่จะเกิดขึ้นในเชิงลบ โดยอาจเปลี่ยนใจคนที่ตั้งใจจะลงทุนได้ ซึ่งเราจะเริ่มเห็นภาคธุรกิจเริ่มมีการคำนึงถึงภาวะอุปทานที่เกิดขึ้น จึงอาจเห็นการปรับลดการลงทุนในภาคธุรกิจเนื่องจากความไม่แน่นอนของความแตกต่างที่เกิดขึ้นทั้งหมด

· บทวิเคราะห์จาก AB Bernstein โดยสรุปมีใจความสำคัญว่า หากเกิดกระแสการชะลอตัวของเศรษฐกิจขึ้นอีกครั้ง อาจผลักดันให้ภาครัฐของแต่ละประเทศมีการออกนโยบายช่วยเหลือเศรษฐกิจแบบสุดโต่ง ซึ่งจะนำมาซึ่งภาวะความตึงเครียดทางการเมืองที่สูงขึ้น

ขณะที่นโยบายที่จะนำมาใช้กระตุ้นเศรษฐกิจ อาจเป็นการเพิ่มหนี้สินของรัฐบาลเพื่อนำเม็ดเงินมาลงทุนในเศรษฐกิจ ท่ามกลางอัตราดอกเบี้ยของบรรดาธนาคารกลางอยู่ในระดับที่ต่ำ



อีกหนึ่งนโยบายที่อาจเกิดขึ้นได้ภาวะดังกล่าว คือการปรับลดอัตราดอกเบี้ยให้อยู่ในระดับติดลบ ซึ่งมีรายงานว่าเฟดได้มีการเจรจาถึงความเป็นไปได้ดังกล่าวอยู่บ้างในการประชุมครั้งที่ผ่านๆมา แต่เนื่องจากเฟดเคยมีประสบการณ์ปรับอัตราดอกเบี้ยมาอยู่ในระดับติดลบ แต่อัตราเงินเฟ้อก็ไม่สามารถขยายตัวได้เท่าที่คาด ตัวเลือกดังกล่าว จึงมีความเป็นไปได้ต่ำที่เฟดจะพิจารณานำกลับมาใช้อีกครั้ง



· ที่ปรึกษาด้านเศรษฐกิจประจำตัวนายมหาธีร์ มูฮัมหมัด นายกรัฐมนตรีมาเลเซีย กล่าวว่า ผลกระทบจากสงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯ-จีน จะทำให้บรรดาธุรกิจภาคอุตสาหกรรมโยกย้ายแหล่งผลิตออกจากจีน และส่วนหนึ่งจะเข้ามาประกอบการในมาเลเซียเพิ่มขึ้น จึงคาดการณ์ว่าเศรษฐกิจมาเลเซียจะได้รับผลประโยชน์จากสงครามการค้าและเติบโตขึ้นได้ 0.1%

นอกจากมาเลเซียแล้ว บรรดานักวิเคราะห์เห็นด้วยกับคาดการณ์ของที่ปรึกษาด้านเศรษฐกิจ พร้อมระบุว่า ประเทศอื่นๆที่จีนน่าพิจารณาโยกย้ายแหล่งผลิตเข้ามา ได้แก่ ไทย และเวียดนาม

· หลายๆฝ่ายกำลังจับตากระบวนการคัดเลือกผู้ที่จะมาดำรงตำแหน่งผู้นำพรรค Conservative แทนนางเทเรซา เมย์ นายกรัฐมนตรีอังกฤษ ที่ประกาศลาออกไป ซึ่งผู้มีจะมาดำรงตำแหน่งหัวหน้าพรรคจะมีบทบาทสำคัญอย่างมากกับการผลักดันนโยบาย Brexit สำหรับรายชื่อของผู้ที่มีแนวโน้มสูงเป็นอันดับแรกๆ มีดังต่อไปนี้

อันดับแรกคือ นายบอริส จอห์นสัน ส.ส. ผู้ให้การสนับสนุนนโยบาย Brexit มาโดยตลอดนับตั้งแต่ปี 2016 ในปัจจุบัน เขาเป็นผู้ที่มีโอกาสมากที่สุดทีจะมาดำรงตำแหน่งต่อจากนางเมย์ถึง 40% โดยนายบอริสน่าจะยึดมั่นและผลักดันให้อังกฤษถอนตัวออกจากอียูตามเดดไลน์ในวันที่ 31 ต.ค. ซึ่งระหว่างนั้น นายบอริสจะพยายามเจรจาแก้ไขปัญหาชายแดนระหว่างไอร์แลนด์ร่วมกับกับอียูอีกครั้ง แต่ประเด็นดังกล่าวนางเมย์ก็ไม่สามารถเจรจาแก้ไขได้ติดต่อกันหลายครั้ง แต่นายบอริสก็เคยส่งสัญญาณว่า หากเจรจาไม่สำเร็จ เขาก็พร้อมที่ผลักดันให้อังกฤษถอนตัวออกแบบปราศจากข้อตกลง



อีกคนหนึงที่อาจได้รับเลือกมาดำรงตำแหน่ง คือ นายโดมินิค ราบบ์ อดีตรัฐมนตรีกระทรวง Brexit โดยมีโอกาส 14% ซึ่งนายโดมีนิค น่าจะยึดมั่นในเดดไลน์ของ Brexit วันที่ 31 ต.ค. เหมือนกับนายบอริส แต่นายโดมินิคมีความเชื่อมั่นว่ารัฐบาลอังกฤษจะสามารถหาข้อตกลงร่วมกับอียูในประเด็นชายแดนไอร์แลนด์เหนือได้ในที่สุด



· ราคาน้ำมันดิบปิดปรับขึ้นหลังจากที่เกิดน้ำท่วมบริเวณ Midwest ซึ่งเป็นหนึ่งในศูนย์กลางสต็อกน้ำมันสหรัฐฯประจำรัฐคุชชิง, โอกลาโฮมา จึงช่วยจำกัดการผลิตน้ำมันบางส่วนออกไป

น้ำมันดิบ WTI ปิดปรับขึ้น 51 เซนต์ หรือ +0.9% ที่ระดับ 59.14 เหรียญ/บาร์เรล ขณะที่น้ำมันดิบ Brent ปิดปรับลง 3 เซนต์ ที่ระดับ 70.08 เหรียญ/บาร์เรล

· รายงานจาก Wells Fargo ระบุว่า ปริมาณอุปสงค์น้ำมันดีเซลในประเทศจีนลดลงในเดือน มี.ค. และ เม.ย. คิดเป็น 14% กับ 19% ตามลำดับ โดยลงไปทำระดับต่ำสุดในรอบเกือบทศวรรษ เชื่อว่าเป็นผลกระทบจากสงครามการค้าและการขึ้นภาษีของสหรัฐฯ

ขณะที่คาดการณ์เศรษฐกิจอย่างเป็นทางการของรัฐบาลจีน มองว่าเศรษฐกิจจีนจะขยายตัวได้ 6.4% ในไตรมาสที่ 1/2019 แต่บรรดานักวิเคราะห์ต่างเริ่มที่จะไม่เห็นด้วยกับคาดการณ์ดังกล่าว และเชื่อว่ารัฐบาลกำลังประเมินการเติบโตของเศรษฐกิจสูงเกินไป


บริษัท เอ็มทีเอส โกลด์ จำกัด
40,42,44 ถนนทรัพย์สิน แขวงวังบูรพาภิรมย์เขตพระนคร กรุงเทพ 10200
โทรศัพท์ 0 2770 7777 โทรสาร 0 2623 9366 E-mail: support@mtsgoldgroup.com