• สรุปข่าวเศรษฐกิจ (ภาคค่ำ) ประจำวันที่ 24 พฤษภาคม 2562

    24 พฤษภาคม 2562 | Economic News

· ค่าเงินดอลลาร์อ่อนค่าลงจากระดับสูงสุดในรอบ 2 ปี ท่ามกลางแรงกดดันจากตัวเลขภาคอุตสาหกรรมสหรัฐฯที่ประกาศออกมาอ่อนแอเมื่อคืน ส่งผลให้ตลาดกังวลว่าความขัดแย้งระหว่างสหรัฐฯ-จีนอาจกำลังสร้างความเสียหายให้กับเศรษฐกิจสหรัฐฯเสียเอง ทำให้ค่าเงินดอลลาร์เริ่มสูญเสียฐานะ Safe-haven ลงไปบางส่วน

ดัชนีดอลลาร์ปรับอ่อนค่าลงอีก 0.2% บริเวณ 97.686 จุด หลังจากเมื่อคืนอ่อนค่าลงมา 0.7% จากระดับสูงสุดในรอบ 2 ปีที่ระดับ 98.371 จุด

· นักวิเคราะห์ FX จาก Commerzbank ระบุว่า ตลาดส่วนมากมองค่าเงินดอลลาร์เป็น Safe-haven เนื่องจากสงครามการค้าน่าจะเป็นผลบวกต่อสหรัฐฯ แต่เมื่อความเป็นจริงปรากฏจากตัวเลข PMI ที่ออกมาอ่อนแอเมื่อคืนนี้ รวมถึงประเด็น Huawei ตลาดจึงเริ่มเห็นได้ว่าเศรษฐกิจสหรัฐฯก็กำลังเผชิญแรงกดดันจากความขัดแย้งดังกล่าวเช่นเดียมกัน

ความขัดแย้งทางการค้ายังกดดันให้ตลาดมีกระแสคาดการณ์เพิ่มขึ้นว่าเฟดอาจปรับลดอัตราดอกเบี้ยอย่างน้อย 1 ครั้งภายในเดือน ต.ค. ปีนี้ และอีก 1 ครั้งที่จะตามมาในเดือน ม.ค. ปี 2020

การอ่อนค่าของดอลลาร์ช่วยให้ค่าเงินปอนด์อังกฤษแข็งค่าขึ้นเล็กน้อยจากระดับต่ำสุดในรอบ 4 เดือนครึ่ง ขณะที่ค่าเงินยูโรก็แข็งค่าขึ้นเล็กน้อยเหนือระดับ 1.12 ดอลลาร์/ยูโร และทำระดับสูงสุดในรอบสัปดาห์

การแข็งค่าของยูโรส่วนหนึ่งอาจมาจาก Exit poll ของการเลือกตั้งรัฐสภาอียูในประเทศเนเธอร์แลนด์ ที่แสดงให้เห็นว่าฝ่ายสนับสนุนอียูอาจจะสามารถครองที่นั่งในรัฐสภาได้มากกว่าฝ่ายที่ต่อต้าน ซึ่งผิดกับโพลสำรวจก่อนหน้านี้

ด้านค่าเงินดอลลาร์เมื่อเทียบกับเยน ปรับอ่อนค่าลงมาที่บริเวณ 109.50 เยน/ดอลลาร์ โดยเป็ยการปรับอ่อนค่าลงติดต่อกันจากเมื่อคืน และยังเป็นการปรับลดลงด้วยอัตรารายวันที่มากที่สุดในรอบ 2 เดือน

· กลยุทธ์ที่นายโดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐฯ ใช้กดดันการค้ากับจีนมาโดยตลอด ก็คือการโจมตีสินค้านำเข้าจากประเทศจีน แต่อาวุธใหม่ที่เขาเพิ่งนำมาใช้เมื่อไม่นานมานี้ คือการทำให้การส่งออกของสหรัฐฯกลายเป็นอาวุธเสียเอง

ซึ่งก็คือกรณีที่ทีมบริหารของนายทรัมป์ประกาศคว่ำบาตร Huawei ด้วยการจำกัดการขายสินค้าให้กับทาง Huawei และบริษัทที่เกี่ยวข้อง และยังมีบริษัทที่ประกอบธุรกิจเกี่ยวกับกล้องวงจรที่อยู่ในระหว่างการพิจารณาอีกอย่างน้อย 5 บริษัท

อย่างไรก็ตาม บรรดาผู้ประกอบการในสหรัฐฯกลับมีความกังวลต่อการควบคุมการส่งออกมากกว่าการขึ้นภาษีเสียอีก โดยบริษัทรายใหญ่อย่าง General Electric, Google และ Microsoft ต่างออกมาแสดงความกังวลว่า การดำเนินการเช่นนี้จะเป็นการจำกัดการแข่งขันในตลาด ส่งผลให้เทคโนโลยีของสหรัฐฯไม่สามารถพัฒนาไปได้เท่าที่ควร

· หลังจากที่อัตราผลตอบแทนพันธบัตรอายุ 10 ปีเมื่อวานนี้อ่อนตัวลงไปทำระดับต่ำสุดตั้งแต่ปี 2017 วันนี้ก็มีการรีบาวน์กลับมาได้แถว 2.3185% ขณะที่อัตราผลตอบแทนอายุ 30 ปี ยังอ่อนตัวอยู่แถว 2.7534% ท่ามกลางตลาดที่ให้ความสำคัญกับประเด็นความขัดแย้งทางการค้าระดับโลก โดยเฉพาะสหรัฐฯและจีนที่ยังคงไม่สามารถหาทางแก้ไขได้


สำหรับคืนนี้ ตลาดให้ความสำคัญกับตัวเลขยอดคำสั่งซื้อสินค้าคงทนของทางสหรัฐฯที่จะประกาศในช่วงเวลาประมาณ 19.30น. ตามเวลาไทย



· นักวิเคราะห์จาก FXStreet ระบุว่า อังกฤษมีกำหนดการจะเปิดเผยรายงานยอดค้าปลีกเดือนเม.ย. ในวันศุกร์นี้ เวลาประมาณ 15.30น. ตามเวลาไทย โดยมีคาดการณ์ว่าจะออกมาแย่ลง 0.3% หลังจากที่เดือนมี.ค. ขยายตัวได้ 1.1% ขณะที่ยอดค้าปลีกที่ไม่รวมความผันผวนของราคาน้ำมันก็คาดว่าจะหดตัว 0.5% เมื่อเทียบรายปี

ทั้งนี้ ข้อมูลเศรษฐกิจของทางฝั่งอังกฤษดูจะออกมาไม่ค่อยดีนัก นับตั้งแต่ข้อมูลเงิินเฟ้อในช่วงต้นสัปดาห์นี้ที่ออกมาแย่กว่าที่คาดการณ์ โดย CPI รายปีขยายตัวได้ดีกว่าคาดเล็กน้อยที่ 2.1% ขณะที่ความกังวลที่เข้ากดดันการเข้าซื้อเงินปอนด์คือประเด็น Brexit ในเวลานี้ ซึ่งวันนี้จะเป็นอีกครั้งที่นายกฯอังกฤษจะเสนอโหวตแผน Brexit อีกครั้ง และก็อาจประสบความล้มเหลวได้อีกครั้งเช่นกัน


สำหรับแนวโน้มของค่าเงินปอนด์ ก็ดูจะอ่อนค่าลงไปกว่า 600 ปิ๊ปส์ จากระดับสูงสุดของเดือนนี้ที่ 1.3176 ดอลลาร์/ปอนด์ แม้ว่าจะมีการดีดกลับได้บ้างเมื่อวานนี้ แต่ค่าเงินก็ยังเคลื่อนไหวในเขต Oversold และหากยอดค้าปลีกอังกฤษออกมาดีขึ้นเกินคาดก็มีแนวโน้มจะเห็นการปรับแข็งค่าขึ้นได้บ้าง แต่การปรับขึ้นน่าจะเป็นไปอย่างจำกัดเพราะน่าจะดึงดูดนักลงทุนฝั่งขายให้เข้ามาทำกำไรขาลงมากกว่า แต่หากข้อมูลออกมาน่าผิดหวังในวันนี้ก็มีโอกาสเห็นค่าเงิน Break หลุดต่ำกว่า 1.2600 ดอลลาร์/ปอนด์ได้




· นักวิเคราะห์จาก FXStreet มองว่าค่าเงินเยนมีการปรับแข็งค่าลงมาแถว 109.75 เยน/ดอลลาร์ ท่ามกลางหุ้นเอเชียที่ปรับตัวลดลง และมีนแวโน้มจะเห็นค่าเงินเยนปรับทดสอบระดับ 109 เยน/ดอลลาร์ แม้ว่าจะเห็นการรีบาวน์ได้ของผลตอบแทนพันธบัตรและดัชนี S&P500 โดยปัจจัยสำคัญที่ต้องติดตามคือข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ

อย่างไรก็ดี แม้ว่าเส้นค่าเฉลี่ย Fibonacci Retracement 38.2% จะสะท้อนให้เห็นถึงแรงเทขายทำกำไรกลับลงมาแถว 109.55 เยน/ดอลลาร์ในช่วงต้นตลาดวันนี้ แต่ราคาระยะสั้นก็ดูจะยังไม่ชัดเจนว่าจะเห็นกลับทดสอบแนวต้านอีกหรือไม่ และหากค่าเงินเยน Break หลุด 109.45 เยน/ดอลลาร์ ก็อาจมีแรงขายครั้งใหม่เข้ากดดันค่าเงินเยนให้กลับลงทำระดับแข็งค่ามากที่สุดรอบเดือนบริเวณ 109 เยน/ดอลลาร์อีกครั้ง ทางด้านเส้น Fibonacci Retracement 50% อยู่ที่ระดับ 108.6 เยน/ดอลลาร์

ทั้งนี้ หากค่าเงินเยนยังอยู่ในภาวะแข็งค่าก็มีโอกาสเห็นราคากลับลงทดสอบระดับแนวรับด้านล่างที่ 108.6, 108, 107.75 และ 107.45 เยน/ดอลลาร์ตามลำดับได้

ในทางกลับกันหากค่าเงินเยนมีกำลังเข้าซื้อแข็งแกร่งพอก็อาจเห็นราคากลับไปแถว 110 เยน/ดอลลาร์ได้ และจะมีแนวต้านถัดไปแถว 110.55 - 110.60 เยน/ดอลลาร์ได้ โดยความน่าจะเป็นที่จะเห็นราคาทดสอบ 110.60 เยน/ดอลลาร์ หากเกิดขึ้นจริงก็มีโอกาสหนุนให้ค่าเงินดอลลาร์อ่อนค่ากลับไปแถว 111 และ 111.8 เยน/ดอลลาร์

· สถาบันการลงทุน CLSA วิเคราะห์ว่า Huawei มีสต็อกชิ้นส่วนสำหรับกระบวนการผลิตและซ่อมบำรุงสมาร์ทโฟนของพวกเขามากพอที่จะช่วยให้สามารถดำเนินธุรกิจต่อไปได้ตลอดปี 2019

ขณะที่ HiSilicon ซึ่งเป็นบริษัทลูกของ Huawei ได้เพิ่มปริมาณการผลิตชิ้นส่วนสำหรับสมาร์ทโฟนติดต่อกันในช่วงปีที่ผ่านมา และมีสต็อกชิ้นส่วนมากถึง 80 – 90% จากปริมาณสต็อกทั้งหมดที่ทาง Huawei ต้องการ

ในกรณีที่ Huawei ใช้สต็อกชิ้นส่วนจนใกล้หมด อาจจำเป็นต้องพึ่งพา TSMC ที่เป็นบริษัทผู้ผลิตชิปของไต้หวัน

· รัฐบาลจีนประกาศแย้งข้อกล่าวหาของนายไมค์ ปอมเปโอ รัฐมนตรีกระทรวงต่างประเทศแห่งสหรัฐฯ ที่กล่าวหาว่ารัฐบาลจีนมีความสัมพันธ์ในเชิงผลประโยชน์ร่วมกับ Huawei โดยระบุว่า ข้อกล่าวหาดังกล่าวเป็นข่าวลือที่ถูกกุขึ้นและไม่เป็นความจริง

· นางเทเรซ่า เมย์ นายกรัฐมนตรีอังกฤษ ถูกคาดการณ์ว่าจะประกาศกำหนดวันที่เธอจะลาออกจากตำแหน่งอย่างเป็นทางการภายในคืนนี้

อย่างไรก็ตาม คณะกรรมการประจำรัฐสภาอังกฤษเชื่อว่า หลังการประกาศดังกล่าว นางเมย์จะยังดำรงอยู่ในตำแหน่งต่อ จนกว่าจะสามารถหาผู้มาดำรงตำแหน่งแทนเธอได้อย่างเป็นเอกฉันท์ ซึ่งกระบวนการเลือกตั้งน่าจะเกิดขึ้นหลังวันที่ 10 มิ.ย. ภายหลังการเดินทางเยือนอังกฤษของนายโดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐฯ และกระบวนการดังกล่าวน่าจะกินเวลาไปอย่างน้อย 6 สัปดาห์หลังจากนั้น

การลาออกจากตำแหน่งของนางเมย์มีความเสี่ยงที่จะทำให้รัฐสภาอังกฤษมีความขัดแย้งกันภายใต้แผนการดำเนินนโยบาย Brexit เนื่องจากผู้นำคนใหม่น่าจะต้องการความชัดเจนจากรัฐสภาก่อน ถึงจะสามารถนำแผนดังกล่าวไปหารือกับทางสหภาพยุโรปต่อได้

ทั้งนี้ นายบอริส จอห์นสัน ส.ส. ผู้ให้การสนับสนุนนโยบาย Brexit มาโดยตลอดนับตั้งแต่ปี 2016 มีโอกาส 40% ที่จะมาดำรงตำแหน่งผู้นำอังกฤษต่อจากนางเมย์ โดยตลาดคาดการณ์โอกาสของเขาไว้ที่ 40% รองลงมาคือ นายโดมินิค ราบ อดีตรัฐมนตรีกระทรวง Brexit มีโอกาส 14% ที่จะได้ดำรงตำแหน่งต่อจากนางเมย์

· นายโดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐฯ กล่าวว่า เขาไม่เห็นถึงความจำเป็นที่สหรัฐฯจะต้องส่งกำลังเสริมทางทหารไปสู่พื้นที่ตะวันออกกลางเพื่อป้องกันภัยคุกคามจากอิหร่านแต่อย่างใด

ถ้อยแถลงดังกล่าวได้สร้างความสับสน เนื่องจากรายงานของ Reuters ก่อนหน้านี้ ระบุว่า กระทรวงกลาโหมสหรัฐฯกำลังพิจารณาส่งกำลังเสริมไปยังพื้นที่ตะวันออกกลางเป็นจำนวน 5,000 นาย ขณะที่แหล่งข่าวอื่นๆระบุจำนวนเป็น 10,000 นาย

· สมาชิกเฟดจำนวน 4 คน ระบุว่าถึงความเสี่ยงของความขัดแย้งทางการค้าระหว่างสหรัฐฯ-จีนที่กำลังกดดันความเชื่อมั่นของผู้ประกอบการ ว่าจะกลายเป็นปัจจัยที่ทำให้เศรษฐกิจชะลอตัว

ในการแถลงการณ์ข่าวที่จัดขึ้น ณ เฟดสาขาดัลลัส เมื่อคืนที่ผ่านมา ซึ่งเข้าร่วมโดยสมาชิกเฟดคนสำคัญ 4 คน โดยนางแมรี่ ดาลี ประธานเฟดสาขาซานฟรานซิสโก กล่าวว่า ความเชื่อมั่นของตลาดกำลังได้รับผลกระทบในทางลบจากความขัดแย้งทางการค้า โดยหากมีสัญญาณที่ดีมาจากการเจรจาการค้าระหว่างสหรัฐฯ-จีนก็เชื่อว่าเศรษฐกิจจะกลับมาเติบโตได้ แต่ถ้าความขัดแย้งยังคงยืดเยื้อต่อไป เศรษฐกิจก็จะชะลอตัวลงเนื่องตลาดสูญเสียความเชื่อมั่น

ขณะที่นายโธมัส บาร์กิน ประธานเฟดสาขาริชมอนด์ และนายราฟาเอล บอสติก ประธานเฟดสาขาแอตแลนต้า ก็กล่าวไปในเชิงเดียวกัน โดยระบุว่า การสูญเสียความเชื่อมั่นเป็นปัจจัยที่กดดันการเติบโต ในทางกลับกัน หากสามารถหาข้อตกลงได้ก็จะช่วยหนุนการเติบโตของเศรษฐกิจ

ทางด้านนายโรเบิร์ต เคฟแลนด์ ประธานเฟดสาขาดัลลัส ระบุว่า เฟดกำลังจับตาความเคลื่อนไหวของความขัดแย้งทางการค้าอย่างใกล้ชิด แต่ยังเร็วเกินไปที่จะสามารถแสดงความเห็นใดๆ เกี่ยวกับหนทางข้างหน้าของความขัดแย้งได้

· วันนี้ราคาน้ำมันดิบรีบาวน์ได้ต่อประมาณ 1% ท่ามกลางสัปดาห์แห่งการปรับตัวลงมากที่สุดในรอบปี จากสต็อกน้ำมันดิบที่เพิ่มขึ้น และความกังวลจากภาวะเศรษฐกิจชะลอตัวที่ดูจะเป็นเหตุการณ์ใหญ่สำหรับตลาดน้ำมันสัปดาห์นี้

น้ำมันดิบ Brent ปรับขึ้น 72 เซนต์ หรือ +1.1% ที่ระดับ 68.48 เหรียญ/บาร์เรล ขณะที่น้ำมันดิบ WTI ปรับขึ้น 66 เซนต์ หรือ +1.1% ที่ระดับ 58.57 เหรียญ/บาร์เรล




· นักวิเคราะห์จาก DailyFX มองว่า ราคาน้ำมันดิบ WTI อ่อนตัวกลับลงมาแถวแนวรับ 57.24 - 57.88 เหรียญ/บาร์เรล โดยหากภาพระดับวันปิดต่ำกว่าแนวรับดังกล่าว มีโอกาสเห็นทองกลับลงทดสอบเป้าหมาย 55.75 - 55.37 เหรียญ/บาร์เรล โดยในระยะสั้นแนวต้านจะอยู่ที่ 60.39 - 60.95 เหรียญ/บาร์เรล โดยหากปิดเหนือกว่าระดับแนวต้านได้ก็มีโอกาสที่จะเห็นน้ำมันดิบปรับไปแถว 63.59 เหรียญ/บาร์เรล และไปต่อที่ 67.03 เหรียญ/บาร์เรลได้


บริษัท เอ็มทีเอส โกลด์ จำกัด
40,42,44 ถนนทรัพย์สิน แขวงวังบูรพาภิรมย์เขตพระนคร กรุงเทพ 10200
โทรศัพท์ 0 2770 7777 โทรสาร 0 2623 9366 E-mail: support@mtsgoldgroup.com