• ทำไมข้อมูลแรงงานจึงส่งผลต่อเฟด!!

    4 สิงหาคม 2560 | Economic News


เฟดจะดำเนินนโยบายโดยพิจารณาจากความแข็งแกร่งของตลาดแรงงานมากกว่าการอ่อนตัวของเงินเฟ้อ

แม้ว่าเฟดจะส่งสัญญาณในการจะเริ่มต้นปรับลดยอดงบดุลจำนวน 4.5 ล้านล้านเหรียญ แต่แนวโน้มในการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยก็ยังคงมีความไม่แน่นอนจากการอ่อนตัวของเงินเฟ้อ ขณะที่ข้อมูลการจ้างงานในคืนนี้ค่อนข้างจะมีความสำคัญอย่างมาก เนื่องจากนักลงทุนและนักวิเคราะห์มองว่า เฟดจะตัดสินใจดำเนินนโยบายต่อไปจากความแข็งแกร่งของตลาดแรงงานมากกว่าการอ่อนตัวของเงินเฟ้อ

ในการประชุมเฟดล่าสุดเมื่อเดือนก.ค.ที่ผ่านมา เฟดมีท่าทีต่อการกำหนดแนวทางปรับลดยอดงบดุล แต่การเริ่มต้นในเดือนก.ย. ดูเหมือนจะยังอยู่ในระดับต่ำ เนื่องจากข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯระหว่างปัจจุบันและที่ผ่านมาอาจส่งผลกระทบเพียงเล็กน้อยต่อการตัดสินใจของเฟด ซึ่งแผนการปรับลดยอดงบดุลของเฟดจะเผชิญหน้ากับช่วงการจำกัดการกู้ยืมของรัฐบาลสหรัฐฯ หรือแม้แต่เพดานหนี้ ซึ่งหากผลที่ออกมาดังกล่าวสร้างความผันผวนให้แก่ตลาดพันธบัตร ก็อาจส่งผลให้เฟดชะลอแผนการปรับลดงบดุลออกไปก่อน

ขณะที่สมาชิกเฟดยังคงมีความกังวลต่อแนวทางการดำเนินนโยบายดอกเบี้ย แม้ว่าเศรษฐกิจสหรัฐฯจะเข้าใกล้ภาวะการจ้างงานเต็มรูปแบบ โดยจะเห็นได้ว่าระดับอัตราว่างงานปัจจุบันอยู่ที่ 4.4% ซึ่งอยู่ต่ำกว่าที่สมาชิกคาดการณ์ค่ามัธยฐานไว้ที่ระดับ 4.7% แต่สมาชิกเฟดเชื่อว่า การขยายตัวของภาคแรงงานอาจได้รับผลกระทบจากแรงกดดันขาลงของคนว่างงานที่ยังเป็นปัจจัยที่ทำให้เงินเฟ้ออ่อนตัวแบบชั่วคราว

สมาชิกเฟดมีการคาดการณ์กันว่า อัตราว่างงานจะยังทรงตัวในระดับดังกล่าวจนถึงสิ้นปี แต่อัตราการว่างงานจะเปลี่ยนแปลงก็ต่อเมื่อการมีการจ้างงานใกล้ระดับเฉลี่ย 100,000 ตำแหน่ง/เดือน หรือมีการปรับตัวขึ้นอย่างมาก ขณะที่การอ่อนตัวของเงินเฟ้อและอัตราว่างงานที่ยังทรงตัวจะทำให้เฟดยังคงผ่อนคลายทางการเงินต่อไป แต่หากแนวโน้มตลาดแรงงานในไตรมาสที่ 2 ยังเป็นทิศทางเดียวกับไตรมาสแรก ก็จะทำให้เฟดยังไม่สามารถดำเนินนโยบายได้

3 ปัจจัยที่เจ้าหน้าที่เฟดรอคอยจากรายงานจ้างงานเดือนก.ค. คือ

มีการคาดการณ์กันว่า รายงานการจ้างงานนอกภาคการเกษตรของรัฐบาลสหรัฐฯจะขยายตัวได้แถวระดับ 180,000 ตำแหน่ง ซึ่งเป็นระดับต่ำกว่า 222,000 ตำแหน่งในเดือนมิ.ย. แต่ค่าเฉลี่ยการจ้างงานของสหรัฐฯยังอยู่ในระดับ 187,000 ตำแหน่งในช่วง 1 ปี ซึ่งการขยายของภาคแรงงานสหรัฐฯยังเป็นปัจจัยสำคัญที่เฟดนำมาประกอบการดำเนินนโยบายปัจจุบันของเฟด โดยเฉพาะนโยบายดอกเบี้ย

ทั้งนี้ นักวิเคราะห์จาก Bloomberg มีมุมมองว่า ข้อมูลการจ้างงานอาจผลักดันให้เงินเฟ้อกลับสู่เป้าหมาย 2% ที่เฟดกำหนดได้ เว้นเสียแต่ว่าข้อมูลที่ออกมาไม่เป็นไปตามที่คาดการณ์ไว้

· อัตราการว่างงาน

นักวิเคราะห์ส่วนใหญ่ คาดการณ์ว่า อัตราว่างงานจะปรับตัวลงสู่ระดับ 4.3% ซึ่งหากการจ้างงานออกมาดีขึ้นก็จะยิ่งหนุนให้อัตราว่างงานนั้นทรงตัวหรือต่ำกว่า แต่หากอัตราการว่างงานออกมาเพิ่มสูงขึ้นก็จะเป็นตัวที่สะท้อนว่าภาวะเศรษฐกิจสหรัฐฯไม่สามารถเข้าใกล้ภาวะการจ้างงานอย่างเต็มรูปแบบได้อย่างที่สมาชิกเฟดคาดหวังไว้ และอาจทำให้เฟดลดโอกาสการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย โดยเฉพาะเมื่อนำมาประกอบกับข้อมูลเงินเฟ้อที่ยังคงอ่อนแรง

· ค่าแรง

แม้ว่าตลาดแรงงานจะยังตึงตัว แต่ค่าแรงก็ยังคงอยู่ในระดับต่ำ โดยนักวิเคราะห์คาดการณ์ว่าค่าแรงนั้นจะยังคงอ่อนตัว และเมื่อเทียบรายปีจะมีการขยายตัวเพียง 2.4% ท่ามกลางการขยายตัวของปริมาณการเพิ่มผลผลิตนั้นยังอยู่ในระดับต่ำ และเฟดอาจต้องการเห็นว่าค่าแรงเข้าใกล้ 3% เพื่อสนับสนุนภาพรวมทางเศรษฐกิจที่เข้าใกล้ภาวะการจ้างงานอย่างเต็มรูปแบบ ซึ่งค่าแรงที่เพิ่มขึ้นจะเป็นปัจจัยที่ช่วยหนุนให้เงินเฟ้อปรับตัวขึ้น แต่หากค่าแรงที่ออกมายังอยู่ในระดับต่ำหรือทรงตัว ประกอบกับอัตราว่างงานที่อยู่ในระดับต่ำ ก็อาจทำให้เฟดปรับลดมุมมองอัตราว่างงานในระยะยาวลง และมีโอกาสเห็นเฟดลดจำนวนคาดการณ์การปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในปีหน้าได้

ทั้งนี้ หากข้อมูลการจ้างงานเป็นไปตามที่ตลาดคาดการณ์ไว้ ก็อาจส่งผลให้เฟดดำเนินการตามแผนที่วางไว้ได้ หากมีการประเมินว่าค่าแรงและเงินเฟ้อนั้นจะปรับตัวสูงขึ้น เพื่อยืนยันความแข็งแกร่งและการขยายตัวของตลาดแรงงานนั่นเอง

อย่างไรก็ดี ตลาดประเมินโอกาสการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของเฟดในเดือนธ.ค.ไว้เพียงแค่ 32% ซึ่งยังคงเคลื่อนไหวในระดับต่ำ และอาจเป็นที่แน่ชัดว่า หากข้อมูลในช่วง 4 เดือนก่อนเฟดนำมาตัดสินใจในการประชุมยังเกื้อหนุนให้อัตราว่างงานปรับตัวลดลงได้ ก็อาจทำให้เฟดดำเนินการคุมเข้มทางการเงินได้ แม้ว่าเงินเฟ้อจะอยู่ในระดับต่ำก็ตาม เพราะในส่วนของข้อมูลเงินเฟ้อนั้น สมาชิกเฟดอาจตั้งใจที่อดทนรอได้และชะลอการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยออกไปก่อน หากอัตราการจ้างงานยังคงทรงตัวในระดับปัจจุบัน แต่การอดทนรอเงินเฟ้อของเฟดอาจไม่จำเป็นต่อไปหากแนวโน้มของอัตราว่างงานปรับตัวลดลงต่ำกว่า 4%


ที่มา: Bloomberg

บริษัท เอ็มทีเอส โกลด์ จำกัด
40,42,44 ถนนทรัพย์สิน แขวงวังบูรพาภิรมย์เขตพระนคร กรุงเทพ 10200
โทรศัพท์ 0 2770 7777 โทรสาร 0 2623 9366 E-mail: support@mtsgoldgroup.com