• สรุปข่าวเศรษฐกิจ (ภาคค่ำ) ประจำวันที่ 14 มิถุนายน 2559

    14 มิถุนายน 2559 | Economic News


รมว.คลังญี่ปุ่นยันพร้อมใช้มาตรการป้องกันการเก็งกำไรเงินเยน

นายทาโร่ อาโสะ รัฐมนตรีกระทรวงคลังญี่ปุ่นเผยทางการญี่ปุ่นจะใช้มาตรการเพื่อป้องกันไม่ให้เงินเยนแข็งค่าขึ้นจากการเก็งกำไร โดยทางการจะจับตาความเคลื่อนไหวของอัตราแลกเปลี่ยนอย่างใกล้ชิด เพื่อสร้างความมั่นใจว่า ความเคลื่อนไหวที่เกิดขึ้นจากการเก็งกำไรจะไม่เกิดขึ้นแบบต่อเนื่อง

รมว.คลังญี่ปุ่นกล่าวด้วยว่า ทางการญี่ปุ่นพร้อมที่จะเข้าแทรกแซงในตลาดเงินโดยตรง แม้ว่า สหรัฐจะไม่เห็นด้วยกับแนวทางดำเนินการเช่นนี้ก็ตาม โดยการแข็งค่าของเงินเยนที่เกิดขึ้นเมื่อเร็วๆนี้นั้นเป็นความเคลื่อนไหวที่เกิดขึ้นอย่างรวดเร็วและเกิดจากการเก็งกำไร แต่ก็ไม่ได้ระบุว่า ความเคลื่อนไหวดังกล่าวสอดคล้องกับคำนิยามที่ประเทศมหาอำนาจทางเศรษฐกิจได้กำหนดไว้หรือไม่


นักเศรษฐศาสตร์ส่วนใหญ่คาด บีโอเจจะยังไม่ออกมาตรการเพิ่มเติม

นักเศรษฐศาสตร์ส่วนใหญ่คาด บีโอเจจะยังไม่ออกมาตรการเพิ่มเติม แม้ความเสี่ยงจาก Brexit จะทำให้ค่าเงินเยนแข็งค่าขึ้นก็ตาม

ผลการสำรวจนักเศรษฐศาสตร์จำนวน 27 คน โดย Reuters ระบุว่า นักเศรษฐศาสตร์ 18 คนคาดว่าบีโอเจจะผ่อนคลายมาตรการทางการีเงินในการประชุมครั้งหน้าในวันที่ 28-29 ก.ค. ขณะที่มีเพียง 5 คน เท่านั้นที่คาดว่าบีโอเจจะเพิ่มมาตรการในการประชุมในวันที่ 15-16 มิ.ย. นี้

นักวิเคราะห์จาก Nomura Securities ระบุว่า ความเสี่ยงจาก Brexit จะทำให้ค่าเงินเยนแข็งค่าขึ้น ไม่ว่าบีโอเจจะดำเนินการอะไรก็ตาม ดังนั้นในสัปดาห์นี้ค่าเงินคงไม่อ่อนค่าลง


ประธาน EC, ECB จัดประชุมวันนี้ หารือเศรษฐกิจ, Brexit

นายฌอง-คล้อด ยุงเกอร์ ประธานคณะกรรมาธิการยุโรป (EC) และนายมาริโอ ดรากี้ ประธานอีซีบี จะจัดการประชุมในวันนี้ เพื่อหารือเกี่ยวกับภาวะเศรษฐกิจในยูโรโซน รวมทั้งการทำประชามติในอังกฤษกรณีการแยกตัวออกจากสหภาพยุโรป (Brexit)

ทั้งนี้ ประธานของสถาบันสำคัญของ EU ได้จัดการประชุมในช่วงไม่กี่สัปดาห์ที่ผ่านมา เพื่อประเมินผลลัพธ์ของการทำประชามติ Brexitซึ่งนายยุงเกอร์ และนายดรากี้อาจหารือถึงผลกระทบต่อเศรษฐกิจจากการทำประชามติดังกล่าว

นอกจากนี้ EU หวังที่จะเสร็จสิ้นการจัดตั้งสหภาพเศรษฐกิจและการเงิน (EMU) ภายในปี 2025 โดย EMU จะเป็นย่างก้าวสำคัญในการรวมตัวทางเศรษฐกิจของยูโรโซน ซึ่งจะเกี่ยวข้องกับการร่วมมือด้านนโยบายเศรษฐกิจและการคลัง, การมีนโยบายการเงินร่วมกัน รวมถึงการใช้สกุลเงินเดียวกัน


ราคาน้ำมันดิบชะลอตัว จากนักลงทุนที่หลีกเลี่ยงสินทรัพย์เสี่ยง

ราคาน้ำมันดิบในวันนี้ปรับตัวลดลงต่ำกว่าระดับ 50 เหรียญ/บาร์เรล เนื่องจากนักลงทุนหลีกเลี่ยงการถือครองสินทรัพย์เสี่ยงก่อนการลงประชามติของอังกฤษ

นอกจากการทำประชามติแล้ว ตลาดการเงินยังคงระมัดระวังการประชุมธนาคารกลางแห่งสำคัญอีก 3 แห่ง ได้แก่สหรัฐฯ ญี่ปุ่น และอังกฤษ

น้ำมันดิบ BRENT ปรับตัวลดลง 0.91% สู่ระดับ 49.89 เหรียญ/บาร์เรล ขณะที่น้ำมันดิบ WTI ปรับตัวลดลง 1.02% สู่ระดับ 48.39 เหรียญ/บาร์เรล

ราคาน้ำมันดิบเมื่อคืนนี้ปรับตัวลดลงหลังข้อมูลจาก Genscape Inc. เผยให้เห็นถึงสต็อกน้ำมันดิบสหรัฐฯปรับตัวสูงขึ้น 525,000 บาร์เรล ในสัปดาห์ที่ผ่านมา

ทั้งนี้ราคาน้ำมันดิบปรับตัวลดลงต่อเนื่อง หลังจากที่ Baker Hughes รายงานในวันจันทร์ว่า แท่นขุดเจาะน้ำมันดิบในสหรัฐฯปรับตัวสูงขึ้น เป็นสัปดาห์ที่ 2 ติดต่อกัน

นักเศรษฐศาสตร์จาก OCBC ระบุว่า Brexit เป็นเพียงปัจจัยรบกวนตลาดสินค้าโภคภัณฑ์ในระยะสั้น อย่างไรก็ดี เชื่อว่าอุปสงค์และอุปทานจะยังคงเป็นปัจจัยหลักในการขับเคลื่อนตลาดต่อไป โดยเชื่อว่า ณ ระดับ 60 เหรียญ/บาร์เรล จะเป็นระดับที่เหล่าบริษัทผู้ผลิตน้ำมันดิบจะเพิ่มการลงทุนเพื่อผลิตน้ำมันดิบมากขึ้น


บริษัท เอ็มทีเอส โกลด์ จำกัด
40,42,44 ถนนทรัพย์สิน แขวงวังบูรพาภิรมย์เขตพระนคร กรุงเทพ 10200
โทรศัพท์ 0 2770 7777 โทรสาร 0 2623 9366 E-mail: support@mtsgoldgroup.com