ค่าเงินดอลลาร์ได้แข็งค่าขึ้นติดต่อกันเป็นเวลาแล้วกว่า 3 สัปดาห์ เนื่องจากนักลงทุนในตลาดคาดการณ์ว่าเฟดมีโอกาสปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยมากขึ้น สวนทางกับธนาคารกลางแห่งอื่นๆในโลกที่ยังคงเน้นใช้นโยบายการเงินแบบผ่อนคลาย
ดัชนีดอลลาร์ ปรับตัวสูงขึ้นมาแล้วกว่า 3.56% จากระดับต่ำสุดที่ 91.92 จุด เมื่อสามสัปดาห์ก่อน สู่ระดับ 95.19 จุด ในวันนี้
ค่าเงินดอลลาร์ที่แข็งค่าขึ้นติดต่อกัน 3 สัปดาห์ หลังจากที่อ่อนค่าลงติดต่อกันเป็นเวลากว่า 3 เดือน โดยเป็นการแข็งค่าขึ้นติดต่อกันนานที่สุดนับตั้งแต่เดือน ม.ค. ที่ผ่านมา
ทั้งนี้ค่าเงินดอลลาร์แข็งค่าขึ้นอย่างมาก หลังจากที่เฟดเผยบันทึกการประชุมประจำเดือน เม.ย. ซึ่งหนุนให้นักลงทุนคาดการณ์ว่าเฟดจะสามารถขึ้นอัตราดอกเบี้ยได้มากขึ้น อย่างไรก็ดี นักลงทุนในตลาดยังคงมีความกังวลว่าเฟดจะสามารถปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยได้จริงหรือ ภายใต้สถานการณ์ที่การเติบโตทางเศรษฐกิจทั่วโลกชะลอตัวลง
นักวิจัยจาก IMF ระบุ นโยบาย QE ของบีโอเจนั้น ส่งผลดีแก่กลุ่มประเทศตลาดเกิดใหม่
IMF ระบุว่า การที่บีโอเจใช้นโยบายการเงินที่ผ่อนคลายอย่างยิ่งยวดนั้น ช่วยหนุนการเติบโตและราคาหุ้นของกลุ่มประเทศตลาดเกิดใหม่ในเอเชีย
ทั้งนี้นโยบาย QE ของญี่ปุ่นนั้นได้กดดันค่าเงินเยนให้อ่อนค่าลงจากระดับ 82 เยน/ดอลลาร์ ในปี 2012 สู่ระดับ 119 เยน/ดอลลาร์ ในช่วงเดือน ส.ค. ที่ผ่านมา รวมถึงช่วยหนุนตลาดหุ้นและอัตราเงินเฟ้อของญี่ปุ่นอีกด้วย
โดยในรายงานของ IMF ระบุว่า นอกจากนโยบาย QE จะช่วยหนุนตลาดหุ้นของญี่ปุ่นแล้ว ยังช่วยหนุนตลาดหุ้นและค่าเงินของกลุ่มประเทศตลาดเกิดใหม่ในเอเชียอีกด้วย โดยประเทศส่วนใหญ่ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ มีระดับผลผลิตและเงินเฟ้อสูงขึ้น และมีเงินทุนไหลเข้าเป็นจำนวนมาก
IMF ระบุว่า มาตรการ QE ของญี่ปุ่น ช่วยหนุนตลาดหุ้นของกลุ่มประเทศเกิดใหม่ในเอเชียได้ราว 2% - 5% สำหรับตลาดหุ้นจีน, อินโดนีเซีย, มาเลเซีย, สิงค์โปร และไทย
นักเศรษฐศาสตร์จาก Wells Fargo ระบุ ข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯดีกว่าที่คาดการณ์ ขณะที่ข้อมูลเศรษฐกิจโลกบางส่วน ส่งสัญญาณที่ดี
นักเศรษฐศาสตร์จาก Wells Fargo ระบุว่า ข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯโดยส่วนใหญ่ในสัปดาห์ที่ผ่านมานั้นปรับตัวออกมาดีกว่าที่ตลาดคาดการณ์ รวมถึงมีสัญญาณที่ดีจากภาคการผลิตและภาคการก่อสร้างที่อยู่อาศัย
ผลผลิตภาคอุตสาหกรรมปรับตัวสูงขึ้นครั้งแรกในรอบ 3 เดือน, ยอดการสร้างบ้านใหม่เองก็ปรับตัวดีขึ้น ซึ่งชี้ให้เห็นว่าเศรษฐกิจสหรัฐฯจะมีพัฒนาการที่ดีขึ้นในระยะต่อไป
ขณะที่ข้อมูลบางส่วนออกมาในเชิงบวกมากกว่าคาดการณ์ อาทิ การเติบโตของญี่ปุ่นที่ออกมา ณ ระดับ 1.7%มากกว่าที่ตลาดคาดไว้ที่ 0.3%, ผู้บริโภคในอังกฤษดูจะไม่กังวลกับการทำประชามติออกจากสหภาพยุโรปมากนัก โดยยอดค้าปลีกของอังกฤษดีขึ้น 1.3% มากกว่าที่คาดการณ์ไว้เท่าตัว และดัชนีราคาผู้บริโภคของแคนาดาเองก็ปรับตัวสูงขึ้นจนใกล้กับระดับเป้าหมายของธนาคารกลางแคนาดา
ราคาน้ำมันดิบหดตัวลงในวันนี้ หลังอิหร่านระบุ จะไม่เข้าร่วมแผนการจำกัดปริมาณการผลิตน้ำมัน
กรรมการผู้จัดการ ประจำ National Iranian Oil ระบุ ในขณะนี้รัฐบาลอิหร่านไม่มีแผนที่จะเข้าร่วมการจำกัดการผลิตน้ำมันดิบ หรือแผนการใดๆที่จะทำให้การผลิตหรือส่งออกน้ำมันดิบของอิหร่านต้องชะงักลง
ราคาน้ำมันดิบ WTI ปรับตัวลดลง 1.24% สู่ระดับ 47.81 เหรียญ/บาร์เรล
นักวิเคราะห์บางส่วน ระบุว่า ข่าวดังกล่าวกระทบต่อความเชื่อมั่นของนักลงทุนในตลาดที่หวังว่าอุปสงค์และอุปทานในตลาดน้ำมันดิบจะกลับมาสมดุล จากการผลิตน้ำมันดิบที่ลดลงทั้งจากสหรัฐฯ, ไนจีเรีย และแคนาดา
ทั้งนี้กลุ่ม OPEC มีกำหนดการประชุมที่กรุงเวียนนาในวันที่ 2 มิ.ย. นี้