• สรุปข่าวราคาทองคำ ประจำวันที่ 12 ตุลาคม 2566

    12 ตุลาคม 2566 | Gold News

ข่าวเกี่ยวกับทองคำ


  • สัญญาทองคำตลาดนิวยอร์กปิดบวกติดต่อกันเป็นวันที่ 4 ในวันพุธ โดยได้แรงหนุนจากการร่วงลงของอัตราผลตอบแทนพันธบัตรสหรัฐ ขณะที่นักลงทุนจับตารายงานการประชุมประจำเดือนก.ย.ของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) โดยตลาดทองคำนิวยอร์กปิดทำการซื้อขายก่อนที่คณะกรรมการเฟดจะเปิดเผยรายงานดังกล่าว


  • ราคาทองคำตลาดโลก ปรับตัวขึ้น 13.59 เหรียญ หรือ 0.73% อยู่ที่ระดับ 1,874.05 เหรียญ
  • สัญญาทองคำตลาด COMEX (Commodity Exchange) ส่งมอบเดือนธ.ค. เพิ่มขึ้น 12 ดอลลาร์ หรือ 0.64% ปิดที่ 1,887.30 ดอลลาร์/ออนซ์
  • สัญญาโลหะเงินส่งมอบเดือนธ.ค. เพิ่มขึ้น 18.00 เซนต์ หรือ 0.82% ปิดที่ 22.133 ดอลลาร์/ออนซ์
  • สัญญาพลาตินัมส่งมอบเดือนม.ค. เพิ่มขึ้น 2.80 ดอลลาร์ หรือ 0.31% ปิดที่ 893.00 ดอลลาร์/ออนซ์
  • กองทุนทองคำ SPDR วันก่อนหน้าซื้อเข้า 0.86 ตัน ปัจจุบันถือครองที่ 862.37 ตันภาพรวมเดือนตุลาคม ขายสุทธิ 11.27 ตัน ขณะที่ปีนี้ ตั้งแต่ 1 ม.ค. - ปัจจุบัน ขายสุทธิ 55.27 ตัน

 

ข่าวเกี่ยวกับค่าเงิน และธนาคารกลาง


  • ดัชนีดอลลาร์ ปรับตัวลดลง -0.06 จุด หรือ -0.06% มาอยู่ที่ระดับ 105.67 จุด
  • อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐอายุ 10 ปี  ปรับตัวลดลง -0.1 % มาอยู่ที่ระดับ 4.55% ในขณะที่อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐอายุ 2 ปี ปรับตัวขึ้น 0.02 % มาอยู่ที่ระดับ 4.99% โดยที่ส่วนต่างอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐ 10 ปี น้อยกว่า 2 ปี เท่ากับ-0.44% อยู่ในภาวะ inverted yield curve


  • รายงานการประชุม (FOMC) ระบุว่า กรรมการเฟดหลายคนมองว่าเฟดควรจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยอีก 1 ครั้งในการประชุมครั้งใดครั้งหนึ่งในปีนี้ แต่กรรมการอีกส่วนหนึ่งมองว่า เฟดไม่ควรปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยอีก กรรมการเฟดส่วนใหญ่มีความเห็นตรงกันว่า เมื่อพิจารณาถึงความไม่แน่นอนทางเศรษฐกิจ ราคาน้ำมัน และภาวะในตลาดการเงินแล้ว เฟดควรจะดำเนินการอย่างระมัดระวังในการตัดสินใจเกี่ยวกับอัตราดอกเบี้ยในอนาคต โดยควรจะอิงตามข้อมูลเศรษฐกิจที่ได้รับมา มากกว่าที่จะกำหนดแนวทางอัตราดอกเบี้ยไว้ล่วงหน้า


  • นักวิเคราะห์จากบริษัท เอ็ทเวิด โจน กล่าวว่า รายงานการประชุม Fomc ดังกล่าวสะท้อนให้เห็นว่าเฟดเล็งเห็นถึงความเสี่ยงของการดำเนินนโยบายการเงินที่เข้มงวดมากเกินไป และช่วยให้นักลงทุนมีความหวังว่าเฟดอาจจะไม่ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยอีก อย่างไรก็ดี เฟดจะนำตัวเลขดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) ประจำเดือนก.ย.ของสหรัฐซึ่งจะมีการเปิดเผยในวันนี้มาพิจารณาด้วย เนื่องจากเฟดยังคงยึดแนวทางการอิงข้อมูลเศรษฐกิจเพื่อประกอบการตัดสินใจเกี่ยวกับอัตราดอกเบี้ย


  • นายคริสโตเฟอร์ วอลเลอร์ ผู้ว่าการธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ย้ำความตั้งใจของเฟดที่จะทำให้อัตราเงินเฟ้อลดลงสู่เป้าหมาย 2% แต่ก็ไม่ได้แสดงความเห็นเกี่ยวกับแนวโน้มเศรษฐกิจ หรือมุมมองของเขาต่อแนวทางระยะใกล้ที่ดีที่สุดสำหรับนโยบายการเงิน


  • มิเชลล์ โบว์แมน ผู้ว่าการธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ย้ำมุมมองของเธอที่ว่า แม้มีความคืบหน้าเกี่ยวกับเงินเฟ้ออยู่บ้าง แต่เฟดก็อาจจำเป็นต้องปรับนโยบายการเงินให้ตึงตัวขึ้นอีกเพื่อฟื้นฟูเสถียรภาพด้านราคา "อัตราเงินเฟ้อยังคงสูงเกินเป้าหมาย 2% ของคณะกรรมการนโยบายการเงินของเฟด" ขณะที่อัตราการใช้จ่ายของสหรัฐก็แข็งแกร่ง และตลาดจ้างงานก็ยังคงตึงตัว

  • แมรี ดาลี ประธานธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) สาขาซานฟรานซิสโกกล่าวในวันอังคารว่า เนื่องจากอัตราเงินเฟ้อของสหรัฐปรับลดลงมาแล้วจากจุดสูงสุดของวัฏจักร ดังนั้นความเสี่ยงที่เฟดจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยน้อยเกินไปจึงไม่ได้อยู่ในระดับที่สูงไปกว่าความเสี่ยงที่เฟดจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยมากเกินไปอีกต่อไป


  • ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) สาขานิวยอร์คเปิดเผยผลสำรวจใหม่พบว่า ชาวอเมริกันมีมุมมองแตกต่างกันเกี่ยวกับแนวโน้มเงินเฟ้อในเดือนก.ย. ขณะที่พวกเขาได้ปรับลดมุมมองต่อสถานการณ์ทางการเงินส่วนตัว และคาดว่าการเพิ่มขึ้นของค่าเล่าเรียนจะชะลอตัวลงมาก


  • นายโรเบอร์โต เพริล ผู้อำนวยการฝ่ายดำเนินนโยบายการเงิน ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) สาขานิวยอร์คกล่าวว่า เฟดยังไม่ใกล้ถึงจุดที่จะต้องชะลอหรือหยุดขั้นตอนการลดขนาดงบดุล และยังคงไม่ชัดเจนในขณะนี้ว่า สิ่งนั้นจะเกิดขึ้นเมื่อใด


  • ธนาคารกลางยุโรป (อีซีบี) เปิดเผยผลสำรวจพบว่า ภาคครัวเรือนในยูโรโซนคาดว่าอัตราเงินเฟ้อจะสูงเกินเป้าหมาย 2% ของอีซีบีอยู่เล็กน้อยไปอีก 3 ปี ซึ่งอาจจะสร้างปัญหาให้แก่ผู้กำหนดนโยบายที่กำลังต่อสู้เพื่อความน่าเชื่อถือ

 

ข่าวเกี่ยวกับตลาดหุ้นและเศรษฐกิจ


  • ดัชนีดาวโจนส์ตลาดหุ้นนิวยอร์กปิดบวกติดต่อกันเป็นวันที่ 4 ในวันพุธ โดยตลาดได้แรงหนุนจากการชะลอตัวของอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐ และรายงานการประชุมของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ซึ่งบ่งชี้ว่ากรรมการเฟดส่วนหนึ่งสนับสนุนให้ยุติการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย


  • ดัชนีเฉลี่ยอุตสาหกรรมดาวโจนส์ปิดที่ 33,804.87 จุด เพิ่มขึ้น 65.57 จุด หรือ +0.19%,
  • ดัชนี S&P500 ปิดที่ 4,376.95 จุด เพิ่มขึ้น 18.71 จุด หรือ +0.43% และ
  • ดัชนี Nasdaq ปิดที่ 13,659.68 จุด เพิ่มขึ้น 96.83 จุด หรือ +0.71%


  • เจเน็ต เยลเลน รมว.คลังสหรัฐได้กล่าวในการให้สัมภาษณ์ต่อหนังสือพิมพ์ไฟแนนเชียล ไทมส์ ว่า     "การพุ่งขึ้นของบอนด์ยิลด์ยังไม่ได้เพิ่มแรงกดดันต่อภาคครัวเรือนและภาคธุรกิจอย่างเห็นได้ชัด" อย่างไรก็ดี เฟดจำเป็นจะต้องนำการพุ่งขึ้นของบอนด์ยิลด์มาใช้ในการประเมินภาวะการเงินโดยรวมด้วย เพื่อดูว่าสิ่งนี้จะส่งผลกระทบต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างไรบ้าง


  • สหพันธ์ธุรกิจอิสระแห่งชาติของสหรัฐ (NFIB) เปิดเผยผลสำรวจในวันอังคารระบุว่า ดัชนีความเชื่อมั่นของธุรกิจขนาดเล็กในสหรัฐลดลงอีกครั้งในเดือนก.ย. โดยลดลง 0.5 สู่ 90.8 ในเดือนก.ย. โดยได้รับแรงกดดันจากความกังวลอย่างต่อเนื่องเรื่องภาวะเงินเฟ้อและภาวะขาดแคลนแรงงาน 


  • สำนักข่าวรอยเตอร์ กล่าวว่า การพุ่งขึ้นของอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐอาจจะเป็นอุปสรรคขัดขวางแผนการของรัฐบาลสหรัฐและธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ที่ต้องการทำให้เศรษฐกิจสหรัฐเติบโตอย่างต่อเนื่อง, อัตราการว่างงานอยู่ในระดับต่ำ และอัตราเงินเฟ้อชะลอตัวลงอย่างค่อยเป็นค่อยไป เพราะว่าการพุ่งขึ้นอย่างต่อเนื่องของอัตราผลตอบแทนพันธบัตร (บอนด์ยิลด์) อาจจะส่งผลให้เศรษฐกิจสหรัฐชะลอตัวลงอย่างรุนแรงมากเกินไป 

 

ข่าวเกี่ยวกับน้ำมัน


  • สัญญาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัส (WTI) ตลาดนิวยอร์กปิดร่วงลงในวันพุธ หลังจากซาอุดีอาระเบียซึ่งเป็นผู้ผลิตน้ำมันรายใหญ่ให้คำมั่นว่าจะพยายามป้องกันการลุกลามของสถานการณ์การสู้รบในตะวันออกกลาง รวมทั้งจะสร้างเสถียรภาพในตลาดน้ำมัน ซึ่งข่าวดังกล่าวทำให้ความวิตกกังวลเกี่ยวกับผลกระทบด้านอุปทานน้ำมันลดน้อยลง


  • สัญญาน้ำมันดิบ WTI ส่งมอบเดือนพ.ย. ลดลง 2.48 ดอลลาร์ หรือ 2.9% ปิดที่ 83.49 ดอลลาร์/บาร์เรล
  • ส่วนสัญญาน้ำมันดิบเบรนท์ (BRENT) ส่งมอบเดือนธ.ค. ลดลง 1.83 ดอลลาร์ หรือ 2.1% ปิดที่ 85.82 ดอลลาร์/บาร์เรล


  • นักวิเคราะห์ด้านพลังงานของธนาคารคอมมอนเวลธ์ ระบุว่าสงครามระหว่างอิสราเอลและกลุ่มฮามาสยังไม่ได้ส่งผลกระทบโดยตรงต่อแหล่งผลิตน้ำมันรายใหญ่ของโลก เนื่องจากอิสราเอลและปาเลสไตน์ต่างก็ไม่ใช่ผู้ผลิตน้ำมันรายใหญ่ 


  • นักวิเคราะห์จากบริษัท OANDA กล่าวว่า ตลาดน้ำมันยังได้รับแรงกดดันจากความวิตกกังวลเกี่ยวกับการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลก รวมทั้งการใช้น้ำมันที่ลดน้อยลงในสหรัฐ และความเป็นไปได้ที่เศรษฐกิจเยอรมนีจะเข้าสู่ภาวะถดถอย หลังจากรัฐบาลเยอรมนีคาดการณ์ว่า เศรษฐกิจของประเทศอาจจะหดตัว 0.4% ในปีนี้ เนื่องจากผลกระทบของภาวะเงินเฟ้อสูง

 

ข่าวเกี่ยวกับการเมืองและการเมืองระหว่างประเทศ


  • ซาอุดีอาระเบียซึ่งเป็นผู้ผลิตน้ำมันรายใหญ่สุดในกลุ่มประเทศผู้ส่งออกน้ำมัน (โอเปก) ออกแถลงการณ์ว่า ซาอุดีอาระเบียจะใช้ความพยายามร่วมกับพันธมิตรทั้งในและนอกภูมิภาคเพื่อป้องกันการลุกลามของสถานการณ์การสู้รบระหว่างอิสราเอลและกลุ่มฮามาส นอกจากนี้ ซาอุดีอาระเบียจะยังคงสนับสนุนให้ชาวปาเลสไตน์ได้รับสิทธิตามกฎหมาย และบรรลุสันติภาพอย่างยั่งยืน

 

ข่าวเกี่ยวกับเศรษฐกิจไทยและค่าเงินบาท


  • ค่าเงินบาทเปิดเช้านี้ที่ระดับ 36.43 บาทต่อดอลลาร์แข็งค่าขึ้นจากระดับปิดวันก่อนหน้า และกรอบเงินบาทวันนี้ คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 36.30-36.45 บาท/ดอลลาร์


  • ธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) ระบุว่า เศรษฐกิจไทยยังมีทิศทางการฟื้นตัวต่อเนื่อง ทำให้ความจำเป็นในการใช้นโยบายการเงินเพื่อขับเคลื่อนเศษฐกิจมีน้อยลง ขณะที่อัตราดอกเบี้ยนโยบายในปัจจุบันที่ 2.50% ถือเป็นระดับที่สมดุล หรือ neutral rate ซึ่งไม่ได้เป็นตัวฉุดการขยายตัวของเศรษฐกิจ และเป็นระดับที่เหมาะสมในการรองรับปัจจัยทั้งบวกและลบในอนาคต


  • ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายตลาดการเงิน ธปท. กล่าวว่า เศรษฐกิจไทยในปี 67 ที่ธปท.ประเมินว่าจะขยายตัว 4.4% ได้รวมผลของมาตรการกระตุ้นจากภาครัฐเข้าไปแล้ว ขณะที่การฟื้นตัวของภาคการท่องเที่ยว ยังเป็นปัจจัยที่สนับสนุนการเติบโตของเศรษฐกิจในปีนี้และปีหน้า


  • ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายนโยบายการเงิน ธปท. กล่าวว่า ค่าเงินบาทเป็นตัวแปรสำคัญที่ กนง.จับตา เพราะมีผลต่อต้นทุนการนำเข้า และภาพรวมเศรษฐกิจ แต่ในอีกด้านหนึ่งก็ช่วยหนุนการส่งออก โดยการอ่อนค่าของเงินบาทปัจจัยหลักมาจากปัจจัยต่างประเทศ และในช่วงหลังมีปัจจัยภายในประเทศเข้ามาเพิ่มเติม ทำให้เงินบาทอ่อนค่ากว่าภูมิภาค


  • ผู้อำนวยการอาวุโส กลุ่มงานโกลบอลมาร์เก็ตส์ ธนาคารกรุงศรีอยุธยา (BAY) ประเมินทิศทางค่าเงินบาทเผชิญความผันผวนสูงตลอดไตรมาสสุดท้ายของปี 66 ในกรอบกว้างที่ 35.25-37.80 บาท/ดอลลาร์ โดยในช่วงต้นไตรมาส ปัจจัยชี้นำสำคัญอยู่ที่ความกังวลของตลาดที่มีต่อภาวะดอกเบี้ยสูงยืดเยื้อของธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) ซึ่งจะหนุนอัตราผลตอบแทนพันธบัตร (บอนด์ยีลด์) สหรัฐฯ และเงินดอลลาร์แข็งค่าขึ้นต่อเนื่อง กดดันสกุลเงินต่างๆ รวมถึงค่าเงินบาทให้อ่อนลง

 

 

ที่มาจาก : Reuters, Infoquest, BangkokBizNews

Tags : ข่าวทอง, ข่าวทอง , ทอง , ราคาทอง

บริษัท เอ็มทีเอส โกลด์ จำกัด
40,42,44 ถนนทรัพย์สิน แขวงวังบูรพาภิรมย์เขตพระนคร กรุงเทพ 10200
โทรศัพท์ 0 2770 7777 โทรสาร 0 2623 9366 E-mail: support@mtsgoldgroup.com