ข่าวเกี่ยวกับทองคำ
- สัญญาทองคำตลาดนิวยอร์กปิดบวกในวันพุธ ก่อนที่นักลงทุนจะรู้ผลการประชุมนโยบายการเงินของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) โดยตลาดทองคำนิวยอร์กปิดทำการซื้อขายก่อนที่คณะกรรมการเฟดจะแถลงมติการประชุม
- ราคาทองคำตลาดโลก ปรับตัวขึ้น 7.49 เหรียญ หรือ 0.38% อยู่ที่ระดับ 1,972.07 เหรียญ
- สัญญาทองคำตลาด COMEX (Commodity Exchange) ส่งมอบเดือนส.ค. เพิ่มขึ้น 6.40 ดอลลาร์ หรือ 0.3% ปิดที่ 1,970.10 ดอลลาร์/ออนซ์
- สัญญาโลหะเงินส่งมอบเดือนก.ย. เพิ่มขึ้น 15 เซนต์ หรือ 0.6% ปิดที่ 24.97 ดอลลาร์/ออนซ์
- สัญญาพลาตินัมส่งมอบเดือนต.ค. ลดลง 4.60 ดอลลาร์ หรือ 0.5% ปิดที่ 972 ดอลลาร์/ออนซ์
- กองทุนทองคำ SPDR วันก่อนหน้าขายออก 1.74 ตัน ปัจจุบันถือครองที่ 917.26 ตันภาพรวมเดือนกรกฎาคม ขายสุทธิ 4.64 ตัน ขณะที่ปีนี้ ตั้งแต่ 1 ม.ค. - ปัจจุบัน ขายสุทธิ 0.38 ตัน
ข่าวเกี่ยวกับค่าเงิน และธนาคารกลาง
- ดัชนีดอลลาร์ ปรับตัวลดลง -0.22 จุด หรือ -0.22% มาอยู่ที่ระดับ 101.1 จุด
- อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐอายุ 10 ปี ปรับตัวลดลง -0.02 % มาอยู่ที่ระดับ 3.873% ในขณะที่อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐอายุ 2 ปี ปรับตัวลดลง -0.03 % มาอยู่ที่ระดับ 4.85% โดยที่ส่วนต่างอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐ 10 ปี น้อยกว่า 2 ปี เท่ากับ-0.98% อยู่ในภาวะ inverted yield curve
- คณะกรรมการกำหนดนโยบายการเงิน (FOMC) ของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) มีมติเป็นเอกฉันท์ประกาศขึ้นอัตราดอกเบี้ยระยะสั้น 0.25% สู่ระดับ 5.25-5.50% ในการประชุม ซึ่งเป็นระดับสูงสุดในรอบ 22 ปี เป็นไปตามที่ตลาดคาดการณ์ไว้ และเป็นการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเป็นครั้งที่ 11 นับตั้งแต่ที่เฟดเริ่มวัฏจักรปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในเดือน มี.ค.2565 ส่งผลให้เฟดปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยรวม 5.25%
- โดยระบุว่า “ตัวชี้วัดล่าสุดบ่งชี้ว่ากิจกรรมทางเศรษฐกิจขยายตัวในระดับปานกลาง การจ้างงานใหม่ยังแข็งแกร่งในช่วงหลายเดือนที่ผ่านมา และอัตราการว่างงานยังคงอยู่ในระดับต่ำ อัตราเงินเฟ้อยังคงสูง ระบบธนาคารของสหรัฐฯ มีความมั่นคงและยืดหยุ่น โดยคณะกรรมการพยายามที่จะควบคุมอัตราเงินเฟ้อลงสู่ระดับเป้าหมายที่ 2% ในระยะยาว เพื่อสนับสนุนเป้าหมายเหล่านี้ คณะกรรมการฯตัดสินใจที่จะเพิ่มช่วงเป้าหมายสำหรับอัตราดอกเบี้ยของธนาคารกลางเป็น 5.25%-5.50%”
- แถลงการณ์ของ FOMC ยังไม่มีสัญญาณว่าการขึ้นอัตราดอกเบี้ยครั้งนี้จะเป็นครั้งสุดท้ายตามที่นักลงทุนทั่วโลกคาดหวังไว้ โดยคณะกรรมการย้ำถึงความมุ่งมั่นที่จะทำให้อัตราเงินเฟ้อกลับสู่เป้าหมาย 2% อย่างไรก็ตาม คณะกรรมการฯ จะยังคงติดตามผลกระทบต่อแนวโน้มเศรษฐกิจ ซึ่งจะพิจารณาจากข้อมูลที่หลากหลาย รวมถึงตัวเลขสภาวะตลาดแรงงาน แรงกดดันด้านเงินเฟ้อและการคาดการณ์เงินเฟ้อ และสถานการณ์ล่าสุดในตลาดการเงิน และสถานการณ์ล่าสุดด้านการค้าระหว่างประเทศ
- นายเจอโรม พาวเวล ประธานเฟด แถลงข่าวภายหลังการประชุมว่า “มีความเป็นไปได้ว่าเราอาจจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยอีกในการประชุมเดือนก.ย. หากข้อมูลเศรษฐกิจในช่วงเวลาดังกล่าวสนับสนุนให้เราดำเนินการเช่นนั้น และในขณะเดียวกันก็มีความเป็นไปได้ที่เราอาจเลือกที่จะคงอัตราดอกเบี้ยในการประชุมเดือนก.ย. หากการดำเนินการดังกล่าวสอดคล้องกับจุดยืนด้านนโยบายของเรา”
- นักเศรษฐศาสตร์ในผลสำรวจของรอยเตอร์ระบุว่า ธนาคารกลางส่วนใหญ่จะลดอัตราดอกเบี้ยในช่วงครึ่งแรกของปีหน้า แม้ส่วนใหญ่ไม่คาดว่าจะบรรลุเป้าหมายเงินเฟ้อก่อนถึงช่วงเวลาดังกล่าวก็ตาม โดยผลสำรวจความเห็นนักเศรษฐศาสตร์กว่า 500 คนในรอบเดือนที่ผ่านมาพบว่า ตัวเลขคาดการณ์เงินเฟ้อถูกปรับเพิ่มขึ้นเล็กน้อยใน 28 ประเทศจาก 48 ประเทศเมื่อเทียบกับผลสำรวจในเดือนเม.ย. แม้มีการคุมเข้มนโยบายการเงินแบบเชิงรุกในรอบปีที่ผ่านมาก็ตาม
- นายคาสุโอะ อุเอดะ ผู้ว่าการธนาคารกลางญี่ปุ่น (บีโอเจ) กล่าวว่า บีโอเจจะรักษาสภาวะการเงินแบบผ่อนคลายสำหรับภาคเอกชนต่อไป เขากล่าวว่า ขณะที่การเคลื่อนไหวของดอลลาร์/เยนค่อนข้างผันผวนเนื่องจากส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยของสหรัฐ-ญี่ปุ่น แต่อัตราดอกเบี้ยระยะยาวของญี่ปุ่นก็เคลื่อนตัวแบบไซด์เวย์ภายใต้นโยบายควบคุมเส้นอัตราผลตอบแทนของบีโอเจ
ข่าวเกี่ยวกับตลาดหุ้นและเศรษฐกิจ
- ดัชนีดาวโจนส์ตลาดหุ้นนิวยอร์กปิดบวกเล็กน้อยในวันพุธ ขณะที่ดัชนี S&P500 และ Nasdaq ปิดในแดนลบ หลังจากธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) มีมติปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยตามคาด และส่งสัญญาณว่าอาจจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยอีกในอนาต
- ดัชนีเฉลี่ยอุตสาหกรรมดาวโจนส์ปิดที่ 35,520.12 จุด เพิ่มขึ้น 82.05 จุด หรือ +0.23%
- ดัชนี S&P500 ปิดที่ 4,566.75 จุด ลดลง 0.71 จุด หรือ -0.02%
- ดัชนี Nasdaq ปิดที่ 14,127.28 จุด ลดลง 17.27 จุด หรือ -0.12%
- วุฒิสภาสหรัฐโหวตสนับสนุนร่างกฎหมายซึ่งกำหนดให้บริษัทในสหรัฐต้องแจ้งให้หน่วยงานของรัฐบาลกลางรับทราบเกี่ยวกับการลงทุนด้านเทคโนโลยีในจีน เช่น เซมิคอนดักเตอร์ และปัญญาประดิษฐ์ (AI) โดยคาดว่าจะมีผลบังคับใช้เป็นกฎหมายในปีนี้
- กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ) ปรับเพิ่มคาดการณ์เศรษฐกิจของสหรัฐขึ้นเป็น 1.8% ในปีนี้ เทียบกับ 1.6% ที่คาดไว้ในเดือนเม.ย. ขณะที่ตลาดแรงงานยังคงแข็งแกร่ง ขณะเดียวกันได้คงคาดการณ์เศรษฐกิจของจีนที่ 5.2% ในปีนี้ และ 4.5% ในปีหน้า แต่ก็เตือนว่า การฟื้นตัวของเศรษฐกิจจีนแย่กว่าประเทศอื่น และการหดตัวลงรุนแรงขึ้นในภาคอสังหาริมทรัพย์ยังคงเป็นความเสี่ยงอยู่
- IMF ได้คงคาดการณ์การขยายตัวของเศรษฐกิจในกลุ่มประเทศตลาดเกิดใหม่และกำลังพัฒนาเอเชียในปีนี้ที่ 5.3% และลดคาดการณ์สำหรับปีหน้าลง 0.1 จุด สู่การขยายตัว 5.0% หลังขยายตัว 4.5% ในปี 2565
- ดอยซ์แบงก์ ซึ่งเป็นธนาคารรายใหญ่ของเยอรมนี รายงานว่า ดอยซ์แบงก์มีกำไรลดลง 27% ในไตรมาส 2/2566 เนื่องจากรายได้จากธุรกิจวาณิชธนกิจตกต่ำ แต่กำไรไตรมาส 2/2566 ลดลงน้อยกว่าที่คาดการณ์ เนื่องจากอัตราดอกเบี้ยที่สูงขึ้นช่วยหนุนกำไรในธุรกิจลูกค้ารายย่อย
- โกลด์แมน แซคส์ปรับลดคาดการณ์การขยายตัวทางเศรษฐกิจสำหรับยูโรโซนในปีนี้ หลังการเปิดเผยข้อมูลกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่ชะลอตัวลง โดยคาดว่า เศรษฐกิจยูโรโซนจะขยายตัว 0.4% ในปีนี้
ข่าวเกี่ยวกับน้ำมัน
- สัญญาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัส (WTI) ตลาดนิวยอร์กปิดลบในวันพุธ หลังจากธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในการประชุมครั้งล่าสุด และส่งสัญญาณว่าอาจจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยอีกในอนาคต นอกจากนี้ ตลาดยังถูกกดดันจากรายงานสต็อกน้ำมันดิบสหรัฐที่ลดลงน้อยกว่าคาด
- สัญญาน้ำมันดิบ WTI ส่งมอบเดือนก.ย. ลดลง 85 เซนต์ หรือ 1.1% ปิดที่ 78.78 ดอลลาร์/บาร์เรล
- ส่วนสัญญาน้ำมันดิบเบรนท์ (BRENT) ส่งมอบเดือนก.ย. ลดลง 72 เซนต์ หรือ 0.9% ปิดที่ 82.92 ดอลลาร์/บาร์เรล
ข่าวเกี่ยวกับการเมืองและการเมืองระหว่างประเทศ
- คณะผู้แทนจากกองทัพรัสเซียนำโดยนายเซอร์เก ชอยกู รัฐมนตรีกลาโหมรัสเซียเดินทางถึงเกาหลีเหนือเรียบร้อยแล้ว และเตรียมพบปะกับคณะผู้แทนจากจีนในวันนี้
ข่าวเกี่ยวกับเศรษฐกิจไทยและค่าเงินบาท
- นักบริหารการเงิน เปิดเผยว่า ค่าเงินบาทเปิดเช้านี้ ที่ระดับ 34.21 บาทต่อดอลลาร์ “แข็งค่าขึ้นเล็กน้อย” จากระดับปิดวันก่อนหน้า ที่ระดับ 34.25 บาทต่อดอลลาร์ มองกรอบเงินบาทวันนี้ คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 34.00-34.30 บาทต่อดอลลาร์ ในช่วงก่อนรับรู้ผลการประชุม ECB และคาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 33.80-34.40 บาทต่อดอลลาร์ ในช่วงทยอยรับรู้ผลการประชุม ECB
- กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) เปิดเผยรายงานแนวโน้มเศรษฐกิจโลก (World Economic Outlook) ประจำเดือนก.ค.เมื่อวันอังคาร (25 ก.ค.) โดยได้ปรับเพิ่มคาดการณ์การขยายตัวทางเศรษฐกิจของ 5 ประเทศสมาชิกอาเซียน ได้แก่ อินโดนีเซีย มาเลเซียฟิลิปปินส์ สิงคโปร์ และไทย 0.1 จุด สู่ระดับ 4.6% จากการประมาณการครั้งที่แล้วที่จัดทำเมื่อเดือนเม.ย. แต่ลดคาดการณ์สำหรับปีหน้า 0.1 จุด สู่ 4.5% หลังขยายตัว 5.5% ในปี 2565
- สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) กระทรวงการคลัง ปรับลดประมาณการอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจ (GDP) ของไทยในปี 2566 มาอยู่ที่ 3.5% ลดลงเล็กน้อยจากเดิมที่คาดไว้ 3.6% โดยสาเหตุที่ปรับ GDP ลดลง มาจากสมมติฐานรายได้ท่องเที่ยวที่ปรับลดลงมาที่ 1.25 ล้านล้านบาท จากเดิม 1.3 ล้านล้านบาท เนื่องจากโครงสร้างนักท่องเที่ยวต่างชาติเปลี่ยนแปลงไป ส่งผลต่อรายได้ท่องเที่ยวในภาพรวม
- ผู้อำนวยการ สศค.เปิดเผยภาวะเศรษฐกิจการคลังประจำเดือนมิถุนายน 2566 ว่า ในเดือนมิ.ย.เครื่องชี้เศรษฐกิจด้านการบริโภคภาคเอกชน ปรับตัวดีขึ้นจากช่วงเดียวกันปีก่อน โดยการบริโภคในหมวดสินค้าคงทน เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันปีก่อนที่ 24.2% และ 3.2 ดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภค ในเดือนมิถุนายน 2566 ปรับตัวเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ระดับ 56.7 จากระดับ 55.7 ในเดือนก่อน ซึ่งเป็นการปรับตัวเพิ่มขึ้นต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 13 และสูงสุดในรอบ 40 เดือน สะท้อนความเชื่อมั่นของผู้บริโภคต่อภาวะเศรษฐกิจที่ปรับตัวดีขึ้น เนื่องจากการท่องเที่ยวฟื้นตัวชัดเจนมากขึ้น รวมถึงความกังวลจากอัตราเงินเฟ้อมีแนวโน้มลดลงต่อเนื่อง อย่างไรก็ดี รายได้เกษตรกรที่แท้จริง ในเดือนมิถุนายน 2566 ลดลงจากช่วงเดียวกันปีก่อนที่ -6.3%
- ภาวะการค้าระหว่างประเทศของไทย เดือนมิ.ย.66 การส่งออกมีมูลค่า 24,826 ล้านดอลลาร์ -6.4% จากเดือนเดียวกันของปีก่อน จากที่ตลาดคาด -7.3 ถึง -9.3% ขณะที่การนำเข้า มีมูลค่า 24,768 ล้านดอลลาร์ -10.3% จากเดือนเดียวกันของปีก่อน ส่งผลให้ในเดือนมิ.ย.66 ไทยเกินดุลการค้า 57.7 ล้านดอลลาร์
ที่มาจาก : Reuters, Infoquest, BangkokBizNews
Tags : ข่าวทอง, ข่าวทอง , ทอง , ราคาทอง