• สรุปข่าวราคาทองคำ ประจำวันที่ 13 มิถุนายน 2565

    13 มิถุนายน 2565 | Gold News

ข่าวเกี่ยวกับทองคำ


  • สัญญาทองคำตลาดนิวยอร์กปิดพุ่งขึ้นในวันศุกร์ เนื่องจากนักลงทุนได้พากันเข้าซื้อทองคำในฐานะสินทรัพย์ปลอดภัย ท่ามกลางความวิตกเกี่ยวกับภาวะเงินเฟ้อ หลังสหรัฐฯเปิดเผยข้อมูลเงินเฟ้อพุ่งขึ้นสูงเกินคาดในเดือนพ.ค.


  • ราคาทองคำตลาดโลก ปรับตัวขึ้น 29.22 เหรียญ หรือ 1.58% มาอยู่ที่ระดับ 1,876.03 เหรียญ
  • สัญญาทองคำตลาด COMEX (Commodity Exchange) ส่งมอบเดือนส.ค. พุ่งขึ้น 22.7 ดอลลาร์ หรือ 1.23% ปิดที่ 1,875.5 ดอลลาร์/ออนซ์ ซึ่งเป็นระดับสูงสุดนับตั้งแต่วันที่ 5 พ.ค. และในรอบสัปดาห์นี้ปรับตัวขึ้น 1.4%
  • สัญญาโลหะเงินส่งมอบเดือนก.ค. เพิ่มขึ้น 11.4 เซนต์ หรือ 0.52% ปิดที่ 21.931 ดอลลาร์/ออนซ์
  • กองทุนทองคำ SPDR วันก่อนหน้าซื้อเข้า 3.48 ตัน ปัจจุบันถือครองที่ 1,068.87 ตันภาพรวมเดือนมิถุนายน ซื้อสุทธิ 0.51 ตัน ขณะที่ปีนี้ ตั้งแต่ 1 ม.ค. - ปัจจุบัน ซื้อสุทธิ 93.21 ตัน


  • นักวิเคราะห์ของ ANZ กล่าวว่า บรรดาธนาคารกลางหลายแห่งเริ่มใช้นโยบายคุมเข้มทางการเงิน โดยการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยแท้จริง ส่งผลให้ค่าเงินดอลลาร์สหรัฐฯปรับตัวแข็งค่าขึ้น บดบังความสดใสของตลาดทองคำ อย่างไรก็ตาม การถอนนโยบายกระตุ้นทางการเงินอย่างที่ไม่เคยมีมาก่อน ก็ส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นเช่นกัน


ข่าวเกี่ยวกับค่าเงิน และธนาคารกลาง


  • ดัชนีดอลลาร์ ปรับตัวขึ้น 1.25 จุด หรือ 1.21% มาอยู่ที่ระดับ 104.47 จุด
  • อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐอายุ 10 ปี  ปรับตัวขึ้น 0.119% มาอยู่ที่ระดับ 3.174% ในขณะที่อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐอายุ 2 ปี  อยู่ที่ระดับ 3.135% และส่วนต่างอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐ 10 ปี มากกว่า 2 ปี เท่ากับ อยู่ที่ระดับ 0.039%


  • อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐอายุ 2 ปี ปรับตัวขึ้นยืนเหนือระดับ 3.0% เป็นครั้งแรกในรอบ 14 ปี นับแต่วิกฤติเศรษฐกิจปี 2008


  • Fed Watch Tool ของ CME Group บ่งชี้ว่า ขณะนี้นักลงทุนคาดโอกาส 72.5% ที่เฟดจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย 0.50% และมีโอกาส 27.5% ที่เฟดจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย 0.75% ในการประชุมนโยบายการเงินรอบ 14-15 มิ.ย. เพิ่มขึ้นจากเดิมที่คาดว่ามีโอกาส 4% ที่เฟดจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย 0.75%


  • นักลงทุนจับตาการการประชุมของคณะกรรมการนโยบายการเงินของธนาคารกลางสหรัฐ (FOMC) ในวันที่ 14-15 มิถุนายนนี้ พร้อมจับตาถ้อยแถลงของประธานเฟด นายเจอโรมพาวเวลล์ หลังรายงานดัชนีราคาผู้บริโภคปรับตัวเพิ่มขึ้นสูงต่อเนื่องในเดือนพฤษภาคม อย่างไรก็ตาม ตลาดยังคงคาดหวังเฟดปรับขึ้นดอกเบี้ย 0.50% ในรอบการประชุมนี้


  • นักวิเคราะห์จาก Wells Fargo ให้ความเห็นว่า การปรับขึ้นดอกเบี้ย 0.50% ในการประชุมที่จะถึงนี้เป็นเรื่องที่แน่นอนอยู่แล้ว แต่การปรับขึ้นดอกเบี้ย 0.50% ต่อไปอีกสองครั้งในการประชุมเดือนกรกฎาคมและกันยายน เริ่มมีความเป็นไปได้ค่อนข้างสูง


  • ดอยซ์แบงก์คาดการณ์ว่า ธนาคารกลางยุโรป (ECB) จะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย 0.5% จำนวน 2 ครั้งในปีนี้ หลังจากที่ ECB ส่งสัญญาณปรับเพิ่มดอกเบี้ย 0.25% ในเดือนก.ค. ซึ่งจะเป็นการปรับขึ้นดอกเบี้ยครั้งแรกนับตั้งแต่ปี 2554

  • ธนาคารกลางรัสเซีย (ซีบีอาร์) ปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายเมื่อวันศุกร์ จาก 11% เหลือ 9.5% ในขณะที่คณะกรรมการกำหนดนโยบายเน้นย้ำว่าอัตราเงินเฟ้อในประเทศส่งสัญญาณกำลังชะลอตัว

ข่าวเกี่ยวกับตลาดหุ้นและเศรษฐกิจ


  • ดัชนีดาวโจนส์ตลาดหุ้นนิวยอร์กปิดร่วงลงกว่า 800 จุดในวันศุกร์ หลังสหรัฐเปิดเผยดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) ที่สูงเกินคาด ซึ่งอาจทำให้ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) เร่งปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยมากขึ้นเพื่อสกัดเงินเฟ้อ และจะส่งผลให้เศรษฐกิจเข้าสู่ภาวะถดถอย


  • ดัชนีเฉลี่ยอุตสาหกรรมดาวโจนส์ปิดที่ 31,392.79 จุด ร่วงลง 880.00 จุด หรือ -2.73%
  • ดัชนี S&P500 ปิดที่ 3,900.86 จุด ร่วงลง 116.96 จุด หรือ -2.91%
  • ดัชนี Nasdaq ปิดที่ 11,340.02 จุด ร่วงลง 414.20 จุด หรือ -3.52%


  • รายงานดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) ซึ่งเป็นมาตรวัดเงินเฟ้อจากการใช้จ่ายของผู้บริโภค พุ่งขึ้น 8.6% ในเดือนพ.ค. เมื่อเทียบรายปี ซึ่งเป็นระดับสูงสุดครั้งใหม่ในรอบ 40 ปี และสูงกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ที่ระดับ 8.3% โดยดัชนี CPI ดังกล่าวสูงกว่าระดับ 8.3% ในเดือนเม.ย. และสูงกว่าระดับ 8.5% ที่ทำไว้ในเดือนมี.ค. ซึ่งเป็นระดับสูงสุดนับตั้งแต่เดือนธ.ค.2524 ในขณะที่ดัชนี CPI พื้นฐาน ซึ่งไม่นับรวมหมวดอาหารและพลังงาน พุ่งขึ้น 6.0% ในเดือนพ.ค. เมื่อเทียบรายปี สูงกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ที่ระดับ 5.9%


  • นักวิเคราะห์ของ Bloomberg มองว่าเงินเฟ้อน่าจะอยู่ใกล้จุดสูงสุดแล้ว จาก 3 ปัจจัยหลัก 1) ปริมาณสินค้าคงคลัง (Inventory) ของบริษัทสหรัฐฯ โดยเฉพาะในฝั่งของค้าปลีกยังอยู่ในระดับที่สูง 2) ราคาของเซมิคอนดัคเตอร์ที่นำไปประกอบชิ้นส่วนของสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ต่างๆ ที่ราคาปรับตัวลงมาราวครึ่งนึงเมื่อเทียบกับระดับสูงสุดในเดือนกรกฎาคม ปี 2018 และปรับตัวลงถึง 14% เมื่อเทียบกับช่วงกลางปีที่แล้ว รวมถึงราคาค่าขนส่งทางเรือ (shipping containers) ที่ปรับตัวลงถึง 26% นับจากจุดสูงสุดในช่วงกันายายน ปี 2021 และราคาปุ๋ยในอเมริกาเหนือที่สะท้อนไปยังเงินเฟ้อของราคาอาหารสด ที่ปรับตัวลง 24% จากจุดสูงสุดของเดือนมีนาคมที่ผ่านมา 3) ฐานเงินเฟ้อในฝั่งสหรัฐฯในปีที่แล้วที่เริ่มปรับตัวสูงขึ้น ในขณะที่ราคาเซมิคอนดัคเตอร์ปรเภท DRAM, ค่าขนส่งทางเรือ และราคาปุ๋ยเริ่มส่งสัญญาณชะลอตัว


  • ประธานาธิบดีสี จิ้นผิง ผู้นำจีน กล่าวในระหว่างการเยือนมณฑลเสฉวนในวันนี้ว่า รัฐบาลจีนจำเป็นต้องรักษาสมดุลระหว่างการบรรลุเป้าหมายการควบคุมโควิด-19 เป็นศูนย์ และการกระตุ้นเศรษฐกิจให้แข็งแกร่ง เพื่อให้สังคมและเศรษฐกิจของจีนยังคงมีเสถียรภาพ


  • นางเจเน็ต เยลเลน รัฐมนตรีคลังสหรัฐได้แสดงความเชื่อมั่นว่า เศรษฐกิจสหรัฐจะไม่เผชิญกับภาวะถดถอย แม้อัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจมีแนวโน้มชะลอตัวลงก็ตาม 


  • ธนาคารกลางเยอรมนี (บุนเดสแบงก์) ปรับลดคาดการณ์การขยายตัวของเศรษฐกิจเยอรมนี คาดการณ์ว่า เศรษฐกิจเยอรมนีมีแนวโน้มขยายตัว 1.9% ในปีนี้ ซึ่งต่ำกว่าที่คาดการณ์เอาไว้ในเดือนธ.ค.มากกว่าครึ่งหนึ่งที่ 4.2% และลดคาดการณ์การขยายตัวทางเศรษฐกิจปี 2566 สู่ 2.4% จาก 3.2%


  • ธนาคารกลางเยอรมนี (บุนเดสแบงก์) คาดการณ์ว่าอัตราเงินเฟ้อจะปรับตัวเพิ่มขึ้นอย่างมาก เนื่องจากราคาอาหารและเชื้อเพลิงที่พุ่งสูงขึ้นส่งผลกระทบต่อกำลังซื้อและความเชื่อมั่นของภาคครัวเรือน คาดการณ์ว่า อัตราเงินเฟ้อปี 2565 มีแนวโน้มปรับตัวขึ้น 7.1% ซึ่งสูงกว่าที่คาดการณ์เอาไว้ในเดือนธ.ค.ที่ 3.6% พร้อมปรับเพิ่มอัตราเงินเฟ้อปี 2566 จาก 2.2% สู่ระดับ 4.5%


  • ฟิทช์ เรทติ้งส์ ประกาศทบทวนแนวโน้มอันดับเครดิตสากลสกุลเงินต่างประเทศระยะยาวของอินเดีย โดยปรับเพิ่มขึ้นเป็นมีเสถียรภาพจากเดิมเชิงลบอย่างไรก็ดี ฟิทช์ได้ปรับลดคาดการณ์การขยายตัวของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) ของอินเดียในปีนี้ลงสู่ระดับ 7.8% จากตัวเลขคาดการณ์เดิมที่ระดับ 8.5% และคาดการณ์ว่าธนาคารกลางอินเดียอาจจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยซื้อคืนพันธบัตร (repo rate) สู่ระดับ 6.15% ภายในสิ้นปี 2567


  • หัวหน้านักวิเคราะห์ด้านตลาดเกิดใหม่ของเจพีมอร์แกนกล่าวว่า อินเดียจำเป็นต้องผลักดันให้เศรษฐกิจเติบโตอย่างแข็งแกร่ง เพื่อชดเชยผลกระทบของการที่ธนาคารกลางอินเดียปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในการประชุมสองครั้งติดต่อกัน


ข่าวเกี่ยวกับน้ำมันและพลังงาน


  • สัญญาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัส (WTI) ตลาดนิวยอร์กปิดลบในวันศุกร์ โดยตลาดถูกกดดันจากการที่ดอลลาร์แข็งค่าขึ้นรับข้อมูลเงินเฟ้อของสหรัฐที่พุ่งขึ้นเกินคาด


  • สัญญาน้ำมันดิบ WTI ส่งมอบเดือนก.ค. ลดลง 84 เซนต์ หรือ 0.7% ปิดที่ 120.67 ดอลลาร์/บาร์เรล แต่ปรับตัวขึ้น 1.5% ในรอบสัปดาห์นี้
  • สัญญาน้ำมันดิบเบรนท์ (BRENT) ส่งมอบเดือนส.ค. ลดลง 1.06 ดอลลาร์ หรือ 0.9% ปิดที่ 122.01 ดอลลาร์/บาร์เรล แต่ปรับตัวขึ้น 1.9% ในรอบสัปดาห์นี้


  • หัวหน้านักวิเคราะห์ของ Fujitomi Securities กล่าวว่า มาตรการคุมเข้มระลอกใหม่ของมณฑลเซี่ยงไฮ้ได้เพิ่มความกังวลที่มากขึ้นต่ออุปสงค์ในจีน ท่ามกลางอุปทานทั่วโลกยังคงตึงตัว รวมถึงอุปสงค์น้ำมันที่เพิ่มขึ้นในสหรัฐฯ ขณะที่กลุ่มโอเปคพลัสทยอยเพี่มปริมาณการผลิตน้ำมันขึ้นอย่างช้าๆ


ข่าวเกี่ยวกับการเมืองระหว่างประเทศ


  • ประธานาธิบดีวลาดิเมียร์ ปูติน ผู้นำรัสเซีย ได้ลงนามออกกฎหมายไม่ปฏิบัติตามคำตัดสินของศาลสิทธิมนุษยชนยุโรป (ECHR) หลังจากร่างกฎหมายดังกล่าวผ่านความเห็นชอบของวุฒิสภาเมื่อวันพุธที่ 8 มิ.ย.


  • เกาหลีเหนือแต่งตั้ง โช ซอน ฮุย (Choe Son Hui) เป็นรัฐมนตรีต่างประเทศหญิงคนแรกของประเทศ ท่ามกลางกระแสคาดการณ์ที่ว่า เกาหลีเหนืออาจจะทดสอบอาวุธนิวเคลียร์เป็นครั้งที่ 7 ในเร็ว ๆ นี้


ข่าวเกี่ยวกับโรคระบาด


  • สถานการณ์แพร่ระบาดของโควิด-19 ในไทย ล่าสุดพบผู้ติดเชื้อรายใหม่ 1,801 ราย ทำให้มียอดผู้ติดเชื้อสะสมแล้วจนถึงวันนี้ 4,486,664 ราย อีกทั้งมีผู้เสียชีวิตเพิ่มอีก 15 ราย ทำให้การระบาดระลอกใหม่ตั้งแต่เดือน ม.ค.2565 มียอดผู้เสียชีวิตสะสม 8,651 ราย ขณะที่ ภาพรวมของการเสียชีวิตจากสถานการณ์โควิด-19 มีผู้เสียชีวิตรวม 30,349 ราย


  • สหรัฐยกเลิกคำสั่งตรวจโควิด-19 ผู้เดินทางโดยเครื่องบินจากต่างประเทศที่เดินทางมายังสหรัฐ เริ่มมีผลบังคับใช้สำหรับตั้งแต่เวลา 11.00 น.ตามเวลาไทยในวันอาทิตย์ มาตรการดังกล่าวเกิดขึ้นหลังบรรดาผู้บริหารธุรกิจสายการบินและโรงแรมที่พักในสหรัฐได้ออกมากดดันรัฐบาลของประธานาธิบดีโจ ไบเดน ให้ยกเลิกข้อกำหนดให้ผู้ที่เดินทางมายังสหรัฐต้องแสดงผลการตรวจหาเชื้อโควิด-19 เป็นลบก่อนออกเดินทาง


  • ญี่ปุ่นเริ่มกลับมาใช้มาตรการควบคุมโควิด-19 เพื่อรองรับนักท่องเที่ยวต่างชาติในวันศุกร์ที่ผ่านมา ซึ่งถือเป็นก้าวแรกในการกระตุ้นการท่องเที่ยวจากต่างประเทศเพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจ หลังความกังวลเกี่ยวกับการระบาดของโรคโควิด-19 เริ่มคลี่คลายลง


  • เซี่ยงไฮ้ซึ่งเป็นศูนย์กลางด้านการเงินของจีน ได้ทำการตรวจเชื้อโควิด-19 ครั้งใหญ่ในช่วงสุดสัปดาห์นี้ โดยมาตรการดังกล่าวมีขึ้นเพียง 10 วันหลังจากที่เซี่ยงไฮ้ยุติการล็อกดาวน์ ขณะที่การปูพรมตรวจโควิดครั้งนี้ได้สร้างความไม่สบายใจให้กับพลเมืองและเพิ่มความกังวลเกี่ยวกับผลกระทบต่อภาคธุรกิจ


ข่าวเกี่ยวกับเศรษฐกิจไทยและค่าเงินบาท


  • นักบริหารการเงิน เปิดเผยว่า ค่าเงินบาทเปิดเช้านี้ที่ระดับ34.82 บาทต่อดอลลาร์อ่อนค่าลง จากระดับปิดสัปดาห์ก่อนหน้า ที่ระดับ 34.77 บาทต่อดอลลาร์ มองกรอบค่าเงินบาทสัปดาห์นี้ ที่ระดับ34.40-35.00 บาทต่อดอลลาร์ส่วนกรอบเงินบาทวันนี้ คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 34.70-34.90 บาทต่อดอลลาร์


  • กระทรวงการคลังสหรัฐเปิดเผยรายงานรอบครึ่งปีว่าด้วยประเทศที่บิดเบือนค่าเงิน ประเทศที่ถูกขึ้นบัญชีจับตามองอย่างใกล้ชิด ได้แก่ ไทย จีน ญี่ปุ่น มาเลเซีย สิงคโปร์ เกาหลีใต้ อินเดีย เยอรมนี อิตาลี เม็กซิโก ไต้หวัน เวียดนาม ทั้งนี้ยังไม่มีประเทศใดที่ถูกสหรัฐระบุว่าจงใจบิดเบือนค่าเงินเพื่อผลประโยชน์ทางการค้า


ที่มาจาก : ReutersFXstreet, Infoquest, RYT9

บริษัท เอ็มทีเอส โกลด์ จำกัด
40,42,44 ถนนทรัพย์สิน แขวงวังบูรพาภิรมย์เขตพระนคร กรุงเทพ 10200
โทรศัพท์ 0 2770 7777 โทรสาร 0 2623 9366 E-mail: support@mtsgoldgroup.com