• สรุปข่าวราคาทองคำ ประจำวันที่ 1 มิถุนายน 2565

    1 มิถุนายน 2565 | Gold News


ข่าวเกี่ยวกับทองคำ


  • สัญญาทองคำตลาดนิวยอร์กปิดลบในวันอังคาร โดยตลาดถูกกดดันจากการพุ่งขึ้นของอัตราผลตอบแทนพันธบัตรสหรัฐ รวมทั้งการที่นายคริสโตเฟอร์ วอลเลอร์ หนึ่งในคณะผู้ว่าการธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) สนับสนุนให้เฟดปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย 0.50% ในการประชุมทุกเดือนเพื่อสกัดเงินเฟ้อ


  • ราคาทองคำตลาดโลก ปรับตัวลดลง -16.59 เหรียญ หรือ -0.9% มาอยู่ที่ระดับ 1,835.74 เหรียญ
  • สัญญาทองคำตลาด COMEX (Commodity Exchange) ส่งมอบเดือนส.ค. ลดลง -8.9 เหรียญ หรือ -0.48% ปิดที่ 1,848.4 เหรียญ
  • สัญญาโลหะเงินส่งมอบเดือนก.ค. ลดลง -40.8 เซนต์ หรือ -1.85% ปิดที่ 21.688 เหรียญ
  • กองทุนทองคำ SPDR วันก่อนหน้าขายออก 1.45 ตัน ปัจจุบันถือครองที่ 1,068.36 ตันภาพรวมเดือนพฤษภาคม ขายสุทธิ 26.19 ตัน ขณะที่ปีนี้ ตั้งแต่ 1 ม.ค. - ปัจจุบัน ซื้อสุทธิ 92.7 ตัน


  • ผู้อำนวยการฝ่ายค้าโลหะของ High Ridge Futures ชี้ว่า ตลาดมีความคาดหวังว่า ไบเดนจะกดดันให้เฟด ดำเนินการมากกว่านี้ในการควบคุมเงินเฟ้อ และจะเห็นถึงผลลัพธ์ได้ว่า ดัชนีดอลลาร์เริ่มทรงตัวและมีแรงกดดันต่อราคาทองคำ


  • นักวิเคราะห์จาก ActivTrades ระบุว่า ค่าเงินดอลลาร์แข็งค่าจากการที่ นายคริสโตเฟอร์ วอลเลอร์  ผู้ว่าการเฟดออกมาให้ความเห็นในท่าทีนโยบายการเงินเข้มงวด เป็นปัจจัยกดดันราคาทองคำปรับตัวลง


  • นักวิเคราะห์อาวุโสของ OANDA กล่าวว่า ภาพรวมราคาทองคำในเดือนพ.ค.ค่อนข้างน่าผิดหวัง โดยราคาทองคำปรับตัวลดลงในทันที จากสกุลเงินดอลลาร์ที่แข็งค่าขึ้น และไม่มีวี่แววที่จะปรับตัวเพิ่มขึ้น แม้สกุลเงินดอลลาร์จะอ่อนค่าลง รวมถึงอัตราผลตอบแทนพันธบัตรสหรัฐฯที่ปรับลดลง 


  • หุ้นส่วนผู้จัดการของ SPI Asset Management กล่าวว่า ที่ผ่านมา ราคาทองคำร่วงลงจากระดับ 1,900 เหรียญ ในช่วงต้นเดือนพ.ค. มาสู่ระดับที่ 1,786.60 เหรียญในวันที่ 16 พ.ค. ท่ามกลางค่าเงินดอลลาร์ที่แข็งค่าขึ้นทำสูงสุดในรอบ 20 ปี อย่างไรก็ตาม ภาพรวมราคาทองคำอยู่ในระดับดีกว่าที่คาดการณ์ไว้ ในช่วงเริ่มของการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของเฟด โดยตลาดต่างรับรู้ถึงภาวะเสี่ยงของเศรษฐกิจถดถอยที่จะตามมา


ข่าวเกี่ยวกับค่าเงิน และธนาคารกลาง


  • ดัชนีดอลลาร์ ปรับตัวขึ้น 0.07 จุด หรือ 0.07% มาอยู่ที่ระดับ 101.74 จุด
  • อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐอายุ 10 ปี  ปรับตัวขึ้น 0.047% มาอยู่ที่ระดับ 2.862% ในขณะที่อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐอายุ 2 ปี  อยู่ที่ระดับ 2.575% และส่วนต่างอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐ 10 ปี มากกว่า 2 ปี เท่ากับ อยู่ที่ระดับ 0.287%


  • Fed Watch Tool ของ CME Group บ่งชี้ว่า ขณะนี้นักลงทุนให้น้ำหนักกว่า 97% ที่เฟดจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย 0.50% ในการประชุมนโยบายการเงินในเดือนมิ.ย


  • ค่าเงินดอลลาร์สหรัฐฯ ดีดตัวขึ้นหลังจากที่ นายคริสโตเฟอร์ วอลเลอร์ ผู้ว่าการธนาคารกลางสหรัฐฯ ออกมาแสดงความคิดเห็นสนับสนุนการดำเนินนโยบายทางการเงินที่เข้มงวดขึ้นอีก พร้อมพิจารณาสนับสนุนปรับขึ้นดอกเบี้ยต่อเนื่อง 0.50% จนกว่าเงินเฟ้อจะกลับเข้าสู่ระดับ 2.0%


  • นักเศรษฐศาสตร์อาวุโสจาก UOB Group ตีความ 3 ประเด็นเกี่ยวกับรายงานการประชุมเฟด ดังนี้
  • (1) การปรับขึ้นดอกเบี้ย 0.50% ในการประชุมสองครั้งหน้าเป็นสิ่งที่จำเป็น และ เฟดอาจปรับท่าทีจากเป็นกลางไปสู่ท่าทีเข้มงวด (อย่างไรก็ตาม ไม่มีการระบุถึงท่าทีเข้มงวดกว่านั้น เช่น ไม่ระบุการปรับขึ้นดอกเบี้ย 0.75%)
  • (2) เฟด ในฐานะผู้กำหนดนโยบาย ยังคงมีความมั่นใจว่า เศรษฐกิจสหรัฐมีความแข็งแกร่ง และเชื่อความเสี่ยงค่อนข้างต่ำในระยะสั้นที่จะเกิดภาวะเศรษฐกิจถดถอย  และมั่นใจว่าสามารถควบคุมเงินเฟ้อได้
  • (3) เฟด ประเมินว่ามีความเสี่ยงขาลงจากการใช้นโยบายการเงินเข้มงวดอยู่บ้าง แต่เฟดก็ได้ส่งสัญาณเปิดทางสามารถใช้นโยบายการเงินแบบยืดหยุ่นได้


ข่าวเกี่ยวกับตลาดหุ้นและเศรษฐกิจ


  • ดัชนีดาวโจนส์ตลาดหุ้นนิวยอร์กปิดร่วงลงในวันอังคาร  โดยตลาดถูกกดดันจากความผันผวนของราคาน้ำมัน รวมทั้งการที่นายคริสโตเฟอร์ วอลเลอร์ หนึ่งในคณะผู้ว่าการธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) สนับสนุนให้เฟดปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย 0.50% ในการประชุมทุกเดือนจนกว่าเงินเฟ้อจะชะลอตัวลง


  • ดัชนีเฉลี่ยอุตสาหกรรมดาวโจนส์ปิดที่ 32,990.12 จุด ลดลง 222.84 จุด หรือ -0.67%,
  • ดัชนี S&P500 ปิดที่ 4,132.15 จุด ลดลง 26.09 จุด หรือ -0.63% และ
  • ดัชนี Nasdaq ปิดที่ 12,081.39 จุด ลดลง 49.74 จุด หรือ -0.41%


  • นักวิเคราะห์ของบริษัทโนมูระเปิดเผยว่า รัฐบาลจีนกำลังเผชิญกับการขาดแคลนเงินสดเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ และคาดว่า อาจต้องเพิ่มการกู้ยืมเพื่อเสริมสภาพคล่อง เนื่องจากการระบาดของไวรัสโอมิครอนระลอกล่าสุดและการล็อกดาวน์ในหลายพื้นที่ตั้งแต่กลางเดือนมี.ค. ส่งผลให้รายได้ของรัฐบาลลดลงอย่างมาก รวมถึงการจัดเก็บรายได้จากการขายที่ดินด้วย


  • สำนักงานสถิติแห่งชาติฝรั่งเศส (INSEE) เปิดเผยข้อมูลเงินเฟ้อเดือนพ.ค. พุ่งขึ้นเกินคาดแตะระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์ ซึ่งสร้างแรงกดดันต่อประธานาธิบดีเอ็มมานูเอล มาครง ก่อนการเลือกตั้งสภานิติบัญญัติในเดือนมิ.ย. ทั้งนี้ ดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) เดือนพ.ค.เพิ่มขึ้น 0.7% ทำให้อัตราเงินเฟ้อในรอบ 12 เดือนอยู่ที่ 5.8% เพิ่มขึ้นจากระดับ 5.4% ในเดือนเม.ย. 


ข่าวเกี่ยวกับน้ำมันและพลังงาน


  • สัญญาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัส (WTI) ตลาดนิวยอร์กปิดลบในวันอังคาร ท่ามกลางการซื้อขายที่ผันผวน หลังมีรายงานว่ากลุ่มประเทศผู้ส่งออกน้ำมัน (โอเปก) และชาติพันธมิตร หรือโอเปกพลัส อาจระงับการมีส่วนร่วมของรัสเซียในข้อตกลงด้านการผลิตของโอเปกพลัส


  • สัญญาน้ำมันดิบ WTI ส่งมอบเดือนก.ค. ลดลง -40 เซนต์ หรือ -0.4% ปิดที่ 114.67 ดอลลาร์/บาร์เรล
  • ส่วนสัญญาน้ำมันดิบเบรนท์ (BRENT) ส่งมอบเดือนก.ค. เพิ่มขึ้น 1.17 ดอลลาร์ หรือ 1% ปิดที่ 122.84 ดอลลาร์/บาร์เรล


  • การที่บรรดาโรงกลั่นทั่วโลกกำลังประสบปัญหาในเร่งเพิ่มกำลังการผลิตเพื่อจะตอบรับความต้องการใช้น้ำมันดีเซลและเบนซินทั่วโลก สร้างความกดดันปัญหาราคาน้ำมันสูงขึ้นและสร้างปัญหาการขาดแคลนน้ำมัน ส่งผลกระทบตั้งแต่เฉพาะกับผู้บริโภคน้ำมันรายใหญ่อย่างสหรัฐและอินเดีย ตลอดจนประเทศที่มีขนาดเล็กลงมาอย่างยูเครนและศรีลังกา


  • รัฐบาลจีนประกาศว่าจะดำเนินการขยายเครื่องมือทางการเงิน และใช้นโยบายการคลังและการจัดเก็บภาษีให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น เพื่อสนับสนุนการมุ่งสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอน (carbon neutrality) โดยรัฐบาลจีนจะปรับเปลี่ยนระบบภาษีให้ครอบคลุมนโยบายที่ให้สิทธิพิเศษมากยิ่งขึ้น เพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงานและน้ำ รวมถึงลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ขณะที่ภาษีนำเข้าจะถูกปรับเปลี่ยนให้สอดคล้องกับข้อกำหนดด้านการพัฒนาที่มีคาร์บอนต่ำ


  • หัวหน้าสำนักงานพลังงานระหว่างประเทศ (IEA) กล่าวว่า ยุโรปอาจต้องเผชิญกับปัญหาการขาดแคลนเชื้อเพลิงในช่วงเทศกาลวันหยุดซัมเมอร์นี้ จากความต้องการเชื้อเพลิงที่เพิ่มขึ้น ซึ่งจะส่งผลให้เกิดการขาดแคลน น้ำมันดีเซล เบนซิน หรือก๊าซ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในยุโรป


  • นายแอนโทนี บลิงเกน รัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐออกมาประณามอิหร่านที่ยึดเรือบรรทุกน้ำมันของกรีซสองลำในอ่าวเปอร์เซียเมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมาว่าเป็นการบุกยึดที่ไร้เหตุผลเหตุดังกล่าวเกิดขึ้นไม่นาน หลังอิหร่านเตือนว่าจะใช้มาตรการลงโทษกรีซ หลังสหรัฐยึดน้ำมันของอิหร่านไปจากเรือที่จอดอยู่นอกชายฝั่งของกรีซ


ข่าวเกี่ยวกับการเมืองระหว่างประเทศ


  • ประธานาธิบดีโวโลดิเมียร์ เซเลนสกี ของยูเครนเปิดเผยว่า ได้หารือกับประธานาธิบดีเรเซป ตอยยิบ เออร์โดกัน ผู้นำตุรกี โดยทั้งสองฝ่ายเห็นพ้องถึงความจำเป็นในการฟื้นฟูสันติภาพในยูเครน


  • นายเซอร์เก ลาฟรอฟ รัฐมนตรีต่างประเทศรัสเซียเตรียมเดินทางเยือนซาอุดีอาระเบียในวันนี้ 1 มิ.ย. เพื่อพบกับรัฐมนตรีต่างประเทศกลุ่มประเทศอ่าวอาหรับ (GCC)


  • ธนาคารสเบอร์แบงก์ (Sberbank) ซึ่งเป็นธนาคารรายใหญ่ที่สุดของรัสเซียเผยว่า มาตรการคว่ำบาตรชุดใหม่ของสหภาพยุโรป (EU) ต่อรัสเซียนั้นจะไม่ส่งผลกระทบต่อการดำเนินงานของธนาคาร หลังจากที่ผู้นำกลุ่ม EU เห็นพ้องให้ตัดธนาคารซึ่งเคยถูกคว่ำบาตรก่อนหน้านี้ออกจากระบบธุรกรรมโอนเงินระหว่างประเทศ (SWIFT)


ข่าวเกี่ยวกับ Covid-19


  • สถานการณ์แพร่ระบาดของโควิด-19 ในไทย พบผู้ติดเชื้อรายใหม่อีก 4,563 ราย ทำให้มียอดติดเชื้อสะสมแล้ว 4,455,020 ราย อีกทั้งยังมีผู้เสียชีวิตเพิ่มอีก 28 ราย ทำให้การระบาดระลอกใหม่ตั้งแต่เดือน ม.ค.2565 มียอดผู้เสียชีวิตสะสม 8,349 ราย ขณะที่ ภาพรวมของการเสียชีวิตจากสถานการณ์โควิด-19 มีผู้เสียชีวิตรวม 30,019 ราย


  • คณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติของจีน (NHC) เปิดเผยว่า จำนวนผู้ติดเชื้อโควิด-19 ในจีนลดลงสู่ระดับต่ำกว่า 100 รายเป็นครั้งแรกตั้งแต่ช่วงต้นเดือนมี.ค.ที่ผ่านมา หลังใช้มาตรการล็อกดาวน์มานานหลายเดือน


  • จีนสนับสนุนสายการบินให้เปิดเส้นทางการบินและเที่ยวบินระหว่างจีนและประเทศในหมู่เกาะแปซิฟิก เมื่อสามารถควบคุมการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ได้อย่างมีประสิทธิภาพ 


  • รองนายกเทศมนตรีนครเซี่ยงไฮ้เปิดเผยว่า เซี่ยงไฮ้จะปรับมาตรการควบคุมการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 สู่ภาวะปกติตั้งแต่วันที่ 1 มิถุนายนเป็นต้นไป และจะอนุญาตให้ห้างสรรพสินค้าและร้านค้ากลับมาเปิดดำเนินการได้ตามปกติ รวมทั้งอนุญาตให้ประชาชนในพื้นที่เสี่ยงต่ำ (low-risk areas) สามารถกลับไปทำงานได้


ข่าวเกี่ยวกับเศรษฐกิจไทยและค่าเงินบาท


  • นักบริหารการเงิน เปิดเผยว่า ค่าเงินบาทเปิดเช้านี้ที่ระดับ  34.31 บาทต่อดอลลาร์อ่อนค่าลงจากระดับปิดวันก่อนหน้า ที่ระดับ  34.24 บาทต่อดอลลาร์ มองกรอบเงินบาทวันนี้ คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ34.20-34.40 บาทต่อดอลลาร์


  • ธนาคารแห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า เศรษฐกิจไทยในเดือน เม.ย.65 ปรับดีขึ้นจากเดือนก่อน เครื่องชี้การบริโภคภาคเอกชนปรับดีขึ้นจากการใช้จ่ายในหมวดบริการ สอดคล้องกับความกังวลต่อการแพร่ระบาดของ Omicron ที่ลดลง ด้านเครื่องชี้การลงทุนภาคเอกชนปรับดีขึ้นตามหมวดก่อสร้าง สำหรับนักท่องเที่ยวต่างชาติทยอยปรับเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง หลังภาครัฐผ่อนคลายมาตรการจำกัดการเดินทางระหว่างประเทศเพิ่มเติม


  • ผู้อำนวยการอาวุโส ธนาคารแห่งประเทศไทย กล่าวว่า เศรษฐกิจไทยในช่วงครึ่งหลังของปี 2565 ยังมีหลายปัจจัยเสี่ยงที่ต้องติดตาม ไม่ว่าจะเป็นการฟื้นตัวของภาคการท่องเที่ยว, ปัญหาค่าครองชีพ และอัตราเงินเฟ้อที่อยู่ในระดับสูง ซึ่งคาดว่าในการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) สัปดาห์หน้า (8 มิ.ย.) จะมีการพิจารณาปัจจัยดังกล่าวที่จะมีผลต่อแนวโน้มเศรษฐกิจของไทยในปีนี้ และอาจจะมีการปรับประมาณการเศรษฐกิจไทยตามสถานการณ์ตัวเลขที่เปลี่ยนแปลงไป


  • ธนาคารกรุงศรีอยุธยา (BAY) ประเมินแนวโน้มการส่งออกในช่วงที่เหลือของปี 65 ยังคงได้รับแรงกดดันจากเศรษฐกิจและการค้าโลกที่ชะลอลง โดยองค์การการค้าโลก (WTO) ล่าสุดได้ปรับลดคาดการณ์ปริมาณการค้าโลกในปี 2565 ขยายตัวเหลือ 3.0% จากเดิมคาดไว้ 4.7% เนื่องจากความไม่แน่นอนเกี่ยวกับสถานการณ์ความขัดแย้งรัสเซีย-ยูเครน ประกอบกับมีสัญญาณการชะลอตัวของการส่งออกในหลายประเทศเอเชียซึ่งเป็นผู้ส่งออกสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ที่สำคัญ อาทิ ไต้หวัน เกาหลี รวมถึงดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคการผลิต (PMI) ของประเทศแกนหลักเติบโตชะลอลงต่อเนื่องในเดือนพฤษภาคม



ที่มาจาก : ReutersFXstreet, Infoquest

บริษัท เอ็มทีเอส โกลด์ จำกัด
40,42,44 ถนนทรัพย์สิน แขวงวังบูรพาภิรมย์เขตพระนคร กรุงเทพ 10200
โทรศัพท์ 0 2770 7777 โทรสาร 0 2623 9366 E-mail: support@mtsgoldgroup.com