• สรุปข่าวเศรษฐกิจ (ภาคค่ำ) ประจำวันที่ 18 พฤษภาคม 2563

    18 พฤษภาคม 2563 | Economic News


·           ค่าเงินดอลลาร์อ่อนค่าลงเล็กน้อย ท่ามกลางตลาดที่มีความหวังมากขึ้นเกี่ยวกับการกลับมาเปิดเศรษฐกิจทั่วโลก ทำให้ค่าเงินของประเทศผู้ส่งออกหรือค่าเงินที่เกี่ยวข้องกับสินค้าโภคภัณฑ์ปรับแข็งค่าขึ้นได้ ขณะที่ค่าเงินปอนด์ถูกกดกันใกล้ระดับอ่อนค่าที่สุดในรอบเกือบ 2 เดือน ท่ามกลางสัญญารเกี่ยวกับการพิจารณาใช้อัตราดอกเบี้ยติดลบจากธนาคารกลางอังกฤษ

บรรดานักลงทุนมีความเชื่อมั่นที่ดีขึ้นจากรายงานการผ่อนคลายมาตรการล็อคดาวน์ในหลายๆประเทศ ตั้งแต่สหรัฐฯไปจนถึงอิตาลี แต่ในขณะเดียวกันก็ยังคงมีความกังวลเกี่ยวกับความตึงเครียดระหว่างสหรัฐฯ-จีน

ค่าเงินดอลลาร์นิวซีแลนด์แข็งค่0.4% แถว 0.5956 ดอลลาร์ แต่ยังไม่สามารถขึ้นเหนือ 0.60 ดอลลาร์ไปได้ ส่วนค่าเงินดอลลาร์ออสเตรเลียแข็งค่า 0.5% แถว 0.6455 ดอลลาร์ แต่ยังต่ำกว่าระดับ 0.65 ดอลลาร์

ค่าเงินหยวนที่ตลาดใช้เป็นมาตรวัดความตึงเครียดระหว่างสหรัฐฯ-จีน ยังคงทรงตัวใกล้ระดับอ่อนค่าที่สุดในรอบ 1 สัปดาห์ที่อ่อนค่าลงไปเมื่อสัปดาห์ก่อน สะท้อนถึงตลาดที่มีความระมัดระวังต่อประเด็นดังกล่าวเป็นอย่างมาก

ด้านค่าเงินดอลลาร์เมื่อเทียบกับเงิน ยังเป็นการเคลื่อนไหวในกรอบเดิมตั้งแต่เดือน เม.ย. แถว 107.10 เยน/ดอลลาร์ ขณะที่ดัชนีดอลลาร์อ่อนค่าลงเล็กน้อย

ค่าเงินปอนด์อ่อนค่าทำระดับต่ำสุดในรอบ 7 สัปดาห์เมื่อเทียบกับเงินยูโร และเมื่อเทียบกับดอลลาร์แถว 1.2107 ดอลลาร์/ยูโร ท่ามกลางแรงกดดันจากการเจรจา Brexit ระหว่างตัวแทนของอังกฤษและยุโรปที่ยังคงยืดเยื้อ รวมถึงการเริ่มมีสัญญาณเกี่ยวกับโอกาสที่ธนาคารกลางอังกฤษจะหันมาใช้อัตราดอกเบี้ยติดลบมากขึ้นเรื่อยๆ

 


·           EUR/USD Price Analysis: ยูโรยังถูกกดดันต่ำกว่าเส้นค่าเฉลี่ย 200-HMA และอยู่กรอบสามเหลี่ยมระยะสั้น

บทวิเคราะห์จาก FX Street ระบุว่าค่าเงินยูโรเมื่อเทียบกับดอลลาร์ในช่วงเช้าวันนี้ได้อ่อนค่าลงมาแถวระดับ 1.0815 ดอลลาร์/ยูโร จึงยังเป็นการเคลื่อนไหวต่ำกว่าเส้นค่าเฉลี่ย 200-HMA ขณะที่ภาพรวมระยะสั้นก็ได้ก่อตัวเป็นลักษณะกรอบสามเหลี่ยม

แม้การที่ค่าเงินไม่สามารถยืนเหนือเส้นค่าเฉลี่ย 200-HMA ได้ทำให้ค่าเงินถูกเทขายลงแถวระดับ 1.0800 ดอลลาร์/ยูโร แต่เส้นแนวรับที่ 1.0775 ดอลลาร์/ยูโร ก็น่าจะสามารถรองรับการอ่อนค่าลงมากกว่านี้ได้สักระยะหนึ่ง

แต่สำหรับกรณีที่ค่าเงินหลุดต่ำกว่า 1.0775 ดอลลาร์/ยูโร จะทำให้เป้าหมายต่อไปของฝั่งขาลงขยับมาเป็นระดับ 1.0730 – 1.0725 ดอลลาร์/ยูโร ซึ่งเป็นระดับต่ำสุดของเดือน เม.ย.

ในทางกลับกัน หากค่าเงินสามารถยืนเหนือเส้นค่าเฉลี่ย 200-HMA ที่ 1.0823 ดอลลาร์/ยูโรได้ จะทำให้ค่าเงินมีโอกาสขึ้นทดสอบแนวต้านระยะ 3 วันที่ 1.0840 ดอลลาร์/ยูโร หากยืนเหนือแนวต้านนี้ได้ก็จะมีเป้าหมายถัดไปที่ 1.0860 ดอลลาร์/ยูโร ซึ่งเป็นแนวต้านของกรอบสามเหลี่ยม

 

·         อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯปรับตัวสูงขึ้นท่ามกลางกลุ่มนักลงทุนที่ตอบรับกับการสัมภาษณ์ของนายเจอโรม โพเวลล์ ประธานเฟด ในรายการ "60 Minutes" ที่กล่าวถึงการที่เศรษฐกิจสหรัฐฯในช่วง Q2/2020 อาจหดตัวมากถึง 30% ท่ามกลางผลกระทบอย่างเต็มรูปแบบจากการ Lockdown ของนานาประเทศ แต่ภาพรวมก็ยังมีแนวโน้มจะรีบาวน์ได้อย่างแข็งแกร่ง สามารถหลีกเลี่ยงภาวะ Depression ในระยะยาวได้

อัตราผลตอแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯอายุ 10 ปี ปรับขึ้นแตะ 0.6452% ขณะที่ผลตอบแทนอายุ 30 ปี ปรับขึ้นแตะ 1.3509%


·         ความสัมพันธ์ทางการค้าระหว่างสหรัฐฯและจีนมีแนวโน้มที่จะตึงเครียดต่อในสัปดาห์นี้ หลังจากเมื่อวันอาทิตย์ นายไมค์ ปอมเปโอ รัฐมนตรีต่างประเทศแห่งสหรัฐฯ ได้กล่าวเตือนไม่ให้รัฐบาลจีนเข้ามาก้าวก่ายกับการทำงานของนักข่าวชาวอเมริกันที่ทำข่าวภายในฮ่องกง ซึ่งเป็นกรณีที่อาจทำให้สหรัฐฯต้องกลับมาประเมินระบบการกำกับดูแลแบบพิเศษสำหรับพื้นที่ดังกล่าวอีกครั้งหนึ่ง

นอกจากนี้ กระทรวงพาณิชย์ของประเทศจีนยังได้ประกาศต่อต้านนโยบายใหม่ล่าสุดจากสหรัฐฯที่เป็นนโยบายเพื่อกดดัน Huawei พร้อมระบุว่าจะมีการดำเนินการตอบโต้เพื่อรักษาผลประโยชน์และสิทธิของบริษัทเทคโนโลยียักษ์ใหญ่ของจีน

สำหรับคืนนี้จะไม่มีตัวเลขทางเศรษฐกิจใดๆที่ต้องจับตา


·           รัฐมนตรีกระทรวงวัฒธรรมแห่งอังกฤษเปิดเผยว่า รัฐบาลกำลังอยู่ในระหว่างการเจรจารายละเอียดกับรัฐบาลฝรั่งเศส เพื่อพิจารณาว่าจะอนุญาตให้ยกเว้นการกักตัวเป็นเวลา 14 วันสำหรับชาวฝรั่งเศสที่เดิทางเข้ามาในอังกฤษหรือไม่

หลังจากที่ก่อนหน้านี้มีรายงานว่าอังกฤษจะไม่สั่งให้ชาวฝรั่งเศสที่เดินทางเข้าประเทศอังกฤษต้องกักตัวเป็นเวลา 14 วัน แต่ไม่ได้ให้รายละเอียดเพิ่มเติมใดๆ


·           เมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมา นางคริสตาลินา จอร์เจียนา ประธาน IMF ระบุว่า บรรดาองค์กรเทคโนโลยีรายใหญ่ที่กำลังได้ผลประโยชน์จากความต้องการใช้บริการทางด้านออนไลน์มากขึ้นในช่วงวิกฤตไวรัส ควรจะดำเนินการเพื่อขยายขอบเขตการให้บริการเศรษฐกิจแบบดิจิทัลให้เข้าถึงผู้คนเป็นวงกว้างมากขึ้น

พร้อมระบุว่าวิกฤตครั้งนี้ แม้จะสร้างความเสียหายอย่างใหญ่หลวงให้กับเศรษฐกิจโลก แต่มันก็สร้างโอกาสให้มนุษยชาติหันกลับมาให้ความสำคัญกับปัญหาอื่นๆที่ยืดเยื้ออย่างเรื่องของความไม่เท่าเทียมกันหรือเรื่องของปัญหาสิ่งแวดล้อม เป็นต้น


·           เศรษฐกิจญี่ปุ่นในไตรมาสที่ผ่านมาได้ชะลอตัวเข้าสู่ภาวะถดถอยเป็นครั้งแรกในรอบ 4 ปีครึ่ง ท่ามกลางผลกระทบจากวิกฤตไวรัสโคโรนา ทำให้ภาพรวมเศรษฐกิจญี่ปุ่นมีแนวโน้มถดถอยลงมากที่สุดนับตั้งแต่สมัยสงครามโลก

โดยอัตราการเติบโตของ GDP ในไตรมาสที่ 1/2020 ประกาศออกมาหดตัวลง 3.4% น้อยกว่าที่คาดการณ์กันเอาไว้ที่ 4.6% แต่เป็นการหดตัวต่อเนื่องจากไตรมาสที่ 4/2020 ที่หดตัวลงไปถึง 7.3% ในเชิงเทคนิคจึงถือว่าเศรษฐกิจญี่ปุ่นได้เข้าสู่ภาวะถดถอยเป็นที่เรียบร้อยแล้ว


·           รายงานจาก Reuters ที่ทำการสัมภาษณ์เจ้าหน้าที่ของรัฐบาลทั้งอดีตและปัจจุบัน ผู้มีชื่อเสียงในแวดวงอุตสาหกรรม และสมาชิกของสภาคองเกรส สรุปได้ว่ากำลังมีการเจรจาเกิดขึ้นภายในรัฐบาลสหรัฐฯ เกี่ยวกับการสนับสนุนให้ผู้ประกอบการในสหรัฐฯเร่งโยกย้ายฐานการผลิตหรือลดบทบาทด้านการผลิตออกจากประเทศจีน

โดยรัฐบาลอาจสนับสนุนการดำเนินการดังกล่าวด้วยการออกนโยบายเลื่อนการจ้ายภาษี นโยบายใหม่อื่นๆ รวมถึงการจ่ายเงินสนับสนุน ซึ่งอาจเป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้ความสัมพันธ์ของผู้ประกอบการในสหรัฐฯและประเทศจีนมีความเปลี่ยนแปลงไปอย่างมาก


·         โพเวลล์ ชี้ จีดีพีสหรัฐฯอาจหดตัวกว่า 30% แต่ไม่น่าเกิด Depression

นายเจอโรม โพเวลล์ ประธานเฟด กล่าวให้สัมภาษณ์ในรายการ "60 Minutues"  โดยระบุว่า เศรษฐกิจสหรัฐฯมีแนวโน้มจะหดตัวลงไปมากถึง 30% ในช่วงไตรมาสที่ 2/2020 นี้ แต่ก็จะสามารถหลีกเลี่ยงภาวะ Depression ในระยะยาวได้ ขณะที่อัตราจ้างงานมีแนวโน้มจะร่วงลงใกล้ระดับต่ำสุดที่ทำไว้ในปี 1930 โดยมีอัตราว่างงานที่ใกล้บริเวณ 25%

อย่างไรก็ดี ภาพรวมทางเศรษฐกิจและระบบการเงินที่แข็งแกร่งของสหรัฐฯดูจะช่วยให้เศรษฐกิจสหรัฐฯสามารถรีบาวน์ได้ และเขาเชื่อว่าเศรษฐกิจสหรัฐฯจะกลับมาฟื้นตัวได้ในช่วงไตรมาสที่ 3/2020 แต่อาจจะไม่ได้กลับมาอย่างรวดเร็วได้ในช่วงปีนี้

เมื่อพิจารณาจากปัจจัยต่างๆ ดูจะมีความแตกต่างจากยุคที่เกิด Depression เนื่องจากครั้งนี้ทั้งเฟดและคองเกรสต่างก็สามารถผ่านร่างงบประมาณกว่า 3 ล้านล้านเหรียญ และการวางแผนต่างๆดูจะไม่ทำให้เกิดภาวะฟองสบู่ในสินทรัพย์ต่างๆ  และนั่นจึงเป็นเหตุผลที่ช่วยพยุงเศรษฐกิจสหรัฐฯ ในความพยายามต่อสู้กับการระบาดของไวรัสโคโรนา

แม้จะมีความพยายามต่างๆ แต่ก็ดูเหมือนคนว่างงานสหรัฐฯจะเพิ่มขึ้นแตะ 36.5 ล้านคน ในช่วง 2 เดือนมานี้ และอัตราว่างงานปรับขึ้นแตะ 14.7% และมีแนวโน้มจะปรับขึ้นไปมากกว่านี้

เฟดสาขาแอตแลนต้าคาดการณ์ว่า จีดีพีไตรมาสที่ 2/2020 ของสหรัฐฯจะดิ่งลงไปกว่า -42% ซึ่งถือเป็นระดับการเติบโตที่ย่ำแย่ที่สุดเท่าที่เคยมีมา

ทั้งนี้ ประธานเฟดของเราไม่ได้ระบุว่าการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจจะเป็นรูปร่างแบบใด แต่คาดว่าจะกลับมาเติบโตได้ก่อนเผชิญการระบาดของไวรัสโคโรนานั้นคงเป็นไปได้ยาก ซึ่งเศรษฐกิจน่าจะไม่สามารถฟื้นตัวได้อย่างเต็มรูปแบบตราบเท่าที่ยังปราศจากวัคซีน แต่เขาก็เชื่อว่าเศรษฐกิจสหรัฐฯจะฟื้นตัวได้ และจะไม่ใช้เวลายาวนานมากจนเกินไป


·         มีรายงานเกี่ยวกับการชุมนุมประท้วงการล็อคดาวน์เกิดขึ้นทั่วเยอรมนีในช่วงสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา เนื่องจากประชาชนเริ่มมีความเบื่อหน่ายและอ่อนล้าจากการปิดเศรษฐกิจของประเทศ

โดยการชุมนุมประท้วงเกิดขึ้นในหลากหลายเมืองของเยอรมนี ได้แก่กรุงเบอร์ลิน มิวนิช และ สตุตการ์ต โดยเฉพาะในเมืองสตุตการ์ตก็มีรายงานผู้ชุมนุมกว่า 5,000 ราย ขณะที่เจ้าหน้าที่ตำรวจก็พยายามควบคุมฝูงชนให้กระจายตัวออกไปตามจุดต่างๆของเมืองเพื่อรักษาระยะห่างทางสังคม ส่วนในเบอร์ลิน มิวนิช ก็มีรายงานจำนวนผู้ชุมนุมอยู่ที่เมืองละประมาณ 1,000 ราย


·           ราคาน้ำมันปรับขึ้นได้มากกว่า 1 เหรียญ/บาร์เรลในวันนี้ ท่ามกลางแรงหนุนจากการปรับลดกำลังการผลิตและสัญญาณการฟื้นตัวอย่างค่อยเป็นค่อยไปของปริมาณอุปสงค์และเศรษฐกิจจากวิกฤตไวรัสโคโรนา ขณะที่นสตสสัญญาน้ำมันดิบ WTI ไม่มีสัญญาณว่าจะเกิดการร่วงลงอย่างรุนแรงเมื่อเดือนก่อนที่สัญญาน้ำมันจะหมดอายุลงแต่อย่างใด

โดยราคาสัญญาน้ำมันดิบ Brent ปรับขึ้น 1.33 เหรียญ หรือ 4.1% แถว 33.83 เหรียญ/บาร์เรล หลังทำระดับสูงสุดตั้งแต่ 13 เม.ย.

ขณะที่ราคาสัญญาน้ำมันดิบ WTI ปรับขึ้น 1.65 เหรียญ หรือ 5.6% แถว 31.08 เหรียญ/บาร์เรล หลังทำระดับสูงสุดตั้งแต่ 16มี.ค. ส่วนราคาสัญญาน้ำมันดิบ WTI ส่งมอบเดือน ก.ค. ที่มีปริมาณซื้อขายมากกว่า ปรับขึ้นได้ 1.53 เหรียญ แถว 31.05 เหรียญ/บาร์เรล



·           Oil Price Forecast: ทิศทางขาขึ้นจับตาแนวต้านสำคัญรายปีเหนือ 30.00 เหรียญ

บทวิเคราะห์จาก FX Street ระบุว่าราคาสัญญาน้ำมันดิบ WTI ส่งมอบเดือน มิ.ย. กำลังเคลื่อนไหวในแดนบวกวันนี้แถวระดับ 30.70 เหรียญ/บาร์เรล ทำระดับสูงสุดวันนี้ที่ 30.92 เหรียญ/บาร์เรล คิดเป็น +4.0% ในภาพรวมรายวัน

หากราคายังสามารถยืนเหนือระดับสำคัญทางจิตวิทยาที่ 30.00 เหรียญ/บาร์เรลได้ ราคาจะมีโอกาสขึ้นทดสอบระดับ 33.75 เหรียญ/บาร์เรล ซึ่งเป็นเส้นเทรนขาลงตั้งแต่ 8 ม.ค. 2020

ทางฝั่งเส้น RSI ที่มีการปรับสูงขึ้นอย่างมากอาจเป็นสัญญาณว่าราคาน้ำมันอาจเผชิญแรงเทขายในระยะสั้น เนื่องจากมีภาวะซื้อมากเกิน แต่ถ้าราคาสามารถปรับขึ้นเหนือแนวต้านดังกล่าวได้ก็มีโอกาสเห็นราคาขึ้นต่อไปยังระดับ 38.00 เหรียญ/บาร์เรล ซึ่งเป็นเส้นค่าเฉลี่ยราย 100 วัน

อีกด้านหนึ่ง ราคาจะมีแนวรับถัดไปอยู่ที่ระดั27.30 เหรียญ/บาร์เรล ซึ่งเป็นแนวรับสำคัญของภาพรวมรายเดือนในกรณีที่ราคาย่อตัวต่ำกว่า 30.00 เหรียญ/บาร์เรล หากหลุดลงมาก็จะมีแนวรับถัดไปที่ 21.90 เหรียญ/บาร์เรล ซึ่งเป็นเส้นค่าเฉลี่ยราย 50 วัน และถัดไปอีกที่ระดับ 10.00 เหรียญ/บาร์เรล ซึ่งเป็นระดับต่ำสุดของเดือน เม.ย.



บริษัท เอ็มทีเอส โกลด์ จำกัด
40,42,44 ถนนทรัพย์สิน แขวงวังบูรพาภิรมย์เขตพระนคร กรุงเทพ 10200
โทรศัพท์ 0 2770 7777 โทรสาร 0 2623 9366 E-mail: support@mtsgoldgroup.com