• สรุปข่าวเศรษฐกิจ (ภาคค่ำ) ประจำวันที่ 15 พฤษภาคม 2563

    15 พฤษภาคม 2563 | Economic News


·       จำนวนผู้เสียชีวิตจากการติดเชื้อไวรัสโคโรนาทั่วโลกทะลุสูงกว่า 300,000 รายในวันนี้ ขณะที่ยอดผู้ติดเชื้อรวมสูงกว่า 4.5 ล้านราย โดยสหรัฐฯมีผู้เสียชีวิตมากที่สุด คิดเป็นมากกว่า 1 ใน 4 ของยอดรวมทั่วโลก ตามมาด้วยสหราชอาณาจักรและอิตาลีคิดเป็น 10-11% ในแต่ละประเทศ รวมถึงฝรั่งเศสและสเปนคิดเป็น 9% ในแต่ละประเทศ

 

·       ค่าเงินดอลลาร์อ่อนค่าลงจากระดับสูงสุดในรอบ 3 สัปดาห์ แต่มีแนวโน้มที่จะปิดตลาดสัปดาห์ในแดนบวก โดยค่าเงินได้รับแรงหนุนจากความกังวลเกี่ยวกับความตึงเครียดทางการค้าระหว่างสหรัฐฯ-จีน และความกลัวว่าจะเกิดการระบาดของไวรัสโคโรนาอีกครั้

ด้านค่าเงินดอลลาร์ออสเตรเลียอ่อนค่าลงแถว 0.6462 ดอลลาร์ ซึ่งเป็นกรอบระดับล่างของการเคลื่อนไหวทั้งสัปดาห์นี้ และมีแนวโน้มปิดแดนลบในภาพรวมรายสัปดาห์เป็นครั้งแรกตั้งแต่เดือน เม.ย. ประมาณ -1% ท่ามกลางตลาดที่ลดความหวังเกี่ยวกับโอกาสฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกลง

ค่าเงินเยนค่อนข้างทรงตัวเมื่อเทียบกับดอลลาร์แถว 107.18 เยน/ดอลลาร์ ขณะที่ภาพรวมรายสัปดาห์มีแนวโน้มอ่อนค่าเมื่อเทียบกับดอลลาร์เล็กน้อยประมาณ 0.5% รวมถึงดัชนีดอลลาร์ที่มีแนวโน้มแข็งค่าขึ้นในภาพรายสัปดาห์ประมาณ 0.5% เช่นกัน หลังจากเฟดส่งสัญญาณว่าไม่มีแนวคิดที่จะหันมาใช้อัตราดอกเบี้ยติดลบ จึงเป็นปัจจัยที่สนับสนุนการแข็งค่าของดอลลาร์

ทางฝั่งค่าเงินปอนด์ยังคงถูกกดดันแถวระดับ 1.2212 ดอลลาร์/ปอนด์ หลังจากลงไปทำระดับต่ำสุดแถว 1.2161 ดอลลาร์/ปอนด์ เนื่องจากรัฐบาลอังกฤษยังคงยืนกรานว่าจะไม่ขยายระยะเวลาของ Brexit ออกไปมากกว่าเดือน ธ.ค. แน่นอน

ขณะที่ค่าเงินยูโรอ่อนค่าใกล้ระดับต่ำสุดในรอบ 5 ปีเมื่อเทียบกับสวิสฟรังก์ เนื่องความกังวลเกี่ยวกับสถานการณ์ไวรัส และทรงตัวเมื่อเทียบกับดอลลาร์แถว 1.0804 ดอลลาร์/ยูโร

 

·       EUR/USD Forecast: คาดยูโรยังถูกกดดัน เนื่องจากตลาดต้องการดอลลาร์



บทวิเคราะห์เชิงเทคนิคจาก FX Street ระบุว่าค่าเงินยูโรยังคงเคลื่อนไหวในเชิงอ่อนค่าเมื่อเทียบกับดอลลาร์ และใกล้ระดับต่ำสุดของกรอบการเคลื่อนไหวเดิม แต่ยังไม่สัญญาณว่าจะเกิดการ Breakout ลงจากกรอบในเร็วๆนี้ ขณะที่ในกราฟราย 4 ช.ม. จะเห็นว่าราคากำลังเคลื่อนไหวต่ำกว่าเส้นค่าเฉลี่ยทุกเส้น ส่วนสัญญาณจาก Indicators ยังคงเคลื่อนไหวในระดับต่ำอย่างต่อเนื่อง ขณะที่ RSI เคลื่อนไหวแบบสะสมพลังแถวระดับ 38 จุด บ่งชี้ถึงแนวโน้มที่ค่าเงินจะเคลื่อนไหวในขาลง สำหรับในกรณีที่ค่าเงินย่อตัวลงต่อ มองแนวรับไว้ที่ 1.0760 ดอลลาร์/ยูโร

แนวรับ: 1.0760 1.0720 1.0680.

แนวต้าน: 1.0830 1.0865 1.0890

 

·       จับตายอดค้าปลีกสหรัฐฯคืนนี้ คาดยังได้รับผลกระทบจากไวรัสโคโรนา

ยอดค้าปลีกของสหรัฐฯในเดือน เม.ย. ที่จะประกาศในคืนนี้ถูกคาดว่าจะออกมาปรับลดลงต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 2 ท่ามกลางผลกระทบจากวิกฤตไวรัสที่ทำให้ชาวอเมริกันส่วนใหญ่จำเป็นต้องอยู่แต่ในบ้าน และทำให้เศรษฐกิจไตรมาสที่ 2/2020 นี้มีแนวโน้มหดตัวลงมากที่สุดนับตั้งแต่สมัย Great Depression

โดยโพลสำรวจของ Reuters จากบรรดานักเศรษฐศาสตร์มีคาดการณ์เฉลี่ยสำหรับยอดค้าปลีกที่จะคืนนี้ไว้ที่หดตัว 12.0% เทียบกับของเดือน มี.ค. ที่หดตัวลง 8.7% หากประกาศออกมาตามคาดหรือต่ำกว่า จะนับเป็นการหดตัวที่มากที่สุดนับตั้งแต่เริ่มเก็บสถิติในปี 1992

ขณะที่ยอดค้าปลีกที่ไม่รวมกลุ่มยานพาหนะ ก๊าสโซลีน วัตถุดิบก่อสร้าง และบริการอาหาร ยอดค้าปลีกพื้นฐาน (Core Retail Sales) ถูกคาดว่าจะหดตัว 4.6% ในเดือน เม.ย. เทียบกับของเดือน มี.ค. ที่ออกมาเพิ่มขึ้นผิดคาดที่ 1.7% โดยยอดค้าปลีกพื้นฐานมักถูกใช้คำนวณอัตราการเติบโตของ GDP ได้ค่อนข้างแม่นยำ

ส่วนการใช้จ่ายของผู้บริโภค ที่นับเป็น 2 ใน 3 ของกิจกรรมทางเศรษฐกิจทั้งหมดของสหรัฐฯ ถูกคาดว่าจะประกาศออกมาหดตัวลง 7.6% สำหรับไตรมาสที่ 1/2020 นับเป็นการหดตัวลงมากที่สุดนับตั้งแต่ไตรมาสที่ 2 ของปี 1980 ซึ่งการชะลอตัวของการใช้จ่ายส่วนมากเกิดขึ้นในช่วง 2 เดือนสุดท้ายของไตรมาส ดังนั้นจึงมีความเป็นไปได้สูงที่การหดตัวลงในไตรมาสที่ 2/2020 จะสาหัสยิ่งกว่านี้

 

·       โพล Reuters เผยเศรษฐกิจหดตัวรุนแรงในไตรมาสที่ 2 ก่อนฟื้นตัวได้เล็กน้อย

โพลสำรวจของ Reuters เผย บรรดานักเศรษฐศาสตร์ส่วนใหญ่ยังคงมองว่าเศรษฐกิจสหรัฐฯจะยังคงซบเซาจากผลกระทบของวิกฤตไวรัส และถึงแม้จะคาดการณ์กันว่าเศรษฐกิจจะเริ่มฟื้นตัวได้ในช่วงครึ่งหลังของปีนี้ แต่จะไม่สามารถฟื้นตัวกลับขึ้นไปยังระดับก่อนเกิดวิกฤติภายในปีนี้ได้แต่อย่างใด

โดยบรรดานักเศรษฐกิจศาสตร์คาดการณ์ว่าอัตราการเติบโตของ GDP สหรัฐฯจะหดตัวลงด้วยอัตราที่ไม่เคยมีมาก่อนที่ 35.0% สำหรับไตรมาสปัจจุบัน หลังจากไตรมาสก่อนหน้าหดตัวลง 4.8% ตามโพลสำรวจที่จัดทำขึ้นระหว่างวันที่ 11-14 พ.ค. ที่ผ่านมา

นักวิเคราะห์จาก JP Morgan มองว่าทิศทางต่อไปของเศรษฐกิจจะขึ้นอยู่กับสถานการณ์ไวรัสเป็นหลัก ขณะที่การผ่อนคลายมาตรการล็อคดาวน์ก็จะมีบทบาทสำคัญอย่างมากสำหรับการฟื้นฟูของเศรษฐกิจ ซึ่งต้องดูว่าประชาชนจะให้ความร่วมมือกับกิจการทางเศรษฐกิจมากแค่ไหน และการเปิดเศรษฐกิจจะส่งผลต่อการระบาดของไวรัสด้วยหรือไม่

ทั้งนี้ แบบสำรวจประมเนิว่า GDP สหรัฐฯในไตรมาสที่ 3/2020 จะสามารถขยายตัวได้ 16.0% และ 9.0% สำหรับไตรมาสที่ 4/2020 เทียบกับคาดการณ์เดิมที่ 12.0% และ 9.0% ตามลำดับ ส่วนในกรณีที่เลวร้ายที่สุดมองว่าจะหดตัว 2.5% และ 1.0% ตามลำดับแทน

สำหรับภาพรวมการเติบโตของ GDP รายปี 2020 โพลสำรวจคาดว่าจะหดตัวลง 5.7% จากคาดการณ์เดิมที่ 4.1% แต่ยังดีกว่าคาดการณ์ของ IMF เล็กน้อย โดยคาดไว้ที่หดตัว 5.9% 

 

·       ความตึงเครียดระหว่างประเทศอาจเป็นปัจจัยกดดันเศรษฐกิจหลังพ้นวิกฤตไวรัส

David Sokulsky, CEO ของกองทุน Concentrated Leaders Fund มีความเห็นว่าปัจจัยที่อาจกดดันการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกซึ่งหลายๆฝ่ายยังไม่ได้ประเมินความเสี่ยงนี้มากนัก คือความตึงเครียดทางการเมืองระหว่างประเทศที่มีต้นเหตุมาจากวิธีรับมือไวรัสของประเทศจีน

ทั้งสหรัฐ ยุโรป ไปจนถึงออสเตรเลีย เริ่มมีผู้นำหลายประเทศมากขึ้นที่ต้องการให้จีนถูกตรวจสอบเกี่ยวกับวิธีการรับมือไวรัสอย่างละเอียด ไปจนถึงที่มาของเชื้อไวรัสโคโรนาทีเกิดการระบาดครั้งแรกในเมืองอู่ฮั่นของประเทศจีน

โดย Sokulsky มีความเห็นว่าประเด็นความตึงเครียดดังกล่าวอาจเป็นปัจจัยที่ทำให้เศรษฐกิจไม่สามารถฟื้นตัวได้อย่างที่ควรจะเป็น ท่ามกลางการที่หลายๆประเทศเริ่มผ่อนคลายมาตรการล็อคดาวน์และกลับมาเปิดธุรกิจอีกครั้ง

ปัจจัยดังกล่าวเป็นปัจจัยเสี่ยงที่ตลาดยังไม่ได้คำนึงถึงมากนัก โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อผ่านช่วงที่เกิดการระบาดรุนแรงที่สุดไป บรรดานักการเมืองจะต้องการหาผู้รับผิดชอบอย่างแน่นอน ซึ่งเป้าหมายที่ชัดเจนที่สุดก็คงหนีไม่พ้นประเทศจีน” Sokulsky กล่าว

บางประเทศได้กล่าวโทษประเทศจีนว่ามีการดำเนินการรับมือกับไวรัสไม่เหมาะสมทำให้เกิดการระบาดออกไปทั่วโลก บางประเทศเรียกร้องให้ประเทศจีนจ่ายชดเชยค่าเสียหายที่ทำให้เศรษฐกิจของพวกเขาต้องหยุดชะงักลง ขณะที่บางประเทศเรียกร้องให้มีการสืบสวนหาข้อเท็จจริงว่าจีนมีความสามารถที่จะควบคุมไวรัสก่อนที่จะระบาดออกไปทั่วโลกหรือไม่

ขณะที่ทางจีนก็ยังคงปฏิเสธทุกข้อกล่าวหามาจนถึงปัจจุบัน โดย Le Yucheng รองนายกรัฐมนตรีจีน ได้เคยกล่าวไว้ว่า จีนไม่ใช่ผู้ร้ายหรือสมรู้ร่วมคิด แต่เป็นเหยื่อ และนี่ไม่ใช่เวลาที่จะมากล่าวโทษกันไปมา

 

·       เยอรมนีประกาศอัตราการเติบโตของ GDP ประเทศในไตรมาสที่ 1/2020 ออกมาหดตัวลง 2.2% เมื่อเทียบกับไตรมาสที่ 4/2019 สอดคล้องกับคาดการณ์ส่วนใหญ่ ซึ่งเป็นผลกระทบจากวิกฤตไวรัสโคโรนา ซึ่งส่งผลกระทบหนักที่สุดในช่วงเดือน มี.ค.

 

·       ผลผลิตภาคอุตสาหกรรมจีนขยายตัวได้ครั้งแรกของปีนี้

ยอดผลผลิตภาคอุตสาหกรรมจีนปรับตัวขึ้นเกินคาด +3.9% ในเดือนเม.ย. ซึ่งถือเป็นการขยายตัวได้ครั้งแรกของปีนี้ หลังจากที่เผชิญผลกระทบจากการระบาดของไวรัสโคโรนา

หลังจากที่เผชิญภาวะ Lockdown มาเป็นเวลาหลายเดือน ขณะที่จีนมีการคค่อยๆกลับมาเปิดทำการทางเศรษฐกิจจากการระบาดของไวรัสที่เริ่มควบคุมได้

อย่างไรก็ดี สถาบันสถิติของจีนยังคงสะท้อนว่า การฟื้นตัวทางเศรษฐกิจจีนจะยังคงเผชิญกับความท้าทายท่ามกลางการระบาดของไวรัสโคโรนาทั่วโลก

หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์จาก Oxford Economics คาดว่า ภาวะการถดถอยทางเศรษฐกิจโลกจะเป็นตัวกดดันการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจจีน แต่จีนเองจะได้อานิสงส์จากอุปสงค์ภายในประเทศที่เพิ่มขึ้น ขณะที่การลงทุนและการอุปโภคบริโภคดูจะได้รับอานิสงส์จากนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจต่างๆ

 

·       รัฐบาลท้องถิ่นของเมืองอู่ฮั่นในประเทศจีนเปิดเผยว่า นับตั้งแต่เดือน เม.ย. ทางรัฐบาลได้มีการตรวจคัดกรองโรคเพื่อหาผู้ติดเชื้อไวรัสโคโรนากับประชาชนในเมืองกว่า 3 ล้านราย หรือคิดเป็นประมาณ 1 ใน 3 ของประชากรในเมืองทั้งหมด และถัดจากนี้รัฐบาลจะผลักดันการตรวจคัดกรองโรคกับประชาชนที่เหลืออีกประมาณ 11 ล้านคนเป็นอันดับถัดไป

 

ซึ่งหมายความว่าประชาชนทุกคนในเมืองอู่ฮั่นจะได้รับการตรวจคัดกรองโรคกันถ้วนหน้า ในขณะที่บรรดาผู้ประกอบการและโรงเรียนเริ่มกลับมาเปิดทำการกันอีกครั้ง

·       ประเทศเม็กซิโกเลื่อนการกลับมาเปิดทำการในกลุ่มโรงงานผลิตรถยนต์ และเหมืองทองหลังจากเผชิญ Lockdown ทำให้ภาคบริษัทต่างๆเกิดความไม่มั่นใจว่าจะสามารถ Reconnect ภาวะห่วงโซ่อุปทานกับการผลิตสหรัฐฯไปอย่างไร โดยเม็กซิโก เผยจะยังไม่เปิดทำการในกลุ่มอุตสาหกรรมจนกว่าจะถึง 1 มิ.ย.

 

·       ราคาน้ำมันปรับขึ้นได้มากกว่า 3% ทำระดับสูงสุดในรอบ 1 เดือน ท่ามกลางสัญญาณว่าปริมาณอุปสงค์น้ำมันดิบเริ่มฟื้นตัวขึ้นในประเทศจีนอีกครั้ง รวมถึงข่าวที่ว่าโรงกลั่นน้ำมันในประเทศจีนเริ่มกลับมาทำการอีกครั้ง ประกอบกับภาวะอุปทานน้ำมันที่เริ่มมีสมดุล

โดยราคาสัญญาน้ำมันดิบ Brent ปรับสูงขึ้น 1.21 เหรียญ หรือ 3.9% แถว 32.34 เหรียญ/บาร์เรล หลังทำระดับสูงสุดที่ 32.44 เหรียญ/บาร์เรล ซึ่งเป็นระดับสูงสุดของวันที่ 14 เม.ย. หลังจากเมื่อวานปรับขึ้นได้เกือบ 7% สำหรับภาพรวมรายสัปดาห์ ราคาสัญญาน้ำมันดิบ Brent ปรับขึ้นได้ประมาณ 3% หลังจากปรับขึ้นได้ติดต่อกันใน 2 สัปดาห์ที่ผ่านมา

ขณะที่ราคาสัญญาน้ำมันดิบ WTI ปรับสูงขึ้น 0.92 เหรียญ หรือ 3.3% แถว 28.48 เหรียญ/บาร์เรล หลังทำระดับสูงสุดที่ 28.54 เหรียญ/บาร์เรล ซึ่งเป็นระดับสูงสุดช่วงต้นเดือน เม.ย. หลังจากเมื่อวานปรับขึ้นได้ 9% สำหรับภาพรวมรายสัปดาห์ ราคาสัญญาน้ำมันดิบ WTI ปรับขึ้นได้ประมาณ 15% ติดต่อกันเป็นสัปดาห์ที่ 3

 

·       Oil Price Analysis: WTI กำลังทดสอบระดับสูงสุดในรอบ 1 สัปดาห์แถว 27.50 เหรียญ/บาร์เรล




บทวิเคราะห์จาก FX Street ระบุว่าราคาสัญญาน้ำมันดิบ WTI กำลังเริ่มฟื้นตัวและเคลื่อนไหวใกล้ระดับสูงสุดในรอบ 5 สัปดาห์และแนวต้านที่ระดับ 28.00 เหรียญ/บาร์เรล โดยอยู่เหนือเส้นค่าเฉลี่ยหลักๆในกราฟราย 4 ช.ม. อย่างไรก็ตาม เนื่องจากภาพรวมระยะยาวของ WTI ยังเป็นทิศทางขาลง จึงน่าจะเป็นไปได้ยากที่ราคาจะสามารถกลับตัวเป็นขาขึ้นในระยะกลางได้ อีกด้านหนึ่งหากราคาย่อตัวหลุดแนวรับที่ระดับ 24.00 และ 22.00 เหรียญ/บาร์เรล ก็จะมีโอกาสย่อตัวลงไปทดสอบระดับต่ำสุดของปีนี้อีกครั้ง

แนวต้าน: 28.00, 32.00

แนวรับ: 24.00, 22.00

 

·       WTI Price Analysis: ทดสอบไม่ผ่าน 28.24 เหรียญ แต่ภาพรวมยังเป็นขาขึ้น


บทวิเคราะห์จาก FX Street ระบุว่าในช่วงก่อนเที่ยงวันนี้ ราคาสัญญาน้ำมันดิบ WTI กำลังเคลื่อนไหวแถวระดับ 27.95 เหรียญ/บาร์เรล โดยย่อตัวลงมาหลังจากทดสอบไม่ผ่านระดับ 28.20 เหรียญ/บาร์เรล

ทั้งนี้ ภาพรวมระยะสั้นของราคายังคงเป็นขาขึ้นอยู่ หลังจากเมื่อวานราคาสามารถปรับขึ้นเหนือแนวต้านของกรอบสามเหลี่ยม (Symmetrical triangle) ในกราฟ 4 ช.ม. ขึ้นมาได้ ซึ่งเป็นสัญญาณสะท้อนว่าทิศทางขาขึ้นจากระดับต่ำสุดที่ 10 เหรียญ/บาร์เรล จะสามารถดำเนินต่อไปได้

นอกจากนี้ ในกราฟราย 4 ช.ม. เส้นค่าเฉลี่ยราย 100-candle ได้ปรับสูงขึ้นเหนือเส้นค่าเฉลี่ยราย 200-candle สะท้อนถึงทิศทางขาขึ้น จึงมีแนวโน้มที่ราคาจะปรับขึ้นไปโดยมีเป้าหมาย 30 เหรียญ/บาร์เรล

แต่ในกรณีที่ราคาย่อตัวกลับลงมาในกรอบสามเหลี่ยม จะทำให้ทิศทางขาขึ้นระยะสั้นถือเป็นโมฆะ


บริษัท เอ็มทีเอส โกลด์ จำกัด
40,42,44 ถนนทรัพย์สิน แขวงวังบูรพาภิรมย์เขตพระนคร กรุงเทพ 10200
โทรศัพท์ 0 2770 7777 โทรสาร 0 2623 9366 E-mail: support@mtsgoldgroup.com