• สรุปข่าวตลาดหุ้น (ภาคค่ำ) ประจำวันที่ 14 เมษายน 2563

    14 เมษายน 2563 | SET News
· S&P 500 Price Analysis: หุ้นสหรัฐฯย่อลงจากระดับสูงสุดรอบ 1 เดือน


บทวิเคราะห์จาก FX Street ระบุว่าดัชนี S&P500 เมื่อคืนที่ผ่านมา ได้ย่อตัวลงหลังจากขึ้นทดสอบแนวต้านสำคัญที่ 2,800 จุดไม่ผ่าน ดังนั้นภายในการซื้อขายคืนนี้ ฝั่งขาลงน่าจะจับตาโอกาสทำกำไรที่ระดับ 2,700 จุด แต่ถ้าดัชนีสามารถขึ้นเหนือ2,800 จุดได้ ดัชนีจะมีโอกาสกลับขึ้นไปแถว 2,900 และ 3,000 จุดอีกครั้ง

· ตลาดหุ้นเอเชียปรับตัวสูงขึ้น หลังจากที่ข้อมูลการค้าจีนออกมาดีขึ้นกว่าที่คาด รวมทั้งได้รับแรงหนุนจากการที่บางประเทศพยายามที่กลับมาเปิดเศรษฐกิจอีกครั้ง ด้วยการผ่อนคลายมาตรการจำกัดบางส่วนออกไป

เหล่านักวิเคราะห์ ระบุว่า ความเสี่ยงบางส่วนได้เบาบางลงไปเนื่องจากการชะลอตัวของผู้ป่วย จากไวรัสโคโรนารายใหม่ในประเทศเศรษฐกิจหลัก รวมทั้งการกระตุ้นทางการเงินและการคลังทั่วโลก

นอกจากนี้ความเชื่อมั่นที่เพิ่มขึ้นได้รับปแรงหนุนมาจากการส่งออกของจีนในเดือนมี.ค.ลดลงเพียง 6.6% จากช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้าซึ่งลดลงเล็กน้อยกว่าที่คาดว่าจะลดลง 14% การนำเข้าลดลง 0.9% เล็กน้อยเมื่อเทียบกับที่คาดการณ์ไว้ว่าจะลดลง 9.5%

ทั้งนี้ ดัชนี MSCI ที่ไม่รวมตลาดหุ้นญี่ปุ่นเพิ่มขึ้นกว่า 1%

· ตลาดหุ้นญี่ปุ่นพุ่งขึ้น 3% ซึ่งเป็นระดับสูงสุดในรอบมากกว่า 1 เดือน ท่ามกลางการแห่ปิดสถานะ Short เป็นจำนวนมาก นำโดยหุ้นที่เกี่ยวข้องกับเซมิคอนดักเตอร์และผู้ค้าปลีกที่ปรับตัวสูงขึ้น

โดยดัชนี Nikkei เพิ่มขึ้น 3.1% ที่ระดับ 19,638.81 จุด เป็นระดับที่ดีที่สุดนับตั้งแต่วันที่ 10 มี.ค. ที่ผ่านมา

ด้านดัชนี Topix เพิ่มขึ้น 2.0% ที่ระดับ 1,433.51 จุด

· ตลาดหุ้นจีนปรับตัวสูงขึ้นในวันนี้ หลังจากที่ข้อมูลทางการค้าของจีนออกมาดีกว่าที่คาดเมื่อเทียบจากปีที่แล้ว จึงช่วยหนุนความเชื่อมั่นของเหล่านักลงทุนเกี่ยวกับการฟื้นฟูทางเศรษฐกิจ แม้ว่าการแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนาจะยังคงมีอยู่อย่างต่อเนื่องก็ตาม

โดยดัชนี Shanghai Composite เพิ่มขึ้น 1.59% ที่ระดับ 2,827.28 จุด

· ตลาดยุโรปเปิดแดนบวก ต่อเนื่องจากสัปดาห์ก่อนที่ปรับสูงขึ้นอย่างแข็งแกร่ง โดยในวันนี้ได้รับแรงหนุนจากการรายงานตัวเลขเศรษฐกิจจีนที่ออกมาดีกว่าที่คาดการณ์ จึงช่วยลดความกังวลเกี่ยวกับผลกระทบทางเศรษฐกิจที่มาจากการระบาดของไวรัสโคโรนาลงไปได้บ้าง รวมถึงอัตราการติดเชื้อที่ดูจะชะลอตัว จึงเป็นสัญญาณว่ามาตรการชะลอการระบาดของแต่ละประเทศนั้นได้ผล

โดยดัชนี STOXX 600 เปิด +1.1% หลังจากสัปดาห์ก่อนที่ปรับขึ้นได้จากประกาศใช้นโยบายผ่อนคลายทางการเงินในบางประเทศ

อ้างอิงจากสำนักข่าวอินโฟเควสท์

- เอสเอ็มอีไทยสุดสาหัส รายได้ฮวบ 20-80%โดยเฉพาะกลุ่มร้านอาหารกระทบหนักสุดสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจฯ พบข้อมูลกว่า 33% ไม่มีแผนปรับตัว ส่วนที่เหลือเน้นวิธีลดต้นทุนมากที่สุด ประสานศูนย์บริการเอสเอ็มอีและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ให้ความช่วยเหลือก่อนล้มหายตายจาก

- นายวีรศักดิ์ หวังศุภกิจโกศล รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า ได้สั่งการให้กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ ติดตามมาตรการทางการค้าที่ประเทศต่างๆ ใช้รับมือกับการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 พบว่าประเทศต่างๆ ได้มีการใช้มาตรการจำกัดการส่งออกสินค้าที่จำเป็น เช่น สินค้าอาหาร และสินค้ากลุ่มหน้ากากและอุปกรณ์ทางการแพทย์ เพื่อป้องกันการขาดแคลนในประเทศตลอดจนมาตรการยกเลิกการเก็บภาษีนำเข้ากับสินค้าที่ผลิตไม่เพียงพอในประเทศและจำเป็นต้องนำเข้าซึ่งข้อมูลเหล่านี้จะเป็นประโยชน์ต่อการหาตลาดให้กับสินค้าเกษตรไทยที่มีปริมาณผลิตมากเกินความต้องการในประเทศ และจะเป็นโอกาสในการขยายการส่งออกของไทยในภาวะวิกฤติเพื่อสร้างรายได้ให้กับเกษตรกรและผู้ประกอบการไทย

อ้างอิงจาก ThaiPR.net

-นายปรีดี ดาวฉาย ประธานสมาคมธนาคารไทย เปิดเผยว่า จากการที่ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กระทรวงการคลัง และสถาบันการเงิน ออกมาตรการเพิ่มเติมเพื่อช่วยเหลือ SMEs และดูแลเสถียรภาพตลาดตราสารหนี้เอกชน เพื่อลดผลกระทบทางเศรษฐกิจจากเชื้อโควิด-19 เมื่อวันที่ 7เมษายน 2563 ซึ่งทำให้คณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาอนุมัติพระราชกำหนด (พรก.) ให้อำนาจ ธปท.ออกซอฟท์โลน (Soft Loan) เพื่อดูแลภาคธุรกิจ พรก.ดูแลเสถียรภาพภาคการเงิน ตลอดจน พรก.กู้เงินเพื่อการเยียวยาและดูแลเศรษฐกิจ ซึ่งรวมแล้วคือ มาตรการเยียวยาระยะที่ 3 ที่มีวงเงินรวม1.9 ล้านล้านบาทนั้น ถือว่ามีทั้ง 'ความสำคัญ’ และ 'ความจำเป็นอย่างยิ่ง’ ทั้งนี้ หากมองผลกระทบจากวิกฤตการระบาดของไวรัสฯ ในรอบนี้ สามารถประเมินเบื้องต้นเป็นเม็ดเงินสุทธิราว 1.3 ล้านล้านบาท หรือคิดเป็น 7.7% ของจีดีพี โดยเฉพาะภาคท่องเที่ยวรายได้หายไปถึง 1.1 ล้านล้านบาท อันทำให้เศรษฐกิจไทยมีโอกาสหดตัวลึกใกล้เคียงกับปี 2540 และอาจจะลึกกว่านั้น หากการระบาดไม่สามารถควบคุมได้ภายในไตรมาส 2 ของปีนี้ อันจะทำให้ผลกระทบในเชิงตัวเงินใหญ่ขึ้นอีกจนอาจจะแย่กว่าวิกฤตต้มยำกุ้งในปี 2540

อ้างอิงจากสำนักข่าวอีไฟแนนซ์ไทย

-คณะที่ปรึกษาด้านธุรกิจเอกชน เล็งเสนอรัฐช่วยจ่ายเงินเดือนพนักงาน 50% กลุ่มที่มีเงินเดือนไม่เกิน 15,000 บาท ให้สิทธิลดหย่อนภาษี 3 เท่า หวังช่วยเอกชนพยุงการจ้างงาน คาดเสนอ ครม. ได้เร็วๆนี้ ด้านหอการค้าประเมินหากโควิด-19 ยื้อเยื้ออีก 2-3 เดือน ทำคนไทยตกงานแตะ 10 ล้านคน

***แบ่งกลุ่มทำงาน 5 ด้าน เพื่อหาแนวทางช่วยเหลือภาคเอกชน

นายทศพร ศิริสัมพันธ์ เลขาธิการสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) เปิดเผยว่า ในวันนี้คณะที่ปรึกษาด้านธุรกิจภาคเอกชน ในศูนย์บริการสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดต่อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) มีมติแบ่งกลุ่มคณะทำงาน 5 ด้าน เพื่อหาข้อสรุป รวมถึงมาตรการเพิ่มเติมเพื่อช่วยภาคเอกชน ก่อนเสนอให้คณะรัฐมนตรี (ครม.) ต่อไป

สำหรับคณะทำงาน 5 ด้าน ประกอบด้วย

1.กลุ่มมาตรการสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ (soft loan) ประกอบด้วย สมาคมธนาคารไทย สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม และธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.)

2.กลุ่มมาตรการเพื่อการกลับมาเปิดธุรกิจใหม่ ประกอบด้วย หอการค้าไทย

3.กลุ่มมาตรการเพื่อธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs)ประกอบด้วย สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) สมาคมผู้ประกอบการธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม กระทรวงอุตสาหกรรม กระทรวงพาณิชย์

4.กลุ่มมาตรการเพื่อภาคเกษตร ประกอบด้วย สภาเกษตรกรแห่งชาติ กระทรวงอุตสาหกรรม และกระทรวงพาณิชย์

5.กลุ่มมาตรการเพื่อการแก้ไขปัญหาด้วยดิจิทัล (Digital Solution) ประกอบด้วยนายศุภชัย เจียรวนนท์ ประธานสภาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งประเทศไทย ซึ่งจะได้พิจารณาคู่ขนานกันไป เพื่อประกอบการพิจารณาในครั้งต่อไปด้วย

อ้างอิงจากสำนักข่าวกรุงเทพธุรกิจ

- เมื่อวันที่ 14 เม.ย. 63 ที่ทำเนียบรัฐบาล นายแพทย์ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน โฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรน่า 2019 (ศบค.) แถลงสถานการณ์แพร่ระบาดไวรัสโควิด-19 ประจำวัน ว่า ประเทศไทยพบจำนวนผู้ติดเชื้อรายใหม่เพิ่ม 34 ราย รวมผู้ป่วยสะสม 2,613 ราย ใน 68 จังหวัด เสียชีวิตเพิ่ม 1 ราย รวมผู้เสียชีวิตสะสม 41 ราย รักษาหายป่วยเพิ่มขึ้น 177 ราย รวมกลับบ้านแล้ว 1,405 ราย

บริษัท เอ็มทีเอส โกลด์ จำกัด
40,42,44 ถนนทรัพย์สิน แขวงวังบูรพาภิรมย์เขตพระนคร กรุงเทพ 10200
โทรศัพท์ 0 2770 7777 โทรสาร 0 2623 9366 E-mail: support@mtsgoldgroup.com