• สรุปข่าวเศรษฐกิจ (ภาคเช้า) ประจำวันที่ 18 มีนาคม 2563

    18 มีนาคม 2563 | Economic News


· สถานการณ์ไวรัสโคโรนา

- จำนวนผู้ติดเชื้อทั่วโลกล่าสุดอยู่ที่ 198,212 ราย

- จำนวนผู้เสียชีวิตทั่วโลกล่าสุดอยู่ที่ 7,965 ราย

- จำนวนประเทศติดเชื้อทั่วโลกล่าสุดอยู่ที่ 165 ประเทศ (+3)

- จำนวนผู้ติดเชื้อในสหรัฐฯเพิ่มขึ้นต่อเนื่องล่าสุดอยู่ที่ 6,439 ราย จาก 4,663 ราย และมีผู้เสียชีวิตเพิ่มขึ้นแตะ 109 ราย จาก 86 รายวานนี้

- จำนวนผู้ติดเชื้อในไทยล่าสุดอยู่ที่ 177 ราย และมีผู้เสียชีวิต 1 ราย

- อิตาลีมียอดผู้เสียชีวิตจากการติดเชื้อไวรัสโคโรนาทะลุ 2,500 ราย จึงยิ่งตอกย้ำสภาวะความกังวลท่ามกลางอิตาลีที่ยังคงปิดประเทศ และรัฐบาลมีการสั่งปิดบาร์, ร้านอาหาร รวมทั้งร้านค้าต่างๆเพิ่มขึ้น

- ทางด้านสหรัฐฯมีผู้ติดเชื้อแล้วกว่า 50 รัฐ พร้อมกับยอดผู้เสียชีวิตทะลุ 100 ราย โดยส่วนใหญ่ผู้ติดเชื้ออยู่ในพื้นที่วอชิงตัน, แคลิฟอร์เนีย และนิวยอร์ก ส่งผลให้ผู้ว่าการรัฐแต่ละแห่งประกาศภาวะฉุกเฉินพร้อมเพิ่มเงินทุนเพื่อต่อสู้กับการระบาดครั้งนี้

- แหล่งข่าววงในเผย ทำเนียบขาวกำลังพิจารณามาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจโดยยกระดับจาก 8.5 แสนล้านเหรียญ สู่ระดับ 1 ล้านล้านเหรียญ โดยทีมนายทรัมป์พยายามหามาตรการต่างๆเพื่อต่อสู้กับผลกระทบทางเศรษฐกิจที่จะได้รับจากการระบาดของไวรัสในเวลานี้

ขณะที่ล่าสุด นายสตีเวน มนูชิน รัฐมนตรีกระทรวงการคลัง กล่าวกับสมาชิกวุฒิสภาพรรครีพับลิกันว่าอัตราว่างงานอาจแตะ 20% หากสภาคองเกรสยังไม่อนุมัติมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจเพิ่มเติม โดยแพ็คเกจกระตุ้นเศรษฐกิจดังกล่าว ประกอบด้วย

5 – 5.5 แสนล้านเหรียญ สำหรับการจ่ายเช็คโดยตรงหรือลดภาษี

2 – 3 แสนล้านเหรียญ สำหรับการช่วยเหลือภาคธุรกิจขนาดเล็ก

5 หมื่นล้านเหรียญ – 1 แสนล้านเหรียญ สำหรับการเยียวยากลุ่มสายการบินและภาคอุตสาหกรรม

และมีความเป็นไปได้ที่อีก 2.5 แสนล้านเหรียญของมาตรการนี้อาจเป็นการจ่ายเช็คให้แก่ชาวสหรัฐฯโดยตรง ซึ่งทีมบริหารของนายทรัมป์ต้องการให้เกิดกองทุนฉุกเฉินในทันทีทันใด เนื่องจากมองว่าประชาชนต้องการถือเงินสดในเวลานี้ ซึ่งนายมนูชินก็ยังระบุว่าทางทีมจะพยายามต่อสู้และผลักดันแผนดังกล่าวให้เกิดขึ้นได้ในช่วง 2 สัปดาห์นี้

- มนูชินชี้ นโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจจะนำเม็ดเงินกลับเข้าเศรษฐกิจ 1 ล้านล้านเหรียญ

นายสตีเว่น มนูชิน รัฐมนตรีการคลังสหรัฐฯ คาดการณ์ว่านโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจเพื่อรับมือไวรัสโคโรนาที่ทีมบริหารประธานาธิบดีกำลังเสนอให้กับรัฐสภา จะสามารถนำเม็ดเงินเข้าสู่เศรษฐกิจได้เป็นมูลค่าถึง 1 ล้านล้านเหรียญ

โดยนโยบายดังกล่าว จะเป็นนโยบายที่ผสมกันระหว่างการปล่อยเงินกู้ให้กับภาคธุรกิจ สินเชื่อส่วนบุลคล และการสนับสนุนสภาพคล่องทางการเงินให้กับธุรกิจขนาดเล็ก

- รายงานจาก CNBC ระบุว่า แม้จะมีการสนับสนุนเม็ดเงินกระตุ้นเศรษฐกิจกว่า 1 ล้านล้านเหรียญ รวมทั้งนโยบายผ่อนคลายจากเฟดเพื่อสกัดภาวะถดถอยและวิกฤตทางการเงินที่อาจเกิดขึ้นได้ แต่ก็ดูจะไม่เพียงพอ ท่ามกลางมุมมองคาดการณ์ของหลายฝ่ายที่เพิ่มขึ้นว่าผลกระทบจากไวรัสโคโรนาจะถือเป็นปัญหาใหญ่ต่อตลาดสินเชื่อ รวมทั้งการปิดทำการของภาคธุรกิจ

- กระทรวงกลาโหมสหรัฐฯมอบเงินกว่ 5 ล้านเหรียญในการจัดหาหน้ากากอนามัยและเครื่องช่วยหายใจกวา 2,000 เครื่องให้แก่กระทรวงสุขภาพและสาธารณสุข เพื่อต่อสู้กับไวรัสโคโรนาเวลานี้

- อังกฤษเองก็เตรียมปล่อยแผนงบประมาณ 3.3 แสนล้านปอนด์ (3.99 แสนล้านเหรียญ) และอีก 2 หมื่นล้านปอนด์สำหรับการปรับลดภาษี และการช่วยเหลือภาคธุรกิจต่างๆในการเผชิญกับความเสี่ยงจากการระบาดของไวรัสเวลานี้ โดยรัฐมนตรีการคลังอังกฤษ ยังคงกล่าวย้ำถึงการที่จะใช้ทุกมาตรการที่จำเป็นเพื่อช่วยเหลือดูแลกลุ่มผู้ค้าปลีก ตลอดจนสถานบริการต่างๆ และสนามบินที่ต้องปิดทำการชั่วคราวเวลานี้

· เฟดประกาศใช้นโยบายสมัยวิกฤติการเงินเพื่อรับมือไวรัส

เมื่อคืนที่ผ่านมา เฟดมีประกาศจะสนับสนุนกระแสการไหลเวียนของเครดิตสู่ภาคธุรกิจ ธนาคาร และรัฐบาลท้องถิ่น ให้เป็นไปอย่างราบรื่นท่ามกลางแรงกดดันทางเศรษฐกิจจากการระบาดของไวรัสโคโรนา

โดยเฟดได้ประกาศจะกลับมาใช้นโยบายตราสารหนี้ภาคเอกชนระยะสั้น (Commercial Paper Funding Facility) เพื่อกระตุ้นการกู้ยืมในระยะสั้นให้ผู้ประกอบการนำไปดำเนินธุรกิจ ซึ่งเป็นนโยบายเดียวกับที่เฟดเคยใช้ในสมัยวิกฤติทางเงินระหว่างปี 2007 - 2009

การประกาศใช้นโยบายดังกล่าวของเฟดได้รับการอนุมัติโดยตรงจากกระทรวงการคลังสหรัฐฯ ภายใต้กฏหมายภาวะฉุกเฉินทางเศรษฐกิจที่กำหนดให้เฟดมีอำนาจในการปล่อยกู้ออกไปนอกเหนือจากธนาคารพาณิชย์ที่เป็นลูกค้ารายหลัก ซึ่งมีวัตถุประสงค์เพื่อป้องกันการชะลอตัวของกิจกรรมทางเศรษฐกิจจากผลกระทบของไวรัส

นอกจากนี้ เฟดยังส่งสัญญาณเกี่ยวกับการนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจในลำดับต่อไป โดยนายราฟาเอล บอสติก ประธานเฟดสาขาแอตแลนต้า ออกมาเปิดเผยว่า คณะกรรมการเฟดกำลังทำงานอย่างหนักและพิจารณาทุกๆเครื่องมือทางเศรษฐกิจที่มี ซึ่งอีกหนึ่งนโยบายที่อาจถูกนำกลับมาใช้ คือ นโยบายประมูลสินเชื่อ (Term Auction Facility) ที่เฟดเคยใช้ช่วงวิกฤติทางการเงินปี 2007 – 2009 เช่นกัน

· ค่าเงินดอลลาร์ปรับแข็งค่าขึ้นวานนี้ ขณะที่อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯมีการรีบาวน์กลับขึ้นมา โดยดัชนีดอลลาร์เมื่อวานแข็งค่าขึ้น 1.45% ที่ 99.53 จุด ขณะที่ยอดค้าปลีกสหรัฐวานนี้ปรับตัวลงเกินคาดในเดือนก.พ. ท่ามกลางภาคครัวเรือนที่ลดกำลังการซื้อสินค้าต่างๆ และการระบาดของไวรัสโคโรนาอาจส่งผลต่อยอดขายในเดือนต่อมาได้

ค่าเงินยูโรเมื่อวานนี้ร่วงลง 1.63% ที่ 1.1 เยน/ดอลลาร์ ขณะที่เงินเยนอ่อนค่าขึ้น 1% ที่ 106.91 เยน/ดอลลาร์

· ราคาน้ำมันดิบปรับตัวลดลงกว่า 6% ทำต่ำสุดในรอบหลายปีวานนี้ ท่ามกลางกลุ่มนักลงทุนที่ปรับลดมุมมองต่ออุปสงค์น้ำมันจากการระบาดของไวรัสโคโรนาที่แพร่ไปทั่วทั้งสหรัฐฯและแคนาดา ตลอดจนแถบยุโรปและเอเชีย และความขัดแย้งระหว่างซาอุดิอาระเบียและรัสเซีย

น้ำมันดิบ WTI หลังจากที่ช่วงต้นตลาดฟื้นตัวได้กว่า 4.7% ก็ปิดปรับลง 1.75 เหรียญ หรือ -6.1% ที่ 26.95 เหรียญ/บาร์เรล ถือเป็นระดับต่ำสุดตั้งแต่ก.พ. ปี 2016

น้ำมันดิบ Brent ปิดลดลง 98 เซนต์ หรือ -3.2% ที่ 29.07 เหรียญ/บาร์เรล หลังในช่วงต้นตลาดทำ High ที่ 31.25 เหรียญ/บาร์เรล

นักวิเคราะห์ด้านพลังงานจาก Rystad Energy กล่าวว่า สถานการณ์ด้านราคาน้ำมันไม่น่าจะเลวร้ายไปมากกว่านี้ แต่ตลาดกำลังตอบรับกับการเผชิญปัญหาอุปทานน้ำมันที่จะเพิ่มสูงขึ้นเป็นประวัติการณ์ในเดือนเม.ย.นี้ได้ จึงทำให้ราคาปรับลง

· OPEC, IEA เตือนผู้ประกอบการน้ำมันอาจสูญเสียรายได้ถึง 85%

กลุ่มโอเปกและสำนักงานพลังงานสากล (IEA) เตือนผู้ประกอบการเกี่ยวกับน้ำมันภายในประเทศกำลังพัฒนาอาจสูญเสียรายได้มากถึง 85% และผลประกอบการอาจตกต่ำที่สุดในรอบกว่า 2 ทศวรรษ โดยคำเตือนดังกล่าวเป็นแถลงการณ์ที่ทั้ง 2 องค์กรระดับโลกแถลงร่วมกันและเป็นกรณีที่ไม่ค่อยเกิดขึ้นบ่อยนัก

ผู้อำนวยการของ IEA ร่วมกับเลขาธิการของกลุ่มโอเปก แสดง “ความกังวลอย่างมาก” ต่อสถานการณ์การระบาดของไวรัสโคโรนา พร้อมเตือนว่าอาจเกิด “ผลกระทบระยะยาวกับภาคเศรษฐกิจและสังคม” ขณะที่ผู้ประกอบการเกี่ยวกับน้ำมันและก๊าซอาจสูญเสียรายได้ไปประมาณ 50 – 85% ภายในปี 2020

พร้อมกันนี้ ยังได้เตือนว่า ธุรกิจในภาคสุขภาพและการศึกษามีความเสี่ยงที่จะได้รับผลกระทบหนักที่สุด ซึ่งภาครัฐบาลของแต่ละประเทศควรให้ความสำคัญในจุดนีให้มาก

· นายโจ ไบเดน มีแนวโน้มที่จะชนะการเลือกตั้งตัวแทนเดโมแครตในรัฐอิลลินอยส์ ทำคะแนนทิ้งห่างนายเบอร์นีย์ แซนเดอร์ส อีกครั้ง

 
บริษัท เอ็มทีเอส โกลด์ จำกัด
40,42,44 ถนนทรัพย์สิน แขวงวังบูรพาภิรมย์เขตพระนคร กรุงเทพ 10200
โทรศัพท์ 0 2770 7777 โทรสาร 0 2623 9366 E-mail: support@mtsgoldgroup.com