• สรุปข่าวเศรษฐกิจ (ภาคเช้า) ประจำวันที่ 11 กุมภาพันธ์ 2563

    11 กุมภาพันธ์ 2563 | Economic News

· สถานการณ์ไวรัสโคโรนาล่าสุด




- สื่อจีนรายงานจำนวนยอดผู้เสียชีวิตในจีนเพิ่มสูงขึ้นแตะ 1,011 ราย โดยมีรายงานว่ามีผู้เสียชีวิตในประเทศฮ่องกง และฟิลิปปินส์อย่างละหนึ่งราย รวมผู้เสียชีวิตทั้งสิ้น 1,013 ราย ขณะที่ยอดผู้ติดเชื้อในจีนแตะ 42,300 รายแล้ว แต่หากรวมทั่วโลกจะมียอดผู้ติดเชื้อรวมทั้งสิ้น 42,700 ราย

รัฐมนตรีกระทรวงการต่างประเทศของจีน กล่าวยืนยันรายงานพบชาวต่างชาติจำนวน 27 รายภายในประเทศที่ติดเชื้อไวรัสโคโรนา โดยมี 2 รายที่เป็นนักท่องเที่ยวชาวสหรัฐฯเสียชีวิตเมื่อวันที่ 6 ก.พ. ขณะที่ชาวญี่ปุ่นเสียชีวิตเมื่อวันที่ 8 ก.พ.ที่ผ่านมา

- นักวิเคราะห์บางส่วน มองว่า ไวรัสโคโรนาในปัจจุบันเป็น “Black Swan” หรือเหตุการณ์ไม่คาดคิดที่แท้จริงสำหรับตลาดน้ำมันและพลังงาน จึงทำให้เราเห็นราคาน้ำมันถูกกดดันและย่ำแย่อย่างไม่เคยเป็นมาก่อน ซึ่งการแพร่ระบาดที่เกิดขึ้นอาจทำให้อุปสงค์น้ำมันในจีนปรับตัวลดลงไป 2 – 3 ล้านบาร์เรล/วัน นั่นหมายถึงการที่ตลาดน้ำมันกำลังอยู่ในแนวโน้มขาลง และอุปสงค์ในปีนี้จะไม่เกิดการขยายตัวใดๆ มีแต่การหดตัวเพิ่มขึ้น

- Morgan Stanley เผยว่า ผลกระทบจากการแพร่ระบากของไวรัสโคโรนาจะเข้ากระทบต่อห่วงโซ่อุปทาน ที่ไม่เพียงส่งผลต่อเศรษฐกิจจีน แต่ยังกระทบไปทั่วโดยเฉพาะประเทศในแถบเอเชีย ที่จะได้รับผลกระทบอย่างเห็นได้ชัดเจนขึ้นช่วงก.พ. และ มี.ค.

- กลุ่มนักวิทยาศาสตร์ และผู้เชี่ยวชาญด้านโรคติดต่อเริ่มวิตกกังวลว่า ไวรัสโคโรนาอาจกลายพันธ์สู่บางสิ่งบางอย่างที่ร้ายกว่าการแพร่ระบาด โดยระบุกับสำนักข่าว CNBC ว่า ไวรัสดังกล่าวเป็นสายพันธุ์ใหม่ที่เราไม่รู้อะไรเกี่ยวกับมันมากนัก และหากมันพัฒนาตัวขึ้นได้ก็ดูสถานการณ์จะเลวร้ายไปกว่านี้ ดังนั้น จึงต้องเข้าสู่กระบวนการวินิจัยฉันอย่างถูกต้องและแม่นยำ เพราะในเวลานี้เราก็ยังไม่มีวัคซีนหรือยาในการรักษาอย่างเป็นทางการ

- ความกังวลเกี่ยวกับไวรัสโคโรนาดูจะส่งผลให้หลายๆสำนักหั่นคาดการณ์จีดีพีจีนไตรมาสแรก ขณะที่ผลกระทบต่อตลาดหุ้นอาจไม่มากเท่าตลาดพันธบัตร โดยผลสำรวจจาก CNBC ชี้ว่าจีดีพีจีนไตรมาสแรกอาจร่วงลงมาแตะ 1.2% เมื่อเทียบจากไตรมาสที่ 4/2019



ด้านนักเศรษฐศาสตร์บางกลุ่ม เชื่อว่า จีดีพีจีนจะขยายตัวกลับได้ 2% ในช่วงไตรมาสที่ 2/2020 ขึ้นอยู่กับประเด็นข่าวไวรัสโคโรนาในจีนและประเทศอื่นๆเป็นหลัก

นักเศรษฐศาสตร์จาก UBS มองว่าจีดีพีจีนไตรมาสแรกจะมีกรอบที่ต่ำสุดบริเวณ 0.4% และโตได้สูงสุดไม่เกิน 2%

- บริษัทสมาร์ทโฟนของจีนกำลังได้รับผลกระทบจากยอดขายที่ร่วงลงอย่างหนักเกือบ 50% ในช่วงไตรมาสแรก ท่ามกลางร้านค้าปลีกหลายๆร้านยังคงขยายเวลาปิดทำการ และยังไม่สามารถให้บริการได้เต็มรูปแบบ จากการแพร่ระบาดอย่างรวดเร็วของไวรัสโคโรนา

· จับตาถ้อยแถลงประธานเฟดต่อสภาคองเกรส 11-12 ก.พ.

เมื่อเดือนม.ค. ในรายงานประชุมเฟดชี้ถึงการเติบโตทางเศรษฐกิจในระดับปานกลาง และท่าทีของประธานเฟดในการประชุมวาระที่ผ่านมานั้นดูจะเป็นปัจจัยที่สนับสนุนตลาดหุ้นและค่าเงินดอลลาร์ แต่การกล่าวถ้อยแถลงต่อสภาคองเกรสวาระนี้ ดูเหมือนนายโพเวลล์อาจจะมีความรอบคอบมากขึ้นต่อประเด็นไวรัสโคโรนา ที่อาจยิ่งทำให้ดอลลาร์ถูกถือครองในฐานะ Safe-Haven มากขึ้นต่อ รวมทั้งมีความเป็นไปได้ที่เขาจะกล่าวถึงทิศทางเศรษฐกิจเชิงบวกจากข้อตกลงการค้าสหรัฐฯและจีน

· ค่าเงินดอลลาร์ปรับแข็งค่าทำสูงสุดรอบ 4 เดือนเมื่อเทียบกับค่าเงินยูโร จากความกังวลเกี่ยวกับไวรัสโคโรนาที่อาจกระทบต่อเศรษฐกิจโลก จึงช่วยหนุนความต้องการในสินทรัพย์ปลอดภัย ขณะที่ข้อมูลภาคแรงงานในวันศุกร์ก็ยังสนับสนุนแนวโน้มเศรษฐกิจสหรัฐฯดูจะเป็นไปในเชิงบวก แต่ยูโรโซนมีแนวโน้มที่อ่อนแอ

ภาวะทางการเมืองในเยอรมนีดูจะมีความผันผวนมากขึ้นต่อค่าเงินยูโร หลังจากที่นางแอนเกรท แครมป์-คาร์เรนบาวเออร์ ผู้นำพรรคคริสเตียน เดโมแครต (CDU) ของนางอังเกลา แมร์เคิล นายกรัฐมนตรีเยอรมนี กล่าวว่า ตนจะไม่ลงสมัครแข่งขันชิงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีในปีหน้า แต่จะยังคงเป็นประธานพรรค CDU จนกว่าจะมีการสรรหาผู้มาดำรงตำแหน่งดังกล่าว

ค่าเงินยูโรปรับอ่อนค่าลงทำต่ำสุดรอบ 4 เดือนที่ระดับ 1.0925 ดอลลาร์/ยูโร ขณะที่เงินปอนด์ร่วงลงทำต่ำสุดรอบ 2 เดือนที่ 1.2870 ดอลลาร์/ปอนด์ ก่อนจะรีบาวน์ได้ที่ 1.2938 ดอลลาร์/ปอนด์ สำหรับดัชนีดอลลาร์ปรับแข็งค่าขึ้นมาทรงตัวที่ 98.856 จุด จากต่ำสุดที่ 98.6 จุด

· ดัชนี Sentix ที่มาตรวัดความเชื่อมั่นนักลงทุนในยูโรโซนปรับตัวลงเป็นครั้งแรกในรอบ 4 เดือนในเดือนก.พ.นี้แตะระดับ 5.2 จุด จากเดือนก่อนหน้าที่ 7.6 จุด จากความกังวลที่ว่าจีนจะไม่สามารถควบคุมการแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนาได้ และการปรับตัวลงดังกล่าวชี้ว่ากลุ่มนักลงทุนมองว่าเศรษฐกิจยูโรโซนจะได้รับความเสียหายจากการแพร่ระบาดดังกล่าว ที่อาจเข้ากระทบต่อเศรษฐกิจโลก รวมไปถึงสหรัฐฯด้วย

· ราคาน้ำมันดิบปรับตัวลงทำต่ำสุดตั้งแต่ม.ค.ปี 2019 ท่ามกลางอุปสงค์น้ำมันในจีนที่ปรับตัวลงท่ามกลางการเผชิญกับไวรัสโคโรนา และเหล่าเทรดเดอร์รอคอยดูผลว่ารัสเซียจะเข้าร่วมการปรับลดกำลังการผลิตครั้งใหม่หรือไม่ ซึ่งภาพรวมราคาน้ำมันดิบปรับตัวลงมาแล้วกว่า 20% จากระดับสูงสุดที่ทำไว้ในเดือนม.ค.

สำหรับน้ำมันดิบ Brent เมื่อวานนี้ปิด -1.14 เหรียญ หรือ -2% ที่ 53.33 เหรียญ/บาร์เรล ด้านน้ำมันดิบ WTI ปิดปรับลง 75 เซนต์ หรือ -1.5% ที่ระดับ 49.57 เหรียญ/บาร์เรล ซึ่งเป็นระดับปิดต่ำที่สุดตั้งแต่ 7 ม.ค. ปี 2019 และภาพรวมทางเทคนิคของน้ำมันดิบ Brent และ WTI ยังมีการเคลื่อนไหวในแดน Oversold สำหรับช่วง 13 วันและ 14 วัน ซึ่งถือเป็นระดับการเคลื่อนไหวในแดนลบที่ยาวนานที่สุดตั้งแต่พ.ย. ปี 2018

ขณะที่ค่าพรีเมียมในสัญญาน้ำมันดิบ Brent และ WTI ปรับตัวลงแตะระดับต่ำสุดตั้งแต่ส.ค. ปี 2019 ในภาพราย Intraday

บริษัท เอ็มทีเอส โกลด์ จำกัด
40,42,44 ถนนทรัพย์สิน แขวงวังบูรพาภิรมย์เขตพระนคร กรุงเทพ 10200
โทรศัพท์ 0 2770 7777 โทรสาร 0 2623 9366 E-mail: support@mtsgoldgroup.com