• สรุปข่าวเศรษฐกิจ (ภาคเช้า) ประจำวันที่ 10 มกราคม 2563

    10 มกราคม 2563 | Economic News


· ค่าเงินเยนอ่อนค่าทำสูงสุดรอบ 2 สัปดาห์เมื่อเทียบดอลลาร์ หลังจากที่สหรัฐฯและอิหร่านลดท่าทีความขัดแย้งระหว่างกัน จึงทำให้เกิดความต้องการสินทรัพย์เสี่ยงมากขึ้น ท่ามกลางตลาดที่หันกลับมาสนใจเรื่องข้อตกลงการค้าระหว่างสหรัฐฯและจีน รวมทั้งรายงานการจ้างงานของรัฐบาลสหรัฐฯที่จะประกาศในคืนนี้

ค่าเงินเยนอ่อนค่าขึ้น 0.4% ไปแตะ 109.51 เยน/ดอลลาร์ หลังจากที่ระหว่างวันทำอ่อนค่ามากที่สุดที่ 109.57 เยน/ดอลลาร์ ขณะที่ดัชนีดอลลาร์ปรับแข็งค่าขึ้น 0.1% ที่ 97.433 จุด และค่าเงินหยวนแข็งค่ามากสุดรอบ 5 เดือนที่ระดับ 6.9175 หยวน/ดอลลาร์ โดยได้รับอานิสงส์จากข้อมูลเงินเฟ้อที่ขยายตัวตามคาด

กลุ่มนักลงทุนให้ความสนใจกับการลงนามข้อตกลงการค้าระหว่างสหรัฐฯและจีนที่จะเริ่มต้นในสัปดาห์หน้าที่ดูจะเป็นปัจจัยสำคัญสำหรับสินทรัพย์เสี่ยง เพราะการมีข้อตกลงการค้าจะนำมาซึ่งการลดความไม่แน่นอนของทั้งสองประเทศ รวมทั้งช่วยหนุนการเติบโตทางเศรษฐกิจโลกในปีนี้

ขณะที่คืนนี้ ข้อมูลการจ้างงานของภาครัฐบาลสหรัฐฯถูกคาดว่าจะขยายตัวได้ 164,000 ตำแหน่ง จาก 266,000 ตำแหน่ในเดือนก่อนหน้า

นักวิเคราะห์ระบุว่า คาดการณ์ข้อมูล 160,000 ตำแหน่งหรือไม่ได้สูงไปกว่านั้นจะเป็นผลบวกต่อดอลลาร์เพียงเล็กน้อย แต่สิ่งที่เราให้ความสนใจคือข้อมูลในเดือนพ.ย. ที่ระดับ 266,000 ตำแหน่ง จะถูกปรับลดลงหรือไม่มากกว่า

· รายงานข้อมูลผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานรายสัปดาห์ของสหรัฐฯที่ออกมาดีขึ้นกว่าที่คาดโดยมีผู้ขอรับสวัสดิการลดลง 9,000 รายสู่ระดับ 214,000 รายในสัปดาห์ที่แล้วถือเป็นการปรับตัวลงติดต่อกัน 4 สัปดาห์ และทำให้นักวิเคราะห์ยังมองว่าตลาดแรงงานยังอยู่ในเกณฑ์ที่ดี

· นายโดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐฯ กล่าวว่า อาจไม่สามารถบรรลุข้อตกลงเฟส 2 กับทางการจีนได้จนกว่าจะเสร็จสิ้นการเลือกตั้งในปี 2020 ขณะที่เขาและทีมบริหารมองว่าจะเริ่มต้นเจรจาข้อตกลงฉบับต่อไปได้หลังจากที่ลงนามข้อตกลงเฟสแรกเป็นที่เรียบร้อย แต่ทั้งหมดก็ดูจะใช้เวลาอยู่บ้างเพื่อให้เกิดการแล้วเสร็จ โดยข้อตกลงฉบับแรกมีรายละเอียดเพียงเล็กน้อย และอาจจะต้องมีข้อตกลงเพิ่มมากขึ้นที่ดีกว่าเดม ซึงเขาจะรอจนกว่าจะจบการเลือกตั้ง

ทั้งนี้ ผู้นำสหรัฐฯและจีนมีแผนจะลงนามข้อตกลงเฟสแรกร่วมกันในวันที่ 15 ม.ค.นี้ โดยข้อตกลงดังกล่าวจะเกี่ยวข้องกับการลดภาษีระหว่างกันบางส่วน ขณะที่จีนจะเพิ่มการเข้าซื้อสินค้าเกษตรของทางสหรัฐฯ รวมทั้งเปลี่ยนแปลงกฎหมายการละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาและเทคโนโลยี

· เมื่อวานนี้ทางสภาผู้แทนราษฎรของสหรัฐฯผ่านญัตติว่าด้วยการจำกัดอำนาจของนายโดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐฯในการใช้การปฏิบัติทางการทหารกับทางอิหร่านด้วยคะแนน 244-194 เสียง โดยมีพรรครีพับลิกันจำนวน 3 ราย และพรรคร่วมอื่นๆเห็นด้วยกับญัตติดังกล่าว ขณะที่ 8 คนจากพรรคเดโมแครตคัดค้าน

อย่างไรก็ดี หากมตินี้ผ่านการรับรองจากวุฒิสภา จะมีผลทันทีโดยไม่จำเป็นต้องรอการลงนามจากนายทรัมป์ แต่หากไม่ผ่านเห็นชอบจากสภาคองเกรส มาตรการดังกล่าวก็จะยังมีผลในการยับยั้งนายทรัมป์ต่อการใช้กำลังทางการทหารกับอิหร่านเป็นเวลา 30 วัน

· สถานการณ์ระหว่างสหรัฐฯและอิหร่าน แม้ดูเหมือนจะสามารถหลีกเลี่ยงการประทะกันโดยตรงไปได้ชั่วคราว แต่ความตึงเครียดยังคงมีอยู่ในระดับสูง โดยที่ทางอิหร่านยังมีการกล่าวปฏิเสธในเชิงดูถูกข้อเสนอทำข้อตกลงนิวเคลียร์ใหม่ร่วมกับสหรัฐฯ รวมถึงข่มขู่ที่จะมีการโจมตีเพิ่มในพื้นที่ตะวันออกกลาง

อีกปัจจัยหนึ่งที่อาจทำให้สถานการณ์เลวร้ายลง คือการที่อิหร่านยังคงยืนกรานปฏิเสธว่าไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการตกของเครื่องบินโดยสารของสายการบิน Ukraine Airline แม้รายงานจากหลายๆหน่วยงานระดับโลกจะระบุว่า อุบัติเหตุครั้งนี้เป็นผลมาจากระบบป้องกันตัวเองทางอากาศของอิหร่านก็ตาม

· รายงานล่าสุดเกี่ยวกับเครื่องบินพาณิชย์สายการบิน Ukraine Airline ที่ตกในอิหร่าน ส่งผลให้ผู้โดยสารทั้ง 176 รายเสียชีวิต ล่าสุดได้รับการเปิดเผยว่า เครื่องบินลำดังกล่าวถูกโจมตีโดยมิสไซล์ประเภทพื้นดินสู่อากาศ (Surface-to-air) ที่ยิงโดยกองทัพอิหร่าน ไม่ได้เป็นความผิดพลาดทางเทคนิคตามรายงานแรกๆ

รายงานอย่างเป็นทางการของทั้งสหรัฐฯ แคนาดา และอังกฤษ ต่างมีรายงานในลักษณะเดียวกัน ขณะที่นายจัสติน ทรูโด นายกรัฐมนตรีแคนาดา มีความเห็นว่า เหตุการณ์ดังกล่าวอาจเกิดขึ้นโดยไม่ได้ตั้งใจ

· ธนาคารโลกหรือ World Bank ออกโรงเตือนถึงความเสี่ยงต่อวิกฤตหนี้สินทั่วโลกครั้งใหม่ พร้อมเรียกร้องให้ภาครัฐและบรรดาธนาคารกลางตระหนักถึงการใช้อัตราดอกเบี้ยระดับต่ำนั้นอาจไม่เพียงพอที่จะชดเชยปัญหาทางการเงินที่ขยายตัวเป็นวงกว้าง และปัญหาดังกล่าวดูจะเริ่มก่อตัวขึ้นตั้งแต่ปี 2010 และมีอัตราการขยายตัวและการเพิ่มขึ้นที่เร็วที่สุดสำหรับภาพรวมระดับโลกนับตั้งแต่ปี 1970

· การใช้จ่ายภาคครัวเรือนของญี่ปุ่นปรับตัวลงติดต่อกันเป็นเดือนที่ 2 ในเดือนพ.ย. อันได้รับผลกระทบจากการอุปโภคบริโภคของภาคเอกชนที่อ่อนตัวลง หลังจากที่ช่วงเดือนต.ค. รัฐบาลญี่ปุ่นมีการปรับขึ้นภาษีการขาย โดยค่าใช้จ่ายภาคครัวเรือนเดือนพ.ย.ล่าสุดออกมา -2% เมื่อเทียบกับช่วงต้นปี ซึ่งถือเป็นการปรับตัวลงมากกว่าที่นักวิเคราะห์คาดไว้ว่าจะออกมาที่ -1.7% ขณะที่เดือนต.ค. ร่วงงกว่า -5.1% ซึ่งเป็นระดับการร่วงลงที่มากที่สุดตั้งแต่มี.ค. ปี 2016

ทั้งนี้ ญี่ปุ่นมีการปรับขึ้นภาษีการขายจาก 8% เป็น 10% โดยมีผลตั้งแต่ 1 ต.ค.ที่ผ่านมา ขณะที่ผลจากการขึ้นภาษีดูจะกระทบกับข้อมูลยอดส่งออกที่อ่อนตัวลงเมื่อไม่นานมานี้ ควบคู่กับผลผลิตภาคโรงงานที่ออกมาแย่ลง และอาจทำให้ภาพรวมของเศรษฐกิจญี่ปุ่นในช่วงไตรมาสที่ 4/2019 ชะลอตัวลง

· ราคาน้ำมันดิบปิดอ่อนตัวลงจากแรงเทขายที่เข้ามา อันเนื่องจากการเพิ่มขึ้นของสต็อกน้ำมันดิบสหรัฐฯ ประกอบกับตลาดคลายความกังวลเรื่องความขัดแย้งระหว่างสหรัฐฯและอิหร่าน

ทั้งนี้น้ำมันดิบ Brent หลังจากที่เปิด -4.1% ก็ปิดปรับตัวลงไป 5 เซนต์ ที่ระดับ 65.37 เหรียญ/บาร์เรล ทางด้านน้ำมันดิบ WTI ปิดปรับลง 7 เซนต์ที่ 59.56 เหรียญ/บาร์เรล หรือร่วงลงไปเกือบ 5% เมื่อวานนี้

รายงานจาก EIA เผยสต็อกน้ำมันดิบสหรัฐฯพุ่งขึ้นเกินคาด หลังจากที่บรรดานักวิเคราะห์มองว่าจะลดลงไป 3.6 ล้านบาร์เรล



นักวิเคราะห์จาก JPMorgan ยังคาดการณ์ว่า ราคาน้ำมันดิบ Brent ปีนี้จะมีราคาเฉลี่ยที่ 64.50 เหรียญ/บาร์เรล



บริษัท เอ็มทีเอส โกลด์ จำกัด
40,42,44 ถนนทรัพย์สิน แขวงวังบูรพาภิรมย์เขตพระนคร กรุงเทพ 10200
โทรศัพท์ 0 2770 7777 โทรสาร 0 2623 9366 E-mail: support@mtsgoldgroup.com