• สรุปข่าวเศรษฐกิจ (ภาคค่ำ) ประจำวันที่ 8 ตุลาคม 2562

    8 ตุลาคม 2562 | Economic News

· ค่าเงินดอลลาร์ค่อนข้างเคลื่อนไหวในแดนลบ ขณะที่ค่าเงินดอลลาร์นิวซีแลนด์แข็งค่าขึ้นตามการฟื้นตัวของตลาดหุ้นเอเชีย แต่ในภาพรวม ตลาดการเงินมีการเคลื่อนไหวที่ค่อนข้างเบาบาง เนื่องจากตลาดกำลังจับตาการเจรจาการค้าระหว่งาสหรัฐฯและจีนในช่วงสัปดาห์นี้

นักวิเคราะห์ FX จากสถาบัน Nordea มีมุมมองว่า การเคลื่อนไหวของค่าเงินในสัปดาห์นี้ เป็นผลพวงมาจากสัปดาห์ก่อนที่มีความผันผวนค่อนข้างมาก นักลงทุนจึงเริ่มทยอยลดการถือครองสถานะในค่าเงินภายในช่วงสัปดาห์นี้แทน

ดัชนีดอลลาร์ อ่อนค่าลง 0.1% แถว 98.91 จุด หลังจากที่ปรับแข็งค่าขึ้นด้วยอัตราที่มากที่สุดในรอบกว่าสัปดาห์ได้ในช่วงตลาดก่อนหน้า

ตลาดจะจับตาถ้อยแถลงของนายเจอโรม โพเวลล์ ประธานเฟด ภายในคืนนี้ เพื่อจับตาทิศทางการดำเนินนโยบายการเงินของเฟด โดยเฉพาะหลังจากที่ ตัวเลขเศรษฐกิจสหรัฐฯสัปดาห์ก่อนประกาศออกมาอ่อนแอ จึงกดดันความกังวลว่าเศรษฐกิจสหรัฐฯอาจกำลังเข้าสู่ภาวะถดถอย

ค่าเงินยูโรได้รับแรงหนุนจากตัวเลขภาคอุตสาหกรรมเยอรมนีเดือน ส.ค.ที่ประกาศออกมาสูงขึ้นเกินคาด โดยค่าเงินยูโรแข็งค่า 0.1% แถว 1.09815 ดอลลาร์/ยูโร แต่ยังเคลื่อนไหวใกล้ระดับต่ำสุดในรอบ 2 ปีที่ 1.08790 ดอลลาร์/ยูโร

ตัวแทนจากจีนมีการเจรจาการค้าร่วมกับสหรัฐฯในระดับ Deputy-level ไปเมื่อวานนี้ แต่ยังคงไม่มีสัญญาณของความคืบหน้ามากนัก

· ยูโรยังหาแนวรับสำคัญไม่ได้ และมีแนวโน้มอ่อนค่าต่อ

นักวิเคราะห์จาก Daily FX มีมุมมองว่า ค่าเงินยูโรเมื่อเทียบกับดอลลาร์ (EUR/USD) ซึ่งเป็นคู่สกุลเงินที่นิยมเทรดมากที่สุดในตลาดการเงิน ยังคงเคลื่อนไหวในทิศทางขาลงอย่างต่อเนื่อง ท่ามกลางแรงกดดันจากสัญญาณผ่อนคลายนโยบายของอีซีบี ขณะที่ค่าเงินดอลลาร์กลับได้รับแรงหนุนหลังถ้อยแถลงของสมาชิกเฟดได้ลดกระแสคาดการณ์การปรับลดดอกเบี้ยครั้งต่อไปลง ซึ่งทางอีซีบีน่าจะชื่นชอบและพอใจกับการอ่อนค่าของยูโร เนื่องจากจะช่วยหนุนการส่งออก ในขณะที่เศรษฐกิจยูโรโซนกำลังชะลอการเติบโตลงเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะเยอรมนีที่เป็นกำลังหลักของเศรษฐกิจยูโรโซน



สำหรับในกราฟรายวัน จะเห็นได้ถึงทิศทางขาลงของค่าเงินอย่างชัดเจน และยังบ่งชี้ถึงแนวโน้มที่ค่าเงินจะอ่อนค่าต่อ จากการที่ค่าเงินมีการทำจุด Lower High อย่างต่อเนื่อง นับตั้งแต่วันที่ 25 มิ.ย. ประกอบกับการที่ทิศทางขาลงระยะยาวนี้เกิดขึ้นตั้งแต่ระดับสูงสุดของเดือน ก.พ. ปี 2018 ที่ 1.2566 ดอลลาร์/ยูโร และกำลังเคลื่อนไหวต่ำกว่าเส้นค่าเฉลี่ยทั้งหมด 3 เส้น ทั้งนี้ แนวรับสำคัญเดิมของค่าเงินที่ระดับ 1.1100, 1.100 และ 1.0900 ต่างไม่สามารถรองรับการร่วงลงของค่าเงินได้เลย

ส่วนแนวต้านของค่าเงินมองไว้ที่ 1.0926 ดอลลาร์/ยูโร ตามมาด้วย 1.1027 และบริเวณ 1.1100 – 1.1120 ดอลลาร์/ยูโร แต่ไม่มีมุมมองว่าค่าเงินจะสามารถฟื้นตัวเหนือแนวต้านเหล่านี้ได้โดยง่าย

· ภาคบริการในประเทศจีนเติบโตด้วยอัตราที่ชะลอตัวลงมากที่สุดในรอบ 7 เดือนเมื่อเดือน ก.ย. ที่ผ่านมา แม้ว่ายอดคำสั่งซื้อจะขยายตัวด้วยอัตราที่มากขึ้นก็ตาม

โดยดัชนี PMI ภาคบริการโดย Caixin/Markit ปรับลดลงสู่ระดับ 51.3 จุดเมื่อเดือนก่อน ซึ่งเป็นระดับที่อ่อนแอที่สุดนับตั้งแต่เดือน ก.พ. เทียบกับเดือน ส.ค. ที่ระดับ 52.1 จุด แต่ยังยืนเหนือระดับ 50 จุดที่บ่งชี้ถึงการขยายตัว

· Samsung Electronics เผยผลประกอบการในไตรมาสที่ 3/2019 มีแนวโน้มปรับลดมากกว่าครึ่งหนึ่งเมื่อเทียบกับปีก่อน โดยคาดการณ์ผลกำไรในไตรมาสที่ผ่านมาไว้ที่ 7.7 ล้านล้านวอนเกาหลีใต้ (6.43 พันล้านเหรียญ) ลดลง 56.17% จากไตรมาสเดียวกันของปีก่อนที่มีผลกำไรที่ 17.57 ล้านล้านวอน

สาเหตุที่ทำให้ Samsung และผู้ผลิตชิฟประมวลผลรายอื่นๆต่างมีผลประกอบการที่ตกต่ำลง มาจากราคาและปริมาณอุปสงค์ของชิฟประมวลผลที่ตกต่ำมาเป็นเวลามากกว่า 1 ปี ซึ่งเป็นผลกระทบจากการจัดสรรคลังสินค้าและปริมาณอุปทานของสินค้าที่ล้นตลาด

อย่างไรก็ตาม นักวิเคราะห์จาก CLSA มีมุมมองว่า สถานการณ์ดังกล่าวเริ่มที่จะส่งสัญญาณฟื้นตัวดีขึ้น โดยสามารถเห็นสัญญาณของการฟื้นตัวได้เป็นวงกว้าง

· นางแครี แลม ผู้นำรัฐบาลฮ่องกง ระบุว่า ทีมบริหารของเธอไม่มีแนวคิดที่จะใช้อำนาจฉุกเฉินในการออกกฏหมายอื่นๆนอกเหนือจากคำสั่งแบนหน้ากาก พร้อมเตือนว่า ทางกองทัพจีนมีมาตรการควบคุมสถานการณ์การชุมนุมในปัจจุบันของพวกเขาเอง ขณะที่ทางรัฐบาลฮ่องกงได้เตรียมรับมือกับการชุมนุมที่มีแนวโน้มยืดเยื้อตลอดสัปดาห์นี้

· กระแสคาดหวังว่าจะเห็นข้อตกลงการค้าสหรัฐฯ-จีนเริ่มอ่อนแอลงอีกครั้ง หลังจากมีรายงานว่า รัฐบาลสหรัฐฯประกาศลงบัญชีดำบริษัทจีนที่มีการปฏิบัติกับชาวมุสลิมชนกลุ่มน้อยอย่างไม่เหมาะสม รวมถึงการที่นายโดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐฯ ระบุว่า มีความเป็นไปได้ต่ำที่จะเกิดข้อตกลงร่วมกันในเร็วๆนี้

· รายงานจากนิตยสาร The Spectator ที่อ้างแหล่งข่าวจาก Downing Street ระบุว่า รัฐบาลอังกฤษมีการเตรียมความพร้อมสำหรับการจบการเจรจา Brexit ภายในสัปดาห์นี้

· นายชินโซ อาเบะ นายกรัฐมนตรีญี่ปุ่น แสดงความเชื่อมั่นว่า นายฮารุฮิโกะ คุโรดะ ผู้ว่าบีโอเจ จะสามารถตัดสินใจดำเนินนโยบายการเงินได้อย่างเหมาะสม พร้อมๆกับคำนึงถึงผลประโยชน์ต่อเศรษฐกิจญี่ปุ่นได้ในแต่ละขั้นตอน

· อัตราการผลิตภาคอุตสาหกรรมเยอรมนีเดือน ส.ค. ขยายตัวดีเกินคาดที่ 0.3% จากเดิมที่คาดการณ์ไว้ที่ 0.1% จึงช่วยหนุนความหวังว่าอัตราการชะลอตัวของเศรษฐกิจยูโรโซนในไตรมาสที่ 3/2019 จะไม่ชะลอตัวลงมากอย่างที่กังวล

· นักวิเคราะห์จากสถาบัน Phoenix Financial Services มีมุมมองว่า หากจีนพยายามถ่วงเวลาหาข้อตกลงการค้ากับสหรัฐฯ เพื่อให้ผ่านพ้นการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯในปี 2020 ไปเสียก่อน พวกเขาอาจ “คิดผิด” โดยเฉพาะในกรณีที่นางเอลิซาเบธ วาร์เรน ตัวแทนลงเลือกตั้งจากพรรคเดโมแครต ได้รับเลือกเป็นประธานาธิบดีคนต่อไป

ทั้งนี้ เป็นเพราะว่านางเอลิซาเบธ อาจมีการกดดันจีนที่หนักหน่วงยิ่งนายโดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐฯคนปัจจุบัน โดยเธออาจนำประเด็นอื่นๆ โดยเฉพาะเรื่องสิ่งแวดล้อม เข้ามาเจรจากับจีนด้วย ซึ่งอาจทำให้การเจรจาที่ปัจจุบันยังติดปัญหาในด้านการละเมิดทรัพย์สินทางปัญญายืดเยื้อออกไปอีกได้

ด้านผลสำรวจคะแนนความนิยมของนางเอลิซาเบธ ทั้งโพลสำรวจของ NBC News และWall Street Journal ต่างให้เธอมีคะแนนตามหลังนายโจ ไบเดน ตัวแทนลงเลือกตั้งจากพรรคเดโมแครต มาเป็นอันดับที่ 2

· ในขณะที่ตัวแทนสหรัฐฯและจีนกำลังกลับมาเจรจาการค้ากันในช่วงสัปดาห์นี้ ผู้เชี่ยวชาญจากสถาบัน Port Shelter Investment Management ได้เตือนว่า เหตุการชุมนุมที่กำลังเกิดขึ้นในฮ่องกง อาจเป็นปัจจัยที่ “กดดัน” การเจรจาระหว่างทั้ง 2 ประเทศ แม้สถานการณ์จะไม่ได้ส่งผลกระทบโดยตรงต่อการเจรจาก็ตาม

โดยหากจีนมีมุมมองว่าเหตุการณ์ทั้ง 2 มีความเกี่ยวโยงกัน อาจสร้างความไม่พอใจให้กับจีน และในกรณีที่จีนใช้มาตรการขั้นเด็ดขาดกับสถานการณ์ในฮ่องกง นานาชาติอาจพิจารณาคว่ำบาตรจีน ซึ่งจะกลายเป็นปัจจัยที่กดดันการเจรจาการค้าโดยตรง

· ศาสตราจารย์ด้านวิทยาศาสตร์การเมืองจาก Pusan National University มีมุมมองเกี่ยวกับการเจรจาระหว่างสหรัฐฯและเกาหลีเหนือว่า สหรัฐฯจำเป็นต้องเปิดกว้างต่อการเจรจากับเกาหลีเหนือมากขึ้น และพยายามหาข้อตกลงในประเด็นสำคัญๆ ก่อนที่จะผลักดันให้เกิดการลงนามในสนธิสัญญาด้านนิวเคลียร์ร่วมกัน

ถ้อยแถลงของศาสตราจารย์เกิดขึ้นหลังจากรายงานที่ว่า การเจรจาในระดับ working-level ระหว่างตัวแทนสหรัฐฯและเกาหลีเหนือหยุดชะงักลงชั่วคราว โดยทางตัวแทนเกาหลีเหนืออ้างว่า สหรัฐฯไม่ได้นำอะไรมาเสนอในที่เจรจาเลย ขัดแย้งกับข้ออ้างของฝั่งสหรัฐฯที่ระบุว่า พวกเขาได้นำเสนอแนวคิดที่สร้างสรรค์ให้กับเกาหลีเหนือและมีการเจรจาร่วมกันที่ดี

· รายงานจาก Reuters ระบุว่า เหลือเวลาอีกเพียง 23 วันก่อนที่อังกฤษจะต้องออกจากอียูอย่างเป็นทางการ ซึ่งอนาคตของ Brexit ยังคงดูจะมืดมนและไม่แน่นอนว่าในท้ายที่สุดจะตัดสินใจเลื่อน Brexit ออกไปอีกหรือจบลงแบบ No-Deal

ในขณะที่บรรดานักการทูตส่วนใหญ่ มองว่ามีโอกาสที่จะเห็นการทำข้อตกลงร่วมกันจากทั้ง 2 ฝ่ายอยู่ในระดับต่ำ แม้ว่าบรรดาผู้นำอียูไม่มีทีท่าตอบรับกับข้อตกลงของนายบอริส จอห์นสัน นายกรัฐมนตรีอังกฤษมากนักสำหรับข้อเสนอล่าสุด แต่ก็ดูเหมือนการเจรจาก็จะยังคงดำเนินได้ต่อไป

รายงานจาก Spectator ที่ได้รับข้อมูลจาก Downing Street ระบุว่า การเจรจาดังกล่าวดูเหมือนจะสิ้นสุดลงในสัปดาห์นี้ ขณะที่แหล่งข่าวมีการเปิดเผยว่า นางอังเกลาร์ แมร์เคล นายกรัฐมนตรีอังกฤษที่หลายๆฝ่ายคาดหวังว่าจะยื่นมือช่วยอังกฤษนั้นก็อาจไม่เกิดขึ้น

ทั้งนี้ รัฐบาลอังกฤษเองก็ดูเหมือนะจไม่มีการเจรจาต่อว่าจะเลื่อน Brexit ออกไปหรือไม่ ดังนั้น จึงไม่แน่ว่าวันที่ 31 ต.ค.นี้ จะเห็นการออกจาก Brexit แบบ NO-DEAL หรือเกิดการเลือกตั้งใหม่

· IMF ปรับลดคาดการณ์การเติบโตของเศรษฐกิจไทยปีนี้ลดลงสู่ระดับ 2.9% และ 3.0% สำหรับปี 2020 ท่ามกลางผลกระทบจากปัจจัยภายนอกประเทศและความไม่แน่นอนทางการเมืองในประเทศ เทียบกับการเติบโตของเศรษฐกิจในปีก่อนที่ 4.1%

นอกจากนี้ รายงาน IMF ยังระบุถึงมุมมองที่ค่อนข้างแตกต่างกันระหว่างบรรดาคณะกรรมเกี่ยวกับอัตราดอกเบี้ยของ ธปท. โดยมีคณะกรรมการจำนวนมากที่มองว่าการดำเนินนโยบายการเงินของ ธปท. ในปัจจุบันอยู่ในระดับที่เหมาะสม แต่ควรรักษาความยืดหยุ่นในการดำเนินนโยบาย เพื่อปรับเปลี่ยนให้เหมาะสมกับภาวะทางการเงินและความเสี่ยงอยู่เสมอ

· รายงานจาก CNBC แนะให้จับตาถ้อยแถลงของ นายเจอโรม โพเวลล์ คืนนี้ ที่จะเป็นการกลาวถ้อยแถลงครั้งแรกหลังจากที่ได้รับข้อมูลการประกาศข้อมูลเศรษฐกิจสำคัญเมื่อไม่นานนี้

ขณะที๋โอกาสที่เฟดจะลดดอกเบี้ยในสัปดาห์ก่อนสูงประมาณ 90% หลังจากที่ข้อมูลภาคการผลิตออกมาทำต่ำสุดรอบ 10 ปี แต่ข้อมูลอัตราว่างงานวันศุกร์ล่าสุดก็ทำต่ำสุดรอบ 50 ปี และช่วยคลายกังวลภาวะเศรษฐกิจชะลอตัวลงไป



เครื่องมือ FedWatch ของ CME สะท้อนว่า เทรดเดอร์มองโอกาสล่าสุดที่เฟดจะหั่นดอกเบี้ยเดือนนี้ อยู่ที่ 74% โดยเป็นการปรับลดดอกเบี้ยด้วยอัตรา 0.25%

· ตารางข้อมูลเศรษฐกิจสำคัญในสัปดาห์นี้ได้แก่ ดัชนี PMI ของจีน, ผลผลิตภาคอุตสาหกรรมเยอรมนี และความเชื่อมั่นภาคธุรกิจ

ขณะที่ทางสหรัฐฯจะมีการประกาศ PPI หรือดัชนีราคาผู้ผลิตในคืนนี้ รวมทั้งดัชนีราคาผู้บริโภค หรือ CPI ในคืนวันพฤหัสบดี โดยที่ดัชนี PPI จะเป็นตัวแรกทีจะชี้วัดภาพรวมของเศรษบกิจสหรัฐฯได้ รวมถึงทิศทางภาคธุรกิจและค่าใช้จ่ายในกลุ่มสินค้าและการบริการ

· ราคาน้ำมันดิบปรับตัวสูงขึ้นเนื่องจากเหตุการณ์ความไม่สงบในอิรักและเอกวาดอร์ทำให้เกิดความกังวลเกี่ยวกับอุปทานและความกังวลเรื่องอุปสงค์ ท่ามกลางเหล่านักลงทุนที่่กำลังรอคอยการเจรจาทางการค้าระหว่างสหรัฐฯและจีนในสีปดาห์นี้

โดยราคาน้ำมันดิบ Brent เพิ่มขึ้น 0.8% ที่ระดับ 58.79 เหรียญ/บาร์เรล ขณะที่ราคาน้ำมันดิบ WTI เพิ่มขึ้น 0.8% ที่ระดับ 53.17 เหรียญ/บาร์เรล



· Crude Oil Outlook

ราคาน้ำมัน Brent ยังคงปรับลดลงอย่างต่อเนื่อง นับตั้งแต่ที่ราคาปรับขึ้นไปกว่า 19% จากเหตุการณ์โจมตีโรงกลั่นน้ำมันในซาอุดิอาระเบีย สำหรับวันนี้คาดกรอบการเคลื่อนไหวไว้ระหว่าง 57.24 – 59.34 เหรียญ/บาร์เรล โดยการที่ราคาน้ำมันมีแนวโน้มเคลื่อนไหวในกรอบแคบๆ มาจากการที่ตลาดชะลอการลงทุนเพื่อรอความชัดเจนของการเจรจาการค้าสหรัฐ –จีน รวมถึงการเปิดเผยรายงานประชุมของเฟดคืนพรุ่งนี้

บริษัท เอ็มทีเอส โกลด์ จำกัด
40,42,44 ถนนทรัพย์สิน แขวงวังบูรพาภิรมย์เขตพระนคร กรุงเทพ 10200
โทรศัพท์ 0 2770 7777 โทรสาร 0 2623 9366 E-mail: support@mtsgoldgroup.com