• สรุปข่าวเศรษฐกิจ (ภาคเช้า) ประจำวันที่ 12 กรกฎาคม 2562

    12 กรกฎาคม 2562 | Economic News



· ค่าเงินดอลลาร์ปรับอ่อนค่าลงท่ามกลางการซื้อขายที่ค่อนข้างเบาบาง จากแนวโน้มที่ว่าเฟดอาจเดินหน้าปรับลดดอกเบี้ยได้ต่อ ซึ่งภาพรวมนับตั้งแต่ช่วงกลางเดือนพ.ค. ก็จะเห็นได้ว่า ดัชนีดอลลาร์ปรับอ่อนค่าลงมาแล้ว 1.6% ขณะที่เมื่อเทียบค่าเงินเยนดอลลาร์อ่อนค่าไป 2.6%


ขณะที่เมื่อคืนดัชนีดอลลาร์รีบาวน์กลับได้บ้างจากข้อมูล CPI ที่ออกมาดีขึ้นเกินคาดและข้อมูลคนว่างงานในเชิงบวก ขณะที่ถ้อยแถลงของประธานเฟดในวันที่ 25 ก็ยังคงกล่าวย้ำเช่นเดียวกับการให้ถ้อยแถลงในคืนวันพุธ และนั่นทำให้ดัชนีดอลลาร์ทรงตัวที่ 97.06 จุด หลังจากไปทำต่ำสุดรอบ 1 สัปดาห์เมื่อคืนวันพุธ


ค่าเงินเยนทรงตัวที่ 108.45 เยน/ดอลลาร์ ขณะที่ค่าเงินยูโรปรับแข็งค่าขึ้นมา 0.1% ที่ 1.1256 ดอลลาร์/ยูโร จากกระแสคาดการณ์ที่อีซีบีอาจเดินหน้าผ่อนคลายทางการเงิน


· อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯปรับตัวขึ้นเมื่อวานนี้หลังทราบข้อมูลเงินเฟ้อสหรัฐฯที่สูงกว่าที่บรรดานักเศรษฐศาสตร์ประเมินไว้ โดยผลตอบแทนอายุ 10 ปี ปรับขึ้นแตะ 2.13% ขณะที่ 2 ปี ปรับขึ้นมาบริเวณ 1.182%

· รายงานจาก CNBC ระบุว่า ดัชนีราคาผู้บริโภคที่ปรับตัวขึ้นมากที่สุดในรอบเกือบ 1 ปีครึ่งในเดือนมิ.ย. ได้รับอานิสงส์จากค่าใช้จ่ายในกลุ่มสินค้าและบริการที่เพิ่มสูงขึ้น แต่ถึงข้อมูลจะออกมาแข็งแกร่งก็ไม่อาจทำให้เฟดเปลี่ยนใจจากการลดดอกเบี้ยที่จะเกิดขึ้นในประชุมเดือนนี้


ดัชนี CPI ที่ไม่รวมความผันผวนของภาคอาหารและพลังงานปรับขึ้นได้ 0.3% ซึ่งถือเป็นระดับการเพิ่มขึ้นมากที่สุดตั้งแต่เดือนม.ค. ปี 2018 และยังคงเป็นการปรับขึ้นต่อเนื่องช่วง 4 เดือนนี้ หรือเรียกได้ว่า CPI มีแรงหนุนจากความแข็งแกร่งของราคาสินค้า, การใช้รถยนต์และรถบรรทุก รวมทั้งการเครื่องตกแต่งบ้านของภาคครัวเรือน


นอกจากนี้ ในกลุ่มสุขภาพและการเช่าต่างๆก็ปรับตัวขึ้น จึงทำให้ภาพรวม Core CPI ปรับขึ้นได้ 2.1% จากระดับ 2.0% ในเดือนพ.ค.


ภาพรวมเฟดต้องการเห็นเงินเฟ้อถึงเป้าหมาย 2% ขณะที่ Core PCE Price Index มีการปรับขึ้นที่ 1.5% เมื่อเทียบรายปี และยังอยู่ต่ำกว่าเป้าหมายที่เฟดต้องการ


· สำหรับข้อมูลจำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานปรับตัวลงแตะระดับต่ำสุดรอบ 3 เดือนในสัปดาห์ที่แล้วโดยปรับลง 13,000 ราย สู่ระดับ 209,000 ราย ซึ่งถือเป็นระดับต่ำสุดตั้งแต่เดือนเม.ย. และยิ่งตอกย้ำถึงความแข็งแกร่งของตลาดแรงงาน ที่อาจช่วยหนุนการชะลอตัวของเศรษฐกิจในเวลานี้ได้

· นายโดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐฯ ทวิตข้อความระบุว่า เขาไม่ชื่นชอบสกุลเงินดิจิทัล และทาง Facebook อาจต้องได้รับใบอนุญาตจากทางธนาคาร หากพวกเขาต้องการที่จะเริ่มใช้งาน Libra ที่เป็นเงินดิจิทัล

โดยนายทรัมป์ได้เคยกล่าวโจมตีสกุลเงินดิจิทัลเอาไว้ว่า เป็นสกุลเงินที่ไม่ได้รับการควบคุมดูแลอย่างเหมาะสม และอาจนำไปซึ่งการกระทำที่ผิดกฎหมาย อย่างการซื้อขายยาเสพติด หรืออาชญากรรมอื่นๆได้


นอกจากนี้ นายทรัมป์ได้กล่าวว่า สกุลเงินดอลลาร์สหรัฐฯ เป็นสกุลเงินที่แท้จริงเพียงหนึ่งเดียวของสหรัฐฯ และเป็นสกุลเงินที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในตลาดโลก

· โปรเจ็คสกุลเงินดิจิทัล Libra ของ Facebook กำลังเผชิญกับเสียงต่อต้านจากบรรดาผู้นำทางการเงินทั่วโลก ล่าสุด นายเจอโรม โพเวลล์ ประธานเฟด กล่าวว่า สกุลเงิน Libra มีความเสี่ยงที่เกี่ยวกับการฟอกเงิน ผลกระทบต่อการปกป้องผู้บริโภค และความมั่นคงทางการเงิน

นายโพเวลล์กล่าวกับคณะกรรมการสภาคองเกรสเมื่อคืนวันพุธที่ผ่านมา โดยระบุว่า สกุลเงิน Libra ไม่สมควรได้ไปต่อ หากทางบริษัทฯยังไม่สามารถหาหนทางป้องกันไม่ให้เกิดการฟอกเงินด้วยวิธีที่หลายๆฝ่ายพึงพอใจ


นอกจากนายโพเวลล์ที่แสดงความเห็นเชิงลบต่อสกุลเงิน Libra แล้ว ยังมีเจ้าหน้าที่จากธนาคารกลางจากหลายๆประเทศ ไม่ว่าจะเป็น อังกฤษ ฝรั่งเศส ยูโรโซน สิงคโปร์ และจีน ต่างก็ออกมาแสดงความกังวลต่อ Libra ในลักษณะเดียวกัน และเมื่อช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา คณะกรรมธิการด้านการเงินแห่งสภาคองเกรสยังได้ส่งจดหมายเรียกร้องไปยังบริษัทฯ โดยระบุให้ หยุดการพัฒนาสกุลเงินลง จนกว่าจะสามารถตอบคำถามของคณะกรรมการได้เสียก่อน


· ท่าเรือลอสแองเจลิส (Los Angeles ) และท่าเรือลองบลีช (Long Beach) ซึ่งเป็นท่าเรือที่มีการขนส่งสินค้าจากประเทศจีนมากที่สุดอันดับ 1 ของสหรัฐฯและทั่วโลก กลับมีการนำเข้าสินค้าที่ลดน้อยลง 5.1% ในเดือน มิ.ย. ท่ามกลางความขัดแย้งทางการค้าระหว่างสหรัฐฯ-จีน ที่กำลังกดดันห่วงโซ่อุปทานทั่วโลก

· รายงานของ IMF ระบุว่า เศรษฐกิจยูโรโซนกำลังเผชิญความเสี่ยงที่เพิ่มขึ้นจากความตึงเครียดทางการค้า, Brexit และปัญหาการเงินในอิตาลี จึงสนับสนุนให้อีซีบีมีการกระตุ้นเศรษฐกิจครั้งใหม่ เพิ่อสนับสนุนการขยายตัวและเงินเฟ้อ ขณะที่นางคริสติน ลาการ์ด ก็จะเข้ารับตำแหน่งประธานอีซีบีในช่วงเดือนพ.ย.

อย่างไรก็ดี ในรายงานของ IMF คาดเศรษฐกิจยูโรโซนปีนี้จะชะลอตัวลงแตะ 1.3% จากระดับ 1.9% ในปี 2018 และจะเห็นการรีบาวน์ได้ที่ 1.6% ปีหน้า ซึ่งดูข้อมูล IMF จะประเมินทิศทางการขยายตัวได้ดีกว่ารายงานของ ECB ที่มองว่าปีนี้จะขยายตัวได้ 1.2% และปีหน้า 1.4%


นอกจากนี้ IMF ยังคาดว่าเงินเฟ้อจะอยู่ต่ำกว่าที่อีซีบีกำหนดเป้าไว้ที่ 2% อย่างน้อยจนถึงปี 2020 และคาดว่าเงินเฟ้อจะอยู่ที่ 1.3% ในปีนี้เช่นเดียวกับที่อีซีบีประเมินไว้


· ราคาน้ำมันดิบปิดปรับลงจากกลุ่มโอเปกที่ปรับลดคาดการณ์อุปสงค์น้ำมันดิบปีหน้า แต่ภาพรวมราคาก็ยังทรงตัวใกล้ระดับสูงสุดรอบ 1 เดือน จากการขุดเจาะน้ำมันดิบบริเวณอ่าวเม็กซิโกที่ปิดทำการจากสภาพอากาศและการเผชิญพายุ

น้ำมันดิบ Brent ปิดลดลง 39 เซนต์ ที่ 66.61 เหรียญ/บาร์เรล โดยระหว่างวันมีการทำ High สุดตั้งแต่ 30 พ.ค. ที่ 67.65 เหรียญ/บาร์เรล ด้านน้ำมันดิบ WTI ปิดปรับลง 23 เซนต์ หรือ -0.4% ที่ 60.20 เหรียญ/บาร์เรล หลังทำ High ตั้งแต่ 23 พ.ค. ที่ 60.94 เหรียญ/บาร์เรล


· รายงานจากกลุ่มโอเปกเกี่ยวกับคาดการณ์แรกของปี 2020 เผยว่า อุปสงค์น้ำมันดิบจาก 14 ประเทศสมาชิกอาจลดลง 29.27 ล้านบาร์เรล/วัน หรือลดลง 1.34 ล้านบาร์เรล/วันเมื่อเทียบกับปีนี้

บริษัท เอ็มทีเอส โกลด์ จำกัด
40,42,44 ถนนทรัพย์สิน แขวงวังบูรพาภิรมย์เขตพระนคร กรุงเทพ 10200
โทรศัพท์ 0 2770 7777 โทรสาร 0 2623 9366 E-mail: support@mtsgoldgroup.com