· ในคืนวันศุกร์ ค่าเงินดอลลาร์ปรับแข็งค่าขึ้น ขณะที่อัตราผลตอบแทนพันธบัตรปรับอ่อนตัวลง ท่ามกลางความกังวลต่อความเป็นไปได้เกี่ยวกับ Trade War ทั่วโลก จากกลุ่มผู้นำ G7 ที่ประชุมร่วมกันเมื่อช่วงปลายสัปดาห์ที่ผ่านมา ขณะที่ตลาดให้ความสำคัญกับการประชุมระหว่างผู้นำสหรัฐฯและเกาหลีเหนือในวันพรุ่งนี้ และการประชุมเฟด รวมทั้งอีซีบีด้วยเช่นกัน
โดยช่วงปลายตลาดดัชนีดอลลาร์ปรับขึ้น 0.2% เมื่อเทียบกับสกุลเงินหลักส่วนใหญ่แตะระดับ 93.56 จุด แต่ภาพรวมในสัปดาห์ที่ผ่านมาอ่อนค่าลงไป 0.7% ซึ่งเป็นระดับรายสัปดาห์ที่มีการอ่อนค่ามากที่สุดในรอบ 10 สัปดาห์ ขณะที่ค่าเงินเยนอ่อนค่าขึ้น 0.2% ที่ระดับ 109.45 เยน/ดอลลาร์
อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลอายุ 10 ปีของสหรัฐฯปรับลงสู่ระดับ 2.926%
· รายงานจาก CNN ระบุว่า ในการประชุม G7 ที่ผ่านมา นายโดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐฯ มีการเดินทางกลับก่อนกำหนด หลังจากที่ประเทศสมาชิก G7 ต่างตำหนิต่อแนวทางการดำเนินนโยบายภาษีนำเข้าของเข้า ขณะที่นายทรัมป์ ก็มีการโต้กลับผ่านทางทวิตเตอร์ต่อผู้นำฝรั่งเศสและแคนาดา
ขณะที่ นายเอ็มมานูเอล มาครง ประธานาธิบดีฝรั่งเศสมีการทวิตเตอร์ข้อความเช่นกัน โดยมีใจความเกี่ยวกับนโยบายกีดกันทางการค้าของสหรัฐฯว่าเป็นสิ่งไม่ถูกต้อง และสมาชิกประเทศ G7จะร่วมลงนามประชุมกันได้ 6 ประเทศ โดยปราศจากสหรัฐฯ
ทางด้าน นายทรัมป์ ได้ทวิตเตอร์ถึงนายทรูโด ผู้นำแคนาดา และนายมาครง ผู้นำฝรั่งเศส โดยระบุว่า ประเทศของพวกเขาทั้ง 2 มีการเก็บภาษีนำเข้าสหรัฐฯจำนวนมหาศาล รวมทั้งมีการตั้งกำแพงกีดกันในด้านอื่นๆ นอกจากการเงิน โดยยอดดุลการค้าระหว่างสหรัฐฯและอียูนั้นมียอดเกินดุลสูงถึง 1.51 แสนล้านเหรียญ ขณะที่แคนาดามีการกีดกันสินค้าเกษตรและด้านอื่นๆของสหรัฐฯ พร้อมตำหนิว่าทั้งสองประเทศเป็นกลุ่มที่ไม่รู้จักพอ
· ความขัดแย้งระหว่างสหรัฐฯและแคนาดาขยายตัวขึ้น หลังจากนายโดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐฯ กล่าวตำหนินายจัสติน ทรูโด นายกรัฐมนตรีแคนาดา ว่า“ไร้ความจริงใจและอ่อนแอ” เนื่องจากนายจัสตินได้กล่าวตำหนินายทรัมป์เกี่ยวกับนโยบายขึ้นเหล็กและอลูมิเนียม
หลังการประชุม G7 นายทรัมป์ได้ประกายกเลิกการให้การสนับสนุนประเทศในกลุ่ม G7 โดยให้เหตุผลว่าผู้นำแคนาดาได้ทำลายความเชื่อใจของเขา ส่งผลให้ทางด้านผู้นำเยอรมนีและฝรั่งกล่าวตำหนิการตัดสินใจดังกล่าวของนายทรัมปือย่างรุนแรง
ทางด้านนายแลรี่ คุดโลว์ ที่ปรึกษาด้านเศรษฐกิจของนายทรัมป์ กล่าวตำหนินายจัสติน เนื่องจากคำกล่าวของเขาทำให้ประธานาธิบดีสหรัฐฯดูอ่อนแอ ก่อนหน้าการประชุมสำคัญระหว่างนายทรัมป์และนายคิม จอง อึน ผู้นำเกาหลีเหนือ ที่จะเกิดขึ้นในวันที่ 12 มิ.ย. นี้
· ภายหลังจากที่สหรัฐฯประกาศยกเลิกการสนับสนุนกลุ่มประเทศ G7 โฆษกประจำรัฐบาลเยอรมนีได้ออกมายืนยันว่านางอังเกล่า แมร์เคิล นายกรัฐมนตรีเยอรมนี จะยังคงให้การสนับสนุนการประชุมของกลุ่มประเทศ G7 ต่อไป
พร้อมกันนี้ นางอังเกลาร์ แมร์เคล กล่าวว่า อียูจะหามาตรการโต้ตอบแผนเรียกเก็บภาษีนำเข้าเหล็กและอะลูมิเนียมของสหรัฐฯ เช่นเดียวกับแคนาดา หลังจากที่เธอรู้สึกผิดหวังต่อการตัดสินใจอย่างกะทันหันของประธานาธิบดีสหรัฐฯที่ตัดสินใจไม่ลงนามแถลงการณ์ร่วมในการประชุม G7 ที่ผ่านมา
· หลังเสร็จสิ้นการประชุม G7 ที่ผ่านมา นายชินโซ อาเบะ นายกรัฐมนตรีกล่าวเตือนว่า จะไม่มีประเทศใดได้รับผลประโยชน์จากนโยบายกีดกันทางการค้า และมาตรการทั้งหมดควรมีความสอดคล้องกับข้อกำหนดของ WTO
· รัฐบาลเม็กซิโก เผยว่า กลุ่มผู้ผลิตในสหรัฐฯสามารถทำการขายเนื้อหมูให้แก่ประเทศเม็กซิโกผ่านโควตาการนำเข้าได้ แม้ว่าจะมีมาตรการเรียกเก็บภาษีนำเข้าในสัปดาห์ที่แล้ว เพื่อตอบโต้กับการเรียกเก็บภาษีนำเข้าเหล็กและอะลูมิเนียมของสหรัฐฯ
· แม้ทางฝรั่งเศสและเยอรมนีมีความคืบหน้าร่วมกัน แต่ก็ยังไม่ได้เห็นพ้องกันสำหรับแผน Roadmap ในการปฏิรูปยูโรโซน โดยทั้ง 2 ประเทศน่าจะมีการหารือร่วมกันถึงประเด็นดังกล่าวร่วมกันอีกครั้งในการประชุมที่กรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส ในวันเสาร์นี้ ก่อนที่จะเข้าร่วมประชุม EU Summit เพื่อนำเสนอต่อแผนดังกล่าวร่วมกันในวันที่ 27-28 มิ.ย. แต่ก็ยังคงมีความต่างของทิศทาเศรษฐกิจในยูโรโซนรวมทั้งกฎระเบียบของภาคธนาคาร
· รายงานจากรอยเตอร์ส ระบุว่า แนวทางการดำเนินนโยบายคุมเข้มทางการเงินของสองธนาคารยักษ์ใหญ่ระดับโลกอาจเป็นการสะท้อนให้เห็นถึงความมั่นใจต่อการขยายตัวต่อเศรษฐกิจโลกได้ แม้ว่าจะมีความเสี่ยงเรื่อง Trade War ประกอบกับความผันผวนของค่าเงินและความวุ่นวายทางการเมือง
โดยเฟดมีแนวโน้มสูงที่จะทำการปรับขึ้นดอกเบี้ยอีกครั้งในการประชุมคืนวันพุธนี้ เพื่อปรับให้นโยบายดอกเบี้ยใกล้ระดับปกติหรือ Neutral ขณะที่วันพฤหัสบดีอาจเห็นอีซีบีส่งสัญญาณยุติการเข้าซื้อพันธบัตรจำนวน 2.55 ล้านล้านยูโรในช่วงสิ้นปีนี้ได้ อันเป็นสัญญาณว่าทั้ง 2 ธนาคารจะสิ้นสุดยุคการใช้นโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจ
อย่างไรก็ดี การดำเนินการดังกล่าวเป็นการบ่งชี้ว่า เศรษฐกิจของประเทศมหาอำนาจนั้นแข็งแกร่งเพียงพอที่จะรับมือกับการดำเนินนโยบายของพวกเขา ดังนั้น เขาจึงเร่ง่ดำเนินนโยบายก่อนที่จะทิศทางเศรษฐกิจจะเข้าสู่แนวโน้มชะลอตัว
· นายโดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐฯ เดินทางถึงประเทศสิงคโปร์แล้วเมื่อวานนี้ สำหรับการประชุมครั้งประวัติศาสตร์ร่วมกับผู้นำเกาหลีเหนือที่อาจเปิดทางต่อการสิ้นสุดอาวุธนิวเคลียร์ และนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงของประเทศในแถบเอเชียได้
· รายงานจากสื่อ KCNA ของเกาหลีเหนือ ระบุว่า นายคิม จอง อึน ผู้นำเกาหลีเหนือและผู้นำสหรัฐฯจะทำการหารือกันเกี่ยวกับ “กลไลสันติภาพอย่างมั่นคงและยั่งยืน” ต่อบริเวณคาบสมุทรเกาหลี รวมทั้งการยุติโครงการนิวเคลียร์บริเวณคาบสมุทรเกาหลี และประเด็นอื่นๆ ที่มีความเป็นกังวลร่วมกัน
· ดัชนีเงินเฟ้อภาคผู้ผลิตของจีนปรับตัวขึ้นติดต่อกันเป็นเดือนที่สอง แตะระดับสูงสุดในรอบ 4 เดือน โดยข้อมูล PPI ล่าสุดในเดือนพ.ค. ขยายตัวได้ 4.1%จากเดิมเดือนก่อนหน้าขยายตัวได้ 3.4% เพราะได้รับแรงหนุนจากราคาสินค้าโภคภัณฑ์ที่ปรับตัวขึ้นจากระดับต่ำสุดเมื่อปีที่แล้ว จึงสะท้อนว่าเศรษฐกิจจีนยังคงขยายตัวได้แข็งแกร่งแม้ว่าจะมีความตึงเครียดทางการค้ากับสหรัฐฯก็ตาม
· รัฐบาลอิสราเอล ปรับเพิ่มประมาณการณ์ของการขยายตัวทางเศรษฐกิจในประเทศอีก 0.3% สู่ระดับ 3.5% ในปีนี้ และคาดปีหน้าจะขยายตัวได้ 3.4% พร้อมคาดการณว่าปี 2020 จะเห็นระดับการขยายตัวที่ 3.3% ซึ่งคาดการณ์ล่าสุดจากธนาคารกลางอิสราเอลสอดคล้องกับ IMF และ OECD
· ราคาน้ำมันดิบปิดลดลงคืนวันศุกร์ ท่ามกลางความกังวลเกี่ยวกับการเพิ่มขึ้นของกำลังการผลิตน้ำมันดิบในสหรัฐฯ และอุปสงค์น้ำมันในจีนที่กำลังปรับตัวลดลง ประกอบกับ JP Morganปรับลดคาดการณ์ราคาน้ำมันดิบ
น้ำมันดิบ Brent ปิดลดลง 86 เซนต์ คิดเป็น -1.1% ที่ระดับ 76.46 เหรียญ/บาร์เรล ขณะที่น้ำมันดิบ WTI ปิดลดลง 21 เซนต์ ที่ระดับ 65.74 เหรียญ/บาร์เรล และในสัปดาห์ที่ผ่านมาน้ำมันดิบ Brent ขยับลง 0.5% ขณะที่น้ำมันดิบ WTI ขยับลง 0.3%
· รายงานจาก CFTC ชี้ว่า บรรดาเฮดจ์ฟันด์ และกลุ่มผู้จัดการกองทุนส่วนใหญ่ทำการปรับลดสถานะการถือครอง Long ในสัญญาน้ำมันดิบเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา
· รายงานจาก JP Morgan ปรับลดคาดการณ์ราคาน้ำมันดิบ WTI ปีนี้ลงอีก 3 เหรียญ สู่ระดับ 62.2 เหรียญ/บาร์เรล เนื่องจากภาวะตึงเครียดทางการเมืองและความเสี่ยงของอุปทานน้ำมันที่จะเป็นอุปสรรคต่อการเคลื่อนไหวของราคาน้ำมันในช่วงครึ่งปีที่เหลือได้
· ยอดนำเข้าน้ำมันดิบในจีนเดือนพ.ค. อ่อนตัวลงหลังจากที่ขึ้นไปทำระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์ในเดือนก่อนหน้าแตะระดับ 39.05 ล้านตัน หรือคิดเป็น 9.2 ล้านบาร์เรล/วัน จากระดับ 9.6 ล้านบาร์เรล/วันในเดือนเม.ย.
· ปริมาณการผลิตน้ำมันดิบของรัสเซียปรับเพิ่มขึ้นแตะ 11.1 ล้านบาร์เรล/วันในสัปดาห์แรกของเดือนนี้ โดยปรับขึ้นเกินขีดจำกัดที่ได้ทำร่วมกับข้อตกลงการปรับลดกำลังการผลิตน้ำมันโลก
· แหล่งข่าวเปิดเผยกับสำนักข่าวรอยเตอร์สว่า กลุ่มโอเปกมีแนวโน้มจะปฏิเสธข้อเรียกร้องของอิหร่านเพื่อหารือถึงมาตรการคว่ำบาตรสหรัฐฯในการประชุมเดือนนี้