Moody's ปรับลดอันดับความน่าเชื่อถือของอังกฤษลงจาก “มีเสถียรภาพ” สู่ “เชิงลบ”
Moody's ปรับลดอันดับความน่าเชื่อถือของอังกฤษลงจาก “มีเสถียรภาพ” สู่ “เชิงลบ” ขณะที่ยังคงอันดับเครดิตไว้ที่ Aa1 เช่นเดิม
โดย Moody’s ให้เหตุผลในการปรับลดลงได้แก่ Brexit ที่สร้างความไม่แน่นอนให้แก่อังกฤษ รวมถึงจะส่งผลกระทบไปยังการดำเนินนโยบายเศรษฐกิจของภาครัฐ
ลาการ์ด ชี้ผลกระทบของ Brexit ขึ้นอยู่กับการตัดสินใจของผู้บริหารนโยบายการเงิน
นางคริสติน ลาการ์ด ผู้อำนวยการกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) กล่าวในงานแอสเพน ไอเดียส์ เฟสติวัล ที่รัฐโคโลราโดของสหรัฐว่า ผลกระทบต่างๆนานาที่จะเกิดขึ้นจากการที่สหราชอาณาจักรโหวตแยกตัวจากสหภาพยุโรป หรือ Brexit นั้น ขึ้นอยู่กับการตัดสินใจขั้นต่อไปของผู้บริหารด้านนโยบายการเงิน
นางลาการ์ดกล่าวว่า การตัดสินใจของเจ้าหน้าที่การเงินอังกฤษและยุโรป จะเป็นตัวกำหนดว่าความเสี่ยงจะเคลื่อนไหวไปยังทิศทางใดในช่วงไม่กี่วันข้างหน้า
เธอกล่าวว่า ผลพวงจาก Brexit อาจทำให้เกิดบรรยากาศของการหลีกเลี่ยงความเสี่ยง หรือนักลงทุนอาจจะมองว่าสถานการณ์กำลังจะคลี่คลายก็ได้ ขึ้นอยู่กับการตัดสินใจของเจ้าหน้าที่นโยบายการเงิน
นางลาการ์ดยังกล่าวว่า การรับมือสถานการณ์ของสหราชอาณาจักรนั้น EU จะต้องหาความพอดีระหว่างความเข้มงวดและความยุติธรรม โดยคำนึงถึงความเป็นไปได้ที่จะเกิดผลกระทบลูกโซ่กับประเทศอื่นๆใน EU
โกลด์แมน แซคส์ คาดเศรษฐกิจอังกฤษถดถอยในปีหน้า หลังตัดสินใจออกจาก EU
โกลด์แมน แซคส์ คาดการณ์ว่า เศรษฐกิจอังกฤษจะเข้าสู่ภาวะ "ถดถอยเล็กน้อย" ในช่วงต้นปี 2560 หลังจากที่อังกฤษตัดสินใจแยกตัวออกจากสหภาพยุโรป (Brexit)โดยคาดว่า เศรษฐกิจอังกฤษจะขยายตัว 1.5% ลดลง 0.5% จากที่คาดการณ์ไว้ก่อนหน้านี้ และจะขยายตัวเล็กน้อยเพียง 0.2% ในปีหน้า ลดลง 1.8% จากที่คาดการณ์ไว้ก่อนหน้านี้
นอกจากนี้ โกลด์แมน แซคส์ ยังได้รับลดคาดการณ์การขยายตัวของเศรษฐกิจโลกในปีนี้ลง 0.1% มาอยู่ที่ระดับ 3.1%
ทั้งนี้ โกลด์แมน แซคส์ระบุว่า ผลพวงของ Brexit จะทำให้เกิดกลไกลการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจ 3 ประการ
ประการแรกคือ การค้าของอังกฤษจะย่ำแย่ลง โดยเฉพาะอย่างยิ่งการส่งออกด้านการบริการที่มีมูลค่าสูงไปยังสหภาพยุโรป (EU) ซึ่งรวมถึงการบริการด้านการเงิน
ประการที่สองคือ ความไม่แน่นอนในระยะยาวจะส่งผลกระทบต่อการเติบโตในระยะสั้นของอังกฤษ เนื่องจากบริษัทเอกชนจะชะลอการลงทุน
และประการที่สาม การเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นในประเทศต่างๆรอบนอกอังกฤษนั้น จะทำให้อุปสงค์การนำเข้าของอังกฤษอ่อนแอลง
นายกฯญี่ปุ่น ระบุ จะแทรกแซงตลาดอัตราแลกเปลี่ยนหากจำเป็น
นายชินโสะ อาเบะ นายกรัฐมนตรีญี่ปุ่น ระบุในวันนี้ว่า ตัวเขาได้มอบหมายให้รัฐมนตรีกระทรวงการคลังจับตาตลาดอัตราแลกเปลี่ยนอย่างใกล้ชิดมากกว่าปกติ และดำเนินมาตรการที่จำเป็น
นายอาเบะ ระบุว่า “ความเสี่ยงและความผันผวนยังคงมีอยู่ในตลาดการเงิน เราต้องดูแลเพื่อรักษาเสถียรภาพของตลาด”
นายกรัฐมนตรีจีนระบุว่า Brexit ได้เพิ่มความไม่แน่นอนให้เศรษฐกิจทั่วโลก
นาย หลี่ เค่อ เฉียง นายกรัฐมนตรีจีน ระบุว่า Brexit ได้เพิ่มผันผวนต่อเศรษฐกิจทั่วโลก และยังเน้นย้ำถึงความปรารถนาของจีนที่จะเห็นความเป็นปึกแผ่นและมีเสถียรภาพของสหภาพยุโรป
นอกจากนี้นายหลี่ เค่อ เฉียง ยังคงเชื่อมั่นต่อเศรษฐกิจจีนโดยระบุว่า เศรษฐกิจจีนจะยังคงเติบโตอย่างมีเสถียรภาพในไตรมาส 2 ปีนี้ หลังจากที่ขยายตัว 6.7% ในช่วง 3เดือนแรกของปีนี้
จีนเผยกำไรภาคอุตสาหกรรมขยายตัวช้าลงในเดือน พ.ค.
สำนักงานสถิติแห่งชาติจีน (NBS) เปิดเผยว่า ผลกำไรเดือนพ.ค.ของบริษัทอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ของจีน ปรับตัวขึ้น 3.7% เทียบเป็นรายปี สู่ระดับ 5.37 แสนล้านหยวน แต่ตัวเลขดังกล่าวขยายตัวในอัตราที่ชะลอลงเมื่อเทียบกับเดือนเม.ย.ที่มีการขยายตัว 4.2%
ทั้งนี้ NBS ได้ทำการสำรวจผลกำไรของบริษัทอุตสาหกรรมที่มีรายได้ต่อปีมากกว่า 20 ล้านหยวน หรือประมาณ 3.1 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
สำนักงานสถิติแห่งชาติ ระบุว่า ใน 5 เดือนแรกของปีนี้มีผลกำไรเพิ่มสูงขึ้น 6.4% เมีอเปรียบเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา
ทั้งนี้ข้อมูลกำไรของบริษัทจีนในไตรมาสแรกนั้นปรับตัวสูงขึ้นอย่างแข็งแกร่ง โดยเฉพาะอย่างยิ่งเดือน มี.ค. ได้ทำให้เกิดความคาดหวังว่าเศรษฐกิจจีนจะปรับตัวสูงขึ้นได้ อย่างไรก็ดี ข้อมูลเศรษฐกิจที่ชะลอตัวลงนับตั้งแต่เดือน เม.ย. เป็นต้นมา ได้ดับความหวังนั้นลง
น้ำมันดิบทรงตัวในวันนี้
ในวันนี้ราคาน้ำมันดิบทรงตัว เนื่องจากนักลงทุนในตลาดได้ตอบสนองต่อข้อมูล Brexit ไปเรียบร้อยแล้ว รวมถึงตระหนักได้ว่าการออกจากอียูของอังกฤษมีผลเพียงเล็กน้อยต่อความต้องการน้ำมันดิบโลก
ราคาน้ำมันดิบ WTI ปรับตัวสูงขึ้น 0.06% สู่ระดับ 47.67 เหรียญ/บาร์เรล ขณะที่น้ำมันดิบ BRENT ปรับตัวสูงขึ้น 0.24% สู่ระดับ 49.16 เหรียญ/บาร์เรล
น้ำมันดิบปรับตัวลดลงประมาณ 5% เมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมา ท่ามกลางความผันผวนอย่างหนักของตลาดการเงินทั่วโลก เนื่องจากการทำประชามติของอังกฤษ
อย่างไรก็ดี วันนี้ราคาน้ำมันดิบยังคงทรงตัว เนื่องจากนักวิเคราะห์มองว่าการที่อังกฤษออกจากสหภาพยุโรปส่งผลกระทบเพียงเล็กน้อยต่อความต้องการน้ำมันจริง