• สรุปข่าวเศรษฐกิจ (ภาคค่ำ) ประจำวันที่ 11 มีนาคม 2559

    11 มีนาคม 2559 | Economic News



สำนักข่าวรอยเตอร์ส รายงานว่า การประชุมเฟดในสัปดาห์หน้า น่าจะได้เห็นท่าทีของเฟดว่าต้องกรปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยมากขึ้น

ในระยะหลังมานี้ มีปัจจัยบวกสู่เศรษฐกิจสหรัฐฯและทำให้ตลาดกลับเข้าสู่มุมมองที่เฟดคาดการณ์มากขึ้น ความกังวลเกี่ยวกับภาวะถดถอยของเศรษฐกิจสหรัฐฯลดน้อยลง และคาดว่าในการประชุมของเฟดในสัปดาห์หน้า เฟดน่าจะเน้นย้ำถึงความมั่นใจในการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในปีนี้

ทั้งนี้ตลาดหุ้นสหรัฐฯปรับตัวลดลงอย่างหนักในช่วงเดือน ม.ค. ไปจนถึงกลางเดือน ก.พ. จากความกังวลต่อการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างของเศรษฐกิจจีน การชะลอตัวของเศรษฐกิจโลก และราคาน้ำมันที่ตกต่ำ สร้างความกังวลต่อเศรษฐกิจสหรัฐฯ

อย่างไรก็ตามความกังวลดังกล่าวได้เบาบางลงไป จากตัวเลขเศรษฐกิจสหรัฐฯที่ออกมาดีเกินคาด โดยในเดือน ก.พ. ที่ผ่านมา ตัวเลขการจ้างงานสหรัฐฯออกมาดีเกินคาดที่ 242,000 ตำแหน่ง และการจ้างงานยังคงอยู่ในระดับต่ำที่ 4.9%, การใช้จ่ายผู้บริโภคสหรัฐฯซึ่งคิดเป็นสัดส่วนกว่า 2 ใน 3 ของกิจกรรมทางเศรษฐกิจสหรัฐฯเองก็แข็งแกร่งขึ้น โดยในเดือน ม.ค. เติบโตขึ้นมากที่สุดในรอบกว่า 10 เดือน

ดังนั้นหลังจากที่ดัชนี S&P 500 ทำจุดต่ำสุดในรอบ 2 ปี ไปเมื่อ 11 ก.พ. ก็ได้ปรับตัวสูงขึ้นกว่า 9.5% รวมถึงผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯเองก็ปรับตัวสูงขึ้น 35 basis point สู่ระดับ 1.90% ในช่วงเช้าของวันพฤหัสบดี

อีกทั้งราคาน้ำมันดิบที่เริ่มปรับตัวสูงขึ้นในระยะหลัง จะช่วยหนุนอัตราเงินเฟ้อของสหรัฐฯอีกเช่นกัน ทั้งนี้ในสรุปการประชุมเดือน ธ.ค. ของเฟด ระบุว่า การปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในอนาคต ขึ้นอยู่กับความก้าวหน้าของอัตราเงินเฟ้อ

หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ระหว่างประเทศ ของ Deutsche Bank ระบุว่า ในระยะหลังมานี้ตลาดการเงินกลับมามีเสถียรภาพอีกครั้ง

สำนักข่าวรอยเตอร์ส รายงานว่า ผู้สังเกตการณ์เฟด กล่าวว่า ในการประชุมเฟดในเดือน ม.ค. ที่ผ่านมา เฟดได้แสดงท่าทีว่าต้องการประเมินความเสี่ยงของระบบเศรษฐกิจ แต่ในการประชุมในสัปดาห์หน้า เฟดน่าจะแสดงท่าทีว่าต้องการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยมากขึ้น

ทั้งนี้เฟดมีกำหนดการประชุมในวันที่ 15-16 มี.ค. นี้

จากผลการสำรวจนักเศรษฐศาสตร์จำนวน 40 คน โดย Bloomberg ระบุว่า กว่า 80% คาดการณ์ว่าบีโอเจจะใช้อัตราดอกเบี้ยเป็นเครื่องมือในการขยายมาตรการทางการเงิน โดยการลดอัตราดอกเบี้ยลง และเกือบ 90% คาดการณ์ว่าบีโอเจจะขยายมาตรการทางการเงินภายในเดือน ก.ค. นี้ ทั้งนี้มีนักเศรษฐศาสตร์เพียง 5 ราย (12.5%) ที่คาดการณ์ว่า บีโอเจจะขยายมาตรการทางการเงินเพิ่มเติมในการประชุมในสัปดาห์หน้า

นักเศรษฐศาสตร์จาก HSBC ระบุว่า การผ่อนคลายมาตรการในการประชุมสัปดาห์หน้าดูเป็นไปได้ไม่มากนัก เนื่องจากตลาดการเงินกำลังหาจุดดุลยภาพของมันอยู่ โดย HSBC คาดการณ์ว่ากรณีที่เป็นไปได้มากที่สุดคือบีโอเจจะผ่อนคลายมาตรการทางการเงินในเดือน ก.ค. นี้ เนื่องจากบีโอเจต้องการระยะเวลาในการพิจารณาผลกระทบจากการใช้อัตราดอกเบี้ยติดลบ

นายเอ็ดสึโตะ ฮอนดะ (Etsuro Honda) ผู้ช่วยนายกรัฐมนตรีญี่ปุ่นนาย ชินโสะ อาเบะ กล่าวกับสำนักข่าวBloomberg เมื่อวานนี้ว่า บีโอเจกำลังพิจารณาผลกระทบจากนักลงทุนในตลาดจากการประกาศใช้อัตราดอกเบี้ยติดลบเมื่อเดือน ม.ค. ที่ผ่านมา

ทั้งนี้บีโอเจจะมีกำหนดการประชุมในวันที่ 14-15 มี.ค. นี้

ในวันนี้ราคาน้ำมันดิบ WTI ปรับตัวสูงขึ้น 2.09% ในวันนี้ สู่ระดับ 38.63 เหรียญ/บาร์เรล ขณะที่น้ำมันดิบ BRENTปรับตัวสูงขึ้น 1.70% สู่ระดับ 40.72 เหรียญ/บาร์เรล

นักวิเคราะห์จากรอยเตอร์ส ระบุว่า ราคาน้ำมันดิบปรับตัวสูงขึ้นในวันนี้ เนื่องจากค่าเงินหยวนที่แข็งค่าขึ้น ซึ่งช่วยให้จีนสามารถนำเข้าน้ำมันดิบได้ในราคาที่ถูกลง จะช่วยหนุนความต้องการน้ำมันดิบของจีน อย่างไรก็ตามนักวิเคราะห์หลายราย เตือนว่า แม้ราคาน้ำมันดิบจะสามารถปรับตัวสูงขึ้นได้ในช่วงนี้ แต่ภาวะอุปทานล้นตลาดยังคงอยู่

ทั้งนี้ค่าเงินหยวนแข็งค่าขึ้นสู่ระดับที่แข็งมากที่สุดในปีนี้ โดยอยู่ที่ระดับ 6.4877 หยวน/ดอลลาร์ สะท้อนถึงการอ่อนค่าลงของค่าเงินดอลลาร์ ซึ่งได้รับผลกระทบจากการประชุมอีซีบีเมื่อวานนี้

นอกจากค่าเงินหยวนที่แข็งค่าขึ้นจะช่วยหนุนความต้องการน้ำมันดิบของจีนแล้ว ค่าเงินดอลลาร์ที่อ่อนค่าลง ยังช่วยหนุนราคาน้ำมันดิบอีกด้วย

ทั้งนี้ราคาน้ำมันดิบที่ปรับตัวสูงขึ้นในวันนี้ เกิดขึ้นหลังจากที่เมื่อคืนนี้ราคาน้ำมันดิบปรับตัวลดลง เนื่องจากการที่อิหร่านแสดงท่าทีไม่ต้องการเข้าร่วมการประชุมคงระดับกำลังการผลิตกับผู้ผลิตน้ำมันรายอื่นๆ

การคว่ำบาตรอิหร่านที่พึ่งถูกยกเลิกไปนั้น ได้ทำให้อิหร่านผลิตน้ำมันน้อยลงกว่าวันละ 1 ล้านบาร์เรล และอิหร่านระบุว่าจะไม่ยอมพูดคุยในการตรึงกำลังการผลิตกับซาอุดิอาระเบียและรัสเซีย ซึ่งผลิตน้ำมันดิบมากกว่าวันละ 10 ล้านบาร์เรล

ในปัจจุบันมีการผลิตน้ำมันดิบมากกว่าความต้องการวันละกว่า 1 ล้านบาร์เรล ซึ่งส่งผลให้สต็อกน้ำมันดิบในโลกปรับตัวสูงขึ้น ดังนั้นหากสามารถลดปริมาณอุปทานลงไปได้ อาทิ ลดกำลังการผลิตลง จะช่วยหนุนราคาน้ำมันดิบให้ปรับตัวสูงขึ้นไปได้อีก

นักวิเคราะห์จาก HSBC ระบุว่า ปัญหา ณ ปัจจุบันคือมีน้ำมันดิบซึ่งเกินความต้องการเข้ามาในตลาด ดังนั้นแม้ความต้องการจากจีนจะสูงขึ้น ก็น่าจะไม่เพียงพอต่อที่จะทำให้ราคาน้ำมันดิบสามารถปรับตัวสูงขึ้นได้อย่างยั่งยืน ดังนั้นการปรับลดกำลังการผลิตจึงเป็นสิ่งจำเป็น

บริษัท เอ็มทีเอส โกลด์ จำกัด
40,42,44 ถนนทรัพย์สิน แขวงวังบูรพาภิรมย์เขตพระนคร กรุงเทพ 10200
โทรศัพท์ 0 2770 7777 โทรสาร 0 2623 9366 E-mail: support@mtsgoldgroup.com