• สรุปข่าวเศรษฐกิจ (ภาคค่ำ) ประจำวันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2559

    15 กุมภาพันธ์ 2559 | Economic News


ธนาคารกลางจีนพยายามสร้างเสถียรภาพให้แก่ค่าเงินหยวนและเศรษฐกิจ โดยผู้ว่าการธนาคารกลางจีน นายZhou Xiaochuan กล่าวในวันเสาร์ที่ผ่านมาว่า ไม่มีความจำเป็นที่จะต้องอ่อนค่าเงินหยวนต่อไป ดุลการชำระเงิน(Balance of Payments) ของจีนยังแข็งแกร่ง เงินทุนไหลออกยังอยู่ในระดับปกติ และอัตราแลกเปลี่ยนเสถียรภาพเมื่อเทียบกับตะกร้าเงิน




การส่งออกของจีนประจำเดือนมกราคมหดตัวลดลงอย่างรุนแรงถึง -11.2% (เดิม -1.4%, คาดการณ์ -1.9%)เมื่อเทียบรายปี และการนำเข้าหดตัวลง -18.8% (เดิม -7.6%, คาดการณ์ -0.8%) ขณะที่ดุลการค้าเกินดุล 6.33 หมื่นล้านเหรียญ (คาดการณ์ 5.885 หมื่นล้านเหรียญ)

ขณะที่ในสกุลหยวน การส่งออกจีนหดตัวลง 6.6% และการนำเข้าหดตัวลง 14.4% เมื่อเทียบรายปี และดุลการค้าเกินดุล 4.062 แสนล้านหยวนในเดือนมกราคม

ทั้งนี้การส่งออกหดตัวลงติดต่อกันเป็นเดือนที่ 7 และนำเข้าหดตัวลงติดต่อกันเป็นเดือนที่ 15

นักวิเคราะห์จาก Nomura ระบุว่า การส่งออกที่แย่กว่าที่คาดการณ์แสดงให้เห็นถึงอุปสงค์ที่อ่อนแอจากต่างประเทศ ทั้งนี้การค้าที่ชะลอตัวลงสะท้อนให้เห็นถึง อุปสงค์การลงทุนที่ชะลอตัวลง โดยอาจเกิดจากการลงทุนในอสังหาริมทรัพย์ที่ชะลอตัวและมาตรการที่พยายามลดกำลังการผลิตส่วนเกิน




GDP ญี่ปุ่นประจำไตรมาสที่ 4/2015 หดตัวลง -0.4% เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนหน้า และทั้งปี 2015 หดตัว -1.4% มากกว่าที่นักวิเคราะห์ 33 คน จากการสำรวจของ Bloomberg คาดการณ์ว่าจีดีพีญี่ปุ่นจะหดตัวเฉลี่ย -0.8%

เศรษฐกิจญี่ปุ่นเผชิญกับการหดตัวในไตรมาสสุดท้ายของปี 2015 แม้ว่าจะใช้นโยบาย Abenomics มากว่า 3 ปี แล้วก็ตาม โดยการหดตัวมีปัจจัยสำคัญมาจากการบริโภคภาคเอกชนที่หดตัวลง

ในเดือนมกราคมที่ผ่านมาค่าเงินเยนที่แข็งค่าขึ้นกว่า 6% เมื่อเทียบกับสกุลดอลลาร์ แม้กระทั่งบีโอเจประกาศผ่อนคลายทางการเงินเพิ่มเติมแล้วก็ตาม ค่าเงินเยนที่แข็งค่าขึ้นทำให้การส่งออกหดตัวลง

หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์จาก Meiji Yasuda Life Insurance Co. ระบุว่า การบริโภคภาคเอกชนนั้นอ่อนแอแม้ว่าจะนำปัจจัยทางฤดูกาลออกไปก่อนตาม ความเสี่ยงที่กดดันเศรษฐกิจญี่ปุ่นปัจจุบันน่าจะได้แก่ 1.การแข็งค่าขึ้นของค่าเงินเยน ซึ่งกดดันรายจ่ายฝ่ายทุน(Capital Spending) และการส่งออก และ 2.การชะลอตัวของการบริโภคภาคเอกชน ส่งผลให้ขณะนี้ยังไม่มีปัจจัยขับเคลื่อนใดๆที่หนุนการเติบโตเศรษฐกิจของญี่ปุ่นชัดเจน



ยอดค้าปลีกสหรัฐฯประจำเดือนมกราคมออกมาดีเกินคาดที่ระดับ 0.2% เมื่อเทียบรายเดือน (เดิม 0.2%, คาดการณ์ 0.1%) อย่างไรก็ตามยอดค้าปลีกสหรัฐฯถูกกดดันจากยอดขายน้ำมันที่หดตัวลง 3.1%

ภาคค้าปลีกที่เติบโตมากที่สุดในเดือนมกราคมคือ การค้าปลีกแบบไม่มีหน้าร้าน(Non-store Retailers) ซึ่งเติบโต 1.6% และการค้าปลีกเบ็ดเตล็ด (Miscellaneous Retailers) ซึ่งเติบโต 1.2% รวมถึงยอดค้าวัสดุก่อสร้างปรับตัวสูงขึ้นติดต่อกัน 4 เดือน โดยในเดือนมกราคมเติบโต 0.6% หลังจากที่สามารถเติบโตได้ 1.4% ในเดือนธันวาคม

นักเศรษฐศาสตร์จาก Wells Fargo ระบุว่า ยอดค้าปลีกสหรัฐฯแท้จริงแล้วแข็งแกร่งกว่าตัวเลขที่ออกมาเนื่องจากถูกกดดันด้วยยอดขายน้ำมันเชื้อเพลิง ดังนั้นในความเป็นจริงเราคาดว่าการบริโภคสหรัฐฯสามารถเริ่มต้นปี 2016 ได้อย่างแข็งแกร่งเป็นอย่างยิ่ง บางทีสิ่งเดียวที่จะทำให้การบริโภคลดลงคือในวันที่ฝนตกและผู้บริโภคเลือกที่จะเก็บเงินเอาไว้ก่อน ซึ่งนั่นจะทำให้การออมเพิ่มสูงขึ้น ไม่ว่าอะไรก็ตาม เราเชื่อว่า ณ ขณะนี้ ความกังวลว่าจะเกิดภาวะถดถอยทางเศรษฐกิจของสหรัฐฯอาจจะกังวลกันเกินจริง

ราคาน้ำมันดิบ Brent ปรับตัวลดลงในวันนี้เนื่องจากค่าเงินดอลลาร์ที่แข็งค่าขึ้นและตัวเลขการค้าจีนที่อ่อนแอ ส่งผลให้เกิดความกังวลต่ออุปสงค์น้ำมันดิบจากประเทศจีนซึ่งเป็นผู้บริโภคน้ำมันขนาดใหญ่ที่สุดในโลก โดยราคาน้ำมันดิบ Brent ซีรีย์หมดอายุเดือนเมษายนปรับตัวลดลง 1.244% สู่ระดับ 32.95 เหรียญ/บาร์เรล


บริษัทให้คำปรึกษา Gavin/Solmonese ระบุว่า มีบริษัทน้ำมันและแก๊สธรรมชาติสหรัฐฯ อย่างน้อย 67 ราย ยื่นขอล้มละลายในปี 2015 เพิ่มขึ้นจาก 14 รายในปี 2014 หรือเพิ่มขึ้นกว่า 379%



ทั้งนี้ ข้อมูลจาก World Bank ระบุว่า ราคาน้ำมันดิบเฉลี่ยในปี 2014 อยู่ที่ 96.2 เหรียญ/บาร์เรล ปี 2015 อยู่ที่ 50.8 เหรียญ/บาร์เรล และในเดือนมกราคมที่ผ่านมาอยู่ที่ 29.8 เหรียญ/บาร์เรล

ในปีนี้ราคาน้ำมันยังคงลดลงต่อเนื่อง จนส่งผลให้มีบริษัทน้ำมันล้มละลายเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยบริษัทกฎหมาย Haynes and Boone ระบุว่า มีบริษัทผู้ผลิตน้ำมันสหรัฐฯอย่างน้อย 5 แห่ง ล้มละลายใน 5 สัปดาห์แรกของปีนี้


บริษัท เอ็มทีเอส โกลด์ จำกัด
40,42,44 ถนนทรัพย์สิน แขวงวังบูรพาภิรมย์เขตพระนคร กรุงเทพ 10200
โทรศัพท์ 0 2770 7777 โทรสาร 0 2623 9366 E-mail: support@mtsgoldgroup.com