• สรุปข่าวเศรษฐกิจ (ภาคค่ำ) ประจำวันที่ 12 กุมภาพันธ์ 2559

    12 กุมภาพันธ์ 2559 | Economic News





สำนักข่าว Bloomberg รายงานว่า ค่าเงินของเอเชียแข็งค่าขึ้นเนื่องจากปัจจัยภายนอก โดย บาท, ริงกิต และรูเปีย แข็งค่าขึ้นมากที่สุด เนื่องจากความสัมพันธ์ระหว่างค่าเงินดังกล่าวกับจีนมีน้อยลง และสัญญาณการผ่อนคลายทางการเงินจากเฟด

ค่าเงิน ริงกิตมาเลเซีย, บาทไทย และรูเปียอินโดนีเซีย แข็งค่าขึ้นมากที่สุดในกลุ่มประเทศตลาดเกิดใหม่เอเชีย ในรอบ 3 เดือนที่ผ่านมา

นักกลยุทธ์จาก Deutsche Bank AG ระบุว่า ตลาดดังกล่าวได้รับประโยชน์จากการกระแสการขึ้นอัตราดอกเบี้ยของเฟดที่ลดน้อยลง ทำให้มีแรงเข้าซื้อสินทรัพย์ที่มีอัตราผลตอบแทน(Yield)สูงกว่า เช่น อินโดนีเซีย ขณะที่ค่าเงินของประเทศในเอเชียเหนือมีความสัมพันธ์กับค่าเงินหยวนของจีนมากกว่า จึงทำให้ถูกกดดันจากการอ่อนค่าของค่าเงินหยวน

หัวหน้าฝ่ายกลยุทธ์ตราสารหนี้และอัตราแลกเปลี่ยนประจำ Macquarie Bank Ltd. ระบุว่า อัตราเงินเฟ้อที่ต่ำและอัตราการเติบโตที่สูงขึ้นของอินโดนีเซีย กำลังดึงดูดกองทุนจากต่างประเทศ ขณะที่รัฐบาลมาเลเซีย กำลังพยายามรักษาระดับการขาดดุลงบประมาณให้อยู่ในกรอบเป้าหมายและรักษาระดับการส่งออกแม้ว่าราคาน้ำมันจะปรับตัวลดลงก็ตาม โดยอัตราแลกเปลี่ยนได้รับรู้ปัจจัยลบไปแล้วในปี 2015



นาย John Cryan ผู้ช่วย CEO ประจำ Deutsche Bank AG กล่าวว่า งบดุลของธนาคารฯยังคงแข็งแกร่งในสัปดาห์นี้ หลังจากที่หุ้นและตราสารหนี้ของ Deutsche Bank ปรับตัวลดลงอย่างหนัก อย่างไรก็ตามเมื่อพิจารณาถึงทุนและความเสี่ยงที่มี Deutsche Bank ล้าหลังกว่าคู่แข่งรายสำคัญทุกราย

โดย อัตราทด(Leverage Ratio) ตามมาตรฐาน Basel III ของ Deutsche Bank นั้น อยู่ที่ระดับ 3.5% น้อยที่สุดเมื่อเทียบกับคู่แข่ง โดยน้อยกว่าคู่แข่งที่น้อยที่สุด 0.5%

อาจดูเหมือนไม่มากนัก แต่การจะเพิ่มจากระดับ 3.5% สู่ระดับ 4% Deutsche Bank ต้องมีทุนเพิ่มขึ้น 7,000 ล้านยูโร หรือเพิ่มจากที่มีอยู่ 15%หรือในทางกลับกัน Deutsche Bank ต้องลดสินทรัพย์ลงราว 178,000 ล้านยูโร หรืออาจไม่ทำอะไรเลยก็ได้ เนื่องจากเกณฑ์ขั้นต่ำคือ 3%

นาย Ronald Weichert โฆษกของ Deutsche Bank ปฏิเสธให้ความเห็นกับอัตราทดดังกล่าว

*อัตราทดดังกล่าวเป็นการเปรียบเทียบว่ามีทุนใน Tier 1 (ประกอบด้วยส่วนของผู้ถือหุ้นและกำไรสะสม) เทียบกับสินทรัพย์ทั้งหมดเป็นกี่ %

ทั้งนี้ธนาคารในสหรัฐฯมีอัตราทดดังกล่าวสูงกว่าธนาคารในยุโรป เนื่องจากหน่วยงานกำกับดูแลของสหรัฐฯกำหนดให้มีอัตราทดขั้นต่ำ 5% โดยธนาคารนานาชาติที่มีอัตราทดสูงที่สุดคือ Citigroup ที่ระดับ 7.1% ขณะที่ Wells Fargo & Co. ซึ่งมุ่งกับการให้กู้ยืมภายในประเทศ อยู่ที่ระดับ 7.8%

วันนี้ราคาน้ำมันดิบ WTI ในตลาด NYMEX วันนี้ปรับตัวสูงขึ้น 0.86 เหรียญ/บาร์เรล (3.3%) สู่ระดับ 27.07 เหรียญ/บาร์เรล หลังจากที่ปิดลบกว่า 4.5% เมื่อคืนนี้ โดยทำจุดต่ำสุดบริเวณ 26.05 เหรียญ/บาร์เรล ซึ่งต่ำสุดในรอบ 13 ปี

ราคาน้ำมันปรับตัวสูงขึ้นในวันนี้หลังจากที่รัฐมนตรีพลังงานประจำสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์(United Arab Emirates: UAE) ระบุว่า กลุ่มโอเปค ต้องการที่จะประชุมร่วมกับประเทศผู้ส่งออกน้ำมันรายอื่นๆเกี่ยวกับการปรับลดกำลังการผลิต ถึงแม้ว่าราคาน้ำมันที่ตกต่ำจะบังคับให้ผู้ผลิตบางรายต้องลดกำลังการผลิตลงแล้วก็ตาม

อย่างไรก็ตาม สำนักข่าวรอยเตอร์ส ระบุว่า นักวิเคราะห์ส่วนใหญ่ ยังคงมองว่าโอกาสที่จะเกิดข้อตกลงการปรับลดกำลังการผลิตระหว่างกลุ่มOPEC และผู้ผลิตรายอื่นๆยังคงมีน้อย

นักวิเคราะห์จาก ANZ ระบุว่า ถ้อยแถลงของรัฐมนตรีพลังงานของ UAE เป็นเพียงการพยายามชักจูงตลาดเท่านั้น ความเป็นไปได้ที่จะเกิดการร่วมมือเพื่อปรับลดกำลังการผลิตยังคงต่ำมาก

ขณะที่ราคาน้ำมันดิบในปีนี้ยังคงอยู่ในระดับต่ำ แต่ความผันผวนอยู่ในระดับสูง โดยการที่ราคาจะขึ้นหรือลง 10% สามารถเกิดขึ้นได้ภายในเวลาไม่กี่วัน

Investment bank Jefferies คาดการณ์ว่า ความผันผวนในตลาดน้ำมันดิบในช่วงนี้จะยังคงอยู่ต่อไป และตลาดน้ำมันดิบจะเริ่มเข้าสู่การปรับสมดุลในครึ่งปีหลัง

เมื่อวานนี้ประธานเฟด นางเจเน็ต เยลเลน ระบุว่า ราคาพลังงานจะไม่ปรับตัวลดลงอีกและมีเสถียรภาพ อย่างไรก็ตามมันยากที่จะระบุชี้ชัดว่าเกิดขึ้นเมื่อไหร่


บริษัท เอ็มทีเอส โกลด์ จำกัด
40,42,44 ถนนทรัพย์สิน แขวงวังบูรพาภิรมย์เขตพระนคร กรุงเทพ 10200
โทรศัพท์ 0 2770 7777 โทรสาร 0 2623 9366 E-mail: support@mtsgoldgroup.com