• สรุปข่าวราคาทองคำ ประจำวันที่ 25 กรกฎาคม 2566

    25 กรกฎาคม 2566 | Gold News


ข่าวเกี่ยวกับทองคำ


  • สัญญาทองคำตลาดนิวยอร์กปิดลบในวันจันทร์ เนื่องจากการแข็งค่าของดอลลาร์เป็นปัจจัยกดดันตลาด ขณะที่นักลงทุนจับตาการประชุมของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ในสัปดาห์นี้ รวมทั้งถ้อยแถลงของนายเจอโรม พาวเวล ประธานเฟด


  • ราคาทองคำตลาดโลก ปรับตัวลดลง -7.24 เหรียญ หรือ -0.37% อยู่ที่ระดับ 1,954.72 เหรียญ
  • สัญญาทองคำตลาด COMEX ส่งมอบเดือนส.ค. ลดลง 4.40 เหรียญ หรือ 0.2% ปิดที่ 1,962.20 เหรียญ
  • สัญญาโลหะเงินส่งมอบเดือนก.ย. ลดลง 27 เซนต์ หรือ 1.1% ปิดที่ 24.58 เหรียญ
  • สัญญาพลาตินัมส่งมอบเดือนต.ค. ลดลง 2.70 เหรียญ หรือ 0.3% ปิดที่ 969.50 เหรียญ
  • กองทุนทองคำ SPDR วันก่อนหน้าไม่เปลี่ยนแปลง ปัจจุบันถือครองที่ 919.0 ตันภาพรวมเดือนกรกฎาคม ขายสุทธิ 2.9 ตัน ขณะที่ปีนี้ ตั้งแต่ 1 ม.ค. - ปัจจุบัน ซื้อสุทธิ 1.36 ตัน


  • นักวิเคราะห์จากบริษัท Exinity Group กล่าวว่านักลงทุนจับตาการประชุมเฟดในวันที่ 25-26 ก.ค.นี้ โดยส่วนใหญ่คาดว่าเฟดจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย 0.25% ในการประชุมครั้งนี้ เราคาดว่าหากเฟดส่งสัญญาณใด ๆ ที่ทำให้ตลาดคาดการณ์ว่าจะไม่มีการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยอีกในปีนี้หลังจากที่ปรับขึ้นในการประชุมเดือนนี้แล้ว ราคาทองคำก็อาจจะดีดตัวขึ้นแตะระดับ 2,000 ดอลลาร์ได้อีกครั้ง


ข่าวเกี่ยวกับค่าเงิน และธนาคารกลาง 


  • ดัชนีดอลลาร์ ปรับตัวขึ้น 0.34 จุด หรือ 0.34% มาอยู่ที่ระดับ 101.42 จุด
  • อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐอายุ 10 ปี ปรับตัวขึ้น 0.03 % มาอยู่ที่ระดับ 3.876% ในขณะที่อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐอายุ 2 ปี ปรับตัวขึ้น 0.06 % มาอยู่ที่ระดับ 4.921% โดยที่ส่วนต่างอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐ 10 ปี น้อยกว่า 2 ปี เท่ากับ-1.05% 


  • รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลังญี่ปุ่นเปิดเผยว่า อัตราเงินเฟ้อและค่าจ้างของญี่ปุ่นพุ่งขึ้นมากกว่าที่คาดการณ์ไว้ในช่วงที่ผ่านมา ซึ่งบ่งชี้ถึงว่าแนวทางการกำหนดค่าจ้างของภาคเอกชนญี่ปุ่นกำลังเปลี่ยนแปลงไป โดยสถานการณ์ดังกล่าวอาจจะทำให้ธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ) ปรับเพิ่มคาดการณ์อัตราเงินเฟ้อในการประชุมนโยบายการเงินสัปดาห์นี้


ข่าวเกี่ยวกับตลาดหุ้นและเศรษฐกิจ


  • ดัชนีดาวโจนส์ตลาดหุ้นนิวยอร์กปิดบวกติดต่อกันเป็นวันที่ 11 ในวันจันทร์ ซึ่งเป็นการปิดในแดนบวกติดต่อกันยาวนานที่สุดในรอบ 6 ปี ขณะที่นักลงทุนจับตารายงานผลประกอบการของบริษัทจดทะเบียน และการประชุมของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ในสัปดาห์นี้


  • ดัชนีเฉลี่ยอุตสาหกรรมดาวโจนส์ปิดที่ 35,411.24 จุด เพิ่มขึ้น 183.55 จุด หรือ +0.52%
  • ดัชนี S&P500 ปิดที่ 4,554.64 จุด เพิ่มขึ้น 18.30 จุด หรือ +0.40%
  • ดัชนี Nasdaq ปิดที่ 14,058.87 จุด เพิ่มขึ้น 26.06 จุด หรือ +0.19%


  • สำนักข่าวซีเอ็นบีซีรายงานว่า วาณิชธนกิจรายใหญ่ระดับโลกหลายแห่งได้ปรับเปลี่ยนการคาดการณ์ตัวเลขผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (GDP) ของจีน เกือบทุกเดือนในปีนี้ โดยเจพีมอร์แกน (JPMorgan) ได้มีการปรับเปลี่ยนไปแล้ว 6 ครั้ง นับตั้งแต่เดือนม.ค. โดยเจพีมอร์แกนเพิ่งปรับลดการคาดการณ์ GDP ปีนี้ของจีนในเดือนก.ค. สู่การขยายตัว 5% ลดลงจากที่เคยคาดการณ์ก่อนหน้านี้ว่าจะขยายตัว 5.5% ซึ่งสอดคล้องกับซิตี้ (Citi) และมอร์แกน สแตนลีย์ (Morgan Stanley) ที่ต่างก็ปรับลดคาดการณ์ GDP จีนสู่การขยายตัว 5%


  • นักเศรษฐศาสตร์คาดการณ์ว่า ผู้นำระดับสูงของจีนจะออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจในสัปดาห์นี้ แต่คาดว่ามาตรการดังกล่าวจะไม่แข็งแกร่งมากพอที่จะพลิกฟื้นเศรษฐกิจได้ ซึ่งจะสร้างความผิดหวังให้กับตลาดการเงินที่ต้องการให้จีนออกมาตรการเชิงรุกเพื่อรับมือกับการชะลอตัวของเศรษฐกิจในประเทศ


  • กิจกรรมภาคการผลิตของญี่ปุ่นหดตัวต่อเนื่องในเดือนก.ค. ขณะที่ภาคบริการเติบโตชะลอตัวลง เนื่องจากธุรกิจในญี่ปุ่นได้รับผลกระทบจากอุปสงค์ที่อ่อนแอและความเชื่อมั่นที่ถดถอย ทั้งนี้ ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) ภาคการผลิตขั้นต้นเดือนก.ค. อยู่ที่ 49.4 ในเดือนก.ค. ลดลงจากระดับ 49.8 ในเดือนมิ.ย. โดยระดับต่ำกว่า 50 บ่งชี้ว่า กิจกรรมธุรกิจอยู่ในภาวะหดตัว ขณะเดียวกัน ดัชนี PMI ภาคบริการขั้นต้นเดือนก.ค.ได้รับการปรับค่าตามฤดูกาลและลดลงสู่ระดับ 53.9 จากเดิม 54.0 ในเดือนมิ.ย. ซึ่งถือเป็นระดับต่ำสุดนับตั้งแต่เดือนม.ค. โดยกลุ่มที่มีการเติบโตชะลอตัวที่สุดในภาคบริการนับตั้งแต่เดือนม.ค.คือกลุ่มธุรกิจใหม่ ขณะที่แนวโน้มการจ้างงานพลิกกลับมาเป็นถดถอย

ข่าวเกี่ยวกับน้ำมัน


  • สัญญาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัส (WTI) ตลาดนิวยอร์กปิดพุ่งขึ้นกว่า 2% ในวันจันทร์ โดยได้แรงหนุนจากภาวะอุปทานน้ำมันตึงตัวในตลาดโลก รวมทั้งความหวังที่ว่าการออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของจีนจะเป็นปัจจัยหนุนความต้องการใช้น้ำมันในประเทศ


  • สัญญาน้ำมันดิบ WTI ส่งมอบเดือนก.ย. เพิ่มขึ้น 1.67 ดอลลาร์ หรือ 2.1% ปิดที่ 78.74 ดอลลาร์/บาร์เรล ซึ่งเป็นระดับปิดสูงสุดในรอบเกือบ 3 เดือนหรือนับตั้งแต่วันที่ 24 เม.ย. 2566
  • สัญญาน้ำมันดิบเบรนท์ (BRENT) ส่งมอบเดือนก.ย. เพิ่มขึ้น 1.67 ดอลลาร์ หรือ 2.1% ปิดที่ 82.74 ดอลลาร์/บาร์เรล ซึ่งเป็นระดับปิดสูงสุดนับตั้งแต่วันที่ 19 เม.ย.


  • โกลด์แมน แซคส์คาดการณ์ว่า อุปสงค์น้ำมันที่อยู่ในระดับสูงเป็นประวัติการณ์จะทำให้ราคาน้ำมันดิบแพงขึ้นในระยะใกล้ รวมถึงคาดการณ์ว่าจะเกิดภาวะขาดแคลนน้ำมันมากพอสมควรในช่วงครึ่งหลังของปีนี้ โดยมีแนวโน้มที่จะขาดแคลนเกือบ 2 ล้านบาร์เรลต่อวันในไตรมาส 3/2566 หลังอุปสงค์แตะระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์ นอกจากนี้โกลด์แมน แซคส์ยังคาดการณ์ว่า ราคาน้ำมันดิบเบรนท์จะขยับขึ้นจากประมาณ 80 ดอลลาร์ต่อบาร์เรลในปัจจุบันเป็น 86 ดอลลาร์ต่อบาร์เรลภายในสิ้นปีนี้
 
  • นายโจเซฟ แมคโมนิเกิล เลขาธิการการประชุมพลังงานสากล (IEF) กล่าวว่า ราคาน้ำมันมีแนวโน้มพุ่งขึ้นในช่วงครึ่งหลังของปี 2566 โดยมีสาเหตุมาจากอุปทานน้ำมันมีไม่เพียงพอที่จะรองรับอุปสงค์


  • ตลาดยังได้แรงหนุนจากความหวังที่ว่ามาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของจีนจะช่วยให้ความต้องการใช้น้ำมันในจีนฟื้นตัวขึ้นด้วย โดยล่าสุดเมื่อวานนี้ คณะกรรมการการพัฒนาและปฏิรูปแห่งชาติจีน (NDRC) ประกาศมาตรการต่าง ๆ ที่มีเป้าหมายเพื่อส่งเสริม, ยกระดับ และกระตุ้นการลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐานของภาคเอกชน พร้อมยืนยันว่า NDRC จะเพิ่มการสนับสนุนด้านการเงินแก่โครงการต่าง ๆ ของภาคเอกชนด้วย


ข่าวเกี่ยวกับการเมืองและการเมืองระหว่างประเทศ



  • สำนักข่าวรอยเตอร์รายงานว่า เมืองต่างๆ ทั่วภาคเหนือของไต้หวันสั่งปิดถนนและสั่งให้ผู้คนเก็บตัวอยู่ในอาคาร เพื่อฝึกซ้อมรับมือการโจมตีทางอากาศประจำปี ตามแผนยกระดับการเตรียมการในกรณีที่จีนก่อเหตุโจมตี ท่ามกลางภัยคุกคามทางทหารที่เพิ่มขึ้นจากจีน


ข่าวเกี่ยวกับเศรษฐกิจไทยและค่าเงินบาท


  • ค่าเงินบาทวันนี้เปิดตลาด 34.60 บาทต่อดอลลาร์ อ่อนค่าจากวันก่อนหน้าที่ 34.50 บาทต่อดอลลาร์ คาดการณ์วันนี้มีแนวรับต่อแนวต้านที่  34.50-34.80 บาทต่อดอลลาร์


  • ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ระบุว่ายังไม่เห็นความจำเป็นที่จะต้องหยุดการปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบาย โดยมองว่าเงินเฟ้ออาจกลับมาสูงขึ้นในระยะถัดไป และควรมีการสร้างขีดความสามารถในการดำเนินนโยบาย(policy space) ทั้งนี้ ธปท.ประเมินว่าเศรษฐกิจไทยครึ่งปีแรกจะขยายตัว 2.9% และครึ่งปีหลังจะเติบโตในอัตรา 4.2% โดยในมุมมองของ ธปท.เห็นว่านโยบายต้องให้น้ำหนักหลักไปที่การรักษาเสถียรภาพมากกว่าการกระตุ้นเศรษฐกิจ ส่วนเงินบาทยังคงมีแนวโน้มผันผวนต่อไป เราคาดว่าข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ และการเมืองในประเทศ จะเป็นปัจจัยขับเคลื่อนกระแสเงินทุนเต่างชาติในระยะนี้


  • ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ ธนาคารไทยพาณิชย์ (SCB EIC) มองเศรษฐกิจไทยในช่วงครึ่งหลังของปี (H2/66) มีแนวโน้มขยายตัวต่อเนื่อง และขยายตัวได้ดีกว่าช่วงครึ่งแรกของปี (H1/66) จากแรงหนุนภาคการท่องเที่ยวและการบริโภคภาคเอกชน โดยในช่วง 6 เดือนแรกของปี นักท่องเที่ยวต่างชาติที่เดินทางมาไทยฟื้นตัวใกล้เคียงประมาณการ ส่งผลให้การบริโภคภาคเอกชนขยายตัวดี โดยเฉพาะหมวดบริการ ประกอบกับความเชื่อมั่นของผู้บริโภค และตลาดแรงงานที่มีแนวโน้มปรับดีขึ้น สำหรับการส่งออกจะทยอยฟื้นตัวดีขึ้นในช่วง H2/66 จากที่หดตัวต่อเนื่องใน H1/66


  • ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยว่า ดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรม เดือนมิ.ย.66 อยู่ที่ระดับ 94.1 ปรับเพิ่มขึ้นจากระดับ 92.5 ในเดือนพ.ค. ซึ่งเป็นการปรับตัวเพิ่มขึ้นครั้งแรกในรอบ 3 เดือน โดยเมื่อพิจารณาในองค์ประกอบของค่าดัชนีฯ พบวว่าปรับตัวเพิ่มขึ้นทุกองค์ประกอบ ทั้งดัชนีฯ คำสั่งซื้อโดยรวม ยอดขายโดยรวม ปริมาณการผลิต ต้นทุนประกอบการ และผลประกอบการ

 


ที่มาจาก : Reuters, Infoquest, BangkokBizNews

Tags : ข่าวทอง, ข่าวทอง , ทอง , ราคาทอง

บริษัท เอ็มทีเอส โกลด์ จำกัด
40,42,44 ถนนทรัพย์สิน แขวงวังบูรพาภิรมย์เขตพระนคร กรุงเทพ 10200
โทรศัพท์ 0 2770 7777 โทรสาร 0 2623 9366 E-mail: support@mtsgoldgroup.com