• สรุปข่าวราคาทองคำ ประจำวันที่ 7 กรกฎาคม 2565

    7 กรกฎาคม 2565 | Gold News

ข่าวเกี่ยวกับทองคำ


  • สัญญาทองคำตลาดนิวยอร์กปิดร่วงลงติดต่อกันเป็นวันที่ 7 ในวันพุธ โดยตลาดยังคงถูกกดดันจากการแข็งค่าของสกุลเงินดอลลาร์ ซึ่งล่าสุดดัชนีดอลลาร์พุ่งขึ้นทะลุระดับ 107 ทำสถิติสูงสุดระดับใหม่ในรอบ 20 ปี


  • ราคาทองคำตลาดโลก ปรับตัวลดลง -30.1 เหรียญ หรือ -1.7% มาอยู่ที่ระดับ 1,739.35 เหรียญ
  • สัญญาทองคำตลาด COMEX ส่งมอบเดือนส.ค. ร่วงลง 27.4 เหรียญ หรือ 1.55% ปิดที่ 1,736.5 เหรียญ ซึ่งเป็นระดับปิดต่ำสุดนับตั้งแต่ต้นเดือนก.ย. 2564
  • สัญญาโลหะเงินส่งมอบเดือนก.ย. เพิ่มขึ้น 3.8 เซนต์ หรือ 0.2% ปิดที่ 19.159 เหรียญ
  • สัญญาพลาตินัมส่งมอบเดือนต.ค. ลดลง 9.8 เหรียญ หรือ 1.15% ปิดที่ 840.9 เหรียญ
  • กองทุนทองคำ SPDR วันก่อนหน้าขายออก 7.61 ตัน ปัจจุบันถือครองที่ 1,024.43 ตันภาพรวมเดือนกรกฎาคม ขายสุทธิ 25.88 ตัน ขณะที่ปีนี้ ตั้งแต่ 1 ม.ค. - ปัจจุบัน ซื้อสุทธิ 48.77 ตัน3


  • หัวหน้านักกลยุทธ์ของ Tiger Brokers กล่าวว่า ราคาทองคำมีการฟื้นตัวเล็กน้อยหลังจากที่ปรับตัวลดลงอย่างมีนัยสำคัญ โดยราคาทองคำได้หลุดแนวรับแถวบริเวณ 1,790-1,800 เหรียญลงไป ทำให้ราคาทองคำมุ่งสู่ทิศทางขาลงในระยะกลาง 


ข่าวเกี่ยวกับค่าเงิน และธนาคารกลาง


  • ดัชนีดอลลาร์เช้านี้  ปรับตัวลดลง -0.03 จุด หรือ -0.03% มาอยู่ที่ระดับ 106.84 จุด
  • อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐอายุ 10 ปี  ปรับตัวลดลง -0.009% มาอยู่ที่ระดับ 2.902% ในขณะที่อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐอายุ 2 ปี  อยู่ที่ระดับ 2.967% และส่วนต่างอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐ 10 ปี น้อยกว่า 2 ปี เท่ากับ อยู่ที่ระดับ -0.065%


  • ดัชนีดอลลาร์ พุ่งขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทะลุระดับ 107 ทำสถิติสูงสุดใหม่ในรอบ 20 ปี โดยนักลงทุนพากันเข้าซื้อดอลลาร์ในฐานะสกุลเงินปลอดภัย ขณะที่มีความกังวลเกี่ยวกับภาวะเศรษฐกิจถดถอย


  • ตลาดพันธบัตรสหรัฐเกิดภาวะ inverted yield curve โดยอัตราผลตอบแทนพันธบัตรระยะสั้นดีดตัวเหนือพันธบัตรระยะยาว ซึ่งเป็นการบ่งชี้ถึงแนวโน้มการเกิดภาวะเศรษฐกิจถดถอย


  • รายงานการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงินของธนาคารกลางสหรัฐ ส่งสัญญาณทิศทางเข้มงวดในนโยบายการเงิน โดยบ่งชี้ เฟดยังคงมุ่งมั่นในการเร่งปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเพื่อสกัดเงินเฟ้อ พร้อมใช้นโยบายการเงินเข้มงวดมากขึ้น หากเงินเฟ้อยังคงยืดเยื้อ และพร้อมขึ้นดอกเบี้ยต่อไปยาวนานขึ้น แม้ว่านโยบายการเงินเข้มงวดจะชะลอเศรษฐกิจก็ตาม และเฟดคาดว่าอัตราเงินเฟ้ออาจยังคงอยู่เหนือระดับ 2% ในบางช่วงเวลา


  • นอกจากนี้ รายงานการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงินของธนาคารกลางสหรัฐ บ่งชี้ เฟดพิจารณาปรับขึ้นดอกเบี้ย 0.50% หรือ 0.75% ในการประชุมครั้งถัดไป


  • เทรดเดอร์ระบุว่า การฟื้นตัวของหยวน ขณะที่ดอลลาร์ทรงตัวที่ระดับสูงสุดในรอบ 2 ทศวรรษเมื่อเทียบกับสกุลเงินหลักนั้นเป็นผลมาจากการคาดการณ์ว่า ประธานาธิบดีโจ ไบเดนอาจประกาศการถอนการเก็บภาษีนำเข้าสินค้าจีนบางรายการอย่างเร็วที่สุดในสัปดาห์นี้


  • นักวิเคราะห์คาดยูโรใกล้ร่วงลงสู่ระดับดุลยภาพ ขณะมีความเสี่ยงจากภาวะศก.ถดถอยมากขึ้น โดยยูโรดิ่งลง 10% เมื่อเทียบกับดอลลาร์แล้วในปีนี้  ยูโรอ่อนลงมาก เนื่องจากเยอรมนี, อิตาลี และประเทศอื่นๆพึ่งพาก๊าซของรัสเซียอย่างมาก และความวิตกที่ว่า การปรับอัตราดอกเบี้ยขึ้นมากของธนาคารกลางยุโรป (อีซีบี) อาจทำให้เกิดวิกฤติหนี้ในยูโรโซนอีกครั้ง รวมถึงความแตกต่างในเรื่องนโยบายการเงินของธนาคารกลางในฝั่งสหรัฐและยุโรปก็ยังคงเป็นจุดสนใจของนักลงทุนเช่นกัน


  • นักวิเคราะห์ของโนมูระได้ปรับลดเป้าหมายยูโรดอลลาร์ลงสู่ระดับ 0.95 ดอลลาร์ต่อยูโร และกล่าวว่า อาจร่วงทะลุระดับดุลยภาพในเดือนส.ค.นี้ ส่วนนักวิเคราะห์ของซิติแบงก์กล่าวว่า การปรับตัวสู่ระดับดุลยภาพเป็นสิ่งที่ "หลีกเลี่ยงไม่ได้"


ข่าวเกี่ยวกับตลาดหุ้นและเศรษฐกิจ


  • ดัชนีดาวโจนส์ตลาดหุ้นนิวยอร์กปิดบวกในวันพุธ เนื่องจากนักลงทุนปรับตัวรับรายงานการประชุมเดือนมิ.ย.ของธนาคารกลางสหรัฐ ซึ่งบ่งชี้ว่า เฟดมีความมุ่งมั่นที่จะสกัดการพุ่งขึ้นของอัตราเงินเฟ้อ


  • ดัชนีเฉลี่ยอุตสาหกรรมดาวโจนส์ปิดที่ 31,037.68 จุด เพิ่มขึ้น 69.86 จุด หรือ +0.23%,
  • ดัชนี S&P500 ปิดที่ 3,845.08 จุด เพิ่มขึ้น 13.69 จุด หรือ +0.36% และ
  • ดัชนี Nasdaq ปิดที่ 11,361.85 จุด เพิ่มขึ้น 39.61 จุด หรือ +0.35%


  • นักเศรษฐศาสตร์คาดว่า เขตยูโรจะเข้าสู่ภาวะถดถอยเร็วกว่าภูมิภาคอื่นๆ โดยโนมูระคาดว่าเศรษฐกิจยูโรจะถดถอยภายในไตรมาส 3 โดยจีดีพีจะติดลบรวม 1.7% การพุ่งขึ้นของผลตอบแทนพันธบัตรกำลังกระตุ้นความเสี่ยงจากภาวะถดถอยมากขึ้น โดยต้นทุนการกู้ของรัฐบาลยุโรปพุ่งขึ้นในรอบ 2 สัปดาห์ที่ผ่านมาเร็วกว่าสหรัฐ ซึ่งบ่งชี้ว่า ภาวะทางการเงินตึงตัวเร็วกว่า


  • รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังคนใหม่ของอังกฤษเผยว่า จะให้ความสำคัญกับการฟื้นฟูเศรษฐกิจขึ้นมาใหม่หลังการระบาดของโควิด-19 โดยมุ่งผลักดันให้เศรษฐกิจกลับมาเติบโตขึ้นอีก รวมถึงดำเนินการปรับลดภาษี


  • ผลสำรวจบริษัทชั้นนำ 900 แห่งทั่วโลกซึ่งจัดทำโดยเจนัส เฮนเดอร์สัน ซึ่งเป็นบริษัทจัดการสินทรัพย์ระดับโลกของอังกฤษ-สหรัฐพบว่า หนี้สินสุทธิของบริษัทเอกชนทั่วโลก ลดลง 1.9% แตะที่ระดับ 8.15 ล้านล้านดอลลาร์ในปี 2564 เนื่องจากต้นทุนการกู้ยืมที่สูงขึ้นส่งผลให้ความต้องการระดมทุนใหม่ลดน้อยลง และจากการที่บริษัทเอกชนมีเงินสดหมุนเวียนที่แข็งแกร่ง หลังจากธนาคารกลางใช้นโยบายผ่อนคลายการเงินเป็นเวลานานหลายปี ซึ่งช่วยให้บริษัทต่าง ๆ สามารถชำระคืนหนี้สินคงค้างได้


  • สถาบันการเงินและการพัฒนาแห่งชาติ (NIFD) ของจีนเปิดเผยว่า หนี้สินของจีนมีแนวโน้มจะพุ่งสูงเป็นประวัติการณ์ในปีนี้เนื่องจากธนาคารกลางจีนพยายามที่จะเพิ่มสินเชื่อและฟื้นฟูเศรษฐกิจที่ชะลอตัว ทั้งนี้ อัตราส่วนความสามารถในการชำระหนี้ (Leverage Ratio) โดยรวม ซึ่งคำนวณสัดส่วนหนี้สินทั้งหมดต่อผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) จะเพิ่มขึ้น 11.3% แตะที่ประมาณ 275% ในปีนี้ โดยได้รับแรงกดดันหลักจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจ


  • นายเดนิส ชไมฮาล นายกรัฐมนตรียูเครน กล่าวว่า ผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) ของยูเครน จะหดตัวลงอย่างน้อย 35% ในปีนี้ อันเนื่องมาจากความขัดแย้งกับรัสเซีย 


ข่าวเกี่ยวกับน้ำมันและพลังงาน


  • สัญญาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัส (WTI) ตลาดนิวยอร์กปิดร่วงลงแตะระดับต่ำสุดในรอบ 12 สัปดาห์ในวันพุธ เนื่องจากนักลงทุนยังคงวิตกกังวลเกี่ยวกับภาวะเศรษฐกิจถดถอย ซึ่งจะส่งผลให้ความต้องการใช้น้ำมันในตลาดโลก


  • สัญญาน้ำมันดิบ WTI ส่งมอบเดือนส.ค. ลดลง 97 เซนต์ หรือ 1% ปิดที่ 98.53 ดอลลาร์/บาร์เรล ซึ่งเป็นระดับปิดต่ำสุดนับตั้งแต่วันที่ 11 เม.ย.
  • สัญญาน้ำมันดิบเบรนท์ BRENT ส่งมอบเดือนก.ย. ร่วงลง 2.08 ดอลลาร์ หรือ 2% ปิดที่ 100.69 ดอลลาร์/บาร์เรล ซึ่งเป็นระดับปิดต่ำสุดนับตั้งแต่วันที่ 11 เม.ย.


  • ศาลรัสเซียมีคำสั่งให้โครงการแคสเปียน ไปป์ไลน์ คอนซอร์เทียม (Caspian Pipeline Consortium: CPC) ระงับการดำเนินการเป็นเวลา 30 วัน ซึ่งสร้างความวิตกด้านอุปทานน้ำมันทั่วโลก โดยรายงานระบุว่า CPC ซึ่งรับผิดชอบการส่งน้ำมันประมาณ 1% ของทั่วโลก 


  • นักวิเคราะห์จาก OANDA ชี้ว่า การที่ราคาน้ำมันปรับตัวลงอย่างรุนแรงจนทำให้ราคาน้ำมันดิบเบรนท์สัญญาอายุ 6 เดือน แตกต่างจากสัญญาเดือนใกล้ที่สุดถึงเกือบ 15 เหรียญ ในวันอังคาร เป็นการส่งสัญญาณว่าเกิดความตื่นตนก(panic) และการถูกบังคับให้ขาย (Force liquidation) มากกว่าเป็นเหตุผลเกี่ยวกับสถานาณ์อุปทานน้ำมันตึงตัว


ข่าวเกี่ยวกับการเมืองระหว่างประเทศ


  • องค์การสนธิสัญญาแอตแลนติกเหนือ (นาโต) ประกาศรับรองการเป็นสมาชิกของฟินแลนด์และสวีเดนอย่างเป็นทางการแล้วเมื่อวันอังคารที่ผ่านมา โดยปิดฉากความเป็นกลางทางทหารของทั้ง 2 ชาติลงอย่างสิ้นเชิง ภายหลังจากที่สามารถบรรลุดีลกับตุรกีได้ในระหว่างการประชุมสุดยอดครั้งประวัติศาสตร์นอกจากนี้ นาโตยังอนุมัติเอกสารแนวความคิดทางยุทธศาสตร์ฉบับใหม่ ที่ยกสถานะรัสเซียเป็นภัยคุกคามที่ร้ายแรงที่สุดของนาโต และระบุว่าจีนได้สร้างความท้าทายเป็นครั้งแรกอย่างที่ไม่เคยมีมาก่อน


  • เวียดนามและเกาหลีใต้ตั้งเป้าหมายจะเพิ่มมูลค่าการค้าทวิภาคีระหว่างกันจาก 7.8 หมื่นล้านดอลลาร์ในปีที่แล้ว เป็น 1 แสนล้านดอลลาร์ในปีหน้า และ 1.5 แสนล้านดอลลาร์ภายในปี 2573


  • นักวิเคราะห์ด้านนโยบายกลาโหมของบริษัทออสโตยา คอลซัลติงคาดการณ์ว่า หลังจากที่กองกำลังทหารของรัสเซียสามารถยึดครองแคว้นลูฮันสก์ได้แล้วนั้น ประธานาธิบดีวลาดิเมียร์ ปูติน ก็จะพุ่งเป้าไปที่การยึดครองพื้นที่ทั้งหมดของแคว้นดอนบาส ซึ่งตั้งอยู่ทางตะวันออกของยูเครน และเชื่อว่าหลังจากนั้นปธน.ปูตินจะยื่นข้อเสนอหยุดยิงกับยูเครน


ข่าวเกี่ยวกับโรคระบาด


  • สถานการณ์แพร่ระบาดของโควิด-19 ประจำวัน พบผู้ติดเชื้อรายใหม่ 2,366 ราย ทำให้มียอดผู้ติดเชื้อสะสม 4,538,811 ราย ไม่รวม ATK อีก 3,843 ราย สะสม 1,885,354 ราย อีกทั้งยังมียอดผู้เสียชีวิตเพิ่มอีก 20 ราย ทำให้การระบาดระลอกใหม่ตั้งแต่เดือน ม.ค.2565 มียอดผู้เสียชีวิตสะสม 9,080 ราย ขณะที่ ภาพรวมของการเสียชีวิตจากสถานการณ์โควิด-19 มีผู้เสียชีวิตรวม 30,778 ราย


  • ศูนย์ควบคุมและป้องกันโรค (CDC) ของสหรัฐเปิดเผยว่า นับจนถึงวันที่ 2 ก.ค. ไวรัสโอมิครอนสายพันธุ์ย่อย BA.4 และ BA.5 กำลังแพร่ระบาดในสหรัฐในอัตราส่วนสูงถึง 70.1% ของการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ในประเทศ


  • เซี่ยงไฮ้ของจีนเริ่มดำเนินการตรวจหาเชื้อโควิด-19 ให้กับประชาชนจำนวนมากอีกรอบ ซึ่งสร้างความกังวลว่าเซี่ยงไฮ้จะกลับไปใช้มาตรการล็อกดาวน์ที่เข้มงวดตามนโยบายโควิดเป็นศูนย์ (Covid Zero)


  • ทางการกรุงโตเกียวเปิดเผยว่า ในช่วง 24 ชั่วโมงที่ผ่านมา มีผู้ติดเชื้อโควิด-19 รายใหม่จำนวน 5,302 ราย ซึ่งเป็นจำนวนมากกว่า 5,000 รายเป็นครั้งแรกนับตั้งแต่วันที่ 28 เม.ย. ขณะที่จำนวนผู้ติดเชื้อโควิด-19 ในกรุงโตเกียวพุ่งขึ้นมากกว่า 2 เท่าเมื่อเทียบกับสัปดาห์ก่อน


ข่าวเกี่ยวกับเศรษฐกิจไทยและค่าเงินบาท


  • นักบริหารการเงิน เปิดเผยว่า ค่าเงินบาทเปิดเช้านี้ ที่ระดับ  36.23 บาทต่อดอลลาร์อ่อนค่าลงจากระดับปิดวันก่อนหน้า ที่ระดับ  36.10 บาทต่อดอลลาร์ มองกรอบเงินบาทวันนี้ คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 36.15-36.40 บาทต่อดอลลาร์


  • รมว.คลัง เปิดเผยถึงสถานการณ์ค่าเงินบาทที่ผันผวนในระยะนี้ว่า การที่ค่าเงินบาทอ่อนค่าเกิดจากปัจจัยภายนอกเป็นหลักทั้งจากค่าเงินดอลลาร์และค่าเงินหยวนที่แข็งค่า ซึ่งได้กำชับให้ทางธนาคารแห่งประเทศไทย ติดตามอย่างใกล้ชิด ในส่วนของกระแสเงินทุนเคลื่อนย้ายมีเงินไหลออกจากตลาดตราสารหนี้บ้าง หลังจากธนาคารกลางสหรัฐปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย แต่โดยรวมนักลงทุนยังมีความเชื่อมั่นตลาดตราสารของไทย ส่วนกระแสเงินทุนในตลาดทุนเป็นไปตามภาวะตลาดหุ้นโลก


  • สมาคมผู้ค้าปลีกไทย ร่วมกับธนาคารแห่งประเทศไทย เผยดัชนีความเชื่อมั่นผู้ค้าปลีก(RSI) เดือนมิถุนายน 65 อยู่ที่ระดับ 48.9 ปรับลดลง 4.4 จุด เมื่อเทียบกับเดือนพฤษภาคม ที่ระดับ 53.3 จุด ซึ่งลดลงต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 3 สะท้อนให้เห็นถึงความเชื่อมั่นที่ปรับตัวลดลง ส่งผลมาจากภาวะค่าครองชีพที่ปรับเพิ่มสูงขึ้นซ้ำเติมกำลังซื้อของผู้บริโภคที่ยังอ่อนแอ ขณะที่ผู้ประกอบการไม่มีความเชื่อมั่นในการดำเนินธุรกิจ แม้ว่ามีแนวโน้มสัญญาณที่ดีในการออกไปทำกิจกรรมทางเศรษฐกิจนอกบ้านเพิ่มมากขึ้น แต่ความถี่ในการจับจ่ายกลับลดลง


ที่มาจาก : Reuters, FXstreet, Infoquest


 

บริษัท เอ็มทีเอส โกลด์ จำกัด
40,42,44 ถนนทรัพย์สิน แขวงวังบูรพาภิรมย์เขตพระนคร กรุงเทพ 10200
โทรศัพท์ 0 2770 7777 โทรสาร 0 2623 9366 E-mail: support@mtsgoldgroup.com