• สรุปข่าวราคาทองคำ ประจำวันที่ 3 กุมภาพันธ์ 2565

    3 กุมภาพันธ์ 2565 | Gold News

 ข่าวเกี่ยวกับทองคำ


  • สัญญาทองคำตลาดนิวยอร์กปิดบวกติดต่อกันเป็นวันที่ 3 โดยได้แรงหนุนจากการอ่อนค่าของสกุลเงินดอลลาร์ และอัตราผลตอบแทนพันธบัตรสหรัฐที่ชะลอตัวลง นอกจากนี้ ตัวเลขจ้างงานภาคเอกชนของสหรัฐที่ร่วงลงอย่างหนักในเดือนม.ค.ยังเป็นปัจจัยหนุนแรงซื้อทองคำในฐานะสินทรัพย์ที่ปลอดภัย


  • ราคาทองคำตลาดโลก ปรับตัวขึ้น 0.4% มาอยู่ที่ระดับ 1,808.48 เหรียญ
  • สัญญาทองคำตลาด COMEX (Commodity Exchange) ปรับตัวขึ้น 0.5% มาอยู่ที่ระดับ 1,810.30 เหรียญ
  • สัญญาซื้อขายล่วงหน้าโลหะเงิน ปรับตัวลดลง -0.5 เซนต์หรือ -0.02% มาอยู่ที่ระดับ 22.618 เหรียญ
  • กองทุนทองคำ SPDR วันก่อนหน้าขายออก 1.45 ตัน ปัจจุบันถือครองที่ 1,016.59 ตัน ภาพรวมเดือนกุมภาพันธ์ ขายสุทธิ 1.16 ตัน ขณะที่ปีนี้ ตั้งแต่ 1 ม.ค. - ปัจจุบัน ซื้อสุทธิ 40.93 ตัน


ข่าวเกี่ยวกับค่าเงิน และธนาคารกลาง


  • ดัชนีดอลลาร์  ปรับตัวลดลง -0.55 จุด หรือ -0.57% มาอยู่ที่ระดับ 95.99 จุด
  • อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐอายุ 10 ปี  ปรับตัวขึ้น 0.009% มาอยู่ที่ระดับ 1.796%
  • นักบริหารการเงิน เปิดเผยว่า ค่าเงินบาทเปิดเช้านี้ที่ระดับ33.14 บาทต่อดอลลาร์ แข็งค่าขึ้น จากระดับปิดวันก่อนหน้า ที่ระดับ  33.23 บาทต่อดอลลาร์ มองกรอบเงินบาทวันนี้คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 33.10-33.25 บาทต่อดอลลาร์


  • นักเศรษฐศาสตร์จากธนาคารเครดิต สวิส ประเมินว่า ธนาคารแห่งประเทศไทยจะยอมปล่อยให้ค่าเงินบาทแข็งค่าสู่ระดับ 31 บาทต่อดอลลาร์หรืออาจจะต่ำกว่า ชี้ว่า ยังมีช่องว่างในการเติบโตอีกมากสำหรับภาคการท่องเที่ยวของไทย และรัฐบาลไทยเร่งผ่อนคลายกฎระเบียบด้านการเดินทางเข้าประเทศ จึงคาดว่าความต้องการเดินทางท่องเที่ยวของไทยที่ทยอยปรับตัวดีขึ้น จะส่งผลทำให้ค่าเงินบาทแข็งค่า และถึงแม้ว่าธนาคารกลางสหรัฐจะใช้นโยบายการเงินเข้มงวดเป็นปัจจัยลบต่อเงินบาท แต่ก็ยังมองว่าค่าเงินบาทจะซื้อขายที่ระดับต่ำกว่า 32 บาทต่อดอลลาร์ โดยมองว่าธนาคารกลางแห่งประเทศไทยจะไม่เข้าแทรกแซงใดๆจนกระทั่งค่าเงินจะแข็งค่าแตะระดับ 31 บาทต่อดอลลาร์หรือต่ำกว่า


  • นักวิเคราะห์จาก JP Morgan ระบุว่า ค่าเงินดอลลาร์ยังมีช่องว่างในการปรับตัวขึ้นต่อ จาก (1) ตลาดเริ่มให้ความสำคัญกับมุมมองที่เฟดจะเข้มงวดนโยบายการเงินอย่างมาก และ (2) ตลาดเพิกเฉยต่อการตอบสนองต่อภาวะตลาดที่มีความเสี่ยง และยังระบุว่า หากตลาดเห็นพ้องกันว่าเฟดจะขึ้นดอกเบี้ย 6 ครั้งในปีนี้และ มองอัตราดอกเบี้ยสุดท้ายที่เฟดอยู่ที่ระดับ 2.25% จะส่งผลโดยนัยให้ค่าเงินดอลลาร์มีอัพไซด์ประมาณ 3%


  • JP Morgan แนะขายค่าเงินยูโรและค่าเงินเยน เทียบสกุลเงินดอลลาร์ จากความคาดหวังว่าสหรัฐปรับขึ้นดอกเบี้ยสูงโดยเปรียบเทียบกับฝั่งยุโรปและญี่ปุ่น และยังประเมินว่า อัตราแลกเปลี่ยนถูกขับเคลื่อนหลักโดย (1) ความแตกต่างของนโยบายการเงินของธนาคารกลางระหว่างเฟด กับ ธนาคารกลางยุโรปและญี่ป่น (2) การปรับขึ้นของราคาสินค้าสินค้าโภคภัณฑ์ แม้ว่าปัจจัยความเสี่ยงด้านภูมิรัฐศาสตร์จะเริ่มมีบทบาทเป็นปัจจัยเสี่ยงก็ตาม


ข่าวเกี่ยวกับตลาดหุ้นและเศรษฐกิจ


  • ดัชนีดาวโจนส์ตลาดหุ้นนิวยอร์กปิดพุ่งขึ้นติดต่อกันเป็นวันที่ 4 ขานรับผลประกอบการที่ดีเกินคาดของบริษัทอัลฟาเบท ซึ่งเป็นบริษัทแม่ของกูเกิล และแอดวานซ์ ไมโคร ดิไวซ์ (เอเอ็มดี) ซึ่งเป็นผู้ผลิตชิปรายใหญ่ของสหรัฐ โดยตัวเลขกำไรและรายได้ที่แข็งแกร่งของบริษัทจดทะเบียนทั้งสองแห่งเป็นปัจจัยหนุนหุ้นกลุ่มเทคโนโลยีและกลุ่มผู้ผลิตชิปดีดตัวขึ้น และยังช่วยสกัดปัจจัยลบจากตัวเลขจ้างงานภาคเอกชนของสหรัฐที่ทรุดตัวลงในเดือนม.ค.


  • ดัชนีเฉลี่ยอุตสาหกรรมดาวโจนส์ปิดที่ 35,629.33 จุด เพิ่มขึ้น 224.09 จุด หรือ +0.63%,
  • ดัชนี S&P500 ปิดที่ 4,589.38 จุด เพิ่มขึ้น 42.84 จุด หรือ +0.94%
  • ดัชนี Nasdaq ปิดที่ 14,417.55 จุด เพิ่มขึ้น 71.54 จุด หรือ +0.50%


  • ภาคธุรกิจในสหรัฐ ตัวเลขจ้างงานภาคเอกชนของสหรัฐลดลง 301,000 ตำแหน่งในเดือนมกราคม ผิดจากความคาดหวังของตลาดที่คาดว่าจะมีการจ้างงานเพิ่มขึ้น 207,000 ตำแหน่ง เป็นการลดการจ้างงานครั้งแรกนับตั้งแต่เดือนธันวาคมปี 2020 และลดลงมากที่สุดนับตั้งแต่เดือนเมษายนปี 2020 เป็นผลมาจากการระบากของไวรัสสายพันธุ์โอมิครอนกระทบตลาดแรงงาน ทั้งนี้ การลดลงของการจ้างงานมากที่สุด เกิดในภาคบริการ ที่ปรับตัวลดลงถึง 274,000 ตำแหน่ง


  • นักลงทุนยังรอดูตัวเลขจ้างงานนอกภาคเกษตรของสหรัฐซึ่งมีกำหนดเปิดเผยในวันศุกร์นี้ ขณะที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ว่า ตัวเลขจ้างงานนอกภาคเกษตรประจำเดือนม.ค.ของสหรัฐจะเพิ่มขึ้นเพียง 178,000 ตำแหน่ง และคาดว่าอัตราว่างงานจะทรงตัวที่ระดับ 3.9%


  • JP Morgan เตือนเศรษฐกิจโลกมีโอกาสเติบโตถดถอยลงจากปัญหาราคาพลังงานสูงขึ้นอันเนื่องจากปัญหาระหว่างรัสเซียและยูเครน ในกรณีที่เลวร้ายที่สุดคือการเกิดสงครามและการยุติการส่งออกน้ำมัน จะนำไปสู่สถานการณ์ที่เลวร้ายอย่างรุนแรง มากกว่าเหตุที่เคยเกิดขึ้นในช่วงกว่าทศวรรษที่ผ่านมา


  • กองทุนเฮดจ์ฟันด์บริดจ์วอเตอร์ระบุว่า ตลาดจะเกิดความปั่นป่วนจากการที่เฟดมีความดุดันในการใช้นโยบายการเงินเข้มงวด และยังระบุว่า นักลงทุนยังประเมิน ความจำเป็นในการความดุดันของการใช้นโยบายการเงินเข้มงวดของเฟดและธนาคารกลางชาติอื่นๆ ที่จะสู้กับเงินเฟ้อต่ำเกินไป นำไปสู่ความเสี่ยงอย่างใหญ่หลวงในตลาด นอกจากนี้บริดจ์วอเตอร์ประเมินว่า เฟดสามารถขึ้นดอกเบี้ยได้ถึงเพียง 1.65% และจะจบรอบการขึ้นดอกเบี้ยที่จุดนั้น และความคาดหวังเงินเฟ้อในระยะยาวจะทรงตัวอยู่ที่ระดับประมาณ 2%


ข่าวเกี่ยวกับเงินเฟ้อ


  • อัตราเงินเฟ้อของเศรษฐกิจกลุ่มยูโรพุ่งสูงต่อเนื่องเป็นประวัติการณ์อีกครั้ง อัตราเงินเฟ้อในเดือนมกราคมพุ่งขึ้้น 5.1% เมื่อเทียบกับปีก่อน เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนหน้าที่ 5.0% มากกว่าที่ตลาดคาดไว้ที่ 4.4% โดยราคาพลังงานปรับตัวขึ้นสูงที่สุดในทุกหมวด ปรับขึ้น 28.6% ตามด้วยราคาหมวดอาหาร,เครื่องดื่มสุราและยาสูบปรับขึ้น 3.6%


  • สมาคมผู้ค้าปลีกอังกฤษ เผยแพร่รายงานว่า ในเดือนมกราคม เหล่าผู้ค้าปลึกในสหราชอาณาจักรปรับขึ้นราคาสินค้าในอัตราที่เร็วสูงสุดในรอบ 9 ปี เป็นผลจากการพุ่งขึ้นของทั้งราคาอาหาร พลังงาน และต้นทุนการขนส่ง ท่ามกลางการกระจายตัวของเงินเฟ้อ


ข่าวเกี่ยวกับน้ำมันและพลังงาน


  • สัญญาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัส (WTI) ตลาดนิวยอร์กปิดบวกในวันพุธ หลังจากกลุ่มประเทศผู้ส่งออกน้ำมัน (โอเปก) และชาติพันธมิตร หรือโอเปกพลัส มีมติยึดมั่นตามข้อตกลงเดิมในการประชุมเมื่อวานนี้ นอกจากนี้ ตลาดยังได้แรงหนุนจากตัวเลขสต็อกน้ำมันดิบของสหรัฐที่ลดลงในสัปดาห์ที่แล้ว


  • สัญญาน้ำมันดิบ WTI ส่งมอบเดือนมี.ค. เพิ่มขึ้น 6 เซนต์ หรือ 0.1% ปิดที่ 88.26 ดอลลาร์/บาร์เรล ซึ่งเป็นระดับปิดสูงสุดนับตั้งแต่เดือนต.ค. 2557
  • ส่วนสัญญาน้ำมันดิบเบรนท์ (BRENT) ส่งมอบเดือนเม.ย. เพิ่มขึ้น 31 เซนต์ หรือ 0.4% ปิดที่ 89.47 ดอลลาร์/บาร์เรล


  • ผลการประชุมโอเปค ตัดสินใจปรับขึ้นกำลังการผลิต 4 แสนบาร์เรลต่อวันสำหรับต้นเดือนมีนาคมเป็นต้นไป สอดคล้องกับการคาดการณ์ของเหล่านักวิเคราะห์ด้านพลังงาน โอเปคพลัสดำเนินการปรับขึ้นกำลังการผลิตตามแผน และเป็นสัญญาณว่า โอเปคพลัสกำลังทยอยปรับเพิ่มกำลังการผลิตน้ำมัน แม้ว่าจะได้รับแรงกดดันจากการที่ประเทศผู้บริโภคน้ำมันรายใหญ่อย่างสหรัฐและอินเดียจะเร่งเพิ่มการผลิตน้ำมันเพื่อลดระดับราคาน้ำมันและหนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจก็ตาม


  • นักกลยุทธ์สินค้าโภคภัณฑ์จาก RBC Capital Markets กล่าวว่า โอเปคพลัสจะยังคงอยู่ในลู่ในช่วงเวลานี้ โดยมองว่าจะปรับขึ้นกำลังการผลิตเดือนละ 4 แสนบาร์เรลไปต่อเนื่อง อย่างไรก็ตาม อาจจะมีสาเหตุที่จะไม่ปรับขึ้นกำลังการผลิต 4 แสนบาร์เรลต่อเดือนก็จะมากจากปัญหากับไนจีเรียและแองโกลา ที่ 2 ประเทศนี้มีข้อจำกัดในการปรับขึ้นการผลิต


ข่าวเกี่ยวกับการเมืองระหว่างประเทศ


  • นายวลาดีมีร์ ปูติน ประธานาธิบดีรัสเซีย กล่าวหาว่า สหรัฐฯ พยายามดึงรัสเซียเข้าไปในสงครามยูเครน และเพิกเฉยต่อความกังวลด้านความปลอดภัยของรัสเซียที่มีต่อยูเครน นับเป็นการออกความคิดเห็นที่สำคัญเป็นครั้งแรกของผู้นำรัสเซียเกี่ยวกับวิกฤตในยูเครนในช่วงหลายสัปดาห์ที่ผ่านมานี้


ข่าวเกี่ยวกับ Covid-19


  • WHO อัปเดตสถานการณ์การระบาดของไวรัสโควิด-19 ประจำสัปดาห์ โดยระบุว่า ตรวจพบโควิด-19 สายพันธุ์ล่องหน (Stealth Omicron) ซึ่งเป็นสายพันธุ์ย่อยของโอมิครอน ระบาดใน 57 ประเทศ รายงานระบุว่า ในบางประเทศนั้น ยอดผู้ติดเชื้อโอมิครอนมากกว่าครึ่งมาจากสายพันธุ์ล่องหน นอกจากนี้ ยังไม่เป็นที่ทราบแน่ชัดว่าสายพันธุ์ล่องหนนั้นมีความแตกต่างจากสายพันธุ์ย่อยอื่น ๆ อย่างไรบ้าง เนื่องจากข้อมูลยังมีจำกัด
  • สถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ในไทยวันนี้ พบผู้ติดเชื้อรายใหม่ 9,172  ราย ผู้ป่วยสะสม 242,288  ราย (ตั้งแต่ 1 มกราคม 2565) รวมยอดติดเชื้อสะสม 2,465,723 ราย เสียชีวิต 21  ราย เสียชีวิตสะสม 22,228 ราย 
  • ยอดผู้ติดเชื้อโควิด-19 รายใหม่ของกรุงโตเกียวทะลุ 20,000 รายเป็นครั้งแรกในวันนี้ ซึ่งบั่นทอนความหวังว่าการระบาดของโควิด-19 สายพันธุ์โอมิครอนในญี่ปุ่นใกล้จะแตะระดับสูงสุดทั้งนี้ กรุงโตเกียวรายงานผู้ติดเชื้อโควิด-19 รายใหม่ 21,576 ราย ในวันนี้ โดยสูงเหนือระดับประวัติการณ์ครั้งก่อนหน้าที่ 17,631 รายในวันศุกร์ที่ 28 ม.ค.ที่ผ่านมา
  • นอร์เวย์และเดนมาร์กยกเลิกมาตรการควบคุมโควิด-19 ที่เหลืออยู่เรียบร้อยแล้ว แม้จะยังคงมีรายงานยอดผู้ติดเชื้อที่สูงในทั้งสองประเทศก็ตาม การยกเลิกดังกล่าวครอบคลุมถึงการบังคับสวมหน้ากากอนามัย การอนุญาตให้ผับบาร์กลับมาเปิดบริการได้ ขณะที่ธุรกิจสามารถขอตรวจสอบใบรับรองการฉีดวัคซีนของลูกค้าหรือไม่ก็ได้

 

ที่มาจาก :   Reuters, Bloomberg, FXstreet, Infoquest, Kitco, CNBC

บริษัท เอ็มทีเอส โกลด์ จำกัด
40,42,44 ถนนทรัพย์สิน แขวงวังบูรพาภิรมย์เขตพระนคร กรุงเทพ 10200
โทรศัพท์ 0 2770 7777 โทรสาร 0 2623 9366 E-mail: support@mtsgoldgroup.com