• ข้อมูลภาคการผลิตจีนพุ่งสูงขึ้น แต่ดัชนี CPI ยังคงอยู่ระดับปานกลาง

    11 พฤษภาคม 2564 | Economic News
  

ข้อมูลภาคการผลิตจีนพุ่งสูงขึ้น แต่ดัชนี CPI ยังคงอยู่ระดับปานกลาง

 

ข้อมูลภาคการผลิตของจีนประจำเดือนเม.ย.เพิ่มขึ้นในอัตราที่เร็วที่สุดในรอบ 3 ปีครึ่ง โดยดัชนีราคาผู้ผลิต (PPI) เพิ่มขึ้น 6.8% เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า ขณะที่นักวิเคราะห์ของ Reuters คาดว่าจะเพิ่มขึ้น 6.5% และเพิ่มขึ้น 4.4% ในเดือนมี.ค. เนื่องจากเศรษฐกิจขยายตัวต่อเนื่อง หลังจากการเติบโตในไตรมาสแรกที่แข็งแกร่ง แต่นักเศรษฐศาสตร์กลับลดความเสี่ยงต่อเงินเฟ้อ

 

ขณะที่ดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) เพิ่มขึ้นเล็กน้อย 0.9% เมื่อเทียบเป็นรายปี ท่ามกลางราคาอาหารที่ปรับตัวลดลง และนักวิเคราะห์กล่าวว่า ต้นทุนที่เพิ่มขึ้นจากราคาผู้ผลิตที่สูงขึ้นนั้นไม่น่าจะส่งผลต่อผู้บริโภคได้อย่างเต็มที่

 

นักลงทุนทั่วโลกกังวลมากขึ้นว่ามาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจจากการระบาดใหญ่อาจกระตุ้นให้เงินเฟ้อเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วและกดดันให้ธนาคารกลางปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยและใช้มาตรการคุมเข้มอื่น ๆ ซึ่งอาจช่วยยับยั้งการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ

 

นักวิเคราะห์จาก Capital Economics คาดว่าการปรับขึ้นของแรงกดดันเงินเฟ้อจะเกิดขึ้นเป็นการปรับขึ้นชั่วคราว เพราะว่าราคาสินค้าในภาคอุตสาหกรรม มีแนวโน้มจะปรับตัวลงในช่วงครึ่งหลังของปี ขณะที่ การใช้นโยบายคุมเข้มจะกดดันกับกิจกรรมภาคการก่อสร้าง ดังนั้น จึงไม่คิดว่าอัตราเงินเฟ้อจะปรับตัวสูงขึ้นจากการเปลี่ยนแปลงนโยบาย

 

หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ของ ING กล่าวว่า ผู้บริโภคอาจเห็นว่าราคาสูงขึ้นบ้างจากปัญหาการขาดแคลนชิปทั่วโลก ซึ่งส่งผลกระทบต่อสินค้า เช่น เครื่องใช้ในบ้าน รถยนต์และคอมพิวเตอร์ แต่เราเชื่อว่าการขึ้นราคาชิปได้ส่งผลให้ราคาตู้เย็น เครื่องซักผ้า ทีวี แล็ปท็อปและรถยนต์ในเดือนเม.ย.เพิ่มขึ้น 0.6% -1.0% เมื่อเทียบเป็นรายเดือน

 

อัตราเงินเฟ้อด้านอาหารยังคงลดลงที่ 0.7% จากปีก่อน โดยไม่เปลี่ยนแปลงจากเดือนที่แล้ว ซึ่งได้รับผลกระทบจากราคาเนื้อหมูที่ลดลงเนื่องจากอุปทานเพิ่มขึ้น

 

ทางด้านตัวเลขจีดีพีของจีนขยายตัว 18.3% ในไตรมาสแรกเนื่องจากประเทศฟื้นตัวจากผลกระทบร้ายแรงหลังจากการแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนา

 

นักเศรษฐศาสตร์หลายราย คาดว่าการเติบโตของจีดีพีจีนจะเกิน 8% ในปีนี้ แม้ว่าบางรายเตือนเกี่ยวกับการหยุดชะงักของห่วงโซ่อุปทานทั่วโลกอย่างต่อเนื่องและฐานการเปรียบเทียบที่สูงขึ้นจะส่งผลต่อการขยายตัวในไตรมาสต่อๆไป

 

ที่มาจาก Reuters

บริษัท เอ็มทีเอส โกลด์ จำกัด
40,42,44 ถนนทรัพย์สิน แขวงวังบูรพาภิรมย์เขตพระนคร กรุงเทพ 10200
โทรศัพท์ 0 2770 7777 โทรสาร 0 2623 9366 E-mail: support@mtsgoldgroup.com