• วิเคราะห์เศรษฐกิจโลกฟื้นตัว V-Shape แต่ทำไม ‘ไทย’ เสี่ยงถดถอยซ้ำซ้อน ทางรอดคืออะไร

    29 เมษายน 2564 | Economic News
  

แม้ว่าปี 2563 ที่ผ่านมา ทุกประเทศทั่วโลกต้องเจอกับวิกฤตโควิด-19 อย่างไม่ทันตั้งตัว จนทำให้เศรษฐกิจโลกทรุดลง แต่ปีนี้การควบคุมโควิด-19 เริ่มชัดเจน ประเทศที่กระจายวัคซีนอย่างทั่วถึงก็ทำให้ภาพรวมเศรษฐกิจทั่วโลกดูดีขึ้น

จนล่าสุดต้นเดือนเมษายนที่ผ่านมา ทางกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) ได้ปรับเพิ่มคาดการณ์เศรษฐกิจโลกปี 2564 เป็นเติบโต 6% ซึ่งถือเป็นการปรับเพิ่มคาดการณ์ครั้งที่ 2 ติดต่อกัน จากเดิมที่ 5.5% และ 5.2% ตามลำดับ แม้การปรับคาดการณ์ดังกล่าวส่วนหนึ่งจะเกิดจากฐานที่ต่ำในปีก่อน แต่การปรับคาดการณ์ขึ้นถึง 2 ครั้ง ถือเป็นสัญญาณที่บ่งชี้ว่า เศรษฐกิจโลกดีขึ้นจากก่อนหน้านี้อย่างชัดเจน และอาจถือเป็นการฟื้นตัวในลักษณะ V-Shape ก็ว่าได้


ทว่า ภายใต้เศรษฐกิจโลกที่ดูสดใส แต่ IMF กลับปรับลดคาดการณ์การเติบโตของเศรษฐกิจไทยลงถึง 2 ครั้งติดต่อกัน โดยปรับลดจาก 4% มาอยู่ที่ 2.7% และล่าสุดเมื่อต้นเดือนเมษายนปรับลดลงมาอยู่ที่ 2.6%


น่าคิดว่าเหตุใดที่เศรษฐกิจไทยซึ่งพึ่งพาเศรษฐกิจโลกมาโดยตลอด แต่รอบนี้กลับไม่มีสัญญาณฟื้นตัวตามโลก THE STANDARD WEALTH รวบรวมคำตอบมาให้แล้ว


· เศรษฐกิจโลกฟื้น แต่ทุกประเทศฟื้นไม่เท่ากัน ใครรอด-ใครทรุด?

ปี 2564 หลังวิกฤตโควิด-19 มีภาพสดใสขึ้น เมื่อมีข่าวการค้นพบวัคซีนต้านโควิด-19 และหลายประเทศกระจายฉีดวัคซีนสู่ประชากรโลกจำนวนมาก


ล่าสุด อิสราเอลประกาศว่า ประเทศมีภูมิคุ้มกันหมู่ (Herd Immunity) และให้ประชาชนเลิกใส่หน้ากากอนามัยแล้ว หลังจากมีอัตราการฉีดวัคซีนต้านโควิด-19 ถึง 61.72% ของประชาชนทั้งหมด หรือฝั่งสหราชอาณาจักรที่ฉีดวัคซีนใกล้ 50% โดยประเทศพัฒนาแล้วเตรียมแผนเพื่อเปิดกิจกรรมทางเศรษฐกิจและฟื้นตัวขึ้น



ในภาพรวม IMF คาดการณ์ว่า GDP โลกปี 2564 จะโต 6% สูงกว่าคาดการณ์เดิมที่อยู่ 5.5% แต่ก็ระบุปัจจัยที่น่ากังวลคือการฟื้นตัวของแต่ละประเทศจะแตกต่างกันมาก เช่น ปีนี้ IMF คาดว่า GDP สหรัฐฯ จะโต 6.4% จีน 8.4% ฯลฯ ขณะที่ประเทศที่รายได้ต่ำจะฟื้นตัวช้า

โดย IMF ปรับลด GDP หลายประเทศในอาเซียนลง โดยเฉพาะประเทศที่พึ่งพาการท่องเที่ยวที่ยังจะซบเซาต่อไป และยิ่งมีการฉีดวัคซีนล่าช้าย่อมฟื้นตัวช้า เมื่อเทียบกับประเทศที่พัฒนาแล้ว (และมีการฉีดวัคซีนทั่วถึง)


หนึ่งในประเทศกลุ่มที่ฟื้นตัวช้าจากวิกฤตครั้งนี้คือ ประเทศไทยที่พึ่งพาภาคการท่องเที่ยวเกือบ 20% ของ GDP ซึ่งอาจใช้เวลาหลายปีกว่าจะกลับมาฟื้นตัวเท่าก่อนโควิด-19


ด้าน ชนาภา มานะเพ็ญศิริ พนักงานวิเคราะห์ Bnomics (หนึ่งในหน่วยงานของธนาคารกรุงเทพ) ระบุว่า ปัจจัยที่ส่งผลต่อการปรับคาดการณ์ GDP ทั้งในประเทศที่ปรับตัวดีขึ้นและแย่ลงของ IMF ครั้งนี้มาจาก 3 ปัจจัย ได้แก่

1. อัตราการฉีดวัคซีนทั่วโลกที่สูงขึ้นเรื่อยๆ

2. นโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจจากภาครัฐทั่วโลกที่มีต่อเนื่อง

3.การปรับตัวของธุรกิจในการประกอบกิจการในช่วงการระบาด เช่น การ Work from Home ภาคธุรกิจสามารถปรับตัวได้หรือไม่


· เศรษฐกิจไทย 2564 ร่วงลง แต่ปี 2565 จะเริ่มฟื้น ต้องมีวัคซีนในวงกว้าง

แม้ว่า IMF จะปรับลดคาดการณ์การขยายตัวเศรษฐกิจไทยปี 2564 ลดลงเหลือ 2.6% จากก่อนหน้าที่อยู่ราว 2.7% แต่มีการปรับคาดการณ์ปี 2565 จะขยายตัวสู่ 5.6% จากก่อนหน้าที่อยู่ 4.6% ซึ่งการปรับประมาณการนี้ยังไม่รวมผลการระบาดโควิด-19 รอบ 3 ในไทย


ด้าน พิพัฒน์ เหลืองนฤมิตชัย ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ และหัวหน้าฝ่ายวิเคราะห์เศรษฐกิจและการลงทุน กลุ่มธุรกิจการเงินเกียรตินาคินภัทร กล่าวกับ THE STANDARD WEALTH ว่า การระบาดระลอกใหม่นี้ทำให้เราประเมินผลกระทบใน 3 แบบ

1.ในกรณีที่ดี ภาครัฐสามารถควบคุมการแพร่ระบาดใน 1 เดือนเหมือนช่วงการระบาดเฟส 2 ในเดือนมกราคมที่ผ่านมา ย่อมกระทบต่อ GDP ไม่มาก

2. ในกรณีเลวร้าย หากมาตรการควบคุมของรัฐที่ออกมาแล้วไม่ได้ผล อาจต้องมีการล็อกดาวน์ 2-3 เดือนเหมือนช่วงเดือนมีนาคม-เมษายน 2563 ซึ่งจะกระทบต่อ GDP มาก ทำให้ปีนี้ไทยอาจโตต่ำกว่า 2%

3. ในกรณีฐานมองว่า หากการแพร่ระบาดหนักกว่าเฟส 2 แต่ควบคุมได้มากกว่าการระบาดระลอกแรก จะส่งผลต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยล่าช้าออกไปอีก

ทั้งนี้ ช่วงที่ปรับ GDP ไทยปี 2564 ขึ้นเป็น 2.7% เพราะคาดว่าการระบาดโควิด-19 จะจบ และการท่องเที่ยวจะทยอยกลับมา แต่เมื่อมีการระบาดระลอกใหม่ก็เริ่มมองว่ากระทบกับ Sentiment การเปิดประเทศในไตรมาส 4 ซึ่งอาจทำให้นักท่องเที่ยวต่างชาติของไทยในปีนี้อยู่ต่ำกว่า 1 ล้านคน

จากการแพร่ระบาดหลายรอบที่เกิดขึ้นพิสูจน์แล้วว่า มาตรการวัคซีนเป็นสิ่งจำเป็นที่สุดต่อเศรษฐกิจไทยในตอนนี้ เพราะหากยังไม่มีวัคซีนที่เพียงพอต่อประชากรจนเกิด Herd Immunity (ภูมิคุ้มกันหมู่) ก็อาจมีการระบาดรอบใหม่ขึ้นอีก


ที่มา: The Standard

อ่านต่อ: https://thestandard.co/world-economy-recovering-but-thailand-risk-a-double-recession/


บริษัท เอ็มทีเอส โกลด์ จำกัด
40,42,44 ถนนทรัพย์สิน แขวงวังบูรพาภิรมย์เขตพระนคร กรุงเทพ 10200
โทรศัพท์ 0 2770 7777 โทรสาร 0 2623 9366 E-mail: support@mtsgoldgroup.com