• สรุปข่าวตลาดหุ้น (ภาคเช้า) ประจำวันที่ 7 กรกฎาคม 2563

    7 กรกฎาคม 2563 | SET News
 
· ตลาดหุ้นสหรัฐฯปิดปรับขึ้นขานรับข้อมูลภาคบริการสหรัฐฯ และความหวังที่เศรษฐกิจจีนจะฟื้นตัว โดยดัชนีดาวโจนส์ปิดปรับขึ้น 459.67 จุด หรือคิดเป็น +1.78% ที่ระดับ 26,287.03 จุด ด้าน S&P500 ปิด +1.59% ที่ 3,179.72 จุด และ Nasdaq ปิด +2.21% ที่ 10,433.65 จุด

ทั้งนี้ กลุ่มนักลงทุนกำลังจับตาไปยังการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจจีน จึงเห็นการตอบรับทั้งค่าเงินหยวนและหุ้นจีน โดยหุ้นจีนปิดปรับขึ้นได้กว่า 5% วานนี้

ขณะที่ข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ ประกอบไปด้วยการจ้างงานที่เพิ่มขึ้นเป็นประวัติการณ์ที่ส่งผลให้ Nasdaq ปิดทำ All-Time Highs และส่งผลให้ดัชนี S&P500 ปรับขึ้นได้กว่า 40% จากที่ปิดทำต่ำสุดไว้เมื่อ 23 มี.ค.

อย่างไรก็ดี การเพิ่มขึ้นของยอดผู้ติดเชื้อไวรัสโคโรนาครั้งใหม่ใน 16 รัฐที่ทำสูงสุดเป็นประวัติการณ์ในเดือนนี้ก็อาจเป็นอุปสรรคต่อแผนการกลับมาเปิดทำการ และสร้างความเสี่ยงต่อการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจได้


· ดัชนีหุ้นสหรัฐฯฟิวเจอร์สเช้านี้เปิดบวกตามการปิดปรับขึ้นวานนี้ โดยดัชนีดาวโจนส์ฟิวเจอร์สเปิด +55 จุด ขณะที่ S&P500 เปิด +0.1% และ Nasdaq 100 ฟิวเจอร์สเปิด +0.4%


· ตลาดหุ้นยุโรปปรับตัวสูงขึ้น จากหุ้นภาคธนาคาร โดย Stoxx600 พุ่งขึ้น 1.6%

ตลาดหุ้นยุโรปปรับตัวสูงขึ้น โดยดัชนี Stoxx600 ปรับตัวสูงขึ้น 1.6% ด้านหุ้นกลุ่มธนาคารพุ่งสูงขึ้น 3.9% ท่ามกลางตลาดหุ้นส่วนใหญ่ที่เคลื่อนไหวในแดนบวก เนื่องจากเหล่านักลงทุนให้ความสนใจไปยังความคาดหวังการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจและความคืบหน้าของยารักษาไวรัสโคโรนา จึงบดบังความกังวลเกี่ยวกับการแพร่ระบาดของไวรัสที่ยังคงดำเนินต่อไป

คณะกรรมาธิการยุโรป กล่าวเมื่อวันศุกร์ว่า ได้ทำการอนุมัติให้ใช้ยาต้านไวรัสเรมเดซิเวียร์ (remdesivir) ซึ่งกลายเป็นยาตัวแรกที่ได้รับอนุญาตให้ใช้รักษาไวรัสโคโรนาในระดับสหภาพยุโรป

หนังสือพิมพ์ เดอะ ซันเดย์ ไทม์ส รายงานว่า รัฐบาลอังกฤษใกล้บรรลุข้อตกลงมูลค่า 500 ล้านปอนด์ (624 ล้านเหรียญ) กับบริษัทซาโนฟีและแกลกโซสมิธไคล์น เพื่อผลิตวัคซีนในปริมาณ 60 ล้านโดส

ขณะที่องค์การอนามัยโลก กล่าวเมื่อวันเสาร์ว่า มียอดผู้ติดเชื้อจากๆไวรัสโคโรนากว่า 200,000 รายที่ได้รับการยืนยันทั่วโลกในระยะเวลา 24 ชั่วโมง ซึ่งถือเป็นสถิติใหม่ โดยมียอดผู้ติดเชื้อจากสหรัฐฯประมาณ 130,000 ราย ด้านรัฐฟลอริดาและเท็กซัสทำสถิติยอดผู้ติดเชื้อรายวันสูงสุดเป็นประวัติการณ์ ซึ่งตอนนี้มียอดผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นใน 39 รัฐ


· ตลาดหุ้นเอเชียเคลื่อนไหวผสมผสาน ท่ามกลางเหล่านักลงทุนที่กำลังรอคอยการประกาศดอกเบี้ยของธนาคารกลางออสเตรเลีย

ตลาดหุ้นเอเชียเคลื่อนไหวผสมผสานกันในวันนี้ เนื่องจากเหล่านักลงทุนที่กำลังรอคอยการตัดสินใจประกาศอัตราดอกเบี้ยของธนาคารกลางออสเตรเลีย

โดยหัวหน้ากลยุทธ์การแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศประจำ NAB คาดว่า ธนาคารกลางออสเตรเลียจะยังคงอัตราดอกเบี้ย พร้อมด้วยการประเมินทิศทางเศรษฐกิจที่ดูจะเป็นไปในเชิงบวก แต่การจะกลับมาฟื้นตัวอย่างเต็มรูปแบบนั้นน่าจะใช้ระยะเวลาหลายปี

เช้านี้ดัชนี Nikkei ลดลง 0.31% ด้านดัชนี Topix ลดลง 0.33% และดัชนี Kospi เกาหลีใต้ ลดลง 0.77% ขณะที่หุ้น LG Chem เพิ่มขึ้นกว่า 3%

รวมทั้งดัชนี S&P/ASX 200 ออสเตรเลีย เพิ่มขึ้น 0.95%

ทั้งนี้ ดัชนี MSCI ที่ไม่รวมหุ้นญี่ปุ่นเพิ่มขึ้น 0.23%


· นักบริหารการเงิน ประเมินกรอบการเคลื่อนไหวของเงินบาท สำหรับสัปดานี้อยู่ที่ระหว่าง 30.80-31.20 บาท/ดอลลาร์ฯ โดยปัจจัยสำคัญที่ต้องติดตาม ได้แก่ สถานการณ์โควิด-19 ในหลายประเทศ โดยเฉพาะในสหรัฐฯ ตลอดจนปมขัดแย้งในประเด็นฮ่องกงระหว่างจีน และนานาประเทศ

ขณะที่ตัวเลขเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่สำคัญระหว่างสัปดาห์ ได้แก่ ดัชนี PMI/ISM ภาคบริการ ดัชนีราคาผู้ผลิตเดือนมิ.ย. และจำนวนผู้ขอรับสวสัดิการว่างงานรายสัปดาห์ นอกจากนี้ตลาดอาจรอติดตามตัวเลขเศรษฐกิจเดือนมิ.ย. ของจีน และรายงานนโยบายการเงินซึ่งจะมีการเปิดเผยมุมมองต่อแนวโน้มเศรษฐกิจไทยของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ด้วยเช่นกัน


· อ้างอิงจากสำนักข่าวอินโฟเควสท์

- นายกรัฐมนตรีของไทย กล่าวถึงมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาล หลังการพิจารณาร่างพ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ ปี 64 ว่า รัฐบาลจะเร่งรัดการใช้จ่ายภายในประเทศ เร่งการลงทุนภาครัฐ และเปิดกิจการที่มีศักยภาพ รวมถึงเร่งรัดเปิดกิจการด้านการรักษาพยาบาล ตลอดจนเร่งการส่งออกสินค้าเกษตรและอาหารที่ประเทศไทยมีศักยภาพ

- สำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) กระทรวงพาณิชย์ แถลงอัตราเงินเฟ้อทั่วไปเดือนมิ.ย.63 หดตัว -1.57% แต่ปรับตัวดีขึ้นเพราะติดลบน้อยลงจากเดือนก่อน ในขณะที่เงินเฟ้อพื้นฐานเดือนมิ.ย.63 หดตัว -0.05% ซึ่งถือเป็นการหดตัวครั้งแรกในรอบ 10 ปี เดือน อย่างไรก็ดี เชื่อว่าในช่วงครึ่งปีหลังอัตราเงินเฟ้อมีแนวโน้มปรับตัวดีขึ้น โดยมีปัจจัยจากสถานการณ์โควิดคลี่คลาย ส่งผลดีต่อกิจกรรมทางเศรษฐกิจและการบริโภค ทั้งนี้ ได้ปรับลดคาดการณ์อัตราเงินเฟ้อทั่วไปในปีนี้ลงเหลือ -1.5 ถึง -0.7% จากเดิม -1.0 ถึง -0.2%

- กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา, กระทรวงการคลัง, ธนาคารกรุงไทย เปิดตัวโครงการ "เที่ยวปันสุข" ซึ่งเป็นมาตรการกระตุ้นการท่องเที่ยว โครงการฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคมภาคการท่องเที่ยว วงเงินงบประมาณ 22,400 ล้านบาท ประกอบด้วยแพ็กเกจเราเที่ยวด้วยกัน วงเงิน 20,000 ล้านบาท และแพ็กเกจกำลังใจ วงเงิน 2,400 ล้านบาท เริ่มก.ค.-ต.ค.63

- สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) แนะจัดทำงบประมาณในปี 2564 ควรเน้นยุทธศาสตร์ของประเทศที่มุ่งพัฒนาขีดความสามารถทางการแข่งขันของประเทศ การพัฒนาและเสริมสร้างศักยภาพทรัพยากรมนุษย์ เพื่อสร้างจุดแข็งของประเทศใหม่ และเพิ่มศักยภาพ เพื่อขับเคลื่อนประเทศไปสู่การเปลี่ยนแปลง และรับมือกับปัจจัยเสี่ยงด้านเศรษฐกิจ การค้า การลงทุน ที่เปลี่ยนแปลงจากผลกระทบของโรคไวรัสโคโรน่า (โควิด-19) ส่งผลให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจของโลกชะลอตัว และต้องใช้ระยะเวลาอีกหลายปีกว่าจะฟื้นตัวกลับมา

· อ้างอิงจากสำนักข่าว Businesstoday

- ศูนย์ย์วิจัยกรุงศรี คาดการณ์เศรษฐกิจไทยจะหดตัว 10.3% ในปี 2563 จากเดิมที่คาดว่าจะติดลบ 5% โดยมองว่าเศรษฐกิจในภาพรวมมีความเสี่ยงเพิ่มขึ้นเป็น L-Shape

ดร.สมประวิณ มันประเสริฐ ผู้บริหารสายงานวิจัยและหัวหน้าทีมเศรษฐกิจ ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน) กล่าวว่าแม้ไทยจะไม่มีรายงานผู้ติดเชื้อรายใหม่ในประเทศมากว่า 1 เดือน และมีการผ่อนคลายมาตรการล็อกดาวน์ แต่มาตรการเฝ้าระวัง เช่น การรักษาระยะห่างทางสังคม การระงับการบินระหว่างประเทศ รวมทั้งการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของผู้บริโภค ยังกดดันกิจกรรมทางเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่อง จากปัจจัยดังกล่าวส่งผลให้วิจัยกรุงศรีปรับคาดการณ์เศรษฐกิจไทยในปีนี้และมองว่าจะหดตัว 10.3% ซึ่งต่ำกว่าช่วงวิกฤตการณ์ทางการเงินในเอเชียในปี 2541 แต่เศรษฐกิจจะค่อยๆ ฟื้นตัวและเติบโตที่ 2.9% ในปี 2564


บริษัท เอ็มทีเอส โกลด์ จำกัด
40,42,44 ถนนทรัพย์สิน แขวงวังบูรพาภิรมย์เขตพระนคร กรุงเทพ 10200
โทรศัพท์ 0 2770 7777 โทรสาร 0 2623 9366 E-mail: support@mtsgoldgroup.com