· หุ้นสหรัฐฯดิ่งปิดรายวันแย่ที่สุดตั้งแต่ 16 มี.ค.
หุ้นสหรัฐฯปิดปรับตัวลดลงอย่างหนัก เหตุกังวลครั้งใหม่เกี่ยวกับการระบาดของไวรัสที่จะเพิ่มขึ้นและตลาดรับคาดการณ์ทิศทางเศรษฐกิจเชิงลบของเฟด
ดัชนีดาวโจนส์ปิด -1,861.82 จุด หรือ -6.9% ที่ 25,128.17 จุด ขณะที่ S&P500 ปิด -5.89% ที่ 3,002.1 จุด และ Nasdaq ปิด -5.27% ที่ 9,492.73 จุด
นอกจากนี้ ตลาดยังถูกดดันหลังผู้เชี่ยวชาญด้านสุขภาพสหรัฐฯ ออกโรงเตือนว่าผู้เสียชีวิตจากการติดเชื้อไวรัสโคโรนาในสหรัฐฯอาจพุ่งทะลุ 200,000 รายในเดือนก.ย. อันเป็นผลจากการกลับมาเปิดทำการทางเศรษฐกิจก่อนที่ยอดผู้ติดเชื้อใหม่จะลดลงอย่างแท้จริง
ขณะที่ประธานเฟดกล่าวเตือนหลังเสร็จสิ้นการประชุมว่า การจะฟื้นตัวทางเศรษฐกิจจะใช้เวลานาน
· ดัชนีดาวโจนส์ฟิวเจอร์สเช้านี้ปรับขึ้น 200 จุด จากการเข้าช้อนซื้อหลังดัชนีหลักดิ่งหนักรายวันตั้งแต่มี.ค.
เช้านี้ ดัชนีฟิวเจอร์สสหรัฐฯปรับตัวสูงขึ้น โดยดัชนีดาวโจนส์ฟิวเจอร์สเช้านี้ปรับขึ้น 221 จุด หรือ +0.9% ด้าน S&P500 และ Nasdaq-100 ฟิวเจอร์สปรับขึ้น 0.6%
· ตลาดหุ้นยุโรปปิด -4% จากแนวโน้มเศรษฐกิจที่ไม่สดใสจากเฟด ประกอบกับความกังวล Second Wave
ตลาดหุ้นยุโรปปิดปรับลงจากนักลงทุนที่ทราบถ้อยแถลงแนวโน้มเศรษฐกิจจากเฟด ประกอบกับตลาดมีความกังวลเรื่อง Second Wave หลังกลับมาเปิดทำการ
ดัชนี Stoxx600 ปิด -4% ท่ามกลางหุ้นกลุ่มยานยนต์ที่ปิด -6.9% และหุ้นส่วนใหญ่ก็ยังเคลื่อนไหวแดนลบ
· ตลาดหุ้นเอเชียปรับตัวลดลง หลังจากตลาดหุ้นสหรัฐฯร่วงลงอย่างหนักเมื่อคืนที่ผ่านมา ท่ามกลางความกังวลเกี่ยวกับ second wave ในการแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนา
ดัชนี Kospi เกาหลีใต้ ร่วงลง 3.4% เนื่องจากหุ้นผู้ผลิตรถยนต์ Hyundai Motor ลดลงมากกว่า 5% ด้านดัชนี Kosdaq ก็ลดลงมากกว่า 3% เช่นกัน
โดยเช้านี้ ดัชนี Nikkei ร่วงลงไป 2.5% ขณะที่ดัชนี Topix ร่วงลง 2.46%
ดัชนี S&P/ASX 200 ออสเตรเลีย ลดลงไป 3.32%
ทั้งนี้ ดัชนี MSCI ที่ไม่รวมตลาดหุ้นญี่ปุ่นลดลง 1.42%
· นักบริหารเงิน ประเมินกรอบการเคลื่อนไหวของเงินบาทในวันนี้ไว้ระหว่าง 30.90-31.35 บาท/ดอลลาร์ โดยเมื่อวานนี้ค่าเงินบาทแข็งค่าต่อเนื่องจนหลุด 31 บาท/ดอลลาร์ลงมา เพราะมี flow ไหลเข้า ระหว่างวันบาทลงไปทำ New Low ที่ระดับ 30.83 บาท/ดอลลาร์ ทำให้เกิด panic sale จากผู้ส่งออก หลังจากนั้นค่าเงินบาทก็เริ่มอ่อนค่า ประกอบกับเป็นจังหวะที่นักลงทุนหันกลับไปถือครองค่าเงินดอลลาร์
· อ้างอิงจากสำนักข่าวอินโฟเควสท์
- รมว.คลัง กล่าวถึงกรณีค่าเงินบาทที่แข็งค่าขึ้นมาอีกครั้งว่า เรื่องนี้ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) จะเป็นคนดูแลอย่างใกล้ชิด ซึ่งกระทรวงการคลังจะมีการหารือกับธปท.ซึ่งปกติก็หารือกันอยู่แล้ว ส่วนแนวโน้มระยะต่อไปคงบอกไม่ได้ว่าจะเป็นอย่างไร หน่วยงานที่รับผิดชอบต้องดูแลเพื่อให้สถานการณ์ค่าเงินบาทไม่เป็นอุปสรรคต่อการฟื้นฟูเศรษฐกิจของประเทศ เรื่องนี้เป็นเรื่องที่ธปท.รู้อยู่แล้วว่าจะต้องดูแลอย่างไร เพื่อให้ทิศทางค่าเงินบาทสอดคล้องกับการฟื้นฟูของประเทศ
- ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยว่า การแข็งค่าของเงินบาทในช่วงนี้เป็นไปในทิศทางเดียวกับเงินสกุลในภูมิภาค โดยนับตั้งแต่สิ้นเดือน พ.ค. ถึงปัจจุบัน (11 มิ.ย. 63) เงินบาทปรับแข็งค่าขึ้น 2.71% รองจากเงินรูเปียของอินโดนีเซีย และ
เงินวอนของเกาหลีใต้ สาเหตุหลักมาจากการอ่อนค่าของเงินดอลลาร์สหรัฐฯ ที่ส่งผลให้เงินทุกสกุลในภูมิภาคแข็งค่าขึ้นเมื่อเทียบกับดอลลาร์ สรอ. สำหรับเงินทุนที่ไหลเข้าประเทศในช่วงที่ผ่านมา ส่วนใหญ่เป็นเงินไหลกลับของนักลงทุนที่เป็นทั้งนักลงทุนไทยและกองทุนต่างๆ ที่ออกไปลงทุนในต่างประเทศในช่วงก่อนหน้า ขณะที่นักลงทุนต่างชาติเริ่มกลับเข้ามาลงทุนในตลาดหุ้นและตลาดพันธบัตรในเดือนมิ.ย.แต่ยังไม่มากนัก
- ธนาคารกรุงไทย คาดผลการดำเนินในไตรมาส 2/63 มีแนวโน้มลดลงจากไตรมาส 1/63 เนื่องจากเป็นไตรมาสที่รับผลกระทบจากโควิด-19 เข้ามาเต็ม เมื่อเทียบกับไตรมาส 1/63 ซึ่งจะมีผลกระทบต่อรายได้ของธนาคาร โดยเฉพาะรายได้จากดอกเบี้ย หลังจากมีมาตรการการพักชำระหนี้และปรับโครงสร้างหนี้ให้กับลูกค้าเพื่อช่วยเหลือช่วงวิกฤตโควิด-19 อีกทั้งอัตราดอกเบี้ยที่ปรับลดลงมาต่ำ ในช่วงที่ผ่านมา ส่งผลให้รายได้จากดอกเบี้ยรับของธนาคารลดลงตามไปด้วย
- เลขาธิการคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (กพอ.) เปิดเผยภายหลังการประชุมคณะอนุกรรมการบริหารการพัฒนาเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (กบอ.) ที่มี นายอุตตม สาวนายน รมว.คลัง เป็นประธานว่า ภาพรวมการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (FDI) ในปีนี้คาดว่าจะชะลอตัวลง ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากผลกระทบของการแพร่ระบาดไวรัสโควิด-19 ก่อนจะปรับฟื้นขึ้นในต้นปีหน้า หลังจากเจอวัคซีนโควิด-19 ดังนั้นประเทศไทยจะมีเวลา 6-9เดือนหลังจากนี้ในการสร้างแรงดึงดูดนักลงทุนต่างชาติให้เข้ามา แม้ว่ากระบวนการลงทุนจะยังไม่ลื่นไหลจนกว่าจะเจอวัคซีน แต่ก็เพื่อช่วยรักษาทิศทางการลงทุนของประเทศ
· อ้างอิงจากสำนักข่าว INN news
เลขาธิการ EEC เผย รัฐบาลคลายล็อก หนุนเศรษฐกิจ ปีนี้ติดลบไม่ถึง 5% ขณะต่างชาติสนใจลงทุนไทย
นายคณิต แสงสุพรรณ เลขาธิการคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก หรือ EEC เปิดเผยภายหลังการประชุมคณะอนุกรรมการบริหารการพัฒนาเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก หรือ กบอ. ว่า จากมาตรการการผ่อนปรนให้ชาวต่างชาติเดินทางมายังประเทศไทยได้ และจะผ่อนปรนมากขึ้นในช่วงสิ้นเดือนนี้ จะทำให้นักลงทุนต่างชาติเดินทางมาเจรจาการลงทุนในประเทศไทย ได้สะดวกมากขึ้นจากก่อนหน้านี้ที่มีการปิดประเทศห้ามเดินทางเข้าออกทำให้ทุกฝ่ายคาดการณ์ว่าอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจไทย หรือ จีดีพีในปีนี้จะติดลบร้อยละ 5 หรือ มีวงเงินการลงทุนขาดหายไปกว่า 800,000 ล้านบาท แต่จากการผ่อนปรนมาตรการต่างๆ ทำให้มีกิจกรรมทางเศรษฐกิจเพิ่มขึ้นกว่าร้อยละ 80 จึงเชื่อว่าจะส่งผลทำให้เศรษฐกิจไทยติดลบน้อยกว่าที่คาดการณ์ไว้