· ตลาดหุ้นเอเชียปรับตัวทำระดับสูงสุดใหม่ในรอบ 3 เดือน ท่ามกลางค่าเงินดอลลาร์ที่ถูกกดดันอีกครั้ง อย่างไรก็ดี เหล่านักลงทุนที่ระมัดระวังการลงทุนก่อนหน้าที่จะทราบผลการประชุมเฟดในวันพรุ่งนี้
ตลาดให้ความสำคัญกับมุมมองทางเศรษฐกิจของเฟด และความชันของเส้นผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ หลังตลาดพันธบัตรสัปดาห์ที่แล้วเผชิญแรงเทขายที่อาจส่งผลต่อการดำเนินการในตลาดพันธบัตรอีกครั้ง
ทั้งนี้ ดัชนี MSCI ที่ไม่รวมตลาดหุ้นญี่ปุ่น เพิ่มขึ้น 0.19% ภาพรวมเดือนมิ.ย. ดัชนี MSCI ที่ไม่รวมตลาดหุ้นญี่ปุ่น เพิ่มขึ้น 9%
· ตลาดหุ้นญี่ปุ่นปิดทรงตัวในวันนี้ โดยปิดต่ำกว่าระดับสูงสุดในรอบ 3 เดือนที่ขึ้นไปแตะเมื่อต้นสัปดาห์นี้ เนื่องจากเหล่านักลงทุนหยุดซื้อหุ้นในตลาดที่ปรับตัวสูงขึ้นจากความหวังเกี่ยวกับการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจอย่างรวดเร็วหลังการแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนา
โดยดัชนี Nikkei เพิ่มขึ้น 0.15% ที่ระดับ 23,124.95 จุด ด้านดัชนี Topix ลดลง 0.23% ที่ระดับ 1,624.71 จุด
· ตลาดหุ้นจีนปิดปรับตัวลดลง เนื่องจากดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) ซึ่งเป็นมาตรวัดเงินเฟ้อที่สำคัญ ปรับตัวขึ้น 2.4% ในเดือนพ.ค. เมื่อเทียบเป็นรายปี ซึ่งชะลอตัวลงจากเดือนเม.ย.ที่มีการขยายตัว 3.3% เนื่องจากราคาอาหารปรับตัวลงในช่วงเวลาที่จีนเริ่มเปิดภาคธุรกิจและการผลิต ท่ามกลางสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนาที่เป็นไปในทิศทางที่ดีขึ้น
ขณะที่ดัชนีราคาผู้ผลิตของจีนลดลงมากที่สุดในรอบกว่า 4 ปีที่ผ่านมาตอกย้ำแรงกดดันต่อภาคการผลิตเนื่องจากการระบาดของไวรัสดังกล่าวที่กดดันการค้าและอุปสงค์ทั่วโลก
ทั้งนี้ ดัชนี Shanghai Composite ลดลง 0.42% ที่ระดับ 2,943.75 จุด
· ตลาดหุ้นยุโรปปรับตัวสูงขึ้น เนื่องจากเหล่านักลงทุนกำลังรอคอยผลการประชุมเฟดที่จะทราบในวันพรุ่งนี้และคาดการณ์ทางเศรษฐกิจ
โดยดัชนี Stoxx600 เพิ่มขึ้น 0.9% ด้านหุ้นกลุ่มธนาคารพุ่งขึ้น 2% ท่ามกลางตลาดหุ้นภูมิส่วนใหญ่ที่เคลื่อนไหวในแดนบวก
ทั้งนี้ ตลาดทั่วโลกจะเน้นให้ความสนใจไปยังการประชุมเฟด ด้านดัชนีฟิวเจอร์สหุ้นสหรัฐเพิ่มขึ้นเล็กน้อยในการซื้อขายเมื่อคืนที่ผ่านมา เนื่องจากนักลงทุนรอความชัดเจนเกี่ยวกับมุมมองทางเศรษฐกิจของเฟด
· อ้างอิงจากสำนักข่าวอินโฟเควสท์
นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า การพิจารณายกเลิกหรือคงการบังคับใช้ พ.ร.ก.การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน เพื่อสกัดกั้นการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 จากที่จะสิ้นสุด 30 มิ.ย.63 นั้นจะพิจารณาตามความเหมาะสมเป็นหลัก เพราะการใช้พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ไม่ทำให้ผู้ใดได้ประโยชน์
ทั้งนี้ หากยกเลิก พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ก็สามารถใช้กฏหมายปกติเข้ามาดูแลสถานการณ์แทนได้ทั้ง พ.ร.บ.โรคติดต่อ ซึ่งเป็นกฏหมายหลักในการควบคุมการแพร่ระบาด รวมถึงกฎหมายฉบับอื่นเป็นส่วนประกอบ ทั้ง พ.ร.บ.เดินอากาศ, พ.ร.บ.สาธารณสุข,พ.ร.บ.ป้องกันบรรเทาสาธารณภัย และ พ.ร.บ.ว่าด้วยระเบียบการบริหารราชการแผ่นดิน
-ศบค.เปิดร่างคลายล็อกเฟส 4 รร.นานาชาติ-กวดวิชา,ดื่มเหล้า-เบียร์ในร้านอาหาร,ศูนย์เด็กเล็ก,ศูนย์ประชุมใหญ่,คอนเสิร์ต
-ศบค.จ่อปลดล็อกกองถ่ายขนาดใหญ่ไม่เกิน 150 คน แนะใส่หน้ากากอนามัยแทนเฟซชีลด์
-ศบค.เผยร่างปลดล็อกเฟส 4 ยกเว้นผับบาร์-อาบอบนวด-บ้านบอล-ผู้ชมแข่งขันกีฬา-ร้านเกมส์นอกห้าง
-ศบค.แจงยังไม่ปลดล็อกผับบาร์-คาราโอเกะเหตุเสี่ยงสูง-มีผลต่อเศรษฐกิจไม่มาก
-ศบค.คาดปลดล็อกเฟส 4 เริ่มได้เร็วสุด 15 มิ.ย.นี้
· อ้างอิงจากประชาชาติธุรกิจ
“กกร.” เคาะไทยควรเข้าร่วม CPTPP ส.ค.นี้ คาด เศรษฐกิจปี63 GDP ยังติดลบ 5% ส่งออกลบ 10%
- นายปรีดี ดาวฉาย ประธานสมาคมธนาคารไทย กล่าวในฐานะประธานที่ประชุมคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน (กกร.) ว่า เศรษฐกิจไทยเดือนเม.ย. 63 พบว่าหดตัวทุกส่วนทั้งส่งออก การผลิต การบริโภคและการลงทุน เศรษฐกิจหยุดชะงักจากการล็อกดาวน์หลังเผชิญการระบาดที่รุนแรงของไวรัสโควิด-19 แม้ภาครัฐจะคลายล็อกให้กิจการต่างๆ กลับมาเปิดดำเนินการตั้งแต่เดือนพฤษภาคม (เฟส 1-3) รวมทั้งมีมาตรการเยียวยาต่างๆ
แต่กำลังซื้อครัวเรือนที่อ่อนแอ และพฤติกรรมผู้บริโภคที่เปลี่ยนแปลงไป เศรษฐกิจโลกถดถอย ความเสี่ยงจากสงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯ ที่ปะทุขึ้นอีกรอบ การฟื้นตัวของเศรษฐกิจและภาคธุรกิจไทยจะยังไม่กลับสู่ภาวะปกติและต้องใช้เวลาอีกพอสมควร การว่างงานในประเทศจึงยังอยู่ในภาวะที่น่ากังวล
ที่ประชุม กกร. เห็นว่าภาครัฐควรเร่งขับเคลื่อนแผนฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคมโดยเร็ว โดยเน้นโครงการที่เพิ่มเม็ดเงินลงสู่เศรษฐกิจฐานราก และฟื้นฟูธุรกิจท้องถิ่นเพื่อสร้างงาน
โดยปี 63 ยังคงประมาณการเศรษฐกิจไทยไว้ตามเดิม ที่ประเมินว่า GDP อาจหดตัวในกรอบ -5.0% ถึง -3.0% การส่งออกอาจหดตัว -10.0% ถึง -5.0% ส่วนอัตราเงินเฟ้อทั่วไปคาดว่าอยู่ในกรอบ -1.5% ถึง 0.0%
- นายกลินท์ สารสิน ประธานกรรมการหอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย กล่าวว่า หลังจากมีการหารือถึงการการพิจารณาเข้าร่วม ความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก (CPTPP) หรือไม่นั้น ล่าสุดที่ประชุม กกร. เห็นควรสนับสนุนให้ประเทศไทย เข้าร่วมเจรจากับกลุ่มประเทศภายใต้ข้อตกลง CPTPP ในเดือนสิงหาคม 2563
เนื่องจากจะได้เห็นถึงผลดีหรือผลเสีย ต่อการเข้าร่วมเป็นประเทศภาคีตามข้อตกลง CPTPP เพราะกระบวนการเข้าร่วมเป็นประเทศภาคีนั้น มีขั้นตอนเป็นลำดับขั้น ซึ่งประกอบด้วย การขอเข้าร่วมเจรจา การเข้าร่วมเจรจากับประเทศภาคี หลังจากเจรจาเสร็จแล้ว ต้องนำเสนอต่อคณะรัฐมนตรีพิจารณา