· Nasdaq ปิดสูงสุดเป็นประวัติการณ์ ยืนยันตลาดขาขึ้นจากความหวังเศรษฐกิจฟื้น
ดัชนี Nasdaq ปิดทำสูงสุดเป็นประวัติการณ์ และภาพรวมยังปรับขึ้นได้ 44.7% จากที่ลงไปทำต่ำสุดเมื่อ 23 มี.ค. และถือเป็นครั้งแรกที่ดัชนีหลักสามารถยืนยันเทรนตลาดขาขึ้นได้ ขณะที่ดัชนี S&P500 ก็ยังเคลื่อนไหวในแดนบวกได้จากความหวังที่จะเห็นเศรษฐกิจฟื้นตัวขึ้นหลังเผชิญการระบาดของไวรัสโคโรนา
ดัชนีดาวโจนส์ปิดปรับขึ้นต่ออีก 461.46 จุด หรือคิดเป็น +1.7% ที่ระดับ 27,572.44 จุด ทางด้าน S&P500 ปิด +1.2% ที่ 3,232.39 จุด และ Nasdaq เมื่อคืนนี้ปิด +1.13% ที่ 9,924.75 จุด
กลุ่มนักลงทุนกำลังให้ความสนใจกับการประชุมเฟดช่วง 2 วันนี้ ว่าจะมีทิศทางอย่างไรหลังทราบข้อมูลจ้างงาน และนี่จะถือเป็นการประชุมครั้งแรกนับตั้งแต่เดือนเม.ย. ที่ประธานเฟดได้กล่าวไว้ว่าเศรษฐกิจสหรัฐฯมีแรงกดดันจากภาวะขาลงมากกว่าช่วงปีก่อนๆ
· ยุโรปปิดลงจับตาการระบาดและการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ
ตลาดหุ้นยุโรปปิดปรับตัวลดลงท่ามกลางกลุ่มนักลงทุนที่ประเมินทิศทางการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจจากการระบาดของไวรัสโคโรนาและภาวะประท้วง โดยดัชนี Stoxx 600 ปิดลดลง 0.2% ท่ามกลางหุ้นกลุ่มเทคโนโลยีที่ลดลงไป -1.6%
ด้านความเชื่อมั่นในตลาดหุ้นยุโรปปิดลดลงจากแนวโน้มเชิงบวกในเอเชียและสหรัฐฯ
· ตลาดหุ้นเอเชียปรับตัวสูงขึ้น หลังจากที่ดัชนี S&P500 ปรับตัวสูงขึ้นในแดนบวกเมื่อคืนนี้
ตลาดหุ้นออสเตรเลียกลับมาเปิดทำการหลังจากปิดไปในวันหยุด โดยดัชนีี S&P/ASX 200 เพิ่มขึ้น 3.17% ด้านหุ้นภาคธนาคาร อย่างเช่น Commonwealth Bank of Australia, Westpac และ Australia รวมทั้ง New Zealand Banking Group พุ่งขึ้นมากกว่า 4%
ด้านดัชนี Kospi เกาหลีใต้ปรับตัวสูงขึ้นเช่นเดียวกัน 1.2% ท่ามกลางหุ้นของกลุ่มบริษัท Samsung ในเกาหลีใต้เพิ่มสูงขึ้น โดย Samsung Heavy Electronics เพิ่มขึ้น 2.19% ขณะที่ Samsung Biologics เพิ่มขึ้น 2.41% และ Samsung C&T ขั้นสูง 1.76%
ขณะที่เช้านี้ ดัชนี Nikkei เคลื่อนไหวทรงตัว ด้านดัชนี Topix ปรับตัวสูงขึ้น 0.11%
ทั้งนี้ ดัชนี MSCI ที่ไม่รวมตลาดหุ้นญี่ปุ่นเพิ่มสูงขึ้น 0.91%
· นักบริหารเงิน ประเมินกรอบการเคลื่อนไหวของเงินบาทในวันนี้ไว้ระหว่าง 31.40-31.50 บาท/ดอลลาร์ โดนปัจจัยที่ตลาดจับตาดูเป็นความคืบหน้ามาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลที่จะออกมาในช่วงไตรมาสที่ 3 ของปีนี้ ส่วน ปัจจัยต่างประเทศขณะนี้ยังไม่มีอะไรใหม่เข้ามากระทบ
· อ้างอิงจากสำนักข่าวอินโฟเควสท์
- นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี กล่าวภายหลังการประชุมเรื่องแนวทางการฟื้นฟูเศรษฐกิจไทยในระยะต่อไปว่า มอบหมายกระทรวงการคลังออกมาตรการในการกระตุ้นการบริโภคและการท่องเที่ยวในประเทศ โดยคาดว่าจะเห็นมาตรการใหม่ใน
ไตรมาส 3/63
- สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สภาพัฒน์) ในฐานะประธานคณะกรรมการกลั่นกรองโครงการใช้เงินกู้พ.ร.ก. กู้เงิน 1 ล้านล้านบาท เปิดเผยว่า คณะกรรมการได้มีการพิจารณาโครงการเสนอขอใช้เงินกู้ในส่วนฟื้นฟู 4 แสนล้านบาท ณ วันที่ 5 มิ.ย. มีส่วนการเสนอขอใช้เงินมาแล้วเกือบ 6 แสนล้านบาท ภายใต้กรอบแผนงานใน 4 ด้านหลัก
- กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวว่า แม้สถานการณ์การแพร่ระบาดโควิด-19 ขณะนี้จะปลอดการติดเชื้อในประเทศต่อเนื่อง 14 วันแล้ว แต่ยังไม่อาจวางใจได้ เพราะอาจมีผู้ติดเชื้อที่ไม่แสดงอาการแฝงตัวอยู่ในชุมชนได้
· อ้างอิงจากสำนักข่าว VOA ธุรกิจ
- ธนาคารโลกเปิดเผยรายงานคาดการณ์ภาพรวมเศรษฐกิจโลก Global Economic Prospects ประจำปี 2020 โดยระบุว่า การระบาดใหญ่ของโคโรนาไวรัสจะทำให้ผลผลิตมวลรวมของโลกลดลง 5.2% ในปีนี้ ตามรายงานของสำนักข่าว Reuters
พร้อมเตือนด้วยว่า อาจมีการปรับตัวเลขการคาดการณ์ลดลงอีกในอนาคต หากเกิดความไม่แน่นอนเกี่ยวกับการระบาดและยังต้องปิดภาคธุรกิจต่าง ๆ ต่อไป
โดยรายงานของธนาคารโลกคาดการณ์ว่า เศรษฐกิจของประเทศพัฒนาแล้วจะติดลบ 7.0% ในปีนี้ ขณะที่เศรษฐกิจของประเทศที่ตลาดกำลังขยายตัวอย่างรวดเร็วจะติดลบ 2.5%
ทั้งนี้ หากพิจารณาในส่วนของจีดีพีต่อหัว จะพบว่าการหดตัวของเศรษฐกิจโลกในครั้งนี้ตกต่ำที่สุดนับตั้งแต่ปี ค.ศ. 1945 - 46 ในช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่สอง
เมื่อพิจารณารายประเทศ ธนาคารโลกคาดว่าเศรษฐกิจสหรัฐฯ และญี่ปุ่นจะอยู่ที่ -6.1% เศรษฐกิจกลุ่มยูโรโซน -9.1% เศรษฐกิจบราซิล -8.0% เศรษฐกิจอินเดีย -3.2% และเศรษฐกิจไทย -5.0%
ส่วนเศรษฐกิจจีนคาดว่าจะขยายตัวที่ระดับ 1.0% ในปีนี้ จากเดิมที่คาดการณ์ไว้เมื่อเดือนมกราคมว่าเศรษฐกิจจีนจะขยายตัว 6.0%