• สรุปข่าวเศรษฐกิจ (ภาคเช้า) ประจำวันที่ 9 เมษายน 2563

    9 เมษายน 2563 | Economic News

· สถานการณ์ไวรัสโคโรนา

- จำนวนผู้ติดเชื้อทั่วโลกล่าสุดอยู่ที่ 1,517,731 ราย

- จำนวนผู้เสียชีวิตทั่วโลกล่าสุดอยู่ที่ 88,450 ราย

- จำนวนประเทศติดเชื้อทั่วโลกล่าสุดอยู่ที่ 209 ประเทศ และติดเชื้อบนเรือสำราญ 2 ลำ ได้แก่ Diamond Princess และล่าสุด Holland America’s MS Zaandam

- จำนวนผู้ติดเชื้อในสหรัฐฯอยู่ลำดับที่ 1 ของโลก ล่าสุดมีผู้ติดเชื้ออยู่ที่ 434,698 ราย และมีผู้เสียชีวิตสู่ระดับ 14,792 ราย

- จำนวนผู้ติดเชื้อในสเปนปรับตัวขึ้นมาอยู่เป็นอันดับที่ 2 ของโลกแทนอิตาลี โดยล่าสุดมีผู้ติดเชื้อที่ 148,220 ราย ขณะที่ผู้เสียชีวิตอยู่ที่ 14,792 ราย

- จำนวนผู้ติดเชื้อในอิตาลีเพิ่มขึ้นแตะระดับ 139,422 ราย ขณะที่ผู้เสียชีวิตรวมแล้วทั้งสิ้น 17,669 ราย และยังถือว่าอิตาลียังมียอดผู้เสียชีวิตที่มากที่สุดในโลก

- จำนวนผู้ติดเชื้อในไทยล่าสุดเพิ่มอีก 111 ราย รวมผู้ติดเชื้อสะสมอยู่ที่ 2,369 ราย และมีผู้เสียชีวิตเพิ่มขึ้น 3 ราย รวมสะสม 30 ราย

- รายงานจาก CNBC ระบุถึงสถานการณ์การระบาดของไวรัสโคโรนาในรัฐนิวยอร์ก ซึ่งถือเป็นวิกฤตที่สุดของสหรัฐฯ ด้วยยอดผู้เสียชีวิตรายวันที่ปรับตัวขึ้นอย่างรวดเร็วจนบุคลากรทางการแพทย์แสดงความเป็นกังวล ท่ามกลางสถานการณ์ยอดผู้ติดเชื้อและเสียชีวิตในรัฐอื่นมีอัตราชะลอตัวลง และรัฐนิวยอร์กถือเป็นแห่งเดียวที่มีผู้ติดเชื้อมากที่สุดที่แตะ 150,000 ราย

- ผู้ว่าการรัฐแคลิฟอร์เนีย เผยว่า จำนวนคนว่างงานในรัฐเพิ่มขึ้น 1.4 ล้านรายในสัปดาห์ที่แล้ว

- ภาพรวมการ Shutdown ทางเศรษฐกิจในสหรัฐฯ ดูจะส่งผลให้มีประชาชนอาจตกงานกว่า 5.25 ล้านรายในสัปดาห์ที่ผ่านมา และอาจทำให้ช่วง 2 สัปดาห์ที่ผ่านมามีคนตกงานในประเทศรวมแล้วแตะ 15 ล้านรายได้

อย่างไรก็ดี คงต้องจับตาข้อมูลผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานรายสัปดาห์ของสหรัฐฯในคืนนี้ เพราะยังมีแนวโน้มที่จะเป็นสัปดาห์ที่ 3 ที่มีคนว่างงานเพิ่มขึ้นหลักล้านอย่างต่อเนื่อง ขณะที่ข้อมูลอัตราว่างงานล่าสุดในเดือนมี.ค. ออกมาแย่ลงที่ 4.4% จากเดือนก่อนหน้าที่ 3.5% ทำให้กระทรวงแรงงานคาดว่าจะมีคนว่างงานเพิ่มขึ้นจาก 10 ล้านคนสู่ระดับ 20 ล้านคนได้

- หน่วยงานด้านแรงงานของสหประชาชาติหรือ U.N. หวั่นการระบาดของไวรัสจะทำให้มีคนว่างงานทั่วโลกเพิ่มขึ้น 6.7% ในช่วงไตรมาสที่ 2/2020 และอาจทำให้มีคนว่างงานสูงกว่า 195 ล้านราย

ขณะที่ ILO คาดว่าช่วงสิ้นปีก็จะยังเห็นคนตกงานราวๆ 25 ล้านราย

นอกจากนี้ ยังมีความเสี่ยงในระดับสูงที่จะเห็นคนตกงานสูงขึ้นกว่าที่คาดการณ์ไว้หากการระบาดของไวรัสโคโรนายังแพร่กระจายอย่างรวดเร็ว และขยายตัวอย่างไม่อาจหยุดยั้งได้เช่นนี้

- นายโดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐฯ ยังคงแสดงเจตนารมณ์ในเรื่องการกลับมาเปิดกิจกรรมทางเศรษฐกิจต่างๆของสหรัฐฯขนานใหญ่ แต่จำนวนยอดผู้เสียชีวิตจากไวรัสโคโรนาจำเป็นต้องมีอัตราที่ปรับตัวลงมากกว่านี้ก่อน จึงจะสามารถอนุมัติการกลับมาเปิดทำการ

อย่างไรก็ดี นายทรัมป์ไม่ได้ให้กรอบเวลาว่าเมื่อไหร่ที่เขาจะให้กลับมาเปิดทำการทางเศรษฐกิจ แต่นายแลรี คุดโลว์ หัวหน้าที่ปรึกษาทางเศรษฐกิจของเขา ชี้ว่า เรื่องดังกล่าวอาจเกิดขึ้นได้ในช่วง 4-8 สัปดาห์นี้

ขณะที่นายทรัมป์จะมีการลงชิงตำแหน่งเก้าอี้ประธานาธิบดีสมัยที่ 2 ในวันที่ 3 พ.ย.นี้ ดังนั้น ทำให้เกิดมุมมองถึงการที่เขาต้องการให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจเปิดทำการได้เร็วที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้เพื่อฐานเสียง แต่บรรดาที่ปรึกษาทางการแพทย์ส่วนใหญ่ในเวลานี้ เรียกร้องให้เขาพิจารณาด้วยความระมัดระวังและรอบคอบ เนื่องจากการจะกลับมาเปิดทำการที่เร็วเกินไปอาจนำมาซึ่งการแพร่ระบาดครั้งใหม่ได้

- นายเบอร์นีย์ แซนเดอร์ส ผู้สมัครท้าชิงตัวแทนพรรคเดโมแครตประกาศตัดสินใจลาออกจากการแข่งขันครั้งนี้ ส่งผลให้นายโจ ไบเดน อดีตรองประธานาธิบดีสหรัฐฯ ดูจะกลายมาเป็นคู่แข่งคนสำคัญของนายทรัมป์ ในการชิงตำแหน่งประธานาธิบดีครั้งนี้

- นายทรัมป์ ยังคงมีท่าทีแข็งกร้าวต่อ WHO และยังขู่จะปรับลดเงินสนับสนุนด้วย เนื่องจากข้อสันนิษฐานที่ว่าการดำเนินการดังกล่าวของ WHO มีความล่าช้าและดูจะแคร์กับจีนมากเกินไป

- รายงานประชุมเฟดประจำเดือนมี.ค. เผยถึงการที่เฟดตรึงดอกเบี้ยสู่ระดับ 0.00-0.25% เพื่อลดผลกระทบจากการระบาดของไวรัสโคโรนาที่เป็นผลกระทบสำคัญทางเศรษฐกิจสหรัฐฯ ขณะเดียวกันในการประชุมดังกล่าวเฟดได้ตัดสินใจใช้ QE วงเงิน 7 แสนล้านเหรียญ และมีการปรับลดดอกเบี้ยเงินกู้ฉุกเฉินสำหรับธนาคารพาณิชย์จาก 1.25% สู่ระดับ 0.25% และมีการขยายอายุเงินกู้เป็นเวลา 90 วัน

สำหรับสัญญาณชี้นำต่อไปของเฟด ดูจะเป็นการใช้เครื่องมือทางการเงินให้เป็นไปอย่างเหมาะสม รวมทั้งมุมมองความตั้งใจที่เฟดจะตรึงดอกเบี้ยให้อยู่ในระดับศูนย์ต่อไปจนกว่าที่สมาชิกจะเล็งเห็นว่าไม่เพียงพอต่อการฟื้นความเชื่อมั่นทางเศรษฐกิจ

- นายโรเบิร์ต เคพแลนด์ ประธานเฟดสาขาดัลลัส กล่าวว่า เศรษฐกิจในช่วงครึ่งปีหลังมีแนวโน้มจะอ่อนตัวลง เริ่มตั้งแต่ไตรมาสที่ 2 นี้ ท่ามกลางการระบาดของไวรัสโคโรนาที่ทำให้มีการปิดทำการของสถานประกอบการต่างๆ ขณะที่กลุ่มผู้บริโภคไม่มีการจับจ่ายใช้สอยได้อย่างเสรี

ขณะเดียวกัน ประชาชนในเวลานี้ไม่ได้สนใจถึงการใช้เงินเพื่อซื้อสินค้าหรือบริการ แต่กำลังกังวลต่อหน้าที่การงานและการประหยัดมากขึ้น ดังนั้น เศรษฐกิจสหรัฐฯจึงมีแนวโน้มจะชะงักงัน และอาจได้รับผลกระทบประมาณ 4-5% ในปีนี้

- บรรดา CEO จากธนาคารในแคนาดา กล่าวเป็นเสียงเดียวกันว่า การระบาดของไวรัสโคโรนาดูจะร้ายแรงกว่าวิกฤตทางการเงินในปี 2008-2009 จึงมีแนวโน้มที่จะใช้เวลาฟื้นตัวยาวนานกว่า

- ยอดผู้ติดเสียชีวิตในอิตาลีมีอัตราที่ชะลอตัวลงโดยล่าสุดมีผู้เสียชีวิตเพิ่ม 542 ราย จากวันก่อนหน้าที่มียอดผู้เสียชีวิตเพิ่ม 604 ราย แต่ทุกฝ่ายก็ยังกังวลเนื่องจากยอดผู้ติดเชื้อใหม่เพิ่มขึ้นกว่า 3,836 รายเมื่อเทียบกับยอดวันก่อนหน้าที่ 3,039 ราย

- เยอรมนีกังวลว่าเศรษฐกิจไตรมาสที่ 2/2020 นี้จะหดตัวลงไปมากถึง 9.8% ซึ่งจะเป็นการหดตัวลงที่มากที่สุดเป็นประวัติการณ์นับตั้งแต่ที่เริ่มเก็บข้อมูลในปี 1970

ขณะที่รอยเตอร์สชี้ว่า ในช่วงไตรมาสแรกของปีนี้เศรษฐกิจเยอรมนีหดตัวลงไปแล้ว 1.9% และภาพรวมมองว่ามีแนวโน้มที่ปีนี้จีดีพีเยอรมนีจะโตที่ 4.2% ก่อนจะค่อยๆฟื้นตัวกลับในปีหน้าที่ 5.8%

- Starbucks คาดผลประกอบการไตรมาสที่ 2 จะลดลงไปเกือบครึ่งอันได้รับผลกระทบจากการระบาดของไวรัสโคโรนา โดยมูลค่าหุ้นในตลาดปีนี้ร่วงลงไปแล้ว 18% ทำให้ไตรมาสที่ 2 จะมีกำไรประมาณ 28 เซนต์ หรือกำไรต่อหุ้นปีนี้คาดจะอยู่ที่ 32 เซนต์ ลดลงจากปีที่แล้วที่อยู่ที่ 60 เซนต์

· ดอลลาร์แข็งค่าขึ้นท่ามกลางการซื้อขายปานกลาง และกลุ่มนักลงทุนดูจะให้ความสนใจกับสินทรัพย์ปลอดภัยมากกว่า แม้ว่าสถานการณ์การระบาดของไวรัสจะดูดีขึ้นมีอัตราการชะลอตัว แต่ผลกระทบทางเศรษฐกิจก็ยังคงมีอยู่และน่าเป็นกังวล โดยดัชนีดอลลาร์ทรงตัวที่ 99.993 จุด ด้านเงินเยนอ่อนค่าขึ้นแตะ 108.79 เยน/ดอลลาร์

ค่าเงินยูโรอ่อนค่ามาที่ 1.0883 ดอลลาร์/ยูโร หลังจากที่บรรดารัฐมนตรีการคลังยุโรปล้มเหลวในการร่วมมือกันหามาตรการสนับสนุนทางเศรษฐกิจในช่วงวิกฤตเช่นนี้

· ราคาน้ำมันดิบปรับตัวสูงขึ้นจากความหวังที่ว่าสมาชิกกลุ่มโอเปกและชาติพันธมิตรจะสามารถหาข้อตกลงการปรับลดกำลังการผลิตร่วมกันได้ในการประชุมวันนี้ โดยน้ำมันดิบ WTI ปิดปรับขึ้น 73 เซนต์ หรือ +3% ที่ระดับ 24.34 เหรียญ/บาร์เรล ทางด้าน Brent ปิดปรับขึ้น 40 เซนต์ หรือ +1.3% ที่ระดับ 32.26 เหรียญ/บาร์เรล

เมื่อคืนนี้ EIA เผยข้อมูลสต็อกน้ำมันดิบสหรัฐฯที่พุ่งสูงขึ้นไป 15.2 ล้นบาร์เรล มากกว่าที่คาดว่าจะเพิ่มขึ้นที่ 9.67 ล้านบาร์เรล

- เช้านี้สัญญาน้ำมันดิบ Futures เปิดปรับขึ้นได้กว่า 6% ตามการปิดเมื่อคืนนี้ หวังกลุ่ม OPEC+ เจรจาร่วมกันได้ โดยน้ำมันดิบ WTI ปรับขึ้นไปทำสูงสุดแตะ 26.61 เหรียญ/บาร์เรล ก่อนจะทรงตัวแนว 26.25 เหรียญ/บาร์เรลในเช้านี้



บริษัท เอ็มทีเอส โกลด์ จำกัด
40,42,44 ถนนทรัพย์สิน แขวงวังบูรพาภิรมย์เขตพระนคร กรุงเทพ 10200
โทรศัพท์ 0 2770 7777 โทรสาร 0 2623 9366 E-mail: support@mtsgoldgroup.com