• สรุปข่าวเศรษฐกิจ (ภาคเช้า) ประจำวันที่ 1 เมษายน 2563

    1 เมษายน 2563 | Economic News


· สถานการณ์ไวรัสโคโรนา:

- จำนวนผู้ติดเชื้อทั่วโลกล่าสุดอยู่ที่ 857,299 ราย

- จำนวนผู้เสียชีวิตทั่วโลกล่าสุดอยู่ที่ 42,114 ราย

- จำนวนประเทศติดเชื้อทั่วโลกล่าสุดอยู่ที่ 202 ประเทศ และติดเชื้อบนเรือสำราญ 2 ลำ ได้แก่ Diamond Princess และล่าสุด Holland America’s MS Zaandam

- จำนวนผู้ติดเชื้อในสหรัฐฯอยู่ลำดับที่ 1 ของโลก ล่าสุดมีผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้น 23,971 ราย รวมอยู่ที่ 187,729 ราย และมีผู้เสียชีวิตเพิ่มขึ้น 726 ราย สู่ระดับ 3,867 ราย

- จำนวนผู้ติดเชื้อในอิตาลีเพิ่มขึ้นแตะระดับ 105,792 ราย (+4,053) ขณะที่ผู้เสียชีวิตรวมแล้วทั้งสิ้น 12,428 ราย (+837)

- จำนวนผู้ติดเชื้อในไทยล่าสุดเพิ่มอีก 127 ราย รวมผู้ติดเชื้อสะสมอยู่ที่ 1,651 ราย และมีผู้เสียชีวิตเพิ่มขึ้น 1 ราย รวมสะสม 10 ราย


- นายโดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐฯ ประกาศให้ชาวสหรัฐฯเตรียมรับมือกับการระบาดอย่างรุนแรงจากไวรัสโคโรนาท่ามกลางจำนวนยอดผู้ติดเชื้อที่เพิ่มขึ้น ซึ่งสถานการณ์อาจยิ่งรุนแรงมากขึ้นในช่วง 2 สัปดาห์ที่เป็นช่วงเวลาที่แย่ที่สุดที่ไม่เคยเผชิญมาก่อน

ขณะที่ทางทำเนียบขาวประเมินว่าจะมีชาวสหรัฐฯเสียชีวิตจากไวรัสในครั้งนี้ระหว่าง 100,000 – 200,000 ราย และการระบาดจะเข้าสู่จุดพีคในอีก 2 สัปดาห์ข้างหน้า ขณะที่การระบาดของไวรัสโคโรนาในสหรัฐฯเวลานี้มีผู้ติดเชื้อพุ่งทะลุ 184,000 ราย โดยรัฐนิวยอร์กกลายเป็นศูนย์กลางการระบาดแห่งใหม่ของโลกที่มีผู้ติดเชื้อมากที่สุดถึง 75,795 ราย


- แหล่งข่าว 3 รายเผยว่า ประธานาธิบดีสหรัฐฯ จะทำการอนุญาตให้ภาคธุรกิจเลื่อนการจ่ายภาษีออกไปเป็นระยะเวลา 3 เดือน และคาดว่าในวันนี้ประธานาธิบดีสหรัฐฯจะทำการประกาศร่างดังกล่าวออกไปโดยมีระยะเวลา 90 วันที่สามารถเลื่อนชำระภาษีได้


- สมาชิกวุฒิสภาพรรคเดโมแครต เรียกร้องให้ นายสตีเวน มนูชิน รัฐมนตรีกระทรวงการคลังของสหรัฐฯทำการรับรองการควบคุมกองทุนกว่า 5 แสนล้านเหรียญในการช่วยบริษัทที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของไวรัสโคโรนา

ทั้งนี้ กองทุนดังกล่าวเป็นส่วนหนึ่งของการจัดสรรในงบประมาณ 2 ล้านล้านเหรียญ สำหรับร่างงบประมาณเศรษฐกิจที่นายทรัมป์ ประกาศลงนามไปเมื่อช่วง 2 สัปดาห์ก่อน ที่เป็นหนึ่งในประเด็นสำคัญที่ทางพรรคเดโมแครตค่อนข้างเป็นกังวล และต้องการให้นายมนูชินกระจายเงินทุนในกองทุนดังกล่าวอย่างทั่วถึงและมีความรอบคอบอย่างมาก


- นางลอเร็ตต้า เมสเตอร์ ประธานเฟดสาขาเคฟแลนด์ กล่าวว่า วิกฤตไวรัสโคโรนาดูจะกำลังผลักดันให้คนว่างงานสหรัฐฯพุ่งไปแตะ 10% ได้ แต่ในความเป็นจริงก็อาจไม่ได้เลวร้ายกว่าที่คาดการณ์ได้ ขณะที่เฟดสาขาเซนหลุยส์ เผยว่า อัตราว่างงานมีแนวโน้มจะแย่ที่สุดที่ 32% ด้าน Goldman Sachs เผยมุมมองในสัปดาห์นี้ที่คาดว่าอัตราว่างงานจะไปถึง 15%


- นางแมรี ดาร์ลี ประธานเฟดสาขาซานฟรานซิสโก เผยว่า เฟดเตรียมพร้อมที่จะรับมือเพิ่มขึ้นเพื่อช่วยเหลือเศรษฐกิจสหรัฐฯที่ชะงักงันจากภาคธุรกิจ ท่ามกลางประชาชนที่พักอาศัยอยู่ในบ้านเพื่อช่วยชะลอการระบาดของไวรัส โดยเฟดจะทำทุกอย่างที่ทำได้เพื่อให้มั่นใจว่าจะเป็นส่วนหนึ่งในการเป็นทางออกเพื่อประชาชนที่กำลังประสบกับการระบาดของไวรัสในเวลานี้ และหากเราสามารถหาวิธีได้อย่างเหมาะสม รวมทั้งสามารถจำกัดการระบาดของไวรัสได้ ก็เชื่อว่าเศรษฐกิจจะสามารถรีบาวน์กลับได้เป็นอย่างดี

อย่างไรก็ดี การที่ภาคธุรกิจมีการปลดพนักงาน หรือสั่งพักงาน ประกอบกับการมีคำสั่งให้บริษัทที่ไม่จำเป็นทำการปิดชั่วคราว สิ่งเหล่านี้ก็ดูเหมือนจะทำให้เศรษฐกิจสหรัฐฯได้ก้าวเข้าสู่ภาวะถดถอยเป็นที่เรียบร้อยแล้ว


- นักวิเคราะห์จาก Wells Fargo สถาบันการเงินชั้นนำสหรัฐฯ กล่าวว่า รัฐบาลสหรัฐฯมีแนวโน้มจะเผชิญกับระดับหนี้ที่เพิ่มสูงขึ้นประมาณ 1.4 ล้านล้านเหรียญในช่วงไตรมาสที่ 2 ท่ามกลางกระแสเงินสดที่เพิ่มขึ้นจากนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจเพื่อลดผลกระทบจากการระบาดของไวรัสโคโรนา

นับตั้งแต่ที่นายทรัมป์ ได้ทำการลงนามกฎหมายกระตุ้นเศรษฐกิจ 2.2 ล้านล้านเหรียญ อันประกอบไปด้วยการส่งมอบเช็คให้แก่ชาวอเมริกา และงบประมาณทางการแพทย์ในการช่วยต่อสู้กับไวรัสโคโรนา เกิดขึ้นพร้อมๆกับที่รัฐบาลมีการประกาศเลื่อนกำหนดเส้นตายภาษีรายได้เป็น 15 ก.ค. แทน 15 เม.ย. ท่ามกลางระดับหนี้ที่สูงขึ้น

ดังนั้น สหรัฐฯจะมีงบประมาณขาดดุลเพิ่มขึ้นแตะ 2.4 ล้านล้านเหรียญในปีนี้ หรือคิดเป็น 11.2% ของจีดีพีสหรัฐฯ หรืออาจทำให้งบประมาณพุ่งสูงกว่าในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 ที่พุ่งขึ้นไป 25-30% ของจีดีพี

และคาดว่าในปีนี้รัฐบาลสหรัฐฯจะมีหนี้เพิ่มขึ้นสุทธิที่ 2.8 ล้านล้านเหรียญ

สำหรับสัปดาห์นี้ กระทรวงการคลังสหรัฐฯประกาศเพิ่มการจัดการงบเงินสดมูลค่า 1.45 แสนล้านเหรียญ อันรวมถึงตราสารหนี้ระยะสั้นเพื่อช่วยให้เกิดการบริหารจัดการสภาพคล่องด้านเงินสดตามจำเป็น


- รัฐมนตรีกระทรวงการคลังเยอรมนี เผยว่า เศรษฐกิจเยอรมนีเผชิญกับภาวะอ่อนตัวในช่วงระหว่าง มี.ค.-พ.ค. ท่ามกลางผลกระทบอย่างหนัก แต่ก็อาจลดแรงสูญเสียและมีความเป็นไปได้ที่จะฟื้นตัวกลับในช่วงครึ่งปีหลัง แต่แนวโน้มในขณะนี้ก็ยังคงมีความไม่แน่นอน


- องค์การการค้าโลกหรือ WTO และ U.N. กล่าวว่า ห่วงโซ่อุปทานด้านอาหารอาจต้องได้รับการปกป้องด้วยมาตรการทางการค้ามาสนับสนุนในช่วงการระบาดของไวรัสโคโรนาเวลานี้ เนื่องจากมีโอกาสที่จะเผชิญกับภาวะขาดแคลนอาหารและราคาสินค้าเพิ่มสูงขึ้นได้


- ไอเอ็มเอฟ กล่าวว่า ระบบภาคธนาคารบางประเทศนั้นอาจต้องมีการปรับปรุงครั้งใหญ่ หรือแม้แต่ปรับปรุงโครงสร้างหากเศรษฐกิจดูจะได้รับผลกระทบอย่างรุนแรงจากปัญหาไวรัสโคโรนา

ซึ่งแรงกดดันในระบบภาคธนาคารที่กำลังขยายตัวขึ้น ดูจะสร้างโอกาสให้ระดับหนี้เพิ่มขึ้นรวมทั้งโอกาสการผิดนัดชำระหนี้ได้

อย่างไรก็ดี ไอเอ็มเอฟไม่ได้เจาะจงว่าภาคธนาคารประเทศใดที่กำลังมีความผันผวนอย่างมาก แต่กล่าวเตือนให้ทั่วโลกร่วมกันช่วยเหลือกองทุนต่างๆในการจัดการ โดยเฉพาะในประเทศสหรัฐฯที่เป็นผู้ปล่อยกู้รายใหญ่ที่สุดที่ต้องมีการบริหารจัดการที่ดีเพียงพอเพื่อรับมือกับวิกฤตในเวลานี้


· ค่าเงินดอลลาร์อ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับสกุลเงินหลักส่วนใหญ่ ท่ามกลางแรงกดดันด้านมาตรการจากเฟดที่จะหาวิธีรับมือให้เพียงพอต่อระบบสภาพคล่องทางการเงินทั่วโลก โดยดอลลาร์อ่อนค่าลง0.2% ที่ 99.042 จุด และภาพรวมไตรมาสแข็งค่าขึ้นได้ประมาณ 2.8%

สำหรับค่าเงินคราวน์ของนอร์เวย์ปรับอ่อนค่ามากที่สุดกว่า 18%

บรรดานักวิเคราะห์ กล่าวว่า การปรับตัวลงในตลาดหุ้นในช่วงเดือนมี.ค. ได้ทำให้เกิดการซื้อดอลลาร์เพิ่มมากขึ้น ท่ามกลางบรรดาผู้จัดการสินทรัพย์ต่างๆที่ปรับสมดุลในพรอรต์ช่วงสิ้นเดือนนี้

ค่าเงินเยนอ่อนค่ามา 0.2% แตะ 107.57 เยน/ดอลลาร์ สำหรับ Q1 นี้ค่าเงินเยนปรับแข็งค่ามาแล้ว 1.1% ในขณะที่ค่าเงินยูโรปิด -0.2% อ่อนค่ามาแถว 1.1007 ดอลลาร์/ยูโร และร่วงลงกว่า 1.8% ในช่วงไตรมาสแรก

นักวิเคราะห์บางคนยังเชื่อว่าค่าเงินดอลลาร์จะยังมีแรงสนับสนุนได้ดีจากภาวะเศรษฐกิจขาลง ในไตรมาสที่ 2 ของปีนี้


· คอนเฟอร์เรนซ์บอร์ด ทำการเปิดเผย ข้อมูลความเชื่อมั่นผู้บริโภคที่ออกมาแย่ลงทำต่ำสุดในรอบเกือบ 3 ปี ในเดือนมี.ค. ท่ามกลางภาคครัวเรือนที่วิตกกังวลเกี่ยวกับแนวโน้มของเศรษฐกิจสหรัฐฯในระยะสั้นๆ ท่ามกลางการระบาดของไวรัสโคโรนาที่ส่งผลกระทบต่อวิถีชีวิตของประชาชน

ทั้งนี้ ความเชื่อมั่นผู้บริโภคสหรัฐฯออกมาลดลงแตะ 120 จุดในเดือนมี.ค. ซึ่งถือเป็นต่ำสุดตั้งแต่ก.ค. ปี 2017 ขณะที่ข้อมูลในเดือนก.พ. มีการปรับทบทวนขึ้นมาแตะ 132.6 จุด

ขณะเดียวกันทางคอนเฟอร์เรนซ์บอร์ด ยังคาดว่า การระบาดของไวรัสโรนาจะยิ่งฉุดความเชื่อมั่นผู้บริโภคให้เข้าสู่ภาวะหดตัวมากกว่าที่จะเป็นเพียงภาวะชั่วคราวเท่านั้น


· ราคาน้ำมันดิบ WTI ปิดปรับขึ้น 39 เซนต์ ที่ 20.48 เหรียญ/บาร์เรล ขณะที่น้ำมันดิบ WTI ปรับตัวลงไปแล้วกว่า 54% ในเดือนมี.ค.นี้ และร่วงลง 66% ในไตรมาสแรก ซึ่งถือเป็นการปรับตัวลดลงที่มากที่สุดตั้งแต่ที่มีสัญญาซื้อขายในปี 1983

น้ำมันดิบ Brent ปิดปรับลง 2 เซนต์ ที่ 22.74 เหรียญ/บาร์เรลก่อนที่สัญญาซื้อขายจะหมดอายุ โดยในเดือนมี.ค. Brent ปรับตัวลงไปแล้วกว่า 55% ขณะที่ไตรมาสแรกร่วง 66% ถือเป็นระดับรายเดือนและรายไตรมาสที่แย่ที่สุดเป็นประวัติการณ์

ราคาน้ำมันดิบปิดผันผวนในไตรมาสแรกของปีนี้ และไตรมาสแรกของปีนี้มีการปรับตัวลงมากทีสุดเป็นประวัติศาสตร์ ทั้งน้ำมันดิบ Brent และ WTI จากเศรษฐกิจโลกชะงักงันในช่วงการระบาดของไวรัส และภาวะสงครามมราคาระหว่างรัสเซียและซาอุดิอาระเบีย

ขณะที่นายโดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐฯ และนายวลาดิเมียร์ ปูติน ประธานาธิบดีรัสเซีย เห็นพ้องกันในการเจรจาเพื่อสร้างเสถียรภาพในตลาดน้ำมัน ท่ามกลางน้ำมันดิบ Brent ที่รีบาวน์กลับขึ้นมาหลังร่วงลงไปทำต่ำสุดรอบ 18 ปี

อย่างไรก็ดี ในไตรมาสแรกของปีนี้ เรียกได้ว่าราคาน้ำมันดิบทั้ง Brent และ WTI ปรับตัวลดลงไปกว่า 2 ใน 3 และน้ำมันดิบในเดือนมี.ค. ปรับตัวลงไปประมาณ 55%

ภาพรวมอุปสงค์น้ำมันมีแนวโน้มจะได้รับผลกระทบจากมาตรการการจำกัดการเดินทาง และการระบาดของไวรัส ทำให้ภาคธนาคารรายใหญ่หลายรายหั่นอุปสงค์น้ำมันลงประมาณ 20-30% ในเดือนเม.ย. ท่ามกลางความอ่อนแอในกลุ่มของการอุปโภคบริโภคที่สอคล้องกับภาวะกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่ชะลอตัว

 
บริษัท เอ็มทีเอส โกลด์ จำกัด
40,42,44 ถนนทรัพย์สิน แขวงวังบูรพาภิรมย์เขตพระนคร กรุงเทพ 10200
โทรศัพท์ 0 2770 7777 โทรสาร 0 2623 9366 E-mail: support@mtsgoldgroup.com