• สรุปข่าวเศรษฐกิจ (ภาคค่ำ) ประจำวันที่ 13 มีนาคม 2563

    13 มีนาคม 2563 | Economic News

· ค่าเงินดอลลาร์แข็งค่าเมื่อเทียบกับสกุลเงินส่วนใหญ่ในวันนี้ เนื่องจากนักลงทุนหันเข้าหาค่าเงินดอลลาร์ที่มีสภาพคล่องสูงที่สุดในโลกมากขึ้น เพื่อป้องกันความเสี่ยงจากโคโรนาไวรัสที่กดดันให้ตลาดทั่วโลกปรับร่วงลงอย่างหนัก ขณะที่เมื่อคืนอีซีบีสร้างความผิดหวังให้กับตลาดด้วยการประกาศคงอัตราดอกเบี้ย

เฟดมีการดำเนินการอัดฉีดสภาพคล่องระยะสั้นให้กับตลาดเป็นเม็ดเงินมูลค่า 1.5 ล้านล้านเหรียญ พร้อมขยายระยะเวลาสำหรับการเข้าซื้อพันธบัตร แต่ตลาดก็ยังมีมุมมองว่าเฟดต้องการมีการดำเนินการที่มากกว่านี้เพื่อฟื้นฟูความเชื่อมั่นให้กลับมาอีกครั้ง

ในภาพรวม ตลาดค่อนข้างผิดหวังกับมาตรการควบคุมไวรัสของรัฐบาลสหรัฐฯ โดยมองว่าการดำเนินการของภาครัฐยังค่อนข้างหละหลวมและมีความเป็นไปได้ที่จะเกิดการระบาดเป็นวงกว้างยิ่งกว่านี้

ทั้งนี้ ค่าเงินยูโรค่อนข้างทรงตัวเมื่อเทียบกับดอลลาร์แถว 1.1202 ดอลลาร์/ยูโร หลังจากอ่อนค่าลงมา 0.72% หลังการประชุมอีซีบีเมื่อคืน ในภาพรวมรายสัปดาห์ค่าเงินยูโรมีแนวโน้มอ่อนค่าลง 0.7%

เมื่อเทียบกับค่าเงินปอนด์ ดอลลาร์แข็งค่าเล็กน้อยแถว 1.2541 ดอลลาร์/ยูโร หลังจากก่อนหน้านี้แข็งค่าขึ้นได้ด้วยอัตรารายวันที่มากที่สุดรับตั้งแต่ ก.ค. ปี 2016 ในภาพรวมรายสัปดาห์ ค่าเงินดอลลาร์เมื่อเทียบกับปอนด์มีแนวโน้มแข็งค่า 3.8% มากที่สุดนับตั้งแต่ ต.ค. ปี 2016

ค่าเงินดอลลาร์แข็งค่าเมื่อเทียบกับเยน 0.88% แถว 105.58 เยน/ดอลลาร์ ในภาพรวมรายสัปดาห์ ค่าเงินดอลลาร์มีแนวโน้มแข็งค่าได้ 0.2%

· JP Morgan คาดเศรษฐกิจสหรัฐฯถดถอยในปี 2020

ธนาคาร JP Morgan ประกาศปรับคาดการณ์การเติบโตของ GDP สหรัฐฯเฉลี่ยสำหรับไตรมาสแรกปีนี้ลงสู่ระดับ -2% และ -3% สำหรับไตรมาสที่สอง ซึ่งหมายความว่าทางธนาคารมองว่าเศรษฐกิจสหรัฐฯจะเข้าสู่ภาวะถดถอยภายปีนี้

ทั้งนี้ เศรษฐกิจจะถือว่าเข้าสู่ภาวะถดถอยหาก GDP เศรษฐกิจนั้นๆชะลอตัวลงติดต่อกัน 2 ไตรมาส

สถานการณ์ไวรัสโคโรนา:

Ø จำนวนผู้ติดเชื้อทั่วโลกล่าสุดอยู่ที่ 134,918 (+378) ราย

Ø จำนวนผู้เสียชีวิตทั่วโลกล่าสุดอยู่ที่ 4,990 (+19) ราย

Ø รักษาหายแล้ว 70,395 ราย

Ø จำนวนประเทศติดเชื้อทั่วโลกล่าสุดอยู่ที่ 127 ประเทศ (+0)

Ø จำนวนผู้ติดเชื้อในสหรัฐฯเพิ่มขึ้นต่อเนื่องล่าสุดอยู่ที่ 1,762 ราย (+65) และมีผู้เสียชีวิตแล้ว 41 (+0) ราย

Ø จำนวนผู้ติดเชื้อในอิตาลีที่เป็นอันดับที่ 2 ของโลกรวมอยู่ที่ 15,113 ราย และมีผู้เสียชีวิตแล้ว 1,016 ราย ขณะที่อิหร่านติดเชื้อพุ่งแตะ 10,075 ราย และเสียชีวิต 429 ราย



· ภรรยาของนายจัสติน ทรูโด นายกรัฐมนตรีแคนาดา ถูกตรวจพบว่าติดเชื้อไวรัส COVID-19

หลังจากที่มีรายงานว่าภรรยาของนายกฯแคนาดา ติดเชื้อ COVID-19 ล่าสุดทางแคนาดาออกมาระบุว่า นายทรูโด จำเป็นถูกกักตัวเพื่อสังเกตุเป็นเวลา 2 สัปดาห์ ขณะที่รัฐออนแทรีโอของแคนาดาได้ประกาศปิดโรงเรียนเพื่อควบคุมการระบาดของไวรัส

· กระทรวงอาหารและยาสหรัฐฯประกาศอนุมัติให้สามารถใช้กระบวนการตรวจหาเชื้อไวรัสโคโรนาที่ออกแบบโดยบริษัท Roche ที่เป็นบริษัทสัญชาติสวิตเซอร์แลนด์ ซึ่งสามารถตรวจหาเชื้อไวรัสในผู้ป่วยได้ภายในเวลา 3.5 ช.ม. และสามารถตรวจหาเชื้อได้ถึง 4,128 รายภายในระยะเวลา 24 ช.ม.

· เมืองอู่ฮั่นในประเทศจีน ที่เป็นจุดศูนย์กลางการระบาดของไวรัสโคโรนา รายงานยอดผู้ป่วยรายใหม่ออกมาเพียง 5 ราย นับเป็นวันที่สองที่เมืองอู่ฮั่นรายงานยอดผู้ป่วยรายใหม่ออกมาต่ำกว่า 10 ราย เทียบกับเมื่อวานที่รายงานออกมา 8 ราย ขณะที่ไม่มีรายงานการติดเชื้อภายในประเทศสำหรับพื้นที่อื่นๆของประเทศจีนติดต่อกันเป็นวันที่ 8

อย่างไรก็ตาม มีรายงานพบการติดเชื้อในเมืองเซี่ยงไฮ้ 2 ราย และปักกิ่ง 1 ราย ซึ่งทั้งหมดเป็นชาวต่างชาติที่เดินทางมาจากประเทศกลุ่มเสี่ยงเข้ามาในประเทศจีน

· สิงคโปร์ประกาศห้ามผู้ที่เดินทางมาจากอิตาลี ฝรั่งเศส สเปน และเยอรมนีภายในระยะเวลา 14 วัน ไม่ให้เข้าประเทศไม่ว่ากรณีใดๆ ซึ่งเป็นหนึ่งในมาตรการควบคุมการระบาดของกระทรวงสาธารณสุขสิงคโปร์

· อินโดนีเซียประกาศมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจเพื่อรับมือกับการระบาดของไวรัสโคโรนาเป็นมูลค่า 120 ล้านล้านรูเปียห์ (8.1 พันล้านเหรียญ)

มูลค่าดังกล่าวคิดเป็น 0.8% ของ GDP อินโดนีเซีย ขณะที่มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจจะยกเว้นภาษีให้กับแรงงาน และให้ส่วนลดภาษี 30% สำหรับผู้ประกอบการ โดยมาตรการจะมีผลบังคับใช้ในเดือน เม.ย. และมีผลต่อไปอีก 6 เดือน

· รัฐบาลออสเตรเลียออกประกาศเตือนให้ประชาชนหลีกเลี่ยงการรวมกลุ่มกันมากกว่า 500 คนขึ้นไป เพื่อป้องกันการระบาดของไวรัสโคโรนา

ขณะที่ยอดรวมผู้ติดเชื้อไวรัสในออสเตรเลียอยู่ที่ 156 ราย และเสียชีวิต 3 ราย ซึ่งทางรัฐบาลคาดการณ์ว่าจำนวนผู้ติดเชื้อจะเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องในช่วงสัปดาห์ถัดไป เนื่องจากซีกโลกใต้จะเริ่มเข้าสู่ฤดูหนาว

· นักการทูตชาวฟิลลิปปินส์ ประจำ UN ถูกตรวจพบผลเลือดเป็นบวก และถือเป็นการติดเชื้อโคโรนา รวมทั้งส่งผลให้เกิดการปิดสถานกงศุล 5 แห่งในแมนฮัตตัน

· รายงานจากเกาหลีใต้ เผยการพบผู้ป่วยจากไวรัสโคโรนาที่รักษาหายแล้วเพิ่มขึ้น ซึ่งถือเป็นครั้งแรกที่ได้รับรายงานนี้หลังจากที่พบการแพร่ระบาดตั้งแต่ช่วงเดือนม.ค. และแนวโน้มการเพิ่มขึ้นรายวันพบว่ามีการปรับตัวลง จึงสร้างความหวังที่ว่าเกาหลีใต้จะมีอัตราการระบาดที่ชะลอตัวลง

ศูนย์ควบคุมและป้องกันโรคติดต่อของเกาหลีใต้ (KCDC) เผยพบผู้ติดเชื้อในวันศุกร์ลดลงมาอยู่ที่ 110 ราย จากเมื่อวานนี้ที่ระดับ 114 ราย และทำให้ยอดรวมอยู่ที่ 7,979 ราย ขณะที่ยอดผู้เสียชีวิตอยู่ที่ 70 ราย

ในทางตรงข้ามก็จะเห็นได้ถึงการปล่อยตัวผู้ป่วยที่รักษาอาการดีขึ้นออกจากโรงพยาบาลแล้วกว่า 177 ราย ซึ่งถือเป็นจำนวนการรักษาที่มียอดรายวันดีที่สุดเป็นครั้งแรกนับตั้งแต่ 20 ม.ค.

จึงทำให้ภาพรวมน่าจะช่วยผ่อนคลายความกังวลเกี่ยวกับการชะลอตัวของเกาหลีใต้ซึ่งเป็นประเทศเศรษฐกิจที่ใหญ่ที่สุดเป็นลำดับที่ 4 ของเอเชีย

· ธนาคารกลางนอร์เวย์ประกาศลดดอกเบี้ยฉุกเฉินลง 0.5% สู่ระดับ 1%

· เศรษฐกิจญี่ปุ่นอาจได้รับผลกระทบ หากยกเลิก “โอลิมปิก 2020”

นักวิเคราะห์จากสถาบัน The Economist Intelligence Unit มีมุมมองว่าเศรษฐกิจญี่ปุ่นอาจได้รับผลกระทบอย่างหนัก หากรัฐบาลตัดสินใจยกเลิกกีฬาโอลิมปิกฤดูร้อน 2020 ซึ่งปัจจุบันก็ยังมีกระแสคาดการณ์แตกต่างกันออกไปว่ารัฐบาลจะตัดสินใจยกเลิกหรือไม่กันแน่


โดยเศรษฐกิจญี่ปุ่นที่พึ่งพารายได้จากนักท่องเที่ยวการส่งออกเป็นหลัก กำลังได้รับผลกระทบจากไวรัสโคโรนาที่ทำให้จำนวนนักท่องเที่ยวตกฮวบลงไป การจัดงานกีฬาโอลิมปิกปี 2020 เป็นความหวังเดียวที่จะเห็นนักท่องเที่ยวกลับเข้ามาใช้จ่ายในประเทศและสามารถช่วยชีวิตเศรษฐกิจเอาไว้ได้

ทั้งนี้ ทางโฆษกรัฐบาลญี่ปุ่นล่าสุดยังคงยืนยันถึงการจัดงานกีฬาตามกำหนดการเดิม แม้นายโดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐฯ จะเสนอความคิดเห็นว่าควรเลื่อนการจัดงานโอลิมปิกออกไปเสียก่อนก็ตาม

· รัฐมนตรีกระทรวงมหาดไทยแห่งออสเตรเลีย ออกมายอมรับว่าเขาติดเชื้อไวรัสโคโรนา

· รัฐสภาญี่ปุ่นอนุมัติร่างนโยบายพิเศษที่จะมอบอำนาจให้กับนายกรัฐมนตรีญี่ปุ่นในการสั่งปิดโรงเรียน หรือยกเลิกการชุมนุมใดๆที่มีความเสี่ยงต่อการติดเชื้อไวรัสโคโรนา และสามารถเบิกอุปกรณ์ทางการแพทย์ได้โดยที่ไม่ต้องผ่านความเห็นชอบจากรัฐสภา


· เฟดสาขานิวยอร์กได้ทำการอัดฉีดสภาพคล่องทางการเงินครั้งใหญ่ด้วยการอัดฉีดเงินสดเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจของสหรัฐฯเป็นวงเงินสูงถึง 1.5 ล้านล้านเหรียญ เพื่อเป็นการบรรเทาผลกระทบทางการเงินจากการระบาดของไวรัสโคโรนา

โดยเฟดได้กล่าวถึงความเคลื่อนไหวครั้งใหญ่ว่า การแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนาดูจะทำให้เศรษฐกิจและตลาดพันธบัตรของสหรัฐฯเกิดความผันผวน ดังนั้น เฟดจึงจะรับมือกับภาวะผันผวนในตลาดพันธบัตรที่ปรับตัวลดลงอย่างต่อเนื่อง ซึ่งเฟด ยังมีแผนสำคัญคือการซื้อหลักทรัพย์เป็นวงเงินสูงถึง 6 หมื่นล้านเหรียญ โดยจะเริ่มซื้อจากพันธบัตรในระยะสั้น ซึ่งคาดว่าจะสามารถดำเนินการได้รวดเร็วที่สุดภายในเดือน เม.ย.

นอกจากนี้เฟดยังได้กล่าวเพิ่มเติมว่า เตรียมที่จะซื้อคืนพันธบัตรระยะเวลา 3 เดือน เป็นวงเงิน 5 แสนล้านเหรียญ ในวันนี้ และเตรียมที่จะซื้อคืนพันธบัตรระยะ 1 เดือน วงเงิน 5 แสนล้านเหรียญ และซื้อคืนพันธบัตรระยะสองสัปดาห์เป็นวงเงิน 2.2 แสนล้านเหรียญ ในวันพรุ่งนี้ต่อไป


· Deutsche Bank ปรับคาดการณ์โอกาสเฟดลดดอกเบี้ยในการประชุมสัปดาห์หน้า ว่าเฟดจะมีมติปรับลดดอกเบี้ยลงถึง 1% ซึ่งจะทำให้อัตราดอกเบี้ยของเฟดเข้าใกล้ระดับ 0% ยิ่งขึ้น

· วันนี้ราคาน้ำมันดิบปรับตัวลงติดต่อกันเป็นวันที่ 3 โดย Brent ทำรายสัปดาห์ที่ต่ำที่สุดนับตั้งแต่ปี 1991 ขณะที่ WTI ทำรายสัปดาห์ที่แย่ที่สุดตั้งแต่ปี 2008 ท่ามกลางความตื่นตะหนกของตลาดที่อาจเห็นอุปสงค์น้ำมันชะลอตัวลงจากไวรัสโคโรนา

น้ำมันดิบ Brent ปรับลง 67 เซนต์ หรือ -2% ที่ 32.55 เหรียญ/บาร์เรล หลังจากที่ร่วงลงไปกว่า 7% เมื่อคืนวานนี้ โดยภาพรวมสัปดาห์นี้น้ำมันดิบปรับลงไปกว่า 28% ถือเป็นการปรับลงรายสัปดาห์ที่มากที่สุดตั้งแต่ 18 ม.ค. ปี 1991 หรือลงไปกว่ า 29% เป็นครั้งแรกนับตั้งแต่เกิด Gulf War

น้ำมันดิบ WTI ปรับลง 66 เซนต์ หรือ -2.1% ที่ 30.84 เหรียญ/บาร์เรล หลังจากที่ช่วงต้นตลาดปรับลงไปกว่า 1% และปิดลดไปกว่ า4.5% วานนี้ ภาพรวมสัปดาห์นี้ WTI ปรับตัวลงไปกว่า 25% ซึ่งเป็นการปรับลงมากที่สุดตั้งแต่ 19 ธ.ค. ปี 2008 และถือเป็นการปรับลงมากถึง 27% นับตั้งแต่เกิดวิกฤตทางการเงิน

· รายงานจาก CNN ระบุว่า สงครามราคาน้ำมันระหว่างซาอุดิอาระเบียกับรัสเซีย ในขณะที่อุปสงค์ทั่วโลกกำลังชะลอตัวทั้งในกลุ่มพลังงาน, ก๊าซโซลีน และดีเซล และในเวลาเดียวกันตลาดยังเผชิญภาวะการระงับการเดินทางระหว่างสหรัฐฯและยุโรปที่เปรียบเสมือนฝันร้ายของตลาดน้ำมัน

โดยจะเห็นได้จากราคาน้ำมันดิบที่ปรับตัวลงไปแล้วกว่า 6% ที่ 31 เหรียญ/บาร์เรลเมื่อวานนี้ หลังนายทรัม์ประกาศมาตรการคุมเข้มการเดินทางกับยุโรปเพื่อจำกัดการระบาดของไวรัสโคโรนา และนั่นทำให้น้ำมันดิบ WTI ปรับลงไปทำต่ำสุดมากถึงแนว 30.02 เหรียญ/บาร์เรล หรือลดลงไปประมาณ 27% ในสัปดาห์นี้

Rystad Energy กล่าวว่า ปัญหาใหญ่ของตลาดน้ำมันคือการกระตุ้นให้เกิดอุปสงค์เพิ่มขึ้น แต่หลายเที่ยวบินที่ถูกยกเลิก และมีแนวโน้มจะถูกระงับเที่ยวบินก็ดูจะยิ่งกดดันตลาด เนื่องจากการระงับการเดินทางจากยุโรปอาจเป็นสาเหตุที่ทำให้ความต้องการน้ำมันปรับตัวลงไป 600,000 บาร์เรล/เดือน หรือมากถึง 700,000 บาร์เรล/วัน ก็เป็นได้

หัวหน้าฝ่ายการตลาดน้ำมันของ Rystad Energy กล่าวว่า ท่ามกลางอุปสงค์น้ำมันที่มีสัญญาณปรับตัวลง การระงับการเดินทางจากยุโรปก็ดูจะเป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่เข้ากดดันความเชื่อมั่นนักลงทุน โดยตลาดดูจะสูญเสียความเชื่อมั่นจากความพยายามของภาครัฐบาลและความไม่แน่นอนที่เพิ่มมากขึ้นเกี่ยวกับผลกระทบจากไวรัสโคโรนาตลอดจนภาพรวมเศรษฐกิจ

ทั้งนี้ การร่วงลงของราคาน้ำมันได้ส่งผลต่อบริษัทน้ำมันทั้งรายใหญ่และรายย่อย โดยกลุ่มพลังงานใน S&P500 ปรับลงไปกว่า 10% เมื่อวานนี้


· WTI Price Analysis: จับตาแนวรับที่ระดับ Golden Fibonacci ratio

บทวิเคราะห์จาก FX Street ระบุว่าราคาน้ำมัน WTI ยังคงปรับย่อลงอย่างต่อเนื่อง ท่ามกลางสายการบินที่พากันระงับเที่ยวบินกันมากขึ้น เนื่องหลายๆประเทศรวมถึงสหรัฐฯประกาศห้ามการเดินทางเข้า-ออกประเทศ และยังมีความตึงเครียดด้านราคาน้ำมันระหว่างซาอุดิอาระเบียและสมาชิกโอเปกทั้งกลุ่

เมื่อพิจารณาจากกราฟ จะเห็นได้ว่าราคาน้ำมันกำลังทดสอบระดับต่ำสุด ซึ่งระดับ 161.8 Golden Fibonacci ratio ทำหน้าที่เป็นแนวรับ ขณะที่แนวต้านวันนี้มองไว้ที่ระดับ 36.300 เหรียญ/บาร์เรล ซึ่งยังเป็นแนวต้านสำคัญทางจิตวิทยาอีกด้วย หากราคาปรับขึ้นเหนือแนวต้านนี้ก็จะมีโอกาสปรับขึ้นได้อีก ขณะที่สำหรับฝั่งขาลงก็จะมีแนวรับสำคัญทางจิตวิทยาอยู่ที่ระดับ 30.00 เหรียญ/บาร์เรล




บริษัท เอ็มทีเอส โกลด์ จำกัด
40,42,44 ถนนทรัพย์สิน แขวงวังบูรพาภิรมย์เขตพระนคร กรุงเทพ 10200
โทรศัพท์ 0 2770 7777 โทรสาร 0 2623 9366 E-mail: support@mtsgoldgroup.com