• สรุปข่าวเศรษฐกิจ (ภาคค่ำ) ประจำวันที่ 12 มีนาคม 2563

    12 มีนาคม 2563 | Economic News

สถานการณ์ไวรัสโคโรนาล่าสุด!

> จำนวนผู้ติดเชื้อทั่วโลกล่าสุดอยู่ที่ 126,519 ราย

> จำนวนผู้เสียชีวิตทั่วโลกล่าสุดอยู่ที่ 4,637 ราย

> รักษาหายแล้ว 68,320 ราย

> จำนวนประเทศติดเชื้อทั่วโลกล่าสุดอยู่ที่ 124 ประเทศ

· จีนรายงานจำนวนผู้ติดเชื้อไวรัสรายใหม่ภายในมณฑลหูเป่ยออกมาที่ 8 ราย ซึ่งเป็นการรายงานตัวเลขหลักเดียวเป็นครั้งแรกนับตั้งแต่เกิดการระบาดของไวรัส ท่ามกลางธุรกิจที่เริ่มกลับมาดำเนินงานมากขึ้น หลังรัฐบาลจีนเริ่มผ่อนคลายมาตรการควบคุมการระบาดของไวรัสลงบางส่วน

สำหรับพื้นที่นอกมณฑลหูเป่ยมีรายงานผู้ติดเชื้อรายใหม่ออกมา 7 ราย โดยที่ 6 รายเป็นชาวต่างชาติ คิดเป็น 15 รายเมื่อรวมกับมณฑลหูเป่ย

· เกาหลีใต้รายงานจำนวนผู้ติดเชื้อไวรัสโคโรนารายใหม่ออกมาเพิ่มขึ้น 114 ราย และเสียชีวิตอีก 6 ราย ทำให้ยอดรวมผู้ติดเชื้อในประเทศเพิ่มขึ้นเป็น 7,869 ราย และเสียชีวิตรวม 66 ราย ท่ามกลางการดำเนินการของรัฐบาลเพื่อพยายามควบคุมการระบาดของไวรัสอย่างต่อเนื่อง

ทั้งนี้ ตัวเลขผู้ติดเชื้อรายใหม่นับว่าน้อยกว่า 909 รายที่รายงานเมื่อวันที่ 29 ก.พ. ที่ผ่านมาอย่างมาก ขณะที่หน่วยงานด้านสุขภาพของเกาหลีใต้ระบุว่าอัตราการติดเชื้อในประเทศดูเหมือนจะเริ่มชะลอตัวลงแล้ว

· ซาอุดิอาระเบียประกาศขยายมาตรการปิดเส้นทางบินไปยังสหภาพยุโรปและอีก 12 ประเทศอื่นๆ หลังจากที่ซาอุฯรายงานจำนวนผู้ติดเชื้อไวรัสรายใหม่ออกมาเพิ่มขึ้น 24 ราย ทำให้ยอดรวมผู้ติดเชื้อในประเทศเพิ่มเป็น 45 ราย

· รัฐบาลมาเลเซียกำลังจับตาประชาชนกลุ่มเสี่ยงกว่า 5,000 คน ที่มีโอกาสติดเชื้อไวรัสโคโรนาจากพิธีกรรมทางศาสนาที่จัดขึ้นนอกกรุงกัวลาลัมเปอร์

เมื่อวานนี้มาเลเซียรายงานจำนวนผู้ติดเชื้อรายใหม่ออกมาเพิ่มขึ้น 20 ทำให้ยอดรวมในประเทศเพิ่มขึ้นเป็น 149 ราย

· ประธานาธิบดีคาซัคสถานประกาศยกเลิกกิจกรรมทางสังคมในประเทศทั้งหมด รวมถึงประกาศใช้มาตรการพิเศษเพื่อช่วยบควบคุมการระบาดของไวรัสโคโรนา

· รัฐบาลออสเตรเลียประกาศอัดฉีดเงินเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจเป็นมูลค่า 1.76 หมื่นล้านดอลลาร์ออสเตรเลีย (1.14 หมื่นล้านเหรียญ) เพื่อพยายามป้องกันเศรษฐกิจจากผลกระทบของไวรัสโคโรนาที่กดดันการท่องเที่ยว และได้รับการประกาศเป็นการระบาดในระดับโลก (Pandemic) โดยองค์กรอนามัยโลกแล้ว

ทั้งนี้ การประกาศมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของออสเตรเลียนับเป็นครั้งแรกของประเทศตั้งแต่วิกฤติทางการเงินเมื่อปี 2008

· ค่าเงินดอลลาร์อ่อนค่าท่ามกลางกระแสคาดการณ์ที่มากขึ้นเกี่ยวกับโอกาสที่เฟดจะปรับลดดอกเบี้ยภายในการประชุมสัปดาห์หน้า หลังจากที่ถ้อยแถลงของนายโดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐฯ สร้างความผิดหวังให้ตลาดเนื่องจากไม่ค่อยมีรายละเอียดเกี่ยวกับมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจเพื่อป้องกันผลกระทบจากไวรัสโคโรนา

ค่าเงินดอลลาร์อ่อนค่า 1% เมื่อเทียบกับเงินเยนที่ 103.32 เยน/ดอลลาร์ ส่วนเมื่อเทียบกับเงินยูโร ดอลลาร์อ่อนค่า 0.6% แถว 1.1333 ดอลลาร์/ยูโร และอ่อนค่า 0.6% เมื่อเทียบกับสวิสฟรังก์

เมื่อเช้าวันนี้ นายโดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐฯ ประกาศห้ามผู้ที่เดินทางมาจาก 26 ประเทศในยุโรป เดินทางเข้าสู่สหรัฐฯเป็นเวลา 1 เดือน

ทั้งนี้ นายทรัมป์เปิดเผยว่าจะมีมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจเพื่อรับมือไวรัส แต่ยังไม่มีรายละเอียดเกี่ยวกับมาตรการทางแพทย์อย่างใด นอกจากพยายามสร้างความเชื่อมั่นให้กับตลาดว่า “สหรัฐฯสามารถเอาชนะไวรัสได้”

ในคืนนี้ ตลาดจะจับตาการประชุมของธนาคารกลางยุโรป หรืออีซีบี เพื่อดูว่าอีซีบีจะมีมติปรับลดดอกเบี้ยลงมากแค่ไหน

โดยคาดการณ์ส่วนใหญ่มองว่าอีซีบีจะปรับลดอัตราดอกเบี้ยลง 0.10% แต่ยังมีความไม่แน่นอนอยู่ในระดับสูง เนื่องจากอีซีบีมีการใช้อัตราดอกเบี้ยในระดับติดลบที่ -0.5% และเป็นระดับที่ต่ำที่สุดในประวัติการณ์อยู่แล้ว จึงมีความเสี่ยงที่จะสร้างความเสียหายให้กับผลประกอบการของธนาคารหากตัดสินใจปรับลดดอกเบี้ยลงอีก

· ในช่วงสถานการณ์ที่ยากลำบากประกอบกับไวรัสโคโรนาที่กำลังระบาดเวลานี้ดูจะส่งผลให้ นางคริสติน ลาการ์ด ประธานอีซีบี พยายามที่จะจัดเตรียมมาตรการสำหรับเศรษฐกิจเพื่อฟื้นคืนจากวิกฤตที่กำลังเผชิญเวลานี้

ก่อนจะเผชิญกับโรคระบาดนี้ อีซีบีมีการตัดสินใจลดดอกเบี้ยมาถือครองที่ -0.5% ซึ่งเป็นดอกเบี้ยติดลบที่ส่งผลเสียแก่ภาคธนาคารต่างๆ แต่ในเวลาเดียวกันอีซีบีก็มีการอัดฉีดเม็ดเงิน 2 หมื่นล้านยูโร/เดือน ที่ถือว่ายังต่ำกว่า QE ก่อนหน้าที่เคยอัดฉีดไว้สูงถึง 8 หมื่นล้านยูโร/เดือน

ในการร่วมประชุม Teleconference ที่ผ่านมาของบรรดาผู้นำอียู นางลาการ์ด ก็ได้กล่าวเตือนถึงการกลับมาเผชิญวิกฤตดังเช่นปี 2008 อีกครั้งหากยุโรปยังคงล้มเหลวในการดำเนินการ และเรียกร้องให้ภาครัฐเร่งดำเนินการไม่ได้แตกต่างจากแนวคิดของอดีตประธานอีซีบีอย่างนายมาริโอ ดรากี้ เลย

ประเมิน 3 กรณีหลักจากการประชุมอีซีบี:


1) ไม่มีการดำเนินการใดๆ - ยูโรร่วง

กรณ๊ที่อีซีบีตระหนักดีว่า การใช้มาตรการกระตุ้นทางการเงินเพิ่มเป็นความล้มเหลวในการช่วยเหลือเศรษฐกิจ จึงอาจทำให้อีซีบีตัดสินใจที่จะคงนโยบายไว้ และพยายามกระตุ้นภาครัฐดำเนินการแทน ที่อาจนำไปสู่ท่าทีที่แข็งกร้าวต่อสภาฝ่ายปกครองได้ และนี่อาจหนุนให้ยูโรแข็งค่าขึ้

แต่หากผลออกมาสะท้อนถึง การปราศจากความร่วมมือใดๆในยุโรป ก็จะเข้าคุกคามต่อความเชื่อมั่นของกลุ่มนักลงทุน และมีความเป็นไปได้ที่จะเห็นค่าเงินยูโรปรับอ่อนค่า

แต่ในระยะกลางก็มีความเป็นไปได้ที่อีซีบีจะเพิ่มมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจที่อาจช่วยจำกัดผลกระทบเชิงลบ แต่ในทางกลับกันอีซีบีก็อาจจะไม่ทำอะไรอย่างที่เราเคยพบมาก่อน

2) ลดดอกเบี้ยอีก 0.1% - ยูโรร่วง

หากนางลาการ์ด เดินเกมตามสัญญาณชี้นำของตลาดพันธบัตร และมีการปรับลดดอกเบี้ยลงอีก 0.1% สู่ระดับ -0.6% ก็จะนำมาซึ่งความเสียหายแก่ยอดงบดุลของบรรดาธนาคารพาณิชย์ และก็อาจไม่ได้ช่วยเหลือเศรษฐกิจมากนัก

อย่างไรก็ดี นักลงทุนก็ยังคงมองว่าการลดดอกเบี้ยยังคงเป็นสิ่งที่อีซีบีควรทำ แต่ก็อาจก่อให้เกิดความกังวลตามมาได้ จึงเป็นผลที่จะทำให้เราเห็นยูโรอ่อนค่า

3) เพิ่ม QE - ยูโรอาจอ่อนค่าในตอนแรกและน่าจะรีบาวน์กลับได้

หากอีซีบีตัดสินใจที่จะทำทุกวิถีทาง อย่างที่เคยเป็นมา ร่วมกับการดำเนินการของภาครัฐ และตัดสินใจเข้าซื้อสินทรัพย์เพิ่ม อย่างเช่นการเพิ่มการเข้าซื้อพันธบัตรสู่ 5 หมื่นล้านยูโร/เดือนหรือมากกว่านั้น เราก็จะมีโอกาสเห็นยูโรร่วงลงมาได้เช่นเดียวกัน

แต่ทั้งหมดนี้ก็ยังมีโอกาสที่จะเห็นยูโรแข็งค่ากลับมาได้ในช่วงท้าย จากการที่นักลงทุนพิจารณาถึงการดำเนินการของอีซีบีที่สอดคล้องกับการใช้นโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจต่างๆ่ของภาครัฐบาล

สรุปได้ว่า

เครื่องมือของอีซีบีได้อ่อนแรงลงก่อนที่จะเกิดวิกฤตไวรัสโคโรนา และภาครัฐบาลดูจะเป็นบทบาทสำคัญในการช่วยพยุงเศรษฐกิจจากภาวะถดถอย ซึ่งอีซีบีเองก็มีทางเลือกใน 3 ขั้นต้นและทั้งหมดก็ดูจะเป็นลบต่อค่าเงินยูโร อย่างน้อยที่สุดก็น่าจะส่งผลลบในระยะสั้นๆ

· ประธานสำนักงาน Chatham House วิจารณ์การปรับลดดอกเบี้ยฉุกเฉินของบีโออีว่าเป็นเรื่องที่ผิดพลาดและดำเนินการเร็วเกินไป ซึ่งการดำเนินการดังกล่าวมีขึ้นตามเฟดที่ตัดสินใจลดดอกเบี้ยก่อนหน้าไป 0.5% จาก 0.75% สู่ 0.25% ท่ามกลางความกังวลว่าเศรษฐกิจจะได้รับผลกระทบจากไวรัสโคโรนา ซึ่งจะเห็นได้ว่าการดำเนินนโยบายผ่อนคลายทางการเงิน มีหลักฐานสะท้อนว่า QE และการลดดอกเบี้ยในหลายๆประเทศนั้นไม่ประสบผลสำเร็จในช่วงหลายปีมานี้

· DailyFX ระบุว่า นายฮารุฮิโกะ คุโรดะ ผู้ว่าการบีโอเจ เผยถึงการจะเตรียมการเสริมสภาพคล่องแก่ตลาด พร้อมเข้าซื้อสินทรัพย์อย่างเหมาะสม รวมถึงจะจับตาสถานการณ์ใกล้ชิด ซึ่งพร้อมดำเนินการโดยปราศจากความลังเล

· ยอดขายรถยนต์ในจีนร่วงลงกว่า 79% ในเดือน ก.พ.

ยอดขายรถยนต์ในประเทศจีนปรับร่วงลงมากถึง 79% ในเดือน ก.พ. นับเป็นการปรับลดลงรายเดือนที่มากที่สุดเป็นประวัติการณ์ เนื่องจากอุปสงค์ที่อ่อนแอลงจากการระบาดของไวรัสโคโรนา

ยอดขายรถยนต์ที่ปรับลดลงในประเทศจีน คิดเป็นรถยนต์ประมาณ 310,000 คัน เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน และนับเป็นการชะลอตัวติดต่อกัน 20 เดือนของยอดขาย ส่งผลให้ยอดขายรถยนต์ในประเทศจีนกลับไปสู่ระดับเดียวกันกับในปี 2005

· ราคาน้ำมันดิบปรับตัวลงติดต่อกันเป็นวันที่สองท่ามกลางการปรับลดลงของตลาดหุ้นทั่วโลก หลังจากสหรัฐฯประกาศห้ามการเดินทางจากยุโรป รวมถึงการที่องค์การอนามัยโลกประกาศให้การแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนาเป็นการระบาดในระดับโลก (Pandemic)

ราคาน้ำมันที่ตกต่ำส่วนหนึ่งเป็นผลกระทบมาจากการที่ซาอุดิอาระเบียยืนยันจะเพิ่มกำลังการผลิตสู่ระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์ ท่ามกลางความขัดแย้งด้านราคาน้ำมันกับรัสเซีย

ราคาน้ำมันดิบ Brent ปรับลดลง 1.65 เหรียญ หรือ 4.6% แถวระดับ 34.15 เหรียญ/บาร์เรล ซึ่งอยู่เหนือระดับต่ำสุดก่อนหน้าเล็กน้อย โดยเมื่อวานนี้ราคาน้ำมัน Brent ปรับลดลงเกือบ 4%

ขณะที่ราคาน้ำมันดิบ WTI ปรับลดลง 1.38 เหรียญ หรือ 4.2% ที่ระดับ 31.60 เหรียญ/บาร์เรล หลักจากที่ปรับลดลงไป 4% ในช่วงก่อนหน้า


บริษัท เอ็มทีเอส โกลด์ จำกัด
40,42,44 ถนนทรัพย์สิน แขวงวังบูรพาภิรมย์เขตพระนคร กรุงเทพ 10200
โทรศัพท์ 0 2770 7777 โทรสาร 0 2623 9366 E-mail: support@mtsgoldgroup.com