• สำหรับ ECB การปรับลดดอกเบี้ยอาจไม่เพียงพอต่อการรับมือโคโรนาไวรัส

    10 มีนาคม 2563 | Economic News


ตลาดคาดการณ์กันว่าธนาคารกลางยุโรปหรืออีซีบี จะมีมติปรับลดดอกเบี้ยในการประชุมสัปดาห์นี้ (วันพฤหัสบดีที่ 12 มี.ค. 2020) ซึ่งจะทำให้อัตราดอกเบี้ยของอีซีบีถลำลึกลงไปในแดนติดลบยิ่งกว่าเดิม แต่คำถามที่ตามคือ มันจะเพียงพอต่อการสนับสนุนเศรษฐกิจยุโรปให้สามารถรับความเสี่ยงจากโคโรนาไวรัสได้หรือไม่

หลักการของการปรับลดดอกเบี้ยของธนาคารกลาง คือมูลค่าของเงินที่ถูกลงจะผลักดันให้เกิดปริมาณอุปสงค์ เพื่อไปหนุนให้อัตราเงินเฟ้อขยายตัว ซึ่งวีธีการนี้เป็นวิธีที่เหมาะสมกับธนาคารกลางที่มีพอร์ตงบดุลอยู่ในระดับที่สามารถควบคุมได้อย่างอีซีบี แต่ในทศวรรษที่ผ่านมาอีซีบีได้มีการใช้นโยบายผ่อนคลายทางการเงินมาโดยตลอด และเราก็กำลังอยู่ในจุดสำคัญที่การดำเนินการของธนาคารกลางอาจไม่ได้ช่วยกอบกู้เศรษฐกิจได้เสมอไป

ปัญหาทางเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นจากโคโรนาไวรัส คือผลกระทบต่อปริมาณอุปทาน อุปสงค์ หรือความผันผวนของตลาดการเงิน หรือทั้ง 3 ปัจจัยรวมกัน

ซึ่งมุมมองโดยส่วนใหญ่มองว่าโคโรนาไวรัสส่งผลกระทบต่อปริมาณอุปทานและอุปสงค์เป็นหลัก ดังนั้นนโยบายทางการเงินจึงไม่สามารถแสดงประสิทธิภาพได้อย่างเต็มที่ในภาวะเศรษฐกิจเช่นนี้

สิงคโปร์ถือเป็นตัวอย่างที่ดี โดยรัฐบาลสิงคโปร์ได้ประกาศออกนโยบายสนับสนุนเศรษฐกิจเป็นมูลค่า 4.5 พันล้านเหรียญ เพื่อช่วยเหลือภาคการท่องเที่ยว การบิน ค้าปลีก อาหาร และการขนส่ง หากจะนำมาใช้กับเศรษฐกิจยุโรป ก็ต้องคูณอัตราส่วนของเศรษฐกิจยุโรปเข้าไป รวมเป็นมูลค่าอย่างน้อย 2 แสนล้านเหรียญ เมื่อนั้นนโยบายการเงินก็จะแสดงประสิทธิภาพได้อย่างเต็มที่ แต่เศรษฐกิจเยอรมนีก็อาจอ่อนแอเกินไปที่จะช่วยผลักดันให้ภาพรวมเศรษฐกิจยูโรโซนให้เติบโตต่อไปได้

นายวิเตอร์ คอนสแตนซิโอ อดีตรองประธานอีซีบี ให้ความเห็นไว้เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา ว่าสภาวะเศรษฐกิจในปัจจุบันจำเป็นต้องพึ่งพาภาคธนาคารพาณิชย์ที่แข็งแกร่งพอที่จะช่วยเหลือผู้ประกอบการจากสภาพคล่องที่ตกต่ำ อันมีสาเหตุมาจากผลประกอบการที่ชะลอตัวจากห่วงโซ่อุปทานที่เป็นอัมพาตและอุปสงค์ที่อ่อนแอ แต่ผลประกอบการของธนาคารพาณิชย์ในยุโรปเมื่อปีก่อน มีผลกำไรเฉลี่ยเพียง 6%

ผลกำไรที่ตกต่ำของธนาคารพาณิชย์เป็นผลกระทบมาจากการใช้อัตราดอกเบี้ยในระดับติดลบของอีซีบี การปรับลดดอกเบี้ยมักจะแสดงประสิทธิภาพได้อย่างเต็มที่เมื่อใช้ในปริมาณที่น้อยๆ และต้องไม่ใช้ในระยะยาว การปรับลดดอกเบี้ยลงไปในระดับติดลบมากกว่าเดิมอาจสร้างความเสียหายให้กับระบบธนาคารของยุโรป และกดดันในการลงทุนในภาพรวมได้

ดังนั้น สิ่งที่ตลาดต้องการจากการประชุมอีซีบีครั้งนี้ อย่างแรกเลยคือนโยบายสนับสนุนสภาพคล่องของตลาด โดยอาจเป็นการปรับลดอัตรา Repo ระยะสั้น การปล่อยกู้ระยะยาว และอาจเป็นการใช้นโยบาย QE เพิ่มเติม

อย่างที่สองคือการปรับปรุงเครื่องมือทดสอบภาวะวิกฤต (Stress Test) ที่ใช้กับธนาคารพาณิชย์ ให้มีความผ่อนคลายลงหรือมีความสอดคล้องกับสถานการณ์โคโรนาไวรัสมากขึ้น

นอกจากนี้ ทางอีซีบีอาจพิจารณานำธนบัตรออกจากระบบการเงิน เนื่องจากทางองค์กรอนามัยโลกได้เตือนว่าโคโรนาไวรัสสามารถติดอยู่บนธนบัตรได้ นั่นจึงเป็นเหตุผลที่ธนาคารกลางเกาหลีใต้และจีนพยายามเรียกคืนธนบัตรเพื่อนำมาทำความสะอาด ดังนั้นอีซีบีจึงควรพิจารณาหันไปสนับสนุนการทำธุรกรรมผ่านทางดิจิทัลมากขึ้น

กล่าวโดยสรุปได้ว่า การปรับลดดอกเบี้ย หากไม่มาพร้อมกับนโยบายสนับสนุนสภาพคล่องที่รวดเร็วและหนักแน่น อาจกลายเป็นปัจจัยที่กดดันเศรษฐกิจให้อ่อนแอลงยิ่งกว่าเดิม


ที่มา: Financial Times

บริษัท เอ็มทีเอส โกลด์ จำกัด
40,42,44 ถนนทรัพย์สิน แขวงวังบูรพาภิรมย์เขตพระนคร กรุงเทพ 10200
โทรศัพท์ 0 2770 7777 โทรสาร 0 2623 9366 E-mail: support@mtsgoldgroup.com