• สรุปข่าวเศรษฐกิจ (ภาคเช้า) ประจำวันที่ 9 มีนาคม 2563

    9 มีนาคม 2563 | Economic News


· สถานการณ์ไวรัสโคโรนาล่าสุด!

Ø จำนวนผู้ติดเชื้อทั่วโลกล่าสุดอยู่ที่ 109,936 ราย

Ø จำนวนผู้เสียชีวิตทั่วโลกล่าสุดอยู่ที่ 3,806 ราย

Ø จำนวนประเทศติดเชื้อทั่วโลกล่าสุดอยู่ที่ 104 ประเทศ (+15)


Ø จำนวนผู้ติดเชื้อในสหรัฐฯเพิ่มขึ้นต่อเนื่องล่าสุดอยู่ที่ 538 ราย และมีผู้เสียชีวิตแล้ว 22 ราย


Ø จำนวนผู้ติดเชื้อในอิตาลีเพิ่มขึ้นมาอยู่เป็นอันดับที่ 2 ของโลกโดยล่าสุดอยู่ที่ 7,375 ราย และมีผู้เสียชีวิตแล้ว 366 ราย ขณะที่เกาหลีใต้มีผู้ติดเชื้อที่ 7,313 ราย เสียชีวิต 50 ราย ด้านอิหร่านติดเชื้อพุ่งแตะ 6,566 ราย และเสียชีวิต 194 ราย


เมื่อวานนี้ทางกระทรวงสาธารณสุขและสวัสดิการสังคมอังกฤษ เผยถึงยอดผู้ติดเชื้อไวรัสโคโรนามีอัตราการเพิ่มขึ้นสูงถึง 30% โดย ณ ปัจจุบันมีจำนวนผู้ติดเชื้ออยู่ที่ 273 ราย และมียอดผู้เสียชีวิตล่าสุดที่ 3 ราย ขณะที่ลอนดอนพบผู้ติดเชื้อมากถึง 51 ราย

ด้านฝรั่งเศสพบผู้ติดเชื้อพุ่งสูงกว่า 1,000 ราย จึงพร้อมเพิ่มมาตรการจำกัดการจัดชุมนุม หรืออีเวนท์ต่างๆที่จะเป็นศูนย์รวมผู้คน ล่าสุดฝรั่งเศสมียอดผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นอีก 260 ราย ปัจจุบันรวมอยู่ที่ 1,209 ราย และเสียชีวิต 19 ราย

จำนวนผู้ติดเชื้อในเยอรมนีที่กระโดดพุ่งอีกกว่า 100 ราย ปัจจุบันอยู่ที่ 1,040 ราย ก็ดูจะยิ่งสร้างความกังวลเกี่ยวกับผลกระทบทางเศรษฐกิจมากยิ่งขึ้น โดยเฉพาะในกลุ่มของห่วงโซ่อุปทานทั่วโลก นอกจากนี้ ผลกระทบจากไวรัสโคโรนาจะส่งผลถึงภาคบริษัทต่างๆด้วยโดยเฉพาะในกลุ่มของภาคการผลิตและยอดขายต่างๆ


· หนึ่งในบริษัทด้านการลงทุนชั้นนำระดับโลกอย่าง PIMCO กล่าวว่า การแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนามีแนวโน้มจะส่งผลกระทบให้เผชิญกับภาวะเศรษฐกิจถดถอยในระยะสั้นๆ และมีความเสี่ยงที่จะเกิดความตึงตัวในตลาดสินเชื่อที่อาจย่ำแย่กลับสู่ภาวะขาลง

นอกจากนี้ PIMCO ยังคาดว่าเฟดจะตัดสินใจปรับลดดอกเบี้ยอีกอย่างน้อย 0.5% และมีโอกาสเห็นดอกเบี้ยของเฟดอยู่ที่ระดับ 0% รวมถึงการตัดสินใจกลับเข้าซื้อสินทรัพย์ ขณะที่บรรดาเทรดเดอร์คาดหวังว่าเฟดน่าจะทำการปรับลดดอกเบี้ยลงอีกครั้งในเดือนเม.ย. โดยมีอัตราดอกเบี้ยแถว 0%

สำหรับธนาคารกลางอื่นๆ โดยเฉพาะในแถบประเทศพัฒนาแล้ว มีแนวโน้มจะใช้นโยบายผ่อนคลายทางการเงินเช่นกันในอีกไม่กี่สัปดาห์หรืออีกไม่กี่เดือนนี้ เพื่อรักษาเสถียรภาพด้านสินเชื่อแก่ภาคบริษัทต่างๆ

PIMCO คาดว่าญี่ปุ่นมีแนวโน้มเข้าสู่ภาวะถดถอยแล้วในทางเทคนิค หรืออาจเกิดผลลบต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจในรายไตรมาสด้วย ทางด้านสหรัฐฯและยูโรโซน คาดเผชิญภางวะเศรษฐกิจถดถอยช่วงครึ่งปีแรก แต่ในช่วงครึ่งปีหลังน่าจะชะลอตัวและค่อยๆฟื้นตัวกลับได้ พร้อมมองว่าในอีก 2-3 เดือน อุปสงค์ในจีนจะค่อยๆฟื้นตัวกลับสู่ภาวะปกติเนื่องจากดูเหมือนช่วงที่พีคที่สุดของการระบาดในจีนนั้นผ่านพ้นไปแล้ว

อย่างไรก็ดี ภาพรวมภาคการผลิตและอุปสงค์ในจีนมีการชะลอตัวลงเพราะได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดดังกล่าว โดยเฉพาะในกลุ่มภาคบริการต่างๆ ทั้งการท่องเที่ยว, ด้านความบันเทิง หรือแม้แต่การรับประทานอาหารนอกบ้านที่ดูจะหดตัวลงทั้งหมดแม้ว่าจะมีมาตรการควบคุมและจำกัดความกังวลต่างๆในจีนก็ตาม

· ค่าเงินดอลลาร์อ่อนค่าลงในคืนวันศุกร์ และเรียกได้ว่าจบสัปดาห์ที่ย่ำแย่ที่สุดในรอบ 4 ปี ท่ามกลางอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯที่เป็นปัจจัยหลักในการกดดันค่าเงินดอลลาร์

ทั้งนี้ ดัชนีดอลลาร์ปิดปรับลงประมาณ 0.7% ที่ 95.995 จุด โดยอ่อนตัวลงไปทำต่ำสุดรอบ 13 เดือนที่ 95.701 จุด และภาพรายสัปดาห์ปิด -2.2% ซึ่งเป็นการปิดปรับลงที่แย่ที่สุดตั้งแต่ช่วงต้นพ.ค. ปี 2016

นักวิเคราะห์การตลาดอาวุโสจาก Western Union Business Solutions กล่าวว่า ปัจจัยกดดันให้ดอลลาร์อ่อนค่ามีสาเหตุหลักมาจากการปรับตัวลงของอัตราผลตอบแทนพันธบัตร ซึ่งความไม่แน่นอนทางเศรษฐกิจจากการแพร่ระบาดของไวรัสอย่างรวดเร็วที่กำลังเกิดขึ้น จึงส่งผลตามมาให้เฟดปรับลดดอกเบี้ยลงเมื่อช่วงต้นสัปดาห์และคาดอาจเห็นการปรับลดดอกเบี้ยได้อีกครั้งในช่วงปลายเดือนนี้

ค่าเงินยูโรวันศุกร์ปรับแข็งค่าขึ้น 0.7% ทำสูงสุดรอบ 8 เดือนที่ 1.1311 ดอลลาร์/ยูโร ด้านเงินเยนปรับแข็งค่าอีก 0.6% ที่ 105.49 เยน/ดอลลาร์ ซึ่งเป็นแข็งค่ามากที่สุดรอบ 6 เดือน ในขณะที่เงินปอนด์ได้รับอานิสงส์จากถ้อยแถลงของหัวหน้าผู้แทน Brexit ของอียู ที่กล่าวว่า ข้อตกลงการค้ารระหว่างอังกฤษและอียูอาจเกิดขึ้นได้ในปีนี้ จึงทำให้เงินปอนด์ปิด +0.5% ที่ 1.3021 ดอลลาร์/ปอนด์

· อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลร่วงลงทำต่ำสุดเป็นประวัติการณ์จากความกังวลเกี่ยวกับไวรัสโคโรนาที่จะเข้ากระทบต่อเศรษฐกิจโลก จึงทำให้นักลงทุนลดการถือครองสินทรัพย์เสี่ยงมากขึ้น รวมไปถึงหุ้น จึงบดบังข้อมูลความแข็งแกร่งของตลาดแรงงานสหรัฐฯที่ประกาศในคืนวันศุกร์ ที่ไม่ว่าจะเป็นการจ้างงาน หรืออัตราค่าแรงที่ปรับตัวขึ้น ควบคู่กับอัตราว่างงานที่ปรับตัวลงกลับสู่ระดับต่ำสุดรอบ 50 ปี ที่ 3.5% ขณะที่น้ำมันดิบดิ่งลงหนักหลังซาอุดิอาระเบียหั่นราคาขายน้ำมัน

ตลาดคาดว่ามีโอกาสที่จะเห็นเฟดตัดสินใจปรับลดดอกเบี้ยลงใกล้ 0% ในเดือนเม.ย.

เช้านี้อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลอายุ 10 ปี ปรับตัวลงต่อต่ำกว่า 0.5% ด้านเงินเยนแข็งค่าขึ้นอีก 1.6% หลุด 104 เยน/ดอลลาร์ลงมา แตะ 103.52 เยน/ดอลลาร์ ในส่วนของยูโรทรงตัวที่ระดับสูงสุดรอบ 8 เดือนที่ 1.1380 ดอลลาร์/ยูโร

· นายอีรีคิ โรเซ็นเกร็น ประธานเฟดสาขาบอสตัน กล่าวว่า เฟดควรอนุมัติกรอบการเข้าซื้อสินทรัพย์หรือพันธบัตรหากการแพร่ระบาดของไวรัสโครนาอย่างต่อเนื่องมีความยืดเยื้อ และเสี่ยงทำให้เศรษฐกิจสหรัฐฯเข้าสู่ภาวะขาลง เนื่องจากอาจนำไปสู่ประชาชนไม่สามารถทำงานได้ หรืออาจจำเป็นต้องอยู่แต่ที่บ้านและไม่สามารถดำเนินการการใดๆได้

ขณะเดียวกัน เจ้าหน้าที่เฟดบางส่วนต่างก็คาดหวังว่านอกจากการลดดอกเบี้ยของเฟดแล้ว อาจมีการเรียกร้องให้บรรดาธนาคารกลางผ่อนคลายการชำระหนี้ หรือผลักดันให้สภาคองเกรสปล่อยให้เฟดเพิ่มการเข้าซื้อสินทรัพย์อื่นๆมากกว่าตราสารหนี้หากตลาดเผชิญกับภาวะตึงตัวอย่างหนัก

· นายชาร์ล อีวานส์ ประธานเฟดสาขาชิคาโก กล่าวว่า เฟดอาจพิจารณาทางเลอืกที่หลากหลายในการประชุมนโยบายเดือนนี้ โดยเฟดจะใช้เครื่องมือทุกอย่างที่สามารถเสริมสภาพคล่องและกองทุนในตลาดให้ได้มากที่สุด โดยเฉพาะหากแรงงานขั้นต่ำได้รับผลกระทบทางการเงินที่ไม่สามารถออกไปทำงานที่บ้านได้เป็นเวลาหลายสัปดาห์และปราศจากค่าจ้าง

อย่างไรก็ดี ภาพรวมของกลุ่มผู้บริโภคที่ยังแข็งแกร่งก็เป็นสิ่งที่เฟดคาดหวังว่าจะกลับมาฟื้นตัวได้ และส่งผลให้เกิดการขยายตัวในส่วนนี้ดำเนินต่อไป

· รายงานจากรอยเตอร์ส เผยว่า การสำรองเงินตราต่างประเทศของจีนปรับตัวลดลงน้อยกว่าที่คาดในเดือนก.พ. โดยลดลง 8.779 พันล้านเหรียญ สู่ระดับ 3.107 ล้านล้านเหรียญ ท่ามกลางหยวนที่อ่อนค่าจากความกังวลต่อการแพร่ระบาดอย่างรวดเร็วของไวรัสโคโรนาที่ดูจะเข้ากระทบต่อกิจกรรมทางเศรษฐกิจของประเทศ ซึ่งเงินหยวนในเดือนก.พ. ปรับตัวลงไปกว่า 0.78% ซึ่งเป็นระดับการปรับอ่อนค่ามากที่สุดตั้งแต่ส.ค.ปีที่แล้ว ด้านดอลลาร์แข็งค่าขึ้นในเดือนดังกล่าว 0.77%

· รายงานข้อมูลเศรษฐกิจการค้าของจีนดูจะไม่ค่อยสดใสนัก ท่ามกลางภาพการเติบโตช่วงไตรมาสแรกของจีนดูจะอ่อนแอลงมากที่สุดตั้งแต่ปี 1990 โดยมาตรการจำกัดการควบคุมโรคติดต่อของภาครัฐนั้นเป็นอุปสรรคต่อภาคการผลิตของโรงงานต่างๆ รวมไปถึงการปรับตัวลงของอุปสงค์ด้วย อันจะเห็นได้จากการขนส่งระหว่างประเทศลดลงไป 17.2% ในเดือนม.ค. - ก.พ. เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว ขณะที่ยอดส่งออกปรับตัวลง 15.9% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว ในส่วนของยอดนำเข้าลดลง 2.4% ทั้งหมดนี้เป็นผลมาจากการแพร่ระบาดอย่างรวดเร็วของไวรัสโคโรนาที่เป็ฯอุปสงค์สำคัญต่อกลุ่มภาคการผลิต

ทั้งนี้ จีนมียอดขาดดุลการค้าแตะ 4.259 หมื่นล้านหยวนในช่วง 2 เดือนแรกของปี และมียอดเกินดดุลการค้ากับสหรัฐฯทรงตัวที่ 2.537 หมื่นล้านเหรียญ แคบลงจาก 4.216 หมื่นล้านเหรียญในปีที่แล้ว

· ราคาน้ำมันดิบปิดปรับตัวลงคืนวันศุกร์แย่สุดในรอบ 11 ปี ท่ามกลางความขัดแย้งของกลุ่มโอเปกกับชาติพันธมิตรในการปรับลดการผลิตเพื่อสนับสนุนราคาน้ำมันที่เผชิญกับผลกระทบของไวรัสโคโรนา

น้ำมันดิบ Brent ปิดปรับลงไปกว่า 9.4% ซึ่งเป็นอัตราการปรับลงที่มากที่สุดตั้งแต่ธ.ค. ปี 2008 หรือปิด -4.72 เหรียญ ที่ระดับ 45.27 เหรียญ/บาร์เรล ถือเป็นราคาปิดต่ำสุดนับตั้งแต่มิ.ย. ปี 2017

ด้านน้ำมันดิบ WTI ปิดปรับลง 4.62% หรือ -10.1% ที่ 41.28 เหรียญ/บาร์เรล ซึ่งเป็นปิดต่ำสุดตั้งแต่ส.ค. ปี 2016 และมีอัตราการปรับตัวลงรายวันที่แย่ที่สุดตั้งแต่พ.ย. ปี 2014

· เช้านี้ราคาน้ำมันร่วงต่อกว่า 30% เกิดความขัดแย้งด้านราคาหลังโอเปกไม่สามารถหาตกลงได้

ราคาน้ำมันเมื่อวันอาทิตย์ที่ผ่านมา ปรับร่วงลงด้วยอัตราที่มากที่สุดนับตั้งแต่ปี 1991 หลังซาอุดิอาระเบียประกาศลดราคาขายน้ำมันอย่างเป็นทางการลง พร้อมประกาศแผนจะเพิ่มกำลังการผลิตขึ้นอย่างมาก จึงเป็นการส่งสัญญาณว่าอาจเกิดสงครามด้านราคาน้ำมันขึ้น

การดำเนินการของซาอุฯเกิดขึ้นหลังจากที่รัสเซียลังเลที่จะตกลงร่วมมือกับมาตรการปรับลดกำลังการผลิตของกลุ่มโอเปกในคืนวันศุกร์

ทางการซาอุฯระบุว่า แผนปรับเพิ่มกำลังการผลิตของพวกเขาจะเร่งกำลังการผลิตให้มากกว่า 10 ล้านบาร์เรล/วัน ภายในเดือน เม.ย. หลังจากที่ข้อตกลงปรับลดกำลังการผลิตระหว่างโอเปกและรัสเซียกำลังจะหมดอายุลงในปลายเดือน มี.ค. นี้

การตัดสินใจของซาอุถือว่าเป็นการกระทำที่ตรงกันข้ามกับสิ่งที่เคยทำมาอย่างสิ้นเชิง เนื่องจากซาอุฯเคยให้ความร่วมมือในการควบคุมกำลังการผลิตให้อยู่ในระดับต่ำเพื่อช่วยพยุงราคาน้ำมันในตลาดมาโดยตลอด นักวิเคราะห์จึงมองว่าราคาน้ำมันมีโอกาสปรับลงไปถึงระดับ 20 เหรียญ/บาร์เรลภายในปีนี้

ทั้งนี้ ราคาสัญญาน้ำมันดิบ Brent ปรับร่วงลง 30% สู่ระดับ 31.02 เหรียญ/บาร์เรล ซึ่งเป็นระดับต่ำสุดตั้งแต่ เดือน ก.พ ปี 2016 ขณะที่ ราคาสัญญาน้ำมันดิบ WTI ปรับร่วงลง 27% สู่ระดับ 30 เหรียญ/บาร์เรล ซึ่งเป็นระดับต่ำสุดตั้งแต่ เดือน ก.พ ปี 2016 เช่นเดียวกัน

การปรับลดลงของราคาสัญญาน้ำมันดิบทั้ง 2 เจ้า ถือเป็นการปรับลดลงรายวันที่มากที่สุดตั้งแต่เดือน ม.ค. ปี 1991 ที่ราคาน้ำมันปรับลดลงไปมากกว่า 30%

 
บริษัท เอ็มทีเอส โกลด์ จำกัด
40,42,44 ถนนทรัพย์สิน แขวงวังบูรพาภิรมย์เขตพระนคร กรุงเทพ 10200
โทรศัพท์ 0 2770 7777 โทรสาร 0 2623 9366 E-mail: support@mtsgoldgroup.com