• สรุปข่าวเศรษฐกิจ (ภาคเช้า) ประจำวันที่ 5 มีนาคม 2563

    5 มีนาคม 2563 | Economic News

· สถานการณ์ไวรัสโคโรนา

Ø จำนวนผู้ติดเชื้อทั่วโลกล่าสุดอยู่ที่ 95,184 ราย

Ø จำนวนผู้เสียชีวิตทั่วโลกล่าสุดอยู่ที่ 3,254 ราย

Ø จำนวนประเทศติดเชื้อทั่วโลกล่าสุดอยู่ที่ 84 ประเทศ

Ø จำนวนผู้ติดเชื้อในสหรัฐฯเพิ่มขึ้นต่อเนื่องล่าสุดอยู่ที่ 158 ราย และมีผู้เสียชีวิตแล้ว 11 ราย


- ผู้ว่าการรัฐนิวยอร์ก ยืนยันผู้ติดเชื้อไวรัสภายในพื้นที่เพิ่มขึ้น 11 ราย โดยส่วนใหญ่ที่เพิ่มขึ้นเป็ฯการติดเชื้อจากผู้ที่เดินทางกลับจากเมืงอเวสเชสเตอร์ และในแมนฮัตตัน

- การแพร่ระบาดในสหรัฐฯที่เพิ่มขึ้นส่งผลให้สายการบิน United Airlines ประกาศปรับลดเที่ยวบินในเดือนหน้า ท่ามกลางอุปสงค์ทีชะลอตัวควบคู่ไป พร้อมกันนี้สายการบินดังกล่าวปรับลดเที่ยวบินนานาชาติลง 20% และปรับลดการบินภายในประเทศลง 10%

- สภาผู้แทนราษฎรสหรัฐฯผ่านร่างงบประมาณฉุกเฉินในการใช้ต่อสู้กับไวรัสโคโรนากว่า 8.3 พันล้านเหรียญ โดยงบประมาณดังกล่าว ประกอบไปด้วยมูลค่ากว่า 3 พันล้านเหรียญในการใช้วิจัยและพัฒนาวัคซีน ขณะที่อีก 2.2 พันล้านเหรียญใช้สำหรับการหามาตรการป้องกันและเตรียมความพร้อม และร่างงบประมาณฉุกเฉินนี้จะนำส่งต่อไปยังวุฒิสภาสหรัฐฯ โดยบรรดาผู้นำสภาต่างคาดหวังที่จะสามารถลงมติได้อย่างรวดเร็ว ซึ่งหากร่างดังกล่าวผ่านทั้ง 2 สภา ลำดับต่อไปก็จะส่งต่อให้นายโดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐฯลงนาม

- อิหร่านพบผู้ติดเชื้อเพิ่มพุ่งแตะ 2,922 ราย และมีผู้เสียชีวิต 92 รายภายในประเทศ

- เยอรมนียังพบผู้ติดเชื้อเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องล่าสุดอยู่ที่ 262 ราย จาก 196 ราย


- นางคริสตาลินา จอเจียฟวา ผู้อำนวยการไอเอ็มเอฟ ประกาศอัดฉีดเงินช่วยเหลือมูลค่า 5 หมื่นล้านเหรียญ สำหรับการต่อสู้กับไวรัสโคโรนา ซึ่งเป็นการช่วยเหลือตามมาหลังจากที่ทาง World Bank ประกาศอัดฉีดเม็ดเงินช่วยเหลือเมื่อวันจันทร์ที่ 1.2 หมื่นล้านเหรียญ

อย่างไรก็ดี ผู้อำนวยการไอเอ็มเอฟ ยังมองว่า การแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนาที่เกิดขึ้นไปทั่วโลกในเวลานี้จะบั่นทอนต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจโลกในปีนี้ที่อาจเกิดการชะลอตัวลงมากที่สุดนับตั้งแต่ที่เคยเกิดวิกฤตการเงินในปี 2008-2009

โดยในปีนี้คาดว่าจีดีพีจะโตต่ำกว่าระดับของปี 2019 ที่อยู่ที่ 2.9% ขณะที่ภาพรวมทางการค้าโลกปีที่แล้วเติบโตด้วยอัตราที่แย่ที่สุดตั้งแต่ที่เคยหดตัวในช่วงปี 2009 ที่ 0.7%

ทั้งนี้ การเปลี่ยนแปลงคาดการณ์อาจเกิดขึ้นโดยน่าจะปรับลดลงกว่า 0.4% จากคาดการณ์ที่ 3.3% ในช่วงเดือนม.ค. ซึ่งเกิดขึ้นในช่วงที่สถานการณ์การค้าระหว่างสหรัฐฯและจีนผ่อนคลายลงไป

ผู้อำนวยการไอเอ็มเอฟ กล่าวเสริมว่า การเติบโตของเศรษฐกิจโลกในปีนี้มีแนวโน้มจะแย่ลงจากปีที่แล้ว แต่ก็ไม่อาจทราบได้ว่าจะปรับตัวลงและใช้เวลานานเท่าไหร่ เนื่องจากสถานการณ์เวลานี้ยังคงเป็นเรื่องยากที่จะคาดเดา ซึ่งหากวิกฤตทางด้านสุขภาพเข้าสู่สภาวะตึงเครียดมากขึ้นก็อาจผลักดันให้เศรษฐกิจโลกก้าวสู่ภาวะถดถอยได้

- องค์การอนามัยโลกหรือ WHO ยังคงออกมากล่าวเตือนเรื่องการขาดแคลนเครื่องมือทางการแพทย์ทั่วโลกในการต่อสู้กับการแพร่ระบาดอย่างรวดเร็วของไวรัสโคโรนา และยังเรียกร้องให้ภาคบริษัทและรัฐบาลมีการเพิ่มกำลังการผลิตให้ได้มากถึง 40% ท่ามกลางจำนวนผู้ติดเชื้อและเสียชีวิตที่เพิ่มมากขึ้น

โดยในอิหร่านขาดทั้งเครื่องมือทางการแพทย์และเจ้าหน้าที่ทางการแพทย์รวมถึงพยาบาล ท่ามกลางจำนวนผู้เสียชีวิตที่สูงกว่า 90 ราย ถือเป็นหนึ่งในประเทศที่มีการเสียชีวิตนอกพื้นที่ของจีนที่มากที่สุด ขณะที่ในอิตาลีที่ได้รับผลกระทบมากที่สุดมีผู้เสียชีวิตเกินกว่า 100 ราย เป็นต้น

ภาพรวมผู้เสียชีวิตจากไวรัสโคโรนามีอัตราเฉลี่ยที่ 3.4% ซึ่งสูงกว่าเกณฑ์ที่ 1% แต่ก็เชื่อว่าไวรัสตัวนี้จะสามารถควบคุมได้

- รัฐบาลญี่ปุ่นตัดสินใจประกาศเลื่อนการจัดงาน Tokyo Summer Olympics จาก 24 ก.ค. – 9 ส.ค. ในปีนี้ออกไปก่อน จากปัญหาไวรัสโคโรนาภายในประเทศ

· รายงานเศรษฐกิจหรือ Beige Book ของเฟด เผยว่า เศรษฐกิจสหรัฐฯกำลังดำเนินไปด้วยดีแต่ก็กำลังเผชิญกับภาวะเสี่ยงจาก 2 ปัจจัยสำคัญ คือการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ และการแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนา และถึงแม้จะยังไม่เห็นผลกระทบที่เข้าคุกคามเศรษฐกิจจากไวรัสโคโรนา แต่ภาคธุรกิจต่างๆก็กังวลถึงความเป็นไปได้ของปัญหาที่จะตามมา เนื่องจากไวรัสโคโรนาส่งผลลบต่อภาคการท่องเที่ยว และนักท่องเที่ยวของสหรัฐฯ ขณะที่การผลิตที่ขยายตัวได้ดีก็อาจได้รับผลกระทบจากปัญหาห่วงโซ่อุปทานบางส่วน ที่อาจกลายมาเป็นอุปสรรคต่อกลุ่มผู้ผลิตได้ในอีกไม่กี่สัปดาห์นี้

· นายเจมส์ บุลลาร์ด ประธานเฟดสาขาเซนต์หลุยส์ กล่าวว่า เฟดจะไม่มีข้อมูลทางเศรฐกิจที่มากพอที่จะทำให้ตัดสินใจปรับลดดอกเบี้ยเพิ่มได้ในการประชุมระหว่างวันที่ 17-18 มี.ค. หลังจากที่ปรับลดดอกเบี้ยนอกรอบไปแล้ว 0.5% เมื่อช่วงต้นสัปดาห์

· การปรับลดดอกเบี้ยฉุกเฉินของเฟด จะช่วยให้ธนาคารกลางจีนบรรลุเป้าหมายการเงินระยะยาวได้

บรรดานักวิเคราะห์มีมุมมองว่า การปรับลดอัตราดอกเบี้ยหลังการประชุมฉุกเฉินของเฟดเมื่อวันก่อน จะช่วยให้ธนาคารกลางจีนมีช่องว่างสำหรับการปรับลดอัตราดอกเบี้ยของตัวเองลง และช่วยส่งเสริมบทบาทของค่าเงินหยวนในตลาดโลกให้แข็งแกร่งยิ่งขึ้น

นักวิเคราะห์จากสถาบัน Blue Stone Asset Management ระบุว่าการผ่อนคลายนโยบายของเฟดจะผลักดันให้ธนาคารกลางจีนมีการเคลื่อนไหวในลักษณะเดียวกัน แต่ในกรณีที่จีนจะสามารถดำเนินการเช่นนั้นได้ จีนจำเป็นต้องมีพื้นฐานทางเศรษฐกิจที่แข็งแกร่ง โดยประเมินว่าอัตราการเติบโตของ GDP จีนในประไตรมาสที่ 2 และ 3 ปีนี้ จำเป็นต้องแตะระดับ 7.5% ให้ได้ เพื่อที่จะทำให้จีนสามารถบรรลุเป้าหมายการเติบโตของเศรษฐกิจปีนี้ที่ 5.5% ได้

ทั้งนี้ แม้จะยังไม่มีความชัดเจนว่าธนาคารกลางจีนจะมีการเคลื่อนไหวครั้งต่อไปเมื่อไหร่ รวมถึงยังไม่ทราบว่าการดำเนินการครั้งต่อไปจะเป็นไร แต่นักวิเคราะห์ได้ชี้ว่าการปรับลดดอกเบี้ยของเฟด จะเป็นปัจจัยที่ช่วยหนุนให้ค่าเงินหยวนไม่อ่อนค่ามากเกินไป ตลาดจึงคลายกังวลเกี่ยวกับโอกาสเม็ดเงินลงทุนจะไหลออกจากตลาดจีนไปได้ และยังมีแนวโน้มที่จะสามารถช่วยดึงดูดเม็ดเงินเข้ามามากขึ้นในอนาคตได้อีก

รองผู้อำนวยการสถาบัน Nanhua Futures Research Institute มีมุมมองว่า สถานการณ์การระบาดของไวรัสโคโรนาในประเทศจีนดูจะเริ่มทรงตัวมากขึ้นเมื่อเทียบกับสถานการณ์ในต่างประเทศ

· โจ ไบเดน ทำคะแนนนำในการเลือกตัวแทนเดโมแครต, บลูมเบิร์กสละสิทธ์



การเลือกตัวแทนของพรรคเดโมแครตที่จะไปท้าชิงตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐฯ กับนายโดนัลด์ ทรัมป์ ในวันที่ 3 พ.ย. มีรายชื่อที่ลดลงเหลือเพียง 2 คน ซึ่งก็คือนายเบอร์นีย์ แซนเดอร์ส และนายโจ ไบเดน ที่สามารถทำคะแนนตีตื้นกลับได้อย่างแข็งแกร่งเมื่อวานนี้

ทางด้านนายไมเคิล บลูมเบิร์ก ได้ประกาศสละสิทธ์หลังผลการเลือกตัวแทนในรัฐสำคัญของสหรัฐฯเป็นไปไม่ค่อยราบรื่นสำหรับเขา แต่นายบลูมเบิร์กระบุว่าหลังจากนี้เขาจะหันมาให้การสนับสนุนนายไบเดน

ในช่วงสัปดาห์ต่อไปจะเป็นประชันกันระหว่างนายแซนเดอร์ส และนายไบเดน ซึ่งต้องจับตาดูผลการเลือกตั้งในรัฐสำคัญ โดยเฉพาะรัฐฟลอริดา ซึ่งโพลสำรวจล่าสุดแสดงให้เห็นว่านายไบเดนมีคะแนนความนิยมนำอยู่ค่อนข้างแข็งแกร่ง

· ค่าเงินดอลลาร์รีบาวน์กลับจากที่อ่อนตัวลงไป ขณะที่บรรดาเหล่าเทรดเดอร์มองโอกาสที่จะเห็นธนาคารกลางอื่นๆทำการเข้าร่วมแนวทางเดียวกันกับเฟด หลังจากที่เฟดสร้างเซอร์ไพร์สตลาดด้วยการปรับลดดอกเบี้ยลง 0.5% สู่กรอบ 1.00 – 1.25% ก่อนกำหนดการประชุม

ทั้งนี้ ดัชนีดอลลาร์ช่วงต้นตลาดปรับมาที่ 97.6 จุด ก่อนจะอ่อนตัวลงเล็กน้อยในวันนี้บริเวณ 97.372 จุด ด้านค่าเงินยูโรอ่อนตัวลงเล็กน้อยมาที่ 1.1145 ดอลลาร์/ยูโร ขณะที่เงินเยนอ่อนค่าลง 0.35% มาที่ 107.51 เยน/ดอลลาร์

ตลาดการเงินต่างๆในยูโรโซน ประเมินว่ามีโอกาสกว่า 90% ที่จะเห็นอีซีบีตัดสินใจปรับลดดอกเบี้ยลง 0.1% ในการประชุมสัปดาห์หน้า โดยดอกเบี้ยปัจจุบันอยู่ที่ -0.5%

นอกจากนี้ ตลาดยังมองว่ามีโอกาส 50% ที่จะเห็นเฟดตัดสินใจปรับลดดอกเบี้ยครั้งที่ 2 ในเดือนเม.ย. ปีนี้ ขณะที่นักวิเคราะห์บางส่วนมองว่าเฟดอาจปรับลดดอกเบี้ยแตะระดับ 0% ได้ก่อนช่วงสิ้นปีนี้

โอกาสที่จะเห็นธนาคารกลางอังกฤษหรือบีโออีปรับลดดอกเบี้ย ส่งผลให้เงินปอนด์อ่อนค่าลง 0.2% ที่ระดับ 1.2792 ดอลลาร์/ปอนด์ ท่ามกลางความไม่แน่นอนที่กำลังเกิดขึ้นในเรื่องการเจรจาการค้าระหว่างอังกฤษและอียูที่เป็นอีกปัจจัยที่เข้ากดดันเงินปอนด์ด้วย

· เศรษฐกิจบราซิลที่เติบโตได้ในปีที่แล้วที่ระดับ 1.1% ถือเป็นระดับการเติบโตที่แย่ที่สุดในรอบ 3 ปี ขณะที่เริ่มต้นปีนี้ก็ดูเหมือนเศรษฐกิจบราซิลจะยังคงได้รับผลกระทบต่อเนื่องจากปัญหาการแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนา

นักเศรษฐศาสตร์จาก Citi จึงทำการปรับลดคาดการณ์ทิศทางเศรษฐกิจบราซิลปีนี้ ท่ามกลางเงินเรียลของบราซิลที่ปรับตัวลงทำอ่อนค่าใหม่ที่ 4.58 เรียล/ดอลลาร์ จึงส่งผลให้เกิดกระแสคาดการณ์กันว่าอาจเห็นธนาคารกลางบราซิลตัดสินใจปรับลดดอกเบี้ยตามมาได้

· ราคาน้ำมันดิบปรับตัวลงแม้ว่าจะมีกระแสคาดการณ์ในตลาดเกี่ยวกับการที่กลุ่มผู้ผลิตน้ำมันรายใหญ่อาจบรรลุข้อตกลงการเพิ่มการปรับลดกำลังการผลิตเพิ่มเพื่อชดเชยกับภาวะอุปสงค์ที่ลดลงจากผลกระทบของไวรัสโคโรนา

น้ำมันดิบ WTI ปิดลง 40 เซนต์ หรือ -0.8% ที่ระดับ 46.78 เหรียญ/บาร์เรล ทางด้านน้ำมันดิบ Brent ปิดทรงตัวที่ 51.86 เหรียญ/บาร์เรล

ด้าน EIA เผยข้อมูลสต็อกน้ำมันดิบสัปดาห์ที่แล้วปรับขึ้นน้อยกว่าคาดการณ์ที่ 800,000 บาร์เรล

 
บริษัท เอ็มทีเอส โกลด์ จำกัด
40,42,44 ถนนทรัพย์สิน แขวงวังบูรพาภิรมย์เขตพระนคร กรุงเทพ 10200
โทรศัพท์ 0 2770 7777 โทรสาร 0 2623 9366 E-mail: support@mtsgoldgroup.com