• สรุปข่าวเศรษฐกิจ (ภาคค่ำ) ประจำวันที่ 7 มกราคม 2563

    7 มกราคม 2563 | Economic News

· ค่าเงินสวิสฟรังก์ทรงตัวในแดนแข็งค่าเมื่อเทียบกับดอลลาร์ เนื่องจากนักลงทุนเข้าซื้อสินทรัพย์ปลอดภัยท่ามกลางความกังวลที่มากขึ้น เกี่ยวกับโอกาสที่อิหร่านอาจตอบโต้สหรัฐฯ จากกรณีการโจมตีทางอากาศของสหรัฐฯที่สังหารผู้บัญชาการทหารของอิหร่านไปเมื่อปลายสัปดาห์ก่อน

ค่าเงินเยนอ่อนค่าจากระดับสูงสุดในรอบ 3 เดือนเมื่อเทียบกับดอลลาร์ แต่ความเชื่อมั่นของตลาดยังค่อนข้างบอบบาง จากกรณีความขัดแย้งดังกล่าว

นักวิเคราะห์จาก Daiwa Securities ระบุว่า ตลาดกำลังอยู่ในภาวะ Risk-off อย่างชัดเจน ส่วนสาเหตุที่ค่าเงินดอลลาร์ไม่อ่อนค่าเมื่อเทียบกับเงินเยนมากนัก เป็นเพราะว่ามีการเข้าซื้อจากฝั่งผู้นำเข้าในญี่ปุ่น ขณะที่ภาพรวมค่าเงินดอลลาร์ค่อนข้างอ่อนค่าเมื่อเทียบกัสกุลเงินดอลลาร์ บ่งชี้ถึงความกังวลในสถานการณ์ของตะวันออกกลาง

ค่าเงินสวิสฟรังก์ทรงตัวแถว 0.9693 ดอลลาร์ หลังจากแข็งค่าขึ้นมา 0.5% เมื่อวานนี้ และทำระดับสูงสุดในรอบกว่า 1 ปี

ค่าเงินเยนทรงตัวแถว 108.48 เยน/ดอลลาร์ อ่อนค่าลงเล็กน้อยจากระดับสูงสุดในรอบ 3 เดือนที่ 107.77 เยน/ดอลลาร์ ซึ่งขึ้นไปเมื่อวานนี้

ดัชนีดอลลาร์ทรงตัวแถว 96.667 จุด หลังจากอ่อนค่าลง 0.2% เมื่อวานนี้

ด้านค่าเงินปอนด์ทรงตัวแถว 1.3174 ดอลลาร์/ปอนด์ หลังจากแข็งค่าขึ้นมาได้ 0.7% เมื่อวาน ส่วนค่าเงินยูโรทรงตัวแถว 1.1192 ดอลลาร์/ยูโร หลังจากแข็งค่าขึ้นมาได้ 0.4% เมื่อวานนี้

· นักวิเคราะห์จาก Commerzbank คาดการณ์ว่า ค่าเงินยูโรมีแนวโน้มจะขึ้นทดสอบแนวต้านที่บริเวณ 1.1197 – 1.1240 ดอลลาร์/ยูโร เนื่องจากมีภาพรวมทางเทคนิคที่ค่อนข้างสดใส หากผ่านแนวต้านดังกล่าวไปได้จะมีเป้าหมายถัดไปที่ 1.1360 ดอลลาร์/ยูโร ซึ่งเป็นจุดสำคัญที่หากผ่านขึ้นไป ภาพรวมระยะกลางจะเข้าสู่ทิศทางขาขึ้น

สำหรับฝั่งขาลง ค่าเงินจะมีแนวรับที่ 1.1095 – 1.1065 ดอลลาร์/ยูโร ซึ่งเป็นเส้นค่าเฉลี่ยราย 55 และ 20 วัน ตามลำดับ ตามมาด้วยระดับ 1.1045 ดอลลาร์/ยูโร ที่เป็นเส้นเทรนขึ้นระยะ 3 เดือน หากหลุดแนวรับนี้ลงไป จะมีโอกาสลงไปทดสอบระดับ 1.0981 ดอลลาร์/ยูโร ซึ่งเป็นระดับต่ำสุดของวันที่ 29 พ.ย.

· รายงานจาก The Global Times ระบุว่า การลงนามข้อตกลงการค้าเฟสแรกระหว่างสหรัฐฯ-จีนจะเกิดขึ้นภายใน “อนาคตอันใกล้”

รายงานดังกล่าวเกิดขึ้นท่ามกลางสัญญาณเชิงลบ จากถ้อยแถลงของรองรัฐมนตรีกระทรวงการเกษตรจีนที่ระบุว่า จีนจะไม่มีการเปลี่ยนแปลงโควต้าการนำเข้าสินค้าเพื่อรองรับการซื้อสินค้าการเกษตรจากสหรัฐฯที่อาจเพิ่มสูงขึ้นแต่อย่างใด

· นักวิเคราะห์จาก Eurasia Group มีความเห็นว่า ตลาดกังวลกับภัยคุกคามจากอิหร่าน “มากเกินไป” เนื่องจากไม่มีฝ่ายใดที่ต้องการให้เกิดสงครามเต็มรูปแบบ

ทั้งนี้ มีความเป็นไปได้ที่ความขัดแย้งครั้งนี้ อาจนำไปสู่การประทะกันแบบลองเชิงระหว่างกองกำลังสหรัฐฯและอิหร่าน หรืออิหร่านอาจพยายามรบกวนการขนส่งน้ำมันในพื้นที่อ่าวเปอร์เซียมากขึ้น รวมถึงพยายามโจมตีสหรัฐฯผ่านทางไซเบอร์ ตลอดจนการทำสงครามตัวแทนโดยใช้กองกำลังอื่นๆในตะวันออกกลางโดยมีจุดมุ่งหมายไปยังพลเมืองและพันธมิตรของสหรัฐฯ แต่จะไม่กลายเป็นสงครามเต็มรูปแบบ

· ราคาน้ำมันย่อตัวลงบางส่วน หลังจากปรับขึ้นมาได้ในช่วง 2 วันทำการที่ผ่านมา หลังตลาดเริ่มประเมินความเสี่ยงกรณีความตึงเครียดในตะวันออกกลางและผลกระทบต่ออุปทานน้ำมันใหม่อีกครั้ง

โดยราคาน้ำมันดิบ Brent ปรับลดลง 1.5% จากระดับ 68.39 เหรียญ/บาร์เรล ลงมาแถว 67.86 เหรียญ/บาร์เรล หรือลดลง 52 เซนต์ ขณะที่ราคาน้ำมันดิบ WTI ปรับลดลง 1.5% จากระดับ 62.30 เหรียญ/บาร์เรล ลงมาแถว 62.85 เหรียญ/บาร์เรล หรือลดลง 42 เซนต์


นักวิเคราะห์จาก National Australia Bank มีมุมมองว่า ตลาดกังวลอย่างมากกับความเป็นไปได้ที่ภาวะอุปทานอาจได้รับผลกระทบจากความตึงเครียด แต่ยังไม่มีความแน่นอนว่าผลกระทบจะเกิดขึ้นจริงหรือไม่ ตลาดจึงเริ่มมีการปรับฐานใหม่อีกครั้งในช่วง 24 – 36 ช.ม. ที่ผ่านมา

Related
บริษัท เอ็มทีเอส โกลด์ จำกัด
40,42,44 ถนนทรัพย์สิน แขวงวังบูรพาภิรมย์เขตพระนคร กรุงเทพ 10200
โทรศัพท์ 0 2770 7777 โทรสาร 0 2623 9366 E-mail: support@mtsgoldgroup.com