• สรุปข่าวเศรษฐกิจ (ภาคเช้า) ประจำวันที่ 25 ธันวาคม 2562

    25 ธันวาคม 2562 | Economic News

· ค่าเงินดอลลาร์ปรับแข็งค่าขึ้นเมื่อเทียบกับค่าเงินยูโรในช่วงที่ปริมาณการซื้อขายเบาบางก่อนเริ่มต้นเทศกาลคริสต์มาส โดยดัชนีดอลลาร์ปรับแข็งค่าขึ้น 0.06% ที่ระดับ 97.715 จุด ขณะที่ภาพรวมปีนี้ปรับแข็งค่าขึ้นได้ 1.6% อันได้รับแรงหนุนจากความต้องการสินทรัพย์เสี่ยงที่เพิ่มขึ้นตอบรับข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ รวมทั้งการเข้าซื้อดอลลาร์ในฐานะ Safe-Haven จากภาวะตึงเครียดของสงครามการค้า

แต่ค่าเงินดอลลาร์ก็ชะลอการปรับแข็งค่าหลังจากที่ความตึงเครียดทางการค้าระหว่างสหรัฐฯและจีนมีท่าทีผ่อนคลายลงไปและคาดว่าจะเห็นการลงนามข้อตกลงร่วมกันได้ในช่วงต้นเดือนนี้

ค่าเงินหยวนทรงตัว หลังจากที่นายหลี่ เคอะเฉียง นายกรัฐมนตรีจีน กล่าวว่า รัฐบาลจีนกำลังพิจารณาตัดสินใจเพิ่มมาตรการเพื่อลดต้นทุนทางการเงินให้กับบริษัทขนาดเล็ก จึงดูจะเป็นการตอกย้ำว่าธนาคารกลางจีนอาจต้องปรับลดดอกเบี้ยมากขึ้น และค่าเงินหยวนล่าสุดทรงตัวที่ 7.008 หยวน/ดอลลาร์

ค่าเงินปอนด์อ่อนค่าอีกครั้งเมื่อเทียบกับดอลลาร์ โดยเป็นการอ่อนค่าต่อเนื่องในช่วง 5 วันทำการ ท่ามกลางความกังวลต่อความเป็นไปได้ว่าจะเกิด Hard Brexit ในอีกไม่กี่เดือนนี้ โดยเงินปอนด์อทรงตัวที่ 1.295 ดอลลาร์/ปอนด์



· นักวิเคราะห์จาก IHS Markit มีมุมมองว่า ข้อตกลงการค้าเฟสแรกระหว่างสหรัฐฯและจีน จะช่วยสนับสนุนการค้าภายในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิกในระยะกลางและตลอดปี 2020 โดยตลาดเชื่อว่า ข้อตกลงอาจยังจำเป็นต้องได้รับการปรับปรุงเล็กๆน้อยๆ และจะสามารถลงนามร่วมกันได้ภายในต้นปี 2020





นอกจากนี้ ข้อตกลงจะยังเป็นการช่วยกระตุ้นห่วงโซ่อุปทานทั่วภูมิภาคในระยะกลาง เนื่องจากการส่งออกของจีนสู่สหรัฐฯที่มีแนวโน้มจะเพิ่มขึ้น จะช่วยสนับสนุนกิจกรรมภาคอุตสาหกรรมของทั่วภูมิภาคทั้งในด้านสินค้าของผู้ผลิตและของผู้บริโภค

· รายงานจาก Kitco ระบุว่า มุมมองของบรรดานักวิเคราะห์และนักเศรษฐศาสตร์มีความเห็นว่า "เฟด" และ "อีซีบี" น่าจะเลือกคงดอกเบี้ยในปี 2020

นักวิเคราะห์จาก Nomura Global Economics และ Capital Economics กล่าวเป็นเสียงเดียวกันว่า บรรดาสมาชิกเฟดก็ดูจะเห็นพ้องต่อการที่เศรษฐกิจสหรัฐฯมีการขยายตัว ดังนั้น เฟดน่าจะไม่ทำการเปลี่ยนแปลงนโยบายดอกเบี้ยใดๆจนถึงการเลือกตั้งปี 2020

นักวิเคราะห์จาก TD Securities และ Commerzbank เห็นต่างโดยมองว่าเฟดน่าจะทำการปรับลดดอกเบี้ยได้ 2 ครั้งก่อนการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ โดยในช่วงสิ้นสุด Q1 หรือ Q2 ของปีหน้า น่าจะเห็นทิศทางเศรษฐกิจสหรัฐฯอ่อนแอและจะนำไปสู่การเห็นเฟดตัดสินใจปรับลดดอกเบี้ยในช่วงต้น Q2/2020

เครื่องมือ FedWatch ของ CME มองความเป็นไปได้ 51.5% ที่เฟดจะคงดอกเบี้ย 1.5-1.75% ขณะที่มีโอกาส 34.6% ที่มองว่าจะเห็นเฟดลดดอกเบี้ยลง 1-1.25% และอีก 11.6% มองโอกาสที่จะเห็นเฟดขึ้นดอกเบี้ยแตะ 2.3%

· รายงานจาก IHS Markit ระบุว่า การเติบโตของเศรษฐกิจโลกจะอยู่ที่ 2.5% ในปี 2020 ก่อนจะปรับตัวขึ้นได้ 2.7% ในปี 2021 ขณะที่ภาวะถดถอยทางเศรษฐกิจที่จะเกิดขึ้นในปี 2020 ดูจะลดน้อยลงไป โดยนาจะมีโอกาสเพียง 1 ใน 5 เท่านั้น

ภาพรวมคาดว่าเศรษฐกิจสหรัฐฯจะโตได้ 2.1% ในปี 2020 ลดลงจากคาดการณ์เดิมของค่าเฉลี่ยที่ 2.5% ระหว่างปี 2017 – 2019

ขณะที่จีดีพีอังกฤษคาดจะขยายตัวได้ลดลงจาก 1.3% ในปีนี้ สู่ 0.5% ในปีหน้า แต่จีดีพียูโรโซนน่าจะทรงตัวที่ 0.9% ในปีหน้าหลังจากที่ชะลอตัวในปีนี้ ท่ามกลางเงินเฟ้อระดับต่ำ และการใช้นโยบายผ่อนคลายทางการเงินที่ดูจะช่วยสนับสนุนการใช้จ่ายกลุ่มผู้บริโภคในปีหน้า

ส่วนของเศรษฐกิจจีนคาดจะยังเคลื่อนไหวในทิศทางขาลง โดยชะลอตัวลงแตะ 6% ในปีหน้า และคาดว่าจะเห็นสัญญาณชะลอตัวลงมากขึ้น ขณะที่ญี่ปุ่นคาดจีดีพีจะเติบโตได้ 0.3% ในปีหน้า



· นายโดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐฯ แสดงความพร้อมที่จะรับมือกับ “ของขวัญวันคริสต์มาส” จากเกาหลีเหนือในทุกกรณี หลังจากที่เกาหลีเหนือได้ข่มขู่สหรัฐฯเช่นนั้น หากการเจรจาร่วมกับเกาหลีเหนือยังขาดความคืบหน้าที่ชัดเจน ท่ามกลางความกังวลว่าเกาหลีเหนืออาจกำลังเตรียมความพร้อมให้กับขีปนาวุธระยะไกล

ทางด้านจีนได้เรียกร้องให้สหรัฐฯเดินหน้าแผนการเจรจากับเกาหลีเหนือให้ชัดเจนและเร็วที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ เผื่อผลักดันให้ข้อตกลงระหว่างนายทรัมป์ และนายคิม จอง อึน ผู้นำเกาหลีเหนือ ที่ตกลงร่วมกันในการประชุม ณ ประเทศสิงคโปร์ ปีก่อนกลายเป็นความจริง


· ราคาน้ำมันดิบปรับตัวสูงขึ้น ท่ามกลางการซื้อขายในช่วงวันคริสต์มาส หลังจากที่รัสเซีย ระบุว่า จะร่วมมือกับกลุ่มโอเปก ในการปรับลดกำลังการผลิต นอกจากนี้สัญญาน้ำมันดิบยังได้ปัจจัยหนุนจากมุมมองเชิงบวกเกี่ยวกับแนวโน้มการทำข้อตกลงการค้าระหว่างสหรัฐฯ

ราคาน้ำมันดิบ Brent ปรับขึ้น 1.22% ที่ระดับ 67.20 เหรียญ/บาร์เรล ขณะที่ราคาน้ำมันดิบ WTI เพิ่มขึ้น 1% ที่ระดับ 61.11 เหรียญ/บาร์เรล



นายอเล็กซันเดอร์ โนวัค รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานของรัสเซีย กล่าวว่า รัสเซียและโอเปกจะเดินหน้าร่วมมือกันเพื่อปรับลดกำลังการผลิตต่อไป เพื่อให้การตกลงครั้งนี้ "มีประสิทธิภาพและก่อให้เกิดผลลัพธ์"

หัวหน้าฝ่ายวิจัยตลาดน้ำมัน ระบุว่า เมื่อเดือนพ.ย.ที่ผ่านมา กลุ่มโอเปกและกลุ่มผู้ผลิตประเทศอื่น ๆ ได้ตกลงกันว่าจะยืดเวลาและปรับลดกำลังการผลิตน้ำมันลงมากกว่าเดิมจากที่เคยตกลงกันไว้ในปี 2017 โดยการลดกำลังการผลิตน้ำมันครั้งนี้จะสูงสุดถึง 2.1 ล้านบาร์เรล/วัน หรือคิดเป็น 2% จากอุปสงค์น้ำมันทั่วโลก


บริษัท เอ็มทีเอส โกลด์ จำกัด
40,42,44 ถนนทรัพย์สิน แขวงวังบูรพาภิรมย์เขตพระนคร กรุงเทพ 10200
โทรศัพท์ 0 2770 7777 โทรสาร 0 2623 9366 E-mail: support@mtsgoldgroup.com