• สรุปข่าวตลาดหุ้น (ภาคเช้า) ประจำวันที่ 24 ธันวาคม 2562

    24 ธันวาคม 2562 | SET News
   

· ตลาดหุ้นสหรัฐฯปิดทำระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์หลังจากที นายโดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐฯ กล่าวถึงข้อตกลงขั้นต้นระหว่างสหรัฐฯและจีนอาจลงนามได้ในเร็วๆนี้ โดยดัชนีดาวโจนส์ปิดปรับขึ้น 96.44 จุด หรือ -0.34% ที่ระดับ 28,551.53 จุด ขณะดัชนี S&P500 ปิด +0.09% ที่ระดับ 3,244.01 จุด และดัชนี Nasdaq ปิด +0.23% ที่ระดับ 8,945.65 จุด

นอกจากนี้ ตลาดยังตอบรับกับข่าวล่าสุดที่จีนจะละเว้นภาษีสินค้าอีก 850 รายการ

· ตลาดหุ้นเอเชียทรงตัวในวันนี้ ท่ามกลางตลาดหุ้นสหรัฐฯ โดยดัชนีนิกเกอิปิดทรงตัว ขณะที่ Topix เปิดปรับตัวขึ้น ทางด้าน Kospi ของเกาหลีเปิดใต้ทรงตัว

· นักบริหารเงิน คาดว่า วันนี้ค่าเงินบาทจะเคลื่อนไหวในกรอบ 30.15 - 30.20 บาท/ดอลลาร์ โดยค่าเงินบาทเคลื่อนไหวในกรอบแคบ คาดว่าเป็นช่วงท้ายปี การทำธุรกรรมไม่มากนัก แม้ว่ากระทรวงพาณิชย์จะ ประกาศตัวเลขการส่งออกในเดือนพ.ย.62 ที่ติดลบไปถึง 7.4% แต่ไม่ได้มีผลต่อค่าเงินบาทมากนัก เช่นเดียวกันปัจจัยต่างประเทศที่วันนี้ ยังค่อนข้างเงียบเหงา และไม่มีปัจจัยอะไรที่สำคัญ

· อ้างอิงจากสำนักข่าวอินโฟเควสท์

- กระทรวงพาณิชย์ รายงานมูลค่าการส่งออกไทยในเดือนพ.ย.62 ลดลง -7.39% ที่มูลค่า 19,657 ล้านเหรียญ ขณะที่การนำเข้าลดลง -13.78% ที่มูลค่า 19,108 ล้านเหรียญ เกินดุลการค้า 548 ล้านเหรียญ ส่งผลให้ในช่วง 11 เดือนแรกของปีนี้ (ม.ค.-พ.ย.62) การส่งออกไทยยังคงหดตัว -2.77% ส่วนการนำเข้าหดตัว -5.22% แต่ยังเกินดุลการค้า 9,008 ล้านเหรียญ โดยกระทรวงพาณิชย์ประเมินว่าในปี 62 การส่งออกของไทยจะลดลง -2% ที่มูลค่าประมาณ 247,000 ล้านเหรียญ

- ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ประเมินว่า ภาพรวมสินเชื่อของธนาคารพาณิชย์ปี 63 อาจเติบโตเพียง 3.5% ซึ่งจะเป็นอีกปีที่ธุรกิจธนาคารพาณิชย์ยังคงต้องเผชิญกับโจทย์ท้าทายรอบด้าน จากภาพเศรษฐกิจไทยปี 63 ที่ขยายตัวในกรอบต่ำ ยังคงเป็นแรงกดดันต่อแนวโน้มการเติบโตของรายได้จากธุรกิจหลัก ทั้งการปล่อยสินเชื่อ และรายได้ที่ไม่ใช่ดอกเบี้ย นอกจากนี้ ธนาคารพาณิชย์ยังต้องเตรียมรับมือกับโจทย์การปรับเปลี่ยนกรอบกฎเกณฑ์และแนวนโยบายของทางการ ซึ่งอาจทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในสภาพแวดล้อม/เงื่อนไขในการดำเนินธุรกิจของธนาคารพาณิชย์ในปี 63

- ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ประเมินอัตราเงินเฟ้อทั่วไป (CPI) เฉลี่ยในปี 63 จะยังอยู่ที่ 0.7% (กรอบประมาณการที่ 0.4-0.9%) โดยให้น้ำหนักกับประเด็นเรื่องภาวะขาดแคลนน้ำทำการเกษตรที่อาจจะส่งผลต่อราคาอาหารสดในช่วงครึ่งปีแรก และการปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำในเดือนม.ค.63 ที่จะเข้ามาเป็นแรงหนุนเงินเฟ้อ ท่ามกลางการชะลอตัวของเศรษฐกิจไทยที่ส่งผลต่อกำลังซื้อของผู้บริโภคภายในประเทศ

- ผู้ว่าการ ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) คาดว่า เศรษฐกิจไทยในปี 63 จะขยายตัวได้ 2.8% สูงกว่าปีนี้ที่อาจเติบโตไม่เกิน 2.5% ซึ่ง ธปท.ยังไม่พอใจกับตัวเลขดังกล่าวเท่าที่ควร เพราะเป็นการเติบโตที่ไม่เป็นไปตามศักยภาพที่ควรเติบโตได้ราว 3.5-4% เนื่องจากยังต้องเผชิญกับความท้าทายจากปัจจัยภายนอกที่สร้างความไม่แน่นอน โดยเฉพาะสงครามการค้า ปัญหาด้านภูมิรัฐศาสตร์ ทิศทางของค่าเงินที่ส่งผลต่อความเสี่ยงด้านต่ำ ทำให้ประเทศไทยจำเป็นต้องเดินหน้าปฏิรูปโครงสร้างทางเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่อง

- ผู้ว่าการ ธปท. มองว่า นโยบายการเงินเป็นเครื่องมือที่ยังสามารถใช้ได้ หากเศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มไม่เป็นไปตามที่ ธปท.คาด โดยอาจจะต้องนำนโยบายการเงินมาเป็นเครื่องมือในการใช้กระตุ้นเศรษฐกิจ ซึ่งต้องสอดคล้องกับภาวะเศรษฐกิจในช่วงนั้นๆ ประกอบกับการพิจารณาเกี่ยวกับอัตราเงินเฟ้อ และเสถียรภาพของระบบการเงินไทยมาประกอบการพิจารณาในการใช้นโยบายการเงิน

แต่ ธปท.มองว่านโยบายการคลังจะเป็นเครื่องมือที่สามารถช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจได้ตรงจุดมากกว่า เพราะการที่รัฐบาลอัดฉีดเม็ดเงินลงไป สามารถเข้าถึงกลุ่มเป้าหมายได้โดยตรง และใช้ระยะเวลาไม่นานในการเห็นผล

- ผู้ว่าการ ธปท. ระบุว่า ธปท.ยังคงดูแลค่าเงินบาทอย่างต่อเนื่อง แต่ปัจจุบันเงินบาทยังแข็งค่า เนื่องจากการเปลี่ยนแปลงในประเด็นต่างๆ ที่เกิดขึ้นในโลกส่งผลกระทบต่อค่าเงินสกุลต่างในโลกด้วย ขณะที่ดุลบัญชีเดินสะพัดของไทยยังเกินดุลในระดับสูง แต่คาดว่า จะลดลงในปีหน้า ทั้งนี้ การดูแลค่าเงินบาทยังต้องทำอย่างระมัดระวัง ซึ่ง ธปท.ได้แนะนำให้ผู้ประกอบการใช้เครื่องมือป้องกันความเสี่ยงค่าเงินให้มากขึ้น ต่างกับหลายประเทศที่ธนาคารกลางไม่ได้เข้าไปแทรกแซงค่าเงิน แต่ผู้ประกอบการยังสามารถดำเนินธุรกิจไปได้ ซึ่งเป็นสิ่งที่ ธปท.อยู่ระหว่างการศึกษา

บริษัท เอ็มทีเอส โกลด์ จำกัด
40,42,44 ถนนทรัพย์สิน แขวงวังบูรพาภิรมย์เขตพระนคร กรุงเทพ 10200
โทรศัพท์ 0 2770 7777 โทรสาร 0 2623 9366 E-mail: support@mtsgoldgroup.com