• สรุปข่าวเศรษฐกิจ (ภาคค่ำ) ประจำวันที่ 25 พฤศจิกายน 2562

    25 พฤศจิกายน 2562 | Economic News

· ค่าเงินดอลลาร์และค่าเงินประเทศที่เน้นการส่งออกเป็นหลักต่างปรับแข็งค่าขึ้น ท่ามกลางสัญญาณเชิงบวกจากสหรัฐฯและจีนที่มีต่อการเจรจาการค้า จึงหนุนความเชื่อมั่นของนักลงทุนฟื้นกลับมาอีกครั้ง ขณะที่ค่าเงินปอนด์แข็งค่า ท่ามกลางความหวังที่จะเห็นความชัดเจนของ Brexit ก่อนสิ้นปีนี้



โดยค่าเงินดอลลาร์เมื่อเทียบกับเงินเยนแข็งค่า 0.1% แถว 108.76 เยน/ดอลลาร์ ส่วนเมื่อเทียบกับยูโรแข็งค่าทำระดับสูงสุดของวันที่ 14 พ.ย. ที่ 1.1012 ดอลลาร์/ยูโร ขณะที่ดัชนีดอลลาร์ทรงตัวใกล้ระดับสูงสุดในรอบ 2 สัปดาห์ที่ 98.278 จุด



ค่าเงินปอนด์แข็งค่า 0.1% แถว 1.2847 ดอลลาร์/ปอนด์ หลังนายบอริส จอห์นสัน นายกรัฐมนตรีอังกฤษและหัวหน้าพรรค Conservative ที่ปัจจุบันมีคะแนนนำในโพลสำรวจก่อนการเลือกตั้งวันที่ 12 ธ.ค ให้สัญญาจะผลักดันนโยบาย Brexit เข้าสู่ระบบรัฐสภาก่อนถึงเทศกาลคริสต์มาส




· นักวิเคราะห์จาก FXStreet วิเคราะห์ว่า ค่าเงินยูโรที่ทรงตัวเหนือ 1.10 ดอลลาร์/ยูโรได้ มาจากการที่จีนมีท่าทีจะตอบรับต่อการร้องขอในเรื่องการปกป้องทรัพย์สินทางปัญญาของสหรัฐฯ ประกอบกับตลาดรอคอยข้อมูลผลสำรวจดัชนีภาคธุรกิจเยอรมนีของ IFO

ในทางเทคนิคค่าเงินยูโรยังคงล้มเหลวในการฝ่าระดับ SMA 100 วัน และมีการทำ Double Top ในแพทเทิร์นขาลง โดยหากหลุด 1.10 ดอลลาร์/ยูโร ก็จะยืนยันภาวะอ่อนค่าของค่าเงินอีกครั้งและมีโอกาสเห็นค่าเงินกลับลงทดสอบ 1.0955 - 1.0950 ดอลลาร์/ยูโร และหาก Break ระดับดังกล่าวลงมามีโอกาสร่วงลงกลับทดสอบ 1.0900 ดอลลาร์/ยูโรได้

ในทางกลับกัน หากค่าเงินยืนได้เหนือแนวต้าน 1.1055 - 1.1060 ดอลลาร์/ยูโร ก็ดูจะมีโอกาสขยับใกล้เส้นค่าเฉลี่ย SMA ราย 100 วัน ซึ่งเป็นระดับปัจจุบันทาง 1.1085 ดอลลาร์/ยูโร รวมทั้งมีโอกาสกลับไปแตะ 1.1100 ดอลลาร์/ยูโร ซึ่งหากผ่านไปได้จะเปิดโอกาสให้เราเห็นระดับราคาขึ้นไปทดสอบ 1.1170 - 1.1180 ดอลลาร์/ยูโรที่เคยเป็น Double Top ได้ และอาจเห็นค่าเงินกลับไปที่ 1.1200 ดอลลาร์/ยูโร




· นักวิเคราะห์จาก FXStreet มองว่า ค่าเงินปอนด์ที่มีระดับการซื้อขายบริเวณ 1.2850 ดอลลาร์/ปอนด์ โดยการปรับแข็งค่าขึ้นของเงินปอนด์มาจากการที่ผลสำรวจสะท้อนว่า พรรคอนุรักษ์นิยมของ นายบอริส จอห์นสัน ยังคงมีผลคะแนนนิยมจากประชาชน

ในทางเทคิค ค่าเงินปอนด์ระยะสั้นอาจเผชิญแรงเทขายเข้ามาได้ และหากหลุด 1.2820 - 1.2815 ดอลลาร์/ปอนด์ ก็มีโอกาสที่จะเห็นกลับมาเคลื่อนไหวในกรอบขาลงอีกครั้งแนว 1.2740 - 1.2735 ดอลลาร์/ปอนด์ได้

ในทางกลับกัน หากค่าเงินสามารถยืนได้เหนือแนวต้าน 1.2900 ดอลลาร์/ปอนด์ ก็มีโอกาสเห็นเงินปอนด์ขยับใกล้แนว 1.2920 - 1.2925 ดอลลาร์/ปอนด์ได้ และมีโอกาสกลับไปที่ 1.30 ดอลลาร์/ปอนด์ ซึ่งหากยืนเหนือแนวต้านระดับ 1.3045 - 1.3050 ดอลลาร์/ปอนด์ โอกาสจะเห็น 1.3100 ดอลลาร์/ปอนด์ ก็มี และอาจแกว่งตัวไปทำสูงสุดแถวช่วงเดือนพ.ค. บริเวณ 1.1375 ดอลลาร์/ปอนด์ก็เป็นได้



· หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์จาก S&P Global Ratings กล่าวกับสำนักข่าว CNBC โดยระบุว่า การชะลอตัวทางเศรษฐกิจจีนไม่ได้เป็นกังวลอย่างที่คิด แต่การไม่สามารถแก้ไขปัญหาสงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯและจีนได้นั้นเป็นสิ่งที่น่าเป็นกังวลมากกว่า โดยจะเห็นว่าหลายฝ่ายมีการถกเถียงกันในบางช่วงถึงการที่เศรษฐกิจจีนชะลอตัวจากอัตราการเติบตัวที่ 7-8% สู่ระดับ 5.5% แต่ภาพรวมของจีดีพีต่อเม็ดเงินที่ไหลเข้าประเทศก็ยังอยู่ในทิศทางที่แข็งแกร่ง

สำหรับความสัมพันธ์ทางการค้าระหว่างสหรัฐฯและจีน ถือเป็นอุปสรรคสำคัญสำหรับเศรษฐกิจโลกมากกว่า อันเป็นผลกระทบโดยตรงจากการที่ต่างฝ่ายต่างขึ้นภาษีสินค้านำเข้า และความไม่แน่นอนของความสัมพันธ์ทั้งหมดดูจะกดดันในกลุ่มการลงทุน และทิศทางการลงทุนที่ควรจะเป็น



· รายงานจาก CNBC ระบุว่า ในสภาวะ Trade War ที่เกิดขึ้น ทำให้หลายๆบริษัทของอเมริกามีการย้ายห่วงโซ่อุปทานของตนเองจากประเทศจีนไปสู่ประเทศในแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ หรือเวียดนามนั่นเอง รวมทั้งประเทศเพื่อนบ้านอย่างเม็กซิโก



· มุมมองจาก S&P Global Ratings' ยังระบุถึง กรณีที่หากทั้งสองฝ่ายไม่สามารถลงนามข้อตกลงร่วมกันได้ในช่วงกลางเดือนธ.ค. ก็ดูจะเห็นสหรัฐฯทำการขึ้นภาษีสินค้านำเข้าจากจีนเพิ่มขึ้น โดยจะมีผลบังคับใช้ในวันที่ 15 ธ.ค.นี้ และสิ่งที่จะแตกต่างจากรอบแรกคือกลุ่มสินค้าที่ได้รับผลกระทบ รวมไปถึงภาวะห่วงโซ่อุปทานในกลุ่มที่จะได้รับ และอาจกระทบต่อสินค้าอย่าง iPhone ที่จะต้องเสียภาษีสูงขึ้นจาก 15% เป็น 20% และนั่นจะกระทบตรงต่อกลุ่มผู้บริโภคอย่างเห็นได้ชัด

อย่างไรก็ดี ภาพรวมบรรดานักเศรษฐศาสตร์ กล่าวว่า นักลงทุนไม่ควรวิตกกังวลต่อภาวะชะลอตัวทางเศรษฐกิจจีน แต่ปัญหาใหญ่ที่ควรวิตกกังวลคือความไม่แน่นอนเกี่ยวกับความสัมพันธ์ทางการค้าระหว่างสองประเทศมากกว่าที่จะกระทบต่อเศรษฐกิจของแต่ละประเทศ ควบคู่กับภาวะเศรษฐกิจโลกหากยังไม่มีแนวโน้มที่จะแก้ปัญหาร่วมกันได้โดยเร็วๆนี้



· นายสเตฟเฟน โรชจ์ อาจารย์ประจำ Yale University มีมุมมองว่า ข้อตกลงการค้าเฟสแรกระหว่างสหรัฐฯและจีน ที่ตลาดกำลังเฝ้ารอการลงนามอย่างใจจดใจจ่อ จะเป็นข้อตกลงที่ “ว่างเปล่า” และ “กลวง” โดยหากลงนามสำเร็จจะเป็นเพียงชัยชนะทางการเมืองเท่านั้น ไม่ใช่หนทางที่จะสามารถแก้ไขปัญหาทางการค้าที่ยั่งยืนแต่อย่างใด



· อดีตรัฐมนตรีกระทรวงต่างประเทศแห่งสหรัฐฯ มีมุมมองว่า ผลกระทบจากสงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯและจีนมีแนวโน้มที่จะเป็นความเสี่ยงให้กับเศรษฐกิจสหรัฐฯมากกว่า ในกรณีที่ทั้งสองประเทศเกิดการแตกแยกกันขึ้นมา

นอกจากนี้ยังมีมุมมองว่า ภาวะสงครามการค้า ณ ปัจจุบัน เปรียบเสมือนจุดเริ่มต้นของสงครามเย็น แม้ความรุนแรงอาจไม่เท่าในสมัยความขัดแย้งระหว่างสหรัฐฯและสหภาพโซเวียต แต่สหรัฐฯและจีนก็ไม่ได้มีการเจรจาด้านนโยบายการเมืองร่วมกับจีนอย่างตรงไปตรงมา เพื่อช่วยลดความขัดแย้งในจุดนี้แต่อย่างใด



· รายงานจาก Global Times ที่เป็นหนังสือพิมพ์ในประเทศจีนที่ได้รัฐบาลจีนเป็นผู้สนับสนุน ระบุว่า สหรัฐฯและจีน “ใกล้บรรลุ” ข้อตกลงเฟสแรก ขณะที่ทางรัฐบาลจีนก็มีการดำเนินการเจรจาวางรากฐานเกี่ยวกับข้อตกลงในเฟสที่สองและสามแล้ว



· โฆษกประจำกระทรวงต่างประเทศของจีน กล่าวเรียกร้องให้สหรัฐฯหยุดกลั่นแกล้งประเทศจีน ด้วยการอ้างความมั่นคงของประเทศมาใช้ในการกดดันบริษัทของจีนอย่าง Huawei และ ZTE

เมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมา คณะกรรมการด้านการสื้อสารของสหรัฐฯ ได้ลงมติด้วยคะแนนเสียง 5 – 0 กำหนดให้ Huawei และ ZTE ถือเป็นความเสี่ยงต่อความมั่นคงในประเทศ ส่งผลให้ผู้ประกอบการในถิ่นทุรกันดานของสหรัฐฯไม่สามารถเข้าถึงงบประมาณด้านอุปกรณ์การสื่อสารมูลค่า 8.5 พันล้านเหรียญของภาครัฐได้



· นายชินโซะ อาเบะ นายกรัฐมนตรีญี่ปุ่นได้เรียกร้องให้จีนรักษาสถานภาพที่เปิดกว้างและอิสรภาพของฮ่องกง หลังจากที่ตำรวจเข้าปราบปรามกลุ่มผู้ประท้วงเพื่อประชาธิปไตยในฮ่องกง

โดยนายโยชิฮิเดะ สึกะ หัวหน้าเลขาธิการคณะรัฐมนตรีญี่ปุ่น กล่าวในการแถลงข่าวว่า นายอาเบะเน้นย้ำกับนายหวัง อี้ รัฐมนตรีต่างประเทศของจีน ถึงความสำคัญของการปล่อยให้ฮ่องกงเติบโตภายใต้หลักการ "หนึ่งประเทศ สองระบบ"



· ราคาน้ำมันดิบปรับตัวขึ้น เนื่องจากเสียงเชิงบวกจากรัฐบาลสหรัฐฯทำให้ตลาดเกิดความหวัง ว่าสหรัฐฯและจีนสามารถจะลงนามในข้อตกลงการค้าเฟสแรกเพื่อยุติสงครามการค้า

น้ำมันดิบ WTI ปรับเพิ่มขึ้น 18 เซนต์ หรือ 0.31% ที่ระดับ 57.95 เหรียญ/บาร์เรล หลังจากสัปดาห์ที่แล้วที่มีการเปลี่ยนแปลงเล็กน้อยจากการเจรจาการค้า
น้ำมันดิบ Brent อยู่ที่ระดับ 63.66 เหรียญ/บาร์เรล ปรับขึ้น 27 เซนต์ หรือ 0.43% เปลี่ยนแปลงเล็กน้อยจากสัปดาห์ที่แล้วเช่นกัน



บริษัท เอ็มทีเอส โกลด์ จำกัด
40,42,44 ถนนทรัพย์สิน แขวงวังบูรพาภิรมย์เขตพระนคร กรุงเทพ 10200
โทรศัพท์ 0 2770 7777 โทรสาร 0 2623 9366 E-mail: support@mtsgoldgroup.com