• สรุปข่าวเศรษฐกิจ (ภาคค่ำ) ประจำวันที่ 2 สิงหาคม 2562

    2 สิงหาคม 2562 | Economic News
 

• ค่าเงินเยนปรับแข็งค่าเมื่อเทียบกับดอลลาร์ทำระดับสูงสุดในรอบ 5 สัปดาห์ และสูงสุดในรอบ 2 ปีครึ่งเมื่อเทียบกับเงินปอนด์ หลังประธานาธิบดีสหรัฐฯข่มขู่จะขึ้นภาษีสินค้านำเข้าจากจีน ความต้องการ Safe-haven จึงกลับมาแข็งแกร่ง

ค่าเงินหยวนอ่อนค่าทำระดับต่ำสุดนับตั้งแต่เดือน พ.ย. ปี 2018 เนื่องจากการขึ้นภาษีของสหรัฐฯ อาจทำให้รัฐบาลจีนต้องกลับมาพิจารณาออกมาตรกระตุ้นเศรษฐกิจเพิ่มเติม จากเดิมที่ชะงักไปเนื่องจากสามารถเจรจาสงบศึกกับสหรัฐฯได้

• ค่าเงินปอนด์อ่อนค่าเมื่อเทียบกับดอลลาร์ใกล้ระดับต่ำสุดในรอบ 30 เดือน ท่ามกลางความกังวลเกี่ยวกับภาวะ No-deal Brexit การคาดการณ์การเติบโตของเศรษฐกิจอังกฤษที่ถูกปรับลดลง

ค่าเงินเยนเมื่อเทียบกับดอลลาร์ แข็งค่ามากที่สุดที่ระดับ 106.84 เยน/ดอลลาร์ ก่อนจะอ่อนค่ากลับมาแถวระดับ 107.06 เยน/ดอลลาร์ สำหรับภาพรวมรายสัปดาห์ ค่าเงินดอลลาร์มีแนวโน้มอ่อนค่าลง 1.5% เมื่อเทียบกับเงินเยน ซึ่งเป็นอัตราอ่อนค่าที่สุดนับตั้งแต่เดือน ม.ค.

ดัชนีดอลลาร์ค่อนข้างทรงตัวในช่วงตลาดเอเชียแถว 98.417 จุด หลังจากอ่อนค่าลง 0.15% เมื่อคืนนี้ ซึ่งเป็นอัตราอ่อนค่าที่สุดในรอบ 2 สัปดาห์
 

· นักวิเคราะห์จาก DailyFX ระบุว่า ค่าเงินรูปปีของอินเดียมีโอกาสอ่อนค่าลงได้ต่อจากเทรนที่วัดเมื่อช่วงต.ค. ปี 2018 หากความตึงเครียดทางการค้าระหว่างสหรัฐฯและอินเดียทวีความรุนแรงขึ้น และจะทำให้ตลาดเผชิญกับความกังวลเต็มรูปแบบ หลังจากที่วันที่ 1 มิ.ย.ที่ผ่านมา นายทรัมป์ เคยข่มขู่จะขึ้นภาษีสินค้าอินเดียเป็นมูลค่า 6 พันล้านเหรียญ เนื่องจากต้องการให้อินเดียลดยอดขาดดุลทางการค้ากับสหรัฐฯ

รวมความเห็นนักวิเคราะห์เกี่ยวกับการประกาศขึ้นภาษีจีนของนายโดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐฯ


· นักวิเคราะห์จาก Eurasia Group มีความเห็นเกี่ยวกับการข่มขู่ขึ้นภาษีจีนของสหรัฐฯเมื่อคืนนี้ว่า นายทรัมป์อาจประเมิน “จุดแตกหัก” ของจีนผิดไป โดยการขึ้นภาษีครั้งนี้ เป็นการกลับมาใช้วิธีเพิ่มแรงกดดันต่อเศรษฐกิจจีนเพื่อให้สามารถบรรลุการเจรจา อีกทั้งการใช้วิธีนี้ ถือว่าเป็นการเดิมพันครั้งสำคัญของนายทรัมป์ เพื่อให้สามารถบรรลุข้อตกลงกับจีนได้ก่อนถึงการเลือกตั้งในปี 2020

นอกจากนี้ นักวิเคราะห์ยังมีมุมมองว่า อีกวัตถุประสงค์การข่มขู่ขึ้นภาษีอาจเป็นการกระตุ้นให้จีนเข้าซื้อสินค้าการเกษตรจากสหรัฐฯมากขึ้น แต่ทางจีนมีแนวโน้มที่จะไม่ตอบสนองเช่นนั้น เพราะว่า คงเป็นเรื่องที่น่าอึดอัดมาก หากจีนจะเพิ่มการนำเข้าจากสหรัฐฯ ขณะที่ยังตกอยู่ภายใต้คำข่มขู่ของสหรัฐฯ

· นักวิเคราะห์จาก Orient Capital Research มีความเห็นว่า การข่มขู่ขึ้นภาษีจีนครั้งล่าสุดของสหรัฐฯ เป็นการ “เอาดาบไปจี้คอเศรษฐกิจสหรัฐฯ มากกว่าที่จะเป็นเศรษฐกิจจีน” ซึ่งหมายความว่าเศรษฐกิจสหรัฐฯมีแนวโน้มจะได้รับความเสียหายจากการขึ้นภาษีครั้งนี้ มากกว่าความเสียหายที่จะเกิดขึ้นเศรษฐกิจจีน

ความคิดเห็นดังกล่าว สอดคล้องกับแนวคิดของนักวิเคราะห์จากสถาบัน AIA Investment Management ซึ่งระบุว่า การขึ้นภาษีสินค้าในกลุ่มผู้บริโภค อย่างเช่น ของเล่น คอมพิวเตอร์ และโทรศัพท์มือถือ จะสร้างความเสียหายให้กับผู้บริโภคของสหรัฐฯมากกว่าผู้บริโภคของจีน

· นักวิเคราะห์จากธนาคาร Standard Chartered มีมุมมองว่า หากสหรัฐฯและจีนจะยื้อสงครามการค้าออกไป จีนดูจะเป็นฝ่ายที่สามารถอดทนต่อความเสียหายที่เกิดขึ้นกับเศรษฐกิจได้มากกว่า นอกเหนือจากพื้นฐานทางเศรษฐกิจของแต่ละประเทศแล้ว ฝั่งสหรัฐฯยังมีความกังวลต่อการเลือกตั้งประธานาธิบดีในปี 2020 ดังนั้น จีนมีแนวโน้มที่จะ “รอ” ให้ผ่านพ้นการเลือกตั้งของสหรัฐฯไป โดยหวังว่าจะมีคนอื่นขึ้นมานั่งเก้าอี้ประธานาธิบดีสหรัฐฯแทน

นอกจากนี้ ระหว่างที่จีนรอการเลือกตั้งของสหรัฐฯ จีนมีแนวโน้มที่จะออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจในประเทศเพิ่มเติม ซึ่งเป็นที่สังเกตุได้ว่า ธนาคารกลางแห่งประเทศจีน ไม่ได้ปรับลดอัตราดอกเบี้ยตามเฟดเมื่อไม่นานมานี้ จึงอาจเป็นสัญญาณว่า รัฐบาลจีนต้องการให้ค่าเงินของพวกเขามีความมั่นคง เพื่อดึงดูดการลงทุนเข้ามาประเทศมากขึ้น

· ผลสำรวจจากสถาบัน Rhodium Group พบว่า ปริมาณการลงทุนระหว่างสหรัฐฯ-จีนปรับลดลงสู่ระดับต่ำสุดในรอบ 5 ปี โดยในช่วง 6 เดือนของปี 2019 ปริมาณการลงทุนระหว่างทั้ง 2 ประเทศอยู่ที่ 1.3 หมื่นล้านเหรียญ หรือคิดเป็นลดลง 18% จากช่วงครึ่งหลังของปี 2018 และเป็นระดับที่ต่ำที่สุดนับตั้งแต่ช่วงเดือน ม.ค. – มิ.ย. ปี 2014

· รัฐสภาญี่ปุ่นอนุมัติให้ลบชื่อเกาหลีใต้ออกจาก White list สำหรับการค้าระหว่างประเทศแล้ว ซึ่งอาจเป็นการเคลื่อนไหวที่ทำให้ความขัดแย้งทางการค้าระหว่งาญี่ปุ่น-เกาหลีใต้เลวร้ายลง แม้ว่าทางเกาหลีใต้จะพยายามเรียกร้องไม่ให้ญี่ปุ่นลบชื่ออกจากรายชื่อดังกล่าวมาโดยตลอดก็ตาม

ทั้งนี้ กระทรวงอุตสาหกรรมญี่ปุ่น ยืนยัน การลบชื่อเกาหลีใต้ออกจาก White list จะมีผลบังคับใช้ในวันที่ 28 ส.ค. พร้อมระบุว่า การลบชื่อออกครั้งนี้ ไม่ได้เป็นการตอบโต้ปัญหาทางการค้า แต่เป็นการปกป้องความมั่นคงของประเทศ

· รายงานจาก FX Street ระบุว่า ตามกำหนดการของทำเนียบขาว นายโดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐฯ จะมีการประกาศเกี่ยวกับนโยบายการค้าร่วมกับยุโรปภายในคืนนี้ เวลาประมาณ 00.45 น. ตามเวลาประเทศไทย

โดยเมื่อคืนที่ผ่านมา นายทรัมป์ประกาศจะขึ้นภาษีสินค้านำเข้าจากจีนอีก 10% เป็นมูลค่า 3 แสนล้านเหรียญ ส่งผลให้ความตึงเครียดทางสงครามการค้ากลับมารุนแรงอีกครั้ง

· จากกรณีสหรัฐฯข่มขู่จะขึ้นภาษีจีนเพิ่มเมื่อคืนที่ผ่านมา นักวิเคราะห์จาก Goldman Sachs มีความเห็นว่า รัฐบาลจีนจะมีมาตรการตอบโต้การขึ้นภาษีของสหรัฐฯ ด้วยการออกนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจภายในประเทศเพิ่มเติม เนื่องจากปริมาณอุปสงค์จากต่างประเทศค่อนข้างที่จะอ่อนแอจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลก ดังนั้น หนทางเดียวที่จีนจะบรรเทาผลกระทบจากการถูกขึ้นภาษีได้ คือการกระตุ้นอุปสงค์ในประเทศ

นักวิเคราะห์จาก Citi ประเมินว่า การขึ้นภาษีครั้งล่าสุดของสหรัฐฯ จะส่งผลให้การส่งออกของจีนชะลอตัวลง 2.7% และลด GDP ของประเทศลง 0.5% นี่ยังไม่รวมถึงความเสียหายที่เกิดขึ้นจากการขึ้นภาษีครั้งก่อนๆ ทั้งนี้ คาดว่าจีนจะตอบโต้การขึ้นภาษีด้วยการ “รอ” และไม่ยอมอ่อนข้อต่อข้อเรียกร้องของสหรัฐฯ ดังนั้น รัฐบาลจีนจึงมีแนวโมที่จะผ่อนคลายนโยบายการเงินมากขึ้น รวมถึงเพิ่มการสนับสนุนการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐาน และพัฒนาการบริโภคในพื้นที่ชนบท ซึ่งจะมีบทบาทสำคัญอย่างมากต่อภาพรวมเศรษฐกิจจีนในภายภาคหน้า

นักวิเคราะห์จาก ING มีความคิดเห็นว่า จีนจะยื้อสงครามการค้ากับสหรัฐฯออกไป เนื่องจากผลกระทบจากสงครามการค้า จะไปบั่นทอนโอกาสที่นายโดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐฯ จะสามารถเอาชนะการเลือกตั้งในปี 2020 ได้

· ราคาน้ำมันดิบปรับตัวสูงขึ้นประมาณ 2% ซึ่งกลับมาฟื้นสภาพหลังจากที่ร่วงลงไปมากที่สุดในรอบหลายปี เนื่องจากนายโดนัลด์ ทรัมป์ประกาศขึ้นภาษีสินค้านำเข้าจีนมูลค่า 3 แสนล้านเหรียญ จึงยิ่งตอกย้ำความระอุของข้อขัดแย้งทางการค้าระหว่าง 2 ชาติมากยิ่งขึ้น

น้ำมันดิบ Brent เพิ่มขึ้น 2% ที่ระดับ 61.71 เหรียญ/บาร์เรล ขณะที่น้ำมันดิบ WTI เพิ่มขึ้น 1.6% ที่ะรดับ 54.82 เหรียญ/บาร์เรล



· นักวิเคราะห์จาก DailyFX วิเคราะห์ว่า ราคาน้ำมันดิบปรับตัวลงใกล้ระดับแนวรับ 54.72 เหรียญ/บาร์เรล และมีแนวต้าน 56.09 เหรียญ/บาร์เรล ซึ่งหากกลับลงทดสอบระดับดังกล่าวมีโอกาสกลับทดสอบระดับต่ำสุดเดิมในรอบ 2 เดือนที่ 50 เหรียญ/บาร์เรล ในทางกลับกัน หากทองคำยืนเหนือ 56 เหรียญ/บาร์เรลได้ ก็จะมีเป้าหมายต่อไปคือแนวต้านช่วงปลายเดือนเม.ย. ที่ระดับ 63.59 - 64.43 เหรียญ/บาร์เรล

บริษัท เอ็มทีเอส โกลด์ จำกัด
40,42,44 ถนนทรัพย์สิน แขวงวังบูรพาภิรมย์เขตพระนคร กรุงเทพ 10200
โทรศัพท์ 0 2770 7777 โทรสาร 0 2623 9366 E-mail: support@mtsgoldgroup.com