• สรุปข่าวเศรษฐกิจ (ภาคค่ำ) ประจำวันที่ 10 กรกฎาคม 2562

    9 กรกฎาคม 2562 | Economic News

· ค่าเงินดอลลาร์เคลื่อนไหวใกล้ระดับสูงสุดในรอบ 3 สัปดาห์ ท่ามกลางตลาดที่ทยอยลดกระแสคาดการณ์เกี่ยวกับการปรับลดดอกเบี้ยของเฟดด้วยอัตราที่มากถึง 0.50% ส่งผลให้อัตราผลตอบแทนพันธบัตรสหรัฐฯปรับตัวสูงขึ้น

ค่าเงินดอลลาร์ยังมีแนวโน้มที่จะปรับแข็งค่าขึ้นได้ โดยต้องจับตาดูการรายงานตนต่อสภาคองเกรสของนายเจอโรม โพเวลล์ ประธานเฟด ซึ่งจะเริ่มคืนนี้เป็นคืนแรก

แม้กระแสคาดการณ์ว่าเฟดจะปรับลดดอกเบี้ยลง 0.50% ในการประชุมเดือนนี้จะเริ่มหมดไป แต่ตลาดยังเชื่อว่าเฟดจะปรับลดดอกเบี้ยลง 0.25% เป็นอย่างน้อย ท่ามกลางภาวะเศรษฐกิจที่เงินเฟ้อยังชะลอตัว รวมถึงความเสี่ยงจากสงครามการค้า

ในช่วงตลาดเอเชียวันนี้ ดัชนีดอลลาร์ทรงตัวแถว 97.516 จุด หลังจากเมื่อวานนี้ทำระดับสูงสุดที่ 97.588 จุด ซึ่งเป็นระดับสูงสุดของวันที่ 19 มิ.ย.

· อัตราผลตอบแทนพันธบัตรสหรัฐฯอายุ 10 เคลื่อนไหวแถวระดับ 2.0752% ปรับขึ้นมาจากระดับต่ำสุดในรอบ 2 ปีครึ่งที่ 1.9390% ที่ปรับลดลงไปเมื่อวันที่ 3 ก.ค. ที่ผ่านมา


· ตลาดคาดการณ์โอกาสที่เฟดจะปรับลดดอกเบี้ยลง 0.25% ในการประชุมเดือนนี้ไว้ที่ 98.5% ส่วนโอกาสจะปรับลงด้วยอัตรา 0.50% อยู่ที่เพียง 1.5% เทียบกับเมื่อสัปดาห์ที่คาดการณ์โอกาสไว้ที่ 75% และ 25% ตามลำดับ


· นอกจากนี้ ตลาดจะจับตาการเปิดเผยรายงานการประชุมเดือนก่อนของเฟด ซึ่งจะเปิดเผยในคืนเดียวกันนี้ เพื่อหาสัญญาณเกี่ยวกับการดำเนินนโยบายการเงินเพิ่มเติม


· นักวิเคราะห์จาก IG Securities ระบุว่า การที่อัตราผลตอบแทนพันธบัตรสามารถฟื้นตัวขึ้นมาเหนือระดับ 2% เป็นสัญญาณว่า ค่าเงินดอลลาร์จะสามารถฟื้นตัวสูงขึ้นรไปได้มากกว่านี้ โดยการรายงานตนของนายโพเวลล์คืนนี้ มีแนวโน้มจะกลายเป็นปัจจัยสำคัญที่ผลักดันค่าเงินดอลลาร์

· ด้านค่าเงินยูโรทรงตัวแถว 1.1208 ดอลลาร์/ยูโร หลังทำระดับต่ำสุดที่ 1.1194 ดอลลาร์/ยูโร ซึ่งเป้นระดับต่ำสุดในรอบเกือบ 3 สัปดาห์


· ผู้บริหาร University of Texas ระบุว่า นายโดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐฯ จะไม่สามารถครองตำแหน่งประธานาธิบดีได้เป็นสมัยที่สอง หากยังเดินหน้าขึ้นภาษีสินค้านำเข้าจากประเทศจีนหรือประเทศคู่ค้าอื่นๆ

ในปัจจุบัน แม้จะยังไม่มีความชัดเจนว่าความขัดแย้งทางการค้าระหว่างสหรัฐฯและจีน ได้สร้างความเสียแก่เศรษฐกิจสหรัฐฯไปมากแค่ไหน แต่ความเสียหายที่เกิดกับเศรษฐกิจสหรัฐฯ จะเป็นตัวกำหนดว่านายทรัมป์จะสามารถดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีต่อได้อีกสมัยหรือไม่

กล่าวคือ หากนายทรัมป์ยังเดินหน้าขึ้นภาษีต่อไป เขาอาจจะสูญเสียเสียงสนับสนุนจนพ่ายแพ้การเลือกตั้งครั้งต่อไป โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในการเลือกตั้งปี 2016 ที่ผ่านมา เขาสามารถเอาชนะมาได้ด้วยคะแนนเพียงฉิวเฉียดเท่านั้น

นายทรัมป์กำลังสูญเสียฐานเสียงสนับสนุน จากที่เขาทำร้ายเศรษฐกิจสหรัฐฯ โดยเฉพาะอย่างยิ่งความเสียหายที่เกิดขึ้นกับเกษตรกรที่เป็นฐานเสียงสำคัญ ดังนั้น จึงไม่คาดว่าพวกเขาจะให้การสนับสนุนนายทรัมป์เหมือนกับการเลือกตั้งครั้งก่อนอย่างแน่นอน

· นักวิเคราะห์จาก BAML ระบุว่า ข้อมูลเศรษฐกิจที่ดีกว่าที่คาดและความไม่แน่นอนเกี่ยวกับการค้าที่คลี่คลายลงหลังจากการประชุม G-20 เป็นปัจจัยที่อาจหนุนให้ เฟดพิจารณาไม่ส่งสัญญาณปรับลดดอกเบี้ยในเดือน ก.ค. นี้

โดยทางเราเชื่อว่านายโพเวลล์จะไม่ส่งสัญญาณปรับลดดอกเบี้ย แต่จะกล่าวถึงปัจจัยไม่แน่นอนในเศรษฐกิจที่ยังมีอยู่และขยายตัวมากขึ้นเรื่อยๆ

ทั้งนี้ ตลาดจะจับตาดูว่าการดำเนินนโยบายทางการเงินของเฟดในอนาคตจะเป็นเช่นไร ซึ่งนายโพเวลล์จะให้สัญญาณระหว่างการรายงานต่อสภาฯคืนนี้ โดยถ้อยคำและมุมมองที่มีต่อเศรษฐกิจของนายโพเวลล์จะมีบทบาทสำคัญอย่างมากต่อภาพรวมเศรษฐกิจในอนาคต

นอกจากนี้แล้วอีกประเด็นที่ตลาดจับตาดูคือ การตอบรับของเฟดที่ถูกกดดันโดยนายโดนัล ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐฯอย่างต่อเนื่อง

· ความขัดแย้งทางการค้าระหว่างญี่ปุ่น-เกาหลีใต้ ส่งสัญญาณจะรุนแรงขึ้นอีกครั้ง หลังเกาหลีใต้ปฏิเสธรายงานของญี่ปุ่น ที่กล่าวหาว่าพวกเขามีการส่งสารเคมีสำคัญไปยังเกาหลีเหนือ

โดยรายงานจากฝั่งญี่ปุ่นระบุว่า สารเคมีในกลุ่ม Hydrogen fluoride ที่สามารถใช้เป็นส่วนประกอบของอาวุธเคมี ซึ่งทางญี่ปุ่นเป็นผู้ส่งออกไปยังเกาหลีใต้ กลับถูกส่งต่อไปยังเกาหลีเหนือ นอกจากนี้ ทางญี่ปุ่นยังระบุว่า ตรวจสอบพบ “การปฏิบัติที่ไม่เหมาะสม” จากหน่วยงานควบคุมการส่งออกของเกาหลีใต้อีกด้วย

ขณะที่นายมุน แจ-อิน ประธานาธิบดีเกาหลีใต้ ระบุว่า การจำกัดการส่งออกสินค้าเทคโนโลยีของญี่ปุ่นมายังเกาหลีใต้ อาจกดดันการเติบโตของเศรษฐกิจเกาหลีใต้ และมีแนวโน้มจะยืดเยื้อออกไป ซึ่งทางรัฐบาลอาจเข้ามาช่วยเหลือเศรษฐกิจด้วยการเพิ่มการใช้จ่ายของภาครัฐและลดการพึ่งพาสินค้าจากญี่ปุ่นลง

· ดัชนีราคาผู้ผลิตของจีนประจำเดือนมิ.ย.ทรงตัว เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีที่แล้ว


หากเทียบเป็นรายเดือน ดัชนี PPI ปรับตัวลง 0.3% ในเดือนมิ.ย. เมื่อเทียบกับเดือนพ.ค.ที่ขยายตัว 0.2% เนื่องจากราคาน้ำมันที่ลดลงและความต้องการทั่วโลกที่อ่อนแอ รวมถึงความกังวลว่าการชะลอตัวของการผลิตจากสงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯและจีน จะส่งผลต่อการเติบโตของเศรษฐกิจ

· สมาคมอุตสาหกรรมยานยนต์จีน ระบุว่า ยอดขายรถยนต์ในประเทศประจำเดือนมิ.ย.ลดลง 9.6% เมื่อเทียบจากเดือนเดียวกันของปีที่แล้วติดต่อกันเป็นเดือนที่ 12

สมาคมผู้ผลิตยานยนต์ของจีน (CAAM) เปิดเผยว่ายอดขายลดลงเหลือ 2.06 ล้านคัน ซึ่งเป็นไปตามการลดลง 16.4% ในเดือนพ.ค.และ 14.6% ในเดือนเม.ย.เช่นเดียวกับการลดลงครั้งแรกของปีที่แล้วตั้งแต่ปี 1990 ที่ผ่านมา ท่ามกลางการเติบโตทางเศรษฐกิจที่ชะลอตัวและประเด็นความตึงเครียดทางสงครามการค้ากับสหรัฐฯ

· นางเอสเธอร์ จอร์จ ประธานเฟดสาขาแคนซัสซิตี้ ระบุว่า มีความเป็นไปได้ต่ำ ที่อัตราเงินเฟ้อของสหรัฐฯจะสามารถปรับสูงขึ้นได้อย่างกระหันทันในเร็วๆนี้ ขณะที่การใช้อัตราดอกเบี้ยในระดับต่ำเป็นเวลานานๆของเฟด อาจสร้างความเสี่ยงให้กับความมั่นคงของระบบการเงินได้


ทั้งนี้ โอกาสที่อัตราเงินเฟ้อจะสามารถขยายตัวได้อย่างรวดเร็วนั้น ขึ้นอยู่กับการที่นักลงทุนหรือประชาชนทั่วไป ตระหนักถึงการใช้จ่ายของภาครัฐที่เพิ่มสูงขึ้นสำหรับสวัสดิการของประชาชนผู้สูงอายุ

· ราคาน้ำมันดิบปรับตัวสูงขึ้น หลังจากที่ข้อมูลอุตสาหกรรม แสดงให้เห็นว่า สต็อกน้ำมันดิบสหรัฐฯลดลงเกินคาด


จีงบรรเทาความกังวลเกี่ยวกับอุปทานส่วนเกิน ขณะที่ผู้ผลิตรายใหญ่ของสหรัฐฯได้อพยพแท่นขุดเจาะในอ่าวเม็กซิโกก่อนเกิดพายุที่กำลังก่อตัว

โดยน้ำมันดิบ WTI เพิ่มขึ้น 1.5% ที่ะรดับ 58.68 เหรียญ/บาร์เรล ขณะที่น้ำมันดิบ Brent เพิ่มขึ้น 1% ที่ระดับ 64.80 เหรียญ/บาร์เรล

สหรัฐฯและทั่วโลกได้รับแรงหนุนจากการปรับลดกำลังการผลิตของกลุ่มโอเปกและผู้ผลิตรายใหญ่ เช่นรัสเซีย

อย่างไรก็ตามความตึงเครียดทางการค้าอย่างต่อเนื่องทำให้เกิดความกังวลเกี่ยวกับอุปสงค์ที่ลดลงและนักลงทุนต่างมองหาสัญญาณที่บ่งชี้ว่าการผลิตในสหรัฐฯกำลังเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว

การปิโตรเลียมสหรัฐฯ (API) ซึ่งเป็นหน่วยงานเอกชน เผย ตัวเลขสต็อกน้ำมันดิบสหรัฐฯร่วงลง 8.1% สู่ระดับ 461.4 ล้านบาร์เรล ขณะที่เหล่านักวิเคราะห์คาดว่าจะลดลง 3.1 ล้านบาร์เรล



บริษัท เอ็มทีเอส โกลด์ จำกัด
40,42,44 ถนนทรัพย์สิน แขวงวังบูรพาภิรมย์เขตพระนคร กรุงเทพ 10200
โทรศัพท์ 0 2770 7777 โทรสาร 0 2623 9366 E-mail: support@mtsgoldgroup.com