• สรุปข่าวเศรษฐกิจ (ภาคค่ำ) ประจำวันที่ 27 มิถุนายน 2562

    27 มิถุนายน 2562 | Economic News


· ค่าเงินดอลลาร์แข็งค่าต่อเมื่อเทียบกับเงินเยนและยูโรในวันนี้ ท่ามกลางความหวังว่าการพบกันระหว่างผู้นำสหรัฐฯและจีนในการประชุม G20 ทั้งสองฝ่ายจะสามารถหาข้อตกลงสงบศึกการค้าร่วมกันได้

โดยดัชนีดอลลาร์แข็งค่า 0.1% แถว 96.351 จุด ขณะที่ค่าเงินดอลลาร์แข็งค่าขึ้น 0.1% เมื่อเทียบกับเงินยูโรแถว 1.1356 ดอลลาร์/ยูโร

· ด้านค่าเงินเยนอ่อนค่าลง 0.3% แถว 108.10 เยน/ดอลลาร์ หลังจากขึ้นไปทำระดับสูงสุดในรอบ 5 เดือนในช่วงก่อนหน้า ขณะที่ค่าเงินสวิสฟรังก์อ่อนค่า 0.2% แถว 1.1143 ฟรังก์/ยูโร

· ค่าเงินหยวนแข็งค่า 0.2% แถว 6.8778 หยวน/ดอลลาร์ เข้าใกล้ระดับสูงสุดในรอบ 6 สัปดาห์ที่ 6.8370 หยวน/ดอลลาร์ ซึ่งขึ้นไปได้เมื่อสัปดาห์ก่อน

· นักวิเคราะห์จาก Mizuho Securities ระบุว่า ผลการเจรจาของผู้นำสหรัฐฯ-จีนในที่ประชุม G20 มีความสำคัญเป็นอย่างยิ่ง และอาจเป็นปัจจัยกำหนดแนวทางการดำเนินนโยบายการเงินของเฟด โดยหากทั้งสองฝ่ายตกลงที่จะไม่ขึ้นภาษีต่อกัน เฟดก็ไม่มีความจำเป็นต้องปรับลดภาษี แต่ถ้าหากการเจรจาล้มเหลวและทั้งสองฝ่ายกลับมาขึ้นภาษีตอบโต้กันอีก เฟดก็อาจจะไม่ลังเลที่จะปรับลดอัตราดอกเบี้ยอีกต่อไป



· FXStreet ระบุว่า รายงานล่าสุดเกี่ยวกับเรื่องสงครามการค้าสหรัฐฯ-จีน ดูจะจุดประกายให้ตลาดเข้าสู่สภาวะ Risk-On อีกครั้งและเข้ากดดันให้เงินเยนกลับมาอ่อนค่าเมื่อเทียบกับดอลลาร์ โดยค่าเงินปรับขึ้นมาแถว 108 เยน/ดอลลาร์ ขณะเดียวกันตลาดก็ดูจะตอบรับกับถ้อยแถลงของเจ้าหน้าที่รัฐบาลญี่ปุ่น ที่กล่าวว่า ทางทำเนียบขาวมีการปฏฺิเสธถึงรายงานที่สหรัฐฯจะถอนตัวจากข้อตกลงป้องกันประเทศที่ทำกับญี่ปุ่นหลังสงครามโลกครั้งที่ 2

ในทางเทคนิคค่าเงินเยนมีการปรับอ่อนค่าขึ้นมาชนแนวต้านบริเวณ 107.80-107.90 เยน/ดอลลาร์ แต่ภาพรวมก็เป็นการปรับอ่อนค่าขึ้นอย่างจำกัด ขณะที่แนวรับของค่าเงินเยนจะอยู่ที่ 107.5 เยน/ดอลลาร์ ซึ่งหากกลับแข็งค่าหลุดต่ำกว่าระดับดังกล่าวลงมาก็มีโอกาสเห็น 107.05 เยน/ดอลลาร์ได้อีกครั้ง ขณะที่ภาพราย 4 ชั่วโมง สะท้อนว่าค่าเงินเยนมีโอกาสจะอ่อนค่าต่อได้อีก โดยหาก Break เหนือ 107.8 เยน/ดอลลาร์ไปได้ มีโอกาสขึ้นไปเหนือ 108 เยน/ดอลลาร์ และจะมีเป้าหมายที่ 108.3 เยน/ดอลลาร์

แนวรับ: 107.00 106.75 106.50

แนวต้าน: 107.90 108.40 108.70

· นายโดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐฯ กล่าวต่อว่าการขึ้นภาษีตอบโต้สหรัฐฯของอินเดีย ว่าเป็น “เรื่องที่ยอมรับไม่ได้” หลังจากที่อินเดียประกาศขึ้นภาษีสินค้านำเข้าจากสหรัฐฯ 28 รายการ โดยก่อนหน้านี้ สหรัฐฯประกาศยกเลิกการนำเข้าสินค้าอินเดียแบบปลอดภาษีสำหรับสินค้าบางรายการ ที่ทางสหรัฐฯมองว่าเอาเปรียบบริษัทสหรับฯที่ประกอบธุรกิจในอินเดีย

นอกจากนี้ นายทรัมป์ระบุว่า จะนำปัญหาดังกล่าวไปพูดคุยกับนายนเรนทระ โมธี นายกรัฐมนตรีอินเดีย ระหว่างการประชุม G20 ที่จะถึงนี้

· นายเรเซป เทย์ยิป เออร์โดกัน ประธานาธิบดีตุรกี ระบุว่า นายทรัมป์มีแนวโน้มจะเดินทางเยือนตุรกีภายในเดือน ก.ค. โดยนายเออร์โดกัน เปิดเผยข้อมูลดังกล่าว ระหว่างการให้สัมภาษณ์นักข่าวระหว่างการเดินทางเยือนญีปุ่น เพื่อเข้าร่วมการประชุม G20 ซึ่งมีแนวโน้มที่จะได้พบกับนายทรัมป์ระหว่างการประชุมนี้ด้วยเช่นกัน

ทั้งนี้ ความตึงเครียดระหว่างสหรัฐฯและตุรกีที่เป็นพันธมิตรในองค์กร NATO กำลังส่งสัญญาณย่ำแย่ลง หลังจากที่ตุรกีมีการสั่งซื้อระบบป้องกันทางอากาศรุ่น S-400 จากรัสเซียไปก่อนหน้านี้ โดยตุรกีอาจถูกสหรัฐฯคว่ำบาตรและถูกระงับสิทธิ์การซื้อเครื่องบินรบรุ่น F-35 จากสหรัฐฯ

· รายงานจากทำเนียบขาวยืนยันว่า การพบกันระหว่างนายทรัมป์และนายสี จิ้นผิง ประธานาธิบดีจีน ระหว่างการประชุม G20 จะจัดขึ้นในวันเสาร์ เวลา 09.30 น. ตามเวลาประเทศไทย (0230 GMT)

· รายงานจาก South China Morning Post ระบุว่า ตัวแทนจากสหรัฐฯและจีน สามารถเจรจาสงบศึกการค้าลงได้เป็นการชั่วคราว ก่อนหน้าการพบกันระหว่างผู้นำของทั้งสองประเทศในการประชุม G20 นี้

ขณะที่ รายละเอียดของข้อตกลงที่รวมไปถึงการชะลอการขึ้นภาษีสินค้านำเข้าจากจีนเป็นมูลค่า 3 แสนล้านเหรียญ กำลังอยู่ในระหว่างเตรียมแถลงการณ์ ซึ่งจะเกิดขึ้นอย่างเป็นทางการหลังจากนี้

· นายบอริส จอห์นสัน ผู้ชิงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีอังกฤษ ที่มีคะแนนนิยมสูงสุด ระบุว่า โอกาสที่อังกฤษจะถอนตัวออกจากอียูมีอยู่ที่ “ล้านต่อหนึ่ง”แม้ว่าเขาจะให้การยืนยันมาโดยตลอดว่าจะพาอังกฤษออกจากอียูตามกำหนดการเดิมในวันที่ 31 ต.ค. แม้จะไม่สามารถหาข้อตกลงกับอียูได้ก็ตาม

ถ้อยแถลงดังกล่าว ถูกตอบโต้โดยนายเจเรมี ฮันท์ รัฐมนตรีกระทรวงต่างประเทศแห่งอังกฤษ และผู้ชิงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีที่มีคะแนนรองลงมาเป็นอันดับสอง ว่าจุดยืนของนายบอริส จะเป็นตัวทำลายกระบวนการ Brexit และรัฐบาล

· โฆษกประจำรัฐบาลอิหร่านเตือน หากสหรัฐฯล่วงล้ำเข้ามาในพรมแดนของอิหร่านอีกครั้ง จะเผชิญกับการตอบโต้ที่รุนแรงยิ่งกว่า

โดยเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา โดรนสำรวจของสหรัฐฯถูกขีปนาวุธของอิหร่านทำลาย ส่งผลให้ความขัดแย้งของทั้งสองประเทศรุนแรงขึ้นนับตั้งแต่นั้น

· ราคาน้ำมันดิบปรับตัวลดลง ท่ามกลางเหล่าเทรดเดอร์ที่ต่างรอคอยการประชุม G20 ที่ประเทศญี่ปุ่นในช่วงปลายสัปดาห์นี้ รวมทั้งการประชุมโอเปกและกลุ่มผู้ผลิตอื่นๆเพื่อตัดสินใจเกี่ยวกับการขยายการปรับลดกำลังการผลิตน้ำมันดิบ

โดยราคาน้ำมันดิบ Brent ลดลง 0.6% ที่ระดับ 66.07 เหรียญ/บาร์เรล ขณะที่ราคาน้ำมันดิบ WTI ลดลง 0.6% เช่นเดียวกันที่ระดับ 59.05 เหรียญ/บาร์เรล


ทั้งนี้ ราคาน้ำมันดิบปรับเพิ่มขึ้นมากกว่า 2% เมื่อวานนี้ ซึ่งเป็นระดับสูงสุดในรอบเดือน หลังปริมาณน้ำมันดิบคงคลังสหรัฐฯ ปรับตัวลดลงมากกว่าคาดการณ์ จากปริมาณการส่งออกที่ปรับเพิ่มขึ้น


บริษัท เอ็มทีเอส โกลด์ จำกัด
40,42,44 ถนนทรัพย์สิน แขวงวังบูรพาภิรมย์เขตพระนคร กรุงเทพ 10200
โทรศัพท์ 0 2770 7777 โทรสาร 0 2623 9366 E-mail: support@mtsgoldgroup.com