• สรุปข่าวเศรษฐกิจ (ภาคค่ำ) ประจำวันที่ 13 พฤษภาคม 2562

    13 พฤษภาคม 2562 | Economic News

· ค่าเงินดอลลาร์แข็งค่าทำระดับสูงสุดในรอบ 4 เดือน เมื่อเทียบกับเงินหยวนจีน แต่อ่อนค่าเมื่อเทียบกับเงินเยนและฟรังก์ ท่ามกลางความขัดแย้งทางการค้าระหว่างสหรัฐฯ-จีนที่ส่งสัญญาณจะย่ำแย่ลง ทำให้ตลาดพากันเข้าถือครอง Safe-haven มากขึ้น

ค่าเงินดอลลาร์อ่อนค่า 0.2% เมื่อเทียบกับเงินเยนที่บริเวณ 109.73 เยน/ดอลลาร์ เคลื่อนไหวเข้าใกล้ระดับต่ำสุดในรอบ 3 เดือน ที่ค่าเงินลงไปเมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมา หลังนโยบายภาษีสหรัฐฯมีผลบังคับใช้

ด้านค่าเงินดอลลาร์เมื่อเทียบกับเงินหยวน แข็งค่าสู่ระดับสูงสุดในรอบ 4 เดือน ที่ 6.8654 หยวน/ดอลลาร์

ขณะที่ดัชนีดอลลาร์ทรงตัวบริเวณ 97.340 จุด ใกล้ระดับปิดตลาดเมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมา ซึ่งแม้จะถูกกดดันจากค่าเงิน Safe-haven ที่แข็งค่าขึ้น แต่ก็ได้แรงหนุนจากค่าเงินที่เป็นสินทรัพย์เสี่ยงอย่างดอลลาร์ออสเตรเลียและดอลลาร์แคนาดาที่แข็งค่าขึ้น

นักวิเคราะห์จาก BlueBay Asset Management คาดว่ามีความเป็นไปสูงที่ข้อตกลงในการเจรจาระหว่างสหรัฐฯ-จีนจะถูกเลื่อนออกไป และเศรษฐกิจโลกในไตรมาสที่ 2/2019 ก็มีแนวโน้มที่จะชะลอตัวลงจากผลกระทบของความขัดแย้งทางการค้า

· Goldman Sachs ชี้ ค่าเงินหยวนมีโอกาสทดสอบ 6.95 หยวน/ดอลลาร์ ในช่วง 3 เดือน จากการขึ้นภาษีนำเข้าสหรัฐฯ ซึ่งมีแนวโน้มจะกดดันให้เงินหยวนอ่อนค่าต่อ โดยในอีก 6-12 เดือน จากเงินหยวนแถวระดับ 6.65 หยวน/ดอลลาร์มีโอกาสอ่อนค่าไป 6.95 หยวน/ดอลลาร์ และคาดว่าจีนจะมีการใช้นโยบายทางการเงินต่อไปเพื่อสนับสนุนเสถียรภาพทางการขยายตัว



· นักวิเคราะห์จาก FXStreet ระบุว่า ค่าเงินเยนจากกราฟราย 4 ชม. ยังคงแสดงถึงสัญญาณ RSI มีการทำ Higher Lows และมีภาวะ Bullish Divergence เกิดขึ้นชั่วคราว จึงสะท้อนว่ามีโอกาสเห็นค่าเงินเยนอ่อนค่ากลับไปแถว 110.28 เยน/ดอลลาร์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อความต้องการสินทรัพย์เสี่ยงมีการปรับตัวสูงขึ้น

ทั้งนี้ ค่าเงินเยนระดับวันยังคงมีสัญญาณแข็งค่าค่อนข้างมาก ซึ่งในขณะนี้ดูระดับราคาจะเคลื่อนไหวแบบสะสมพลังใกล้แดน Oversold หลังจากที่ค่าเงินเยนกลับอ่อนค่าลงมาก็ดูจะมีกรอบการเคลื่อนไหวระหว่าง 109.46 - 112.39 เยน/ดอลลาร์

แนวรับ: 109.45 109.10 108.80

แนวต้าน: 110.55 110.50 110.85

· นักวิเคราะห์จาก IHS Markit ประเมินว่า การที่สหรัฐฯพยายามกดดันการค้าของจีน จะส่งผลกระทบต่อการพัฒนาเทคโนโลยีของจีน ที่ทางรัฐบาลพยายามผลักดันให้กลายเป็นผู้นำโลกในด้านนี้ ซึ่งทางสหรัฐฯเองก็เปรียบเสมือนลูกค้าคนสำคัญของจีน ทั้งในสินค้ากลุ่มเครื่องใช้ไฟฟ้า อุปกรณ์ทางการแพทย์ ตลอดจนเทคโนโลยีใหม่ๆ

การที่จีนถูกกดดันสิทธิ์ในการเข้าถึงตลาดสหรัฐฯ จะส่งผลให้จีนต้องพิจารณาเดินในเส้นทางที่ยากลำบากมากขึ้น ด้วยการพัฒนาเทคโนโลยีด้วยตัวของตัวเอง จึงอาจทำให้การพัฒนาเทคโนโลยีของจีนเป็นไปได้ช้าลง

· ดัชนีความเชื่อมั่นของญี่ปุ่นประจำเดือนมี.ค.ปรับตัวลดลงที่ระดับ 0.9% และรัฐบาลได้ลดการประเมินทางเศรษฐกิจซึ่งเป็นสัญญาณว่าอาจเข้าสู่ภาวะถดถอย เนื่องจากสงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯกับจีนและความต้องการจากต่างประเทศที่อ่อนแอ

โดยความกังวลเกี่ยวกับเศรษฐกิจที่เพิ่มขึ้นจากยอดการส่งออกและปริมาณผลผลิตของญี่ปุ่นได้รับผลกระทบจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจจีนและความขัดแย้งทางการค้าระหว่างสหรัฐฯกับจีนที่ทวีความรุนแรงขึ้นซึ่งส่งผลกระทบต่อห่วงโซ่อุปทานทั่วโลก

· บรรดานักวิเคราะห์เชื่อว่า จีนมีหลากหลายวิธีในการที่จะออกนโยบายมาตอบโต้การขึ้นภาษีของสหรัฐฯ

โดยอดีตรองรัฐมนตรีกระทรวงการต่างประเทศ คาดว่า จีนจะออกนโยบายขึ้นภาษีสินค้านำเข้าจากสหรัฐฯให้มีมูลค่าเท่าเทียมกับที่สหรัฐฯขึ้นภาษีกับจีนให้ใกล้คียงมากที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ โดยเฉพาะสินค้าจากกลุ่มการเกษตร เพื่อสร้างผลกระทบให้เกิดกับบรรดาเกษตรกร ซึ่งเปรียบเสมือนฐานเสียงของนายโดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐฯ

นอกจากนี้ ยังมีความเป็นไปได้ที่จีนจะออกมาตรการมากดดันบริษัทสหรัฐฯที่ดำเนินธุรกิจในประจีน ให้ดำเนินธุรกิจได้ยากลำบากขึ้น โดยอาจเป็นการชะลอการอนุมัติส่งออกสินค้า เป็นต้น

· ผู้อำนวยการมหาวิทยาลัย California San Diego กล่าวว่า จะเป็นเรื่องที่น่าประหลาดใจมากหากจีนไม่มีการออกมาตรการมาตอบโต้สหรัฐฯ ซึ่งหนึ่งในมาตรการที่เป็นไปได้นั้น คือการปรับมูลค่าของเงินหยวนลง เพื่อให้สินค้าส่งออกจากจีนมีราคาถูกลง สร้างความได้เปรียบในการค้าขายระหว่างประเทศให้กับจีน และอาจช่วยบรรเทาผลกระทบที่เกิดจากภาษีของสหรัฐฯได้

· มีนักวิเคราะห์รายหลายที่กล่าวถึงความเป็นไปได้ที่จีนอาจพิจารณาลดการถือครองตราสารหนี้สหรัฐฯลง แต่นักวิเคราะห์ J.P. Morgan ไม่เห็นด้วย เนื่องจากจีนเป็นหนึ่งในผู้ถือครองตราสารหนี้ของสหรัฐฯรายใหญ่ การดำเนินการเช่นนั้น เปรียบเสมือนกับปรับลดพอร์ตงบดุลของตนลง และอาจสร้างความเสียหายให้กับเศรษฐกิจตัวเองไม่น้อยไปกว่าเศรษฐกิจสหรัฐฯ

· นักวิเคราะห์จาก J.P. Morgan คาดการณ์ว่า ความขัดแย้งทางการค้าระหว่างจีนและสหรัฐฯ เป็นเพียงจุดเริ่มต้นของการเปลี่ยนแปลงระบบการค้าทั่วโลกเข้าสู่รูปแบบ “การค้าหลายขั้ว” และประเด็นของการเจรจาการค้าจะกลายเป็นปัจจัยที่กดดันการค้าทั่วโลกต่อไปถึง 10 - 20 ปี ท่ามกลางนานาประเทศที่จะพยายามจะวางระบบการค้าของตัวเองขึ้นใหม่

· สัญญาส่งมอบน้ำมันดิบล่วงหน้าปรับตัวสูงขึ้น ท่ามกลางความไม่แน่นอนที่เพิ่มขึ้นเกี่ยวกับการหยุดชะงักของอุปทานในภูมิภาคการผลิตที่สำคัญของตะวันออกกลาง


โดยเกิดเหตุเรือบรรทุกน้ำมันของซาอุดิอาระเบีย 2 ลำ ถูกก่อวินาศกรรมโจมตี นอกชายฝั่งของสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ (UAE) เมื่อวันอาทิตย์ที่ 12 พ.ค.ที่ผ่านมา ขณะที่นักลงทุนและผู้ค้ากังวลเกี่ยวกับแนวโน้มการเติบโตทางเศรษฐกิจทั่วโลกท่ามกลางความขัดแย้งในการเจรจาทางการค้าระหว่างสหรัฐฯและจีน

ทั้งนี้่ ราคาน้ำมันดิบ Brent เพิ่มขึ้น 0.5% ที่ระดับ 71.00 เหรียญ/บาร์เรล ขณะที่ราคาน้ำมันดิบ WTI ปรับตัวสูงขึ้น 0.1% ที่ระดับ 61.73 เหรียญ/บาร์เรล

· นางจันทวรรณ สุจริตกุล ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายยุทธศาสตร์และความสัมพันธ์องค์กร ธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) กล่าวว่า เรื่องรายงานอัตราแลกเปลี่ยน(FX report) ของกระทรวงการคลังสหรัฐฯ เป็นเรื่องที่ ธปท. ได้หารือแลกเปลี่ยนความเห็นกับผู้แทนสหรัฐฯมาอย่างต่อเนื่องตลอด 3 ปีที่ผ่านมา เพื่อทำความเข้าใจในเรื่องการทำงานของกระทรวงการคลังสหรัฐฯ สถานการณ์เงินทุนเคลื่อนย้ายในตลาดการเงินโลก และมุมมองของประเทศกลุ่มตลาดเกิดใหม่(emerging markets) ที่จำเป็นต้องดูแลความผันผวนของค่าเงิน สำหรับเรื่องสถานการณ์การค้าสหรัฐฯจีน

ขณะที่กระทรวงการคลังสหรัฐฯ อาจขยายจำนวนประเทศคู่ค้า (major trading partners) นั้น ที่ผ่านมา ไทยได้สื่อสารมาตลอดว่า ไทยไม่ได้แทรกแซงค่าเงินเพื่อให้เกิดความได้เปรียบทางการค้ากับสหรัฐฯ เพียงแต่ไทยมีการเกินดุลการค้ากับสหรัฐฯอยู่บ้าง จึงอาจมีชื่ออยู่ในบัญชีของประเทศที่จะมีการติดตามต่อไป ซึ่งไทยก็พร้อมที่จะหารือแลกเปลี่ยนความเห็นกับสหรัฐฯอย่างต่อเนื่อง

· The Thaiger รายงานว่า กลุ่มผู้ส่งออกของไทยต่างคาดว่าจะเผชิญกับค่าใช้จ่ายอย่างหนักจากภาวะ Trade War ของสหรัฐฯและจีน แม้ว่าการที่สหรัฐฯเรียกเก็บภาษีนำเข้าสินค้าจากจีนเพิ่มมากขึ้นจะเป็นกลยุทธ์ในการต่อรองกับจีนก็ตาม

แต่รองประธานและผู้อำนวยการจาก Siam Commercial Bank's Economic Intelligence Centre กล่าวว่า หากความตึงเครียดทางการค้าระหว่างสหรัฐฯและจีนยังคงดำเนินไป ยอดส่งออกไทยปี 2019 ก็มีแนวโน้มจะปรับตัวลงต่ำกว่าคาดการณ์ที่ 2.7% โดยเฉพาะกลุ่มสินค้าในห่วงโซ่อุปทานที่จะได้ผรับผลกระทบจาก Trade War ซึ่งเมื่อเทียบปีต่อปีอาจหดตัวระหว่าง 18-25% ในช่วงไตรมาสแรกของปีนี้ได้ ทั้งที่ปี 2018 ยอดส่งออกขยายตัวได้ 6.7% เมื่อเทียบรายปี

บริษัท เอ็มทีเอส โกลด์ จำกัด
40,42,44 ถนนทรัพย์สิน แขวงวังบูรพาภิรมย์เขตพระนคร กรุงเทพ 10200
โทรศัพท์ 0 2770 7777 โทรสาร 0 2623 9366 E-mail: support@mtsgoldgroup.com